5 ก.ค. 2021 เวลา 10:00
“ทำได้ทุกอย่าง แต่เก่งไม่สุดสักทาง”
เป็น ‘เป็ด’ จะประสบความสำเร็จได้รึเปล่า?
.
ทำทุกอย่างได้ดี ให้ทำอะไรหยิบจับอันไหนก็สามารถไปหมด แต่… สรุปแล้วเราชอบอะไร หรือเก่งด้านไหนกันแน่นะ?
.
.
ปัญหาโลกแตกของ ‘มนุษย์เป็ด’ คือพวกเขาทำได้ทุกอย่าง แต่หลายครั้งกลับตอบตัวเองไม่ได้ว่า จริงๆ แล้วชอบอะไร หรือเชี่ยวชาญด้านไหนสุดๆ ส่วนตัวดิฉันเอง เป็นคนประเภทที่ตรงข้ามกับเป็ดอย่างสิ้นเชิงไปเลยคือ รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ถึงขั้นตระหนักรู้ตั้งแต่เด็กๆ ด้วยซ้ำว่า เกลียดอะไรมากๆ
.
อย่างตอนเรียนหนังสือเราเป็นคนชอบจำ ชอบอ่าน ชอบวิเคราะห์ปรากฎการณ์ทางสังคม วิชาที่เรียนได้ดีและรู้ว่า ชอบแน่ๆ ก็คือ สังคม ประวัติศาสตร์ การเมือง ภาษาอังกฤษ และแน่นอนว่า วิชาที่เกลียดมากและไม่อยากเข้าใกล้เลยก็คือ คณิตศาสตร์ สถิติ ฟิสิกส์ และเคมี
.
ในขณะเดียวกัน เพื่อนสนิทดิฉันคนหนึ่งเขาเป็น ‘มนุษย์เป็ด’ โดยสมบูรณ์แบบเลยคือ เรียนได้ทุกวิชา ให้ทำอะไรทำได้หมด ได้หมดในระดับที่ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยเขาเคยตั้งเป้าไว้ว่า อยากเข้าคณะนิเทศศาสตร์ แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนใจไปเรียนคณะวิทยาศาสตร์แทน และผลก็คือ ทำได้ดีเสียด้วย
.
ในมุมของคนที่รู้ว่าตัวเองชอบและไม่ชอบอะไรเรารู้สึกว่า เพื่อนคนนี้เก่งจัง ทำไมดูรอบรู้ ให้เรียนอะไรก็ทำได้หมด ลองตัดภาพมาที่เราสิ ถ้าไม่ติดคณะสายสังคมนี่ก็เคว้งเลยนะ จะให้โดดไปเรียนคณะสายวิทย์ฯ แบบเพื่อน เราไม่มีวันทำได้แน่ๆ
.
จากมุมของคนที่ ‘specialist’ แค่ด้านเดียวเรารู้สึกอิจฉาความเป็นเป็ดของเพื่อนมาก เพราะความสามารถในการลื่นไหลไปตามสถานการณ์ได้นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย จนกระทั่งเรียนจบ เพื่อนได้เข้าไปทำงานในบริษัทสตาร์ตอัป กลายเป็นทำงาน 1 ตำแหน่ง แต่ ‘job description’ มีเกือบสิบอย่าง พอหัวหน้าเห็นว่า เพิ่งจบใหม่ ทำได้ เรียนรู้ไว และทำได้ดี ก็ถูก ‘assign’ ให้ลองทำทุกอย่างเลย
.
แต่ปรากฏว่า เขาไม่ค่อยโอเคกับตำแหน่งแห่งที่แบบนี้เท่าไร เพราะสุดท้ายแล้วก็ยังตอบตัวเองไม่ได้ว่า อะไรล่ะที่ชอบมากที่สุด ทำได้เก่งหรือเชี่ยวชาญที่สุด
.
ความ ‘suffer’ ของมนุษย์เป็ดคือ พอลองได้ไปคุย หรือเห็นความสำเร็จของเพื่อนรอบตัวที่เก่งและชัดเจนในตัวเองมากๆ พวกเขาจะเริ่มนำมาเปรียบเทียบ กลายเป็นคนขาดความมั่นใจเพราะไม่รู้จะจัดวางตัวเองไว้ตรงไหน ทำได้นะ แต่ไม่เคยรู้สึกว่าทำได้ดีเลย
.
ยิ่งตอนนี้ ในโลกของตลาดแรงงานที่ความเป็น ‘specialist’ ถูกหยิบมาพูดถึงเพิ่มขึ้น คุณต้องเชี่ยวชาญและเก่งในเรื่องนี้นะเพราะการแข่งขันมันสูง ถ้าเป็นคนครึ่งๆ กลางๆ ทำได้ไม่สุดสักอย่างจะไปสู้กับคนเก่งยังไงไหว?
.
แต่เดี๋ยวก่อน.. การเป็นเป็ดก็ไม่ได้แย่เสมอไปนะคะ
.
แม้คนที่รู้ตัวว่า เก่งหรือเชี่ยวชาญอะไรจะมุ่งไปในเส้นทางนั้นได้ก่อนมนุษย์เป็ด แต่ความได้เปรียบของคนที่ทำได้ทุกอย่างแบบนี้ก็คือ เพราะเขาทำได้ทุกอย่างนี่แหละค่ะ
.
อย่างแรกคือ มนุษย์เป็ดจะประสบความสำเร็จแบบคนที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านได้ ต้องเริ่มจากการตั้งต้นก่อนว่า ในหลายๆ อย่างที่ถนัดเนี่ย สามารถนำสิ่งเหล่านั้นมาประกอบกันได้อย่างไรบ้าง
.
เพื่อนมนุษย์เป็ดที่ดิฉันพูดถึง ปัจจุบันทำแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเองค่ะ แม้จะยังไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังมาก แต่เขาได้นำความเป็นเป็ดไปอแดปต์กับการบริหารธุรกิจได้ดีทีเดียว
.
เขาเดินเลือกผ้าเองได้ มองว่าแพทเทิร์นแบบไหนที่จะเข้ากับสไตล์ความเป็นแบรนด์มากที่สุด ออกแบบเสื้อผ้า-จับคู่สีก็ทำได้ ทำกราฟิกหรือโลโก้แบรนด์ก็ทำได้อีก หรือจะวางกลยุทธ์ด้านมาร์เกตติ้ง ส่งเสริมการขายก็ทำได้เช่นกัน ล่าสุดลองเขียนคอนเทนต์ลงเพจเองปรากฏว่า เสียงตอบรับก็ดีและมีคนหลังไมค์มาชมว่า เขาเรียบเรียงร้อยเรื่องได้น่าสนใจเลยนะ
.
อย่างน้อยที่สุด ทักษะหนึ่งที่มนุษย์เป็ดมีแน่ๆ คือ กล้าทำ กล้าทดลองค่ะ นี่อาจจะเป็นจุดตัดสำคัญที่ทำให้คนเหล่านี้ทำได้ทุกอย่างก็ได้นะคะ คือไม่ใช่คนหยุดอยู่กับที่ และไม่เคยคิดว่า ตัวเองทำไม่ได้เพราะไม่เชี่ยวชาญ
.
เอาเข้าจริงวิธีคิดและทักษะของเป็ดสามารถพัฒนาต่อยอดไปเป็นการมีภาพแบบ ‘growth mindset’ ซึ่งเป็นสกิลที่ ‘พูดง่ายแต่ทำยาก’ การกล้าลอง กล้าเสี่ยง กล้ากระโดดลงไปทำหลายๆ อย่าง จนค้นพบว่า ทำได้แบบเป็ดไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนบนโลกจะทำได้ แต่พวกคุณทำได้นะ จง ‘appreciate’ กับมันไว้
.
บางครั้งโลกไม่ได้ต้องการคนที่สมบูรณ์แบบหรอก แต่คนที่ครบเครื่องแบบมนุษย์เป็ดต่างหากที่อาจจะหาตัวจับยาก และกลายเป็นคนที่ลื่นไหลไปตามการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วได้คล่องตัวที่สุดก็ได้
7
เขียนโดย Piraporn Witoorut
.
◤━━━━━━━━━━━━━━━◥
หากคุณชอบคอนเทนต์นี้อย่าลืม 'กดไลก์'
หากคอนเทนต์นี้โดนใจอย่าลืม 'กดแชร์'
◣━━━━━━━━━━━━━━━◢
.
.
“Knowledge is the only way to success”
- - - - - - - - - - - - - - - - - -
ติดตามคอนเทนต์เพื่อพัฒนาตัวเองสู่ความสำเร็จจาก Future Trends ได้ที่
(อย่าลืมกด See First เพื่อไม่ให้พลาดคอนเทนต์ใหม่ในทุก ๆ วัน)
#FutureTrends #KnowledgeforSuccess
โฆษณา