4 ก.ค. 2021 เวลา 15:00 • บันเทิง
พระสังข์ถอดรูปต้องการจะบอกอะไรกับเรา?
“สังข์ทองลูกแม่ งามแท้พ่อคุณ”
น่าประหลาดใจเวลาเดินทางผ่านไปแถวไหน
ก็จะได้ยินเพลงนี้ จากโทรทัศน์ดังออกมาตามบ้านช่อง
และยังตามมาหลอกหลอนถึงที่ทำงาน
เมื่อโต๊ะข้างๆ เปิดดูสังข์ทองย้อนหลังผ่านสมาร์ทโฟน
จนเราเองต้องกลับมาดูย้อนหลังบ้างแล้ว
ว่าทำไมถึงมีคนดูเยอะ ที่น่าแปลกใจยิ่งกว่าคือละครพื้นบ้านเรื่องสังข์ทอง ตอนที่พระสังข์ถอดรูป มียอดวิว
สามล้านกว่ายอดวิวในเวลาไม่ถึงสัปดาห์
พอลองศึกษาเรตติ้งก็ได้ถึง 8 กว่า นำละครหลังข่าวไปอีก หรือว่าพระสังข์ถอดรูปในละครพื้นบ้านนั้นกำลังจะบอกอะไรกับเรา
สังข์ทองเป็นละครพื้นบ้าน มีที่มาจากนิทานพื้นบ้านอาศัยเค้าโครงเรื่องจากชาดก เป็นเรื่องราวของพระสังข์ที่ต้องพลัดพรากจากเมือง ได้นางยักษ์มาอุปการะเลี้ยงดูจนเป็นมีฤทธิ์เดช ซ่อนรูปเป็นเงาะป่าเพื่อลองใจนางรจนาและพ่อตา แล้วกลับมาช่วยมารดาคืนสู่วัง โดยแฝงข้อคิดที่ว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”
พอได้ดูสังข์ทองแล้วเกิดความเคยสงสัยว่าทำไมตัวเอกของละครพื้นบ้านแทบทุกเรื่องต้องเกิดมาแปลกประหลาดกว่าคนทั่วไป?
ทำไมพระสังข์ต้องปลอมตัวเป็นเจ้าเงาะป่าบ้าใบ้ รูปชั่วตัวดำ ทำไมนางอุทัยเทวีต้องเข้าไปอยู่ในซากคางคกตะปุ่มตะป่ำน่าเกลียดน่ากลัว และทำไมนางแก้วมณีจากเรื่องแก้วหน้าม้าต้องมีหน้าตาอัปลักษณ์
เพราะละครพื้นบ้านต้องการต่อสู้กับแนวความคิดเรื่องคนชายขอบให้มีที่ยืนในสังคมในรูปแบบการซ่อนรูป (คนชายขอบคือคนที่ถูกกระแสหลักของสังคมไม่ยอมรับ)
การซ่อนรูปในละครพื้นบ้าน หากจำแนกแล้วก็แบ่งได้เป็น 3 ลักษณะคือ
1. การซ่อนรูปลักษณ์ภายนอก เช่น พระสังข์แปลงเป็นเงาะป่าบ้าใบ้ จากเรื่องสังข์ทอง
2. การซ่อนเพศ เช่น แก้วมณีแปลงกายเป็นวัชราในร่างของผู้ชาย จากเรื่องแก้วหน้าม้า
และสุดท้ายข้อที่ 3. การซ่อนฐานันดรที่แท้จริง เช่น พระทิณวงศ์แปลงกายเป็นขอทาน จากเรื่องพระทิณวงศ์
แล้วทำไมต้องซ่อนรูปด้วยล่ะ?
เหตุผลของการซ่อนรูปเมื่อนำมาพิจารณาแล้ว ส่วนมากตัวเอกก็ต้องการปกปิด อำพราง สิ่งที่เป็นเนื้อแท้ข้างใน เพื่อลองใจคนรักและเพื่อปกป้องจากอันตราย เป็นไปได้หรือไม่อีกนัยหนึ่งคือละครพื้นบ้านต้องการจะบอกว่าคนส่วนใหญ่มักตัดสินคนอื่นด้วยตา มากกว่าเห็นเนื้อแท้จากจิตใจ
ในละครพื้นบ้าน เมื่อพระสังข์อยู่ในร่างเจ้าเงาะป่า ก็โดนท้าวสามลและหกเขยกลั่นแกล้งสารพัด แต่เมื่อถอดรูปทองเผยให้เห็นแล้ว เรื่องก็กลับตาลปัตรกลายเป็นเขยรักของท้าวสามลในทันที
เช่นเดียวกับนางแก้วมณีที่หน้าตาเหมือนม้า มีแต่คนรังเกียจรังชัง แต่เมื่อถอดรูปเป็นมณีรัตนาสาวงามก็ชนะใจทุกคนได้
หรือแม้แต่นางอุทัยเทวีเมื่อเข้าไปอยู่ในซากคางคกก็เป็นที่เดียดฉันท์ ผู้คนต่างพากันวิ่งหนี ครั้นพออกจากซากคางคกเป็นสาวงาม ก็กลายเป็นที่หมายปองของบรรดาชายหนุ่ม
ละครพื้นบ้านหากดูเอา “รส” ก็สนุกสนาน ขบขัน สะใจตามเรื่องราว เมื่อตอนท้ายได้เห็นตัวเอกของเรื่อง
เช่น พระสังข์เอาคืนบรรดาท้าวสามลและหกเขยได้สำเร็จ แต่ถ้าดูแบบเอา “เรื่อง” แล้วละครพื้นบ้านสะท้อนให้เห็นถึงสังคมไทยที่มีให้เห็นในทุกยุคทุกสมัย
ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีคอมเมนต์ผู้อื่นในทางเสื่อมเสียโดยที่เรายังไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริงของเขา
การจั่วหัวข่าวแบบที่เรียกแขกให้เข้าไปอ่านเพื่อเรียกยอดวิวแต่เนื้อในกลับว่างเปล่า และการล่าแม่มดในกระแสโซเชียล
เช่นนี้แล้วคงบอกได้เต็มปากว่าการซ่อนรูปของพระสังข์ในละครพื้นบ้านคงไม่ใช่แค่จินตนาการ ไม่ใช่โลกสมมติ ของผู้แต่ง แต่มันคือโลกจำลองของภาพความคิดของคนในสังคมไทย เป็นค่านิยมบางอย่างที่ต้องการจะบอกคนดูว่า “คบคนอย่าดูแค่หน้า ซื้อผ้าอย่าดูแค่เนื้อ”
เขียนโดย: Riztar
โฆษณา