5 ก.ค. 2021 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
“โฮโลคอสต์ (The Holocaust)” การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในสงครามโลกครั้งที่ 2
ก่อนหน้านี้ ผมเคยเขียนซีรีส์ เรื่องราวของ “โฮโลคอสต์ (The Holocaust)” หรือ “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในสงครามโลกครั้งที่ 2” มาแล้ว
แต่สำหรับท่านที่อาจจะขี้เกียจอ่านหลายๆ ตอน ผมจะสรุปเรื่องราวของโฮโลคอสต์แบบคร่าวๆ รวบรัดแต่เนื้อหายังครบถ้วน ให้จบในบทความเดียวนะครับ
ตั้งแต่ปีค.ศ.1945 (พ.ศ.2488) คำว่า “โฮโลคอสต์ (Holocaust)” มีความหมายถึงแนวคิดในการกำจัดชาวยิวในยุโรปนับล้านคน รวมทั้งคนที่ถูกมองว่า “ด้อยค่า” เช่น คนรักร่วมเพศ คนพิการ และชาวยิปซี เป็นต้น โดยมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ และรัฐบาลก็ให้การสนับสนุน โดยผู้ที่ทำการสังหาร คือรัฐบาลเผด็จการนาซีเยอรมันในช่วงระหว่างค.ศ.1933-1945 (พ.ศ.2476-2488)
2
สำหรับผู้นำนาซีอย่าง “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)” ชาวยิวคือชนชาติที่ต่ำต้อย น่ารังเกียจ อีกทั้งยังเป็นภัยต่อชาติพันธุ์เยอรมัน
ภายหลังจากที่นาซีปกครองเยอรมนีเป็นเวลาหลายปี ซึ่งในช่วงระหว่างนั้น ชาวยิวก็ถูกกลั่นแกล้ง กีดกันต่างๆ นาๆ และในที่สุด หนทางที่จะกำจัดชาวยิวของฮิตเลอร์ก็ได้มาถึง
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 มาถึง ฮิตเลอร์ก็ใช้ช่วงเวลาของสงครามเป็นเวลาที่จะกำจัดชาวยิว โดยได้มีการสร้างค่ายกักกันชาวยิวขึ้นในโปแลนด์ ซึ่งในเวลานั้น ตกอยู่ภายใต้อำนาจของนาซี
อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)
มีการประเมินว่าในช่วงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว มีชาวยิวกว่าหกล้านคนต้องเสียชีวิต และยังมีผู้ที่ถูกฆ่าเนื่องจากความต่างทางชาติพันธุ์ แนวคิดทางการเมือง และเหตุผลอื่นๆ อีกกว่าห้าล้านคน และในบรรดาผู้เสียชีวิต เป็นเด็กกว่าหนึ่งล้านคน
อันที่จริง การต่อต้านชาวยิวไม่ได้เพิ่งเริ่มในสมัยที่ฮิตเลอร์เรืองอำนาจ มีหลักฐานว่ามีการต่อต้านชาวยิวมาเป็นเวลานานแล้ว ตั้งแต่สมัยโลกยุคโบราณเลยทีเดียว
ในสมัยโบราณ เจ้าหน้าที่ของจักรวรรดิโรมันได้ทำลายวิหารของชาวยิวในเยรูซาเลม และขับไล่ชาวยิวออกจากปาเลสไตน์
ความเกลียดชังชาวยิวนั้นมีเรื่อยมา จนในศตวรรษที่ 19 ผู้นำหลายชาติในยุโรปก็ได้ออกประกาศ ยกเลิกกฎเกณฑ์ที่กดขี่ชาวยิว
1
การสังหารชาวยิวในสมัยโรมัน
แต่ถึงอย่างนั้น ความเกลียดชังที่มีต่อชาวยิวก็ยังคงดำเนินต่อไป
1
สำหรับรากฐาน สาเหตุที่ทำให้ฮิตเลอร์เกลียดชังชาวยิวอย่างมากนัก ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด โดยจากประวัติของฮิตเลอร์ เขาเกิดที่ออสเตรียในปีค.ศ.1889 (พ.ศ.2432) และเป็นทหารในกองทัพเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 1
2
เมื่อเยอรมนีแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 ฮิตเลอร์ก็เป็นเช่นชาวเยอรมันอีกหลายคน นั่นคือโทษชาวยิวว่าเป็นต้นเหตุแห่งความพ่ายแพ้
ฮิตเลอร์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1
ภายหลังสงครามสงบ ฮิตเลอร์ก็ได้เข้าร่วมกับ “พรรคกรรมกรชาติสังคมนิยมเยอรมัน (National German Worker’s Party)” หรืออีกชื่อหนึ่งก็คือ “นาซี (Nazi)”
6
ในปีค.ศ.1923 (พ.ศ.2466) ด้วยเหตุผลทางการเมืองและความรุนแรง ฮิตเลอร์ได้ถูกจำคุกข้อหากบฏ และขณะอยู่ในคุก เขาก็ได้เขียนหนังสือเรื่อง “Mein Kampf (การต่อสู้ของข้าพเจ้า)”
ในหนังสือเล่มนี้ ฮิตเลอร์ได้ทำนายถึงสงครามในยุโรป ที่จะทำให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในเยอรมนี
Mein Kampf
ฮิตเลอร์ได้ลุ่มหลงในแนวคิดว่าชาติพันธุ์เยอรมันที่บริสุทธิ์ ซึ่งฮิตเลอร์เรียกว่า “ชาวอารยัน (Aryan)” เป็นชาติพันธุ์ที่เลิศล้ำ เหนือกว่าชาติพันธุ์ใดๆ และจำเป็นต้องมีดินแดนขนาดใหญ่ เพื่อขยายเผ่าพันธุ์อารยัน
ภายใน 10 ปีหลังจากได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ ฮิตเลอร์ก็อาศัยช่วงเวลาที่ศัตรูทางการเมืองกำลังอ่อนกำลัง ก้าวขึ้นสู่อำนาจ
1
30 มกราคม ค.ศ.1933 (พ.ศ.2476) ฮิตเลอร์ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งเยอรมนี และภายหลังจากที่ประธานาธิบดี “พอล ฟ็อน ฮินเดนเบิร์ก (Paul von Hindenburg)” เสียชีวิตในปีค.ศ.1934 (พ.ศ.2477) ฮิตเลอร์ก็ได้ขึ้นเป็น “ฟือเรอร์ (Fuhrer)” หรือผู้นำสูงสุดแห่งเยอรมนี
1
เป้าหมายในการที่จะส่งเสริมชาติพันธุ์บริสุทธิ์ ควบคู่กับการขยายดินแดน ทำให้ตั้งแต่ปีค.ศ.1933 (พ.ศ.2476)ทั้งสองเป้าหมายนี้ได้เป็นแรงขับเคลื่อนและจุดประสงค์สำคัญในนโยบายของฮิตเลอร์
2
ในทีแรก พรรคนาซีใช้ความรุนแรงและการกดขี่ต่อคู่แข่งทางการเมือง โดยค่ายกักกันแรก คือ “ค่ายกักกันดัคเคา (Dachau concentration camp)” ซึ่งเปิดใช้ในปีค.ศ.1933 (พ.ศ.2476) และนักโทษกลุ่มแรกที่ถูกส่งมายังค่ายกักกันแห่งนี้ ก็คือเหล่าคอมมิวนิสต์
1
ค่ายกักกันดัคเคา (Dachau concentration camp)
ในเวลาต่อมา ค่ายกักกันดัคเคาได้กลายเป็นสถานที่สังหารหมู่ชาวยิว และค่ายกักกันแห่งนี้ก็อยู่ใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของนาซี
ภายในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1933 (พ.ศ.2476) ค่ายกักกันนาซีเยอรมันก็ได้กักขังผู้คนกว่า 27,000 คน อีกทั้งนาซีก็เริ่มเหิมเกริม มีการแสดงออกทางสัญลักษณ์หลายๆ อย่าง ทั้งการเผาหนังสือของชาวยิว และมีการเดินขบวนอีกหลายครั้ง ทำให้ข้อความที่นาซีต้องการจะสื่อยิ่งแข็งแกร่งและชัดเจน
2
ในปีค.ศ.1933 (พ.ศ.2476) ชาวยิวในเยอรมนีมีจำนวนแค่ประมาณ 525,000 คน หรือราวๆ หนึ่งเปอร์เซ็นต์ของชาวเยอรมันทั้งประเทศ
1
ในช่วงเวลาหกปีต่อจากนั้น นาซีก็กดขี่บุคคลที่ไม่ใช่ชาวอารยันอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นการปลดข้าราชการที่ไม่ใช่ชาวอารยันออกจำนวนมาก หรือการยึดธุรกิจของชาวยิว
“กฎหมายเนือร์นแบร์ค (Nuremberg Laws)” ซึ่งบังคับใช้ในปีค.ศ.1935 (พ.ศ.2478) ได้กำหนดให้บุคคลใดก็ตามที่มีปู่ย่าตายายเป็นชาวยิว โดยมีจำนวนสามหรือสี่คน ให้ถือว่าบุคคลนั้นเป็นชาวยิว แต่บุคคลที่มีปู่ย่าตายายเป็นชาวยิวเพียงแค่สองคน ถือว่าเป็นลูกครึ่ง
ภายใต้กฎหมายนี้ ชาวยิวได้กลายเป็นเป้าในการกดขี่ โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1938 (พ.ศ.2481) นั่นคือเหตุการณ์ “คืนกระจกแตก (Kristallnacht)” ได้กลายเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงต่อชาวยิวเหตุการณ์หนึ่ง
4
ในเหตุการณ์นี้ สุเหร่ายิวได้ถูกเผา อีกทั้งกระจกของร้านค้าชาวยิวจำนวนมากได้ถูกทุบจนแตก ชาวยิวเสียชีวิตกว่า 100 คน ถูกจับอีกกว่า 1,000 คน
8
คืนกระจกแตก (Kristallnacht)
ตั้งแต่ค.ศ.1933-1939 (พ.ศ.2476-2482) ชาวยิวนับแสนคนได้หนีออกจากเยอรมนี ส่วนชาวยิวที่ยังอยู่ในเยอรมนีก็ต้องอยู่อย่างหวาดผวา
1
กันยายน ค.ศ.1939 (พ.ศ.2482) กองทัพเยอรมันได้เข้ายึดครองตะวันตกของโปแลนด์ และในไม่ช้า กองกำลังตำรวจเยอรมันก็ได้ทำการต้อนชาวโปแลนด์เชื้อสายยิวออกจากบ้าน ย้ายเข้าไปยังเกตโต้ (Ghetto) ซึ่งเป็นพื้นที่ๆ ให้ชาวยิวเข้ามาอาศัย ส่วนบ้านและทรัพย์สินของชาวโปแลนด์เชื้อสายยิวก็ตกเป็นของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “เยอรมัน” ซึ่งอาศัยอยู่ในโปแลนด์หรือพื้นที่แถบนั้น
2
เกตโต้ที่ใช้กักขังชาวยิวนั้นมีกำแพงสูง ล้อมรอบด้วยรั้วลวดหนาม โดยเกตโต้ในโปแลนด์นั้นมีลักษณะคล้ายกับรัฐๆ หนึ่ง มีสภาชาวยิวทำหน้าที่ปกครอง
1
เกตโต้นั้นแออัด และมีปัญหาตามมามากมาย ทั้งปัญหาการว่างงาน ความยากจน รวมทั้งจำนวนประชากรที่มากเกินพอดี ทำให้เกิดโรคระบาดตามมา
1
ในเวลาเดียวกัน ตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ.1939 (พ.ศ.2482) นาซีได้คัดเลือกชาวเยอรมันราวๆ 70,000 คน ซึ่งคนเหล่านี้ ล้วนเป็นคนที่เจ็บป่วยและพิการ ให้เข้าห้องรมแก๊สพิษเพื่อฆ่าทิ้ง
5
แต่การกระทำนี้ ก็ทำให้ผู้นำทางศาสนาในเยอรมนี ต่างประท้วงการกระทำของนาซี และทำให้ฮิตเลอร์ต้องยกเลิกโปรแกรมการฆ่านี้ในปีค.ศ.1941 (พ.ศ.2484) หากแต่การฆ่าคนพิการก็ยังคงทำต่อไปอย่างลับๆ และภายในปีค.ศ.1945 (พ.ศ.2488) ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้พิการกว่า 275,000 คนทั่วยุโรป ก็ได้ถูกกำจัด
5
ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิถึงฤดูร้อน ค.ศ.1940 (พ.ศ.2483) กองทัพเยอรมันก็ได้ขยายขอบเขตดินแดนและอำนาจไปทั่วยุโรป โดยเข้ายึดครองเดนมาร์ก นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ลักเซมเบิร์ก และฝรั่งเศส
1
และตั้งแต่ปีค.ศ.1941 (พ.ศ.2484) ชาวยิวทั่วยุโรป รวมทั้งชาวยิปซีในยุโรปอีกนับแสน ก็ถูกส่งตัวเข้าไปอยู่ในเกตโต้ในโปแลนด์
2
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1941 (พ.ศ.2484) กองทัพเยอรมันได้รุกรานสหภาพโซเวียต และใช้ความรุนแรงกว่าเดิม ด้วยการให้หน่วยสังหารของตน ทำการฆ่าชาวโซเวียตเชื้อสายยิว โดยตลอดระยะเวลาที่สหภาพโซเวียตตกอยู่ใต้อำนาจของเยอรมนี มีชาวโซเวียตเชื้อสายยิวถูกฆ่ากว่า 500,000 คน
7
ตั้งแต่เดือนกันยายน ค.ศ.1941 (พ.ศ.2484) ทุกคนที่ถูกจัดว่าเป็นคนยิว และอาศัยอยู่ในดินแดนใต้การปกครองของเยอรมนี ต้องติดรูปดาวสีเหลืองไว้ที่อกให้รู้ว่าเป็นชาวยิว อีกทั้งในเวลานั้น ชาวยิวอีกนับหมื่นก็ถูกต้อนเข้าไปอยู่ในเกตโต้
ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ค.ศ.1941 (พ.ศ.2484) ได้มีการทดลองการสังหารหมู่ใน “ค่ายกักกันเอาช์วิทซ์ (Auschwitz concentration camp)”
3
สิงหาคม ค.ศ.1941 (พ.ศ.2484) ได้มีการรมแก๊สพิษแก่เหล่านักโทษสงครามกว่า 500 คน และหน่วยทหารของนาซีก็ได้สั่งซื้อแก๊สพิษอีกจำนวนมากเพื่อสังหารนักโทษ
ค่ายกักกันเอาช์วิทซ์ (Auschwitz concentration camp)
ปลายปีค.ศ.1941 (พ.ศ.2484) กองทัพเยอรมันได้เริ่มการขนส่งชาวยิวที่อาศัยอยู่ในเกตโต้ในโปแลนด์ ไปยังค่ายกักกันต่างๆ โดยเริ่มจากกลุ่มคนที่ถูกจัดว่าไร้ประโยชน์ นั่นคือคนป่วย คนแก่ และเด็กเล็ก
3
การรมแก๊สครั้งใหญ่เริ่มขึ้นครั้งแรกในค่ายกักกันเบลเซค (Belzec) ในวันที่ 17 มีนาคม ค.ศ.1942 (พ.ศ.2485)
ชาวยิวขณะถูกกวาดต้อนไปเบลเซค
ได้มีการสร้างค่ายเพื่อใช้ในการสังหารหมู่อีกห้าค่าย กระจายอยู่ทั่วยุโรป และตั้งแต่ค.ศ.1942-1945 (พ.ศ.2485-2488) ชาวยิวทั่วยุโรปก็ถูกส่งเข้าค่ายกักกันนาซีที่กระจายอยู่ทั่วยุโรป
1
การขนส่งชาวยิวครั้งใหญ่เกิดขึ้นในฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วงของปีค.ศ.1942 (พ.ศ.2485) โดยเป็นการขนส่งชาวยิวกว่า 300,000 คนจากเกตโต้ในโปแลนด์ไปยังค่ายกักกัน
1
ยิ่งนานวัน ชาวยิวก็เริ่มหมดความอดทน และลุกขึ้นสู้ในที่สุด
เหตุการณ์ “การลุกฮือของชาวยิวในวอร์ซอว์เกตโต (Warsaw Ghetto Uprising)” ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน ค.ศ.1943 (พ.ศ.2486) ถึงวันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ.1943 (พ.ศ.2486) คือการลุกขึ้นสู้ของชาวยิว ซึ่งจบลงด้วยความตายของชาวยิวกว่า 7,000 คน ส่วนที่รอดชีวิตอีก 50,000 คน ก็ถูกส่งไปประหารยังค่ายของนาซี
แต่ถึงอย่างนั้น การลุกฮือครั้งนี้ก็เป็นการจุดประกายให้ชาวยิวในค่ายกักกันอื่นๆ ต่อสู้และไม่ยอมแพ้
ถึงแม้ว่านาซีจะพยายามเก็บงำสิ่งที่ทำ ไม่ว่าจะเป็นการทรมานหรือสังหารหมู่ชาวยิวจำนวนมากเป็นความลับ หากแต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้เป็นการยากที่จะเก็บเรื่องนี้เป็นความลับ
2
มีพยานที่พบเห็นการกระทำของนาซี ส่งรายงานอาชญากรรมของนาซีที่กระทำในโปแลนด์มาให้กองทัพสัมพันธมิตรรับทราบ
แค่ที่ค่ายกักกันเอาช์วิทซ์เพียงแห่งเดียว ก็มีผู้เสียชีวิตกว่าสองล้านคน ทั้งที่ถูกประหารด้วยการรมแก๊สพิษ และเสียชีวิตจากความอดอยากและโรคระบาด
ภายในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ.1945 (พ.ศ.2488) สถานการณ์ทางฝั่งเยอรมนีก็เริ่มจะแย่ เริ่มพ่ายแพ้ คนสนิทฮิตเลอร์หลายรายก็เริ่มจะตีตัวออกห่างฮิตเลอร์
ในที่สุด วันที่ 30 เมษายน ค.ศ.1945 (พ.ศ.2488) ฮิตเลอร์ก็ได้ฆ่าตัวตายในบังเกอร์หลบภัย ก่อนที่เยอรมนีจะประกาศยอมแพ้สงครามในวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ.1945 (พ.ศ.2488)
1
ตั้งแต่ปีค.ศ.1944 (พ.ศ.2487) กองทัพเยอรมันได้ทำการทำลายค่ายกักกันหลายแห่ง และให้ทหารนำตัวนักโทษชาวยิวออกไปจากค่าย เดินทางไปยังจุดที่ห่างไกล เนื่องจากกองทัพสัมพันธมิตรกำลังบุกมาเรื่อยๆ
การอพยพนักโทษนี้ดำเนินมาเรื่อยๆ จนเยอรมนีประกาศยอมแพ้ และมีผู้เสียชีวิตจากการอพยพระหว่าง 250,000-375,000 คน
ถึงแม้สงครามโลกครั้งที่ 2 จะจบลง หากแต่บาดแผลจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยังคงอยู่
ผู้รอดชีวิตชาวยิวนั้นยากที่จะดำเนินชีวิตใหม่ หลายคนสูญเสียครอบครัว เสียคนที่รัก ไม่เหลืออะไรเลย
1
เพื่อเป็นการลงโทษผู้กระทำผิด กองทัพสัมพันธมิตรได้จัดการพิจารณาคดีในช่วงปีค.ศ.1945-1946 (พ.ศ.2488-2489) เพื่อนำนักโทษนาซีมาลงโทษ และยังเกิดเป็นความกดดันที่กองทัพสัมพันธมิตร ต้องจัดหาที่อยู่ให้เหล่าผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ นำไปสู่การก่อเกิดประเทศอิสราเอลในปีค.ศ.1948 (พ.ศ.2491)
การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว คือประวัติศาสตร์บทหนึ่งที่โลกไม่มีวันลืม และเป็นบาดแผลใหญ่อีกบาดแผลหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก
โฆษณา