5 ก.ค. 2021 เวลา 22:48 • ท่องเที่ยว
พิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ ศรีสัชนาลัย
ไทยพวน .. เป็นผู้คนที่อพยพมาจากเมืองพวนแขวงเมืองเชียงขวาง ประเทศลาว เข้ามาตั้งรกรากในพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางของประเทศไทย เป็นระยะๆ
ชาวไทยพวนศรีสัชนาลัย ได้เดินทางมาตั้งหลักสร้างบ้านเรือน กระจายอยู่ในเขตตำบลหาดเสี้ยวในขณะนี้ และตำบลใกล้เคียงของอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เมื่อก่อนปี ๒๓๘๗ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
กลุ่มใหญ่ยึดเอาแนวที่ราบริมแม่น้ำยมฝั่งตะวันออก ในปัจจุบัน คือตำบลหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย .. “หาดเสี้ยว” หมายถึง ท่าน้ำที่มีหาดเสี้ยว อันเกิดจากแม่น้ำในช่วงนั้นได้ไหลเป็น ๒ สาย เพราะมีสันดอนทรายอยู่ตรงกลาง และบริเวณหาดทรายมีต้มเสี้ยว (ต้นกาหลง) เกิดขึ้นมากมาย จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่าบ้านหาดเสี้ยว
ผ้าทอและตีนจกเก้าลายไทยพวนศรีสัชนาลัย
การแต่งกายในวิถีชีวิตประจำวันของชาวไทยพวนศรีสัชนาลัย ... ผู้ชายจะสวมใส่เสื้อหม้อฮ่อมกางเกงหม้อฮ่อมผ้าขาวม้าคาดเอว ผู้หญิงที่ยังไม่ได้แต่งงานจะสวมผ้าถุงสีแดงและคาดอก หรือใส่เสื้อด้วยสีสันที่สวยงามมวยผมเสียบผมด้วยขนเม่น หรือผู้ที่มีฐานะพอสมควรก็จะเสียบด้วยปิ่นเงิน ส่วนผู้หญิงที่แต่งงานมีครอบครัวนั้นจะคาดอกด้วยขะหัวแล้ (ผ้าขาดอกสีน้ำเงิน) หรือผ้าขะหัวสีขาวนุ่งซิ่นเข็น ซิ่นมุกสีดำ
ผู้รู้ได้รวบรวมเรื่องราวของผ้าทอไทยพวนศรีสัชนาลัย เอาไว้ว่า ..
ผ้าทอไทยพวนศรีสัชนาลัย นมี ๒ ประเภท คือ ผ้าทอเพื่อใช้สอยในชีวิตประจำวัน .. ผ้าประเภทนี้จะไม่เน้นความประณีตสวยงามนักแต่จะเน้นความแน่นความหนาของเนื้อผ้า เพื่อให้คงทนให้ใช้ได้นานวัน ผ้าทอประเภทนี้ได้แก่ ผ้าซิ่นลายต่างๆ ผ้าห่ม ผ้านวม ผ้าพิ้นย้อมครามหรือย้อมมะเกลือ ผ้าทำถุงย่าม เป็นต้น
ส่วนผ้าทออีกประเภทหนึ่งนั้นทออย่างประณีตงดงาม เพื่อใช้ในโอกาสพิเศษหรือโอกาสสำคัญ ผ้าทอประเภทนี้ได้แก่ ผ้าซิ่นตีนจก ซึ่งสร้างชื่อเสียงและเกียรติภูมให้กับชาวไทยพวนศรีสัชนาลัยเป็นอย่างยิ่ง ลายตีนจกที่นิยมทอมีเก้าลาย ซึ่งมีชื่อเรียกขานว่า ลายเครือน้อย ลายเครือกลาง ลายเครือใหญ่ ลายมนสิบหก ลายสิบสองหน่วยตัด ลายน้ำอ่าง ลายท้องสอง ลายแปดขอ และลายสี่ขอ
ผ้าซิ่นคนพวนศรีสัชนาลัยนั้นจะจะมีส่วนประกอบอยู่สามส่วน คือ หัวซิ่น ตัวซิ่น และตีนซิ่น ทั้งนี้เพราะสมัยโบราณนิยมทอด้วยฟืมหน้าแคบ "ตัวซิ่น" จะสั้นต้อง "ต่อหัว ต่อตีน" จึงจะนุ่งได้
ตีนจกทั้งเก้าลายมีความวิจิตรงดงามแฝงไว้ด้วยแง่คิดอันทรงคุณค่า เป็นลายตีนซิ่นที่หญิงชาวไทยพวนศรีสัชนาลัยประดิดประดอยมาเป็นตีนซิ่นของตนเอง และด้วยภูมปัญญาที่ชาญฉลาดจึงบังเกิดตีนจกถึงเก้าลายอันควรค่าแก่การบันทึกไว้ไม่ให้ลืมหลง
ภาพแม่ลายหรือลายหลักของจกเก้าลาย
(ตามไปดูภาพประกอบตาม Link ด้านล่าง)
ลายเครือน้อย เป็นลายง่ายๆ มีลายประกอบไม่มาก เป็นลายให้เด็กหญิงฝึกหัดทำตีนจก แม่ลายเครือน้อยจะมีลายเล็กประกอบ คือ ลายนกหมู่ ลายสร้อยหมาก และลายสร้อยสา ในสมัยโบราณเครือน้อยนิยมต่อกับซิ่นมุก
ลายเครือกลาง เป็นลายหลักที่มีกรอบรูปร่างลายเครือน้อยเพียงแต่มีความยากเย็นในการจกลายเพิ่มมากขึ้น ส่วนประกอบของลายหลักนี้เป็น ลายนกคาบ ลายพันคิง ลายดอกหมี่ และลายสร้อยสา ต้องต่อกับซิ่นเข็น
ลายเครือใหญ่ เป็นลายหลักที่มีดอกไม้อยู่ตรงกลางเครือ ส่วนประกอบของลายหลักนี้เป็นลายนกคุ้ม ลายนกคาบ ลายันคิง ลายเครือขอ และต้องต่อกับซิ่นมุก
ลายมนสิบหก เป็นลายหลักที่มีขอ ๑๖ ขอ รูปร่างของลายมีลักษณะกลม ภาษาพิ้นบ้านจะเรียกว่า มน (กลม) ลายนี้เป็นลายที่สวยงามมากกว่าลายอื่นๆ ส่วนประกอบของลายหลักนี้จะเหมือนกับลายอื่นทั่วไป ลายนี้ต้องต่อกับซิ่นตาเติบ
ลายสิบสองหน่วยตัด เป็นลายหลักที่มีขอ จำนวน ๑๒ ขอ ประกอบกันเป็นดอกที่มีขาพันทำเป็นสามเหลี่ยมและยังมีนกคาบบหรือหงส์ตัวเล็กอยู่ตรงกลางของแม่ลายด้วย ลายหลักลายนี้ต่อกับซิ่นตาหว้า
ลายน้ำอ่าง เป็นลายหลักที่มีนกหงส์สองตัวคาบดอกไม้ร่วมกัน คล้ายกับว่าหงส์สองตัวคาบดอกไม้ในอ่างน้ำนั่นเอง ลายหลักนี้สตรีชาวพวนศรีสัชนาลัยนิยมทอใส่กันมากที่สุด เนื่องจากเป็นลายที่มีความสะดุดตา และลายหลักนี้ต้องต่อด้วยซิ่นเข็น
ลายสองท้อง เป็นลายหลักที่มีความหมายแปลกกว่าลายอื่น คือ ครึ่งหนึ่งของลายจะเป็นสีดำส่วนอีกครึ่งหนึ่งจะเป็นแดง เวลาจะพุ่งกระสวยสองสี แต่จะไม่ปล่อยให้กระสวยพุ่งไปจนหมดขอบซิ่น เมื่อปล่อยสีดำมายังลายที่กำหนดแล้วจึงย้อนกลับ เพราะฉะนั้นสึดำจะมีเพียครึ่งเดียว แล้วจะปล่อยกระสวยด้ายสีแดงมาด้วยวิธีเดียวกัน จึงต้องมีกระสวยสองอันในการทอหนึ่งผืนลายหลักนี้ต้องต่อด้วยผ้าซิ่นน้ำอ่อย
ลายแปดขอ เป็นลายที่มีความเหมือนกับลายมนสิบหกแต่ย่อขนาดให้เล็กลง ลายหลักลายนี้ต้องต่อด้วยซิ่นอ้อมแดงจะเป็นนกแถว
ลายสี่ขอ เป็นลายขนาดเล็ก มีเครื่องประกอบลายกระจุ๋มกระจิ๋ม ใช้สำหรับต่อผ้าซื่นให้เด็กผู้หญิงตัวเล็กใส่
ประมาณปี ๒๕๓๖ - ๒๕๓๗ นายสาธร โสรัจประสพสันติ ได้คิดค้นผ้าซิ่นรูปแบบใหม่ ให้ชื่อว่า "ซิ่นเกี๊ยะ" โดยได้แรงบันดาลใจจากความงามของดอกเกี๊ยะ ดอกไม้งดงามของเมืองเหนือ เมื่อทอออกมาแล้วจะได้ลวดลายนกคุ้ม นกคาบ ดอกหมี่ แม่ลายหลักแบบเดิมแต่เปลี่ยนตำแหน่งและตีนซิ่นยังคงใช้ตีนจกที่ลายสอดคล้องกับลายเล็กๆที่เป็นตัวซิ่น
สาธรพิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ บ้านหาดเสี้ยว ... เกิดขึ้นจากปณิธานของ นายสาธร โสรัจประสพสันติ ในการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ด้วยการได้มีส่วนสืบสานภูมปัญญาชาวบ้านด้านการทอผ้าที่บรรพบุรุษนำติดตัวมาจากเมืองพวน แขวงเมืองเชียงขวาง ประเทศลาว อันเป็นถิ่นเดิมของชาวไทยพวนศรีสัชนาลัย
ผ้าซิ่นไหมที่สอดด้วย precious metal จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์
มีการจัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของผ้าทอลายโบราณของชาวไทยพวน บ้านหาดเสี้ยว ไว้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นจกเก้าลายบ้านหาดเสี้ยว ผ้าที่ใช้ในพิธีบวชนาคด้วยขบวนช้าง ผ้าที่ใช้ในพิธีแต่งงาน ซึ่งล้วนเป็นเอกลักษณ์ผ้าทอมือของชาวไทยพวน บ้านหาดเสี้ยว ที่สืบทอดต่อกันมานับร้อยๆปี
สาธรพิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ บ้านหาดเสี้ยว ...จึงเป็นสถานที่จัดแสดงผ้าตีนจก ผ้าเก่าโบราณ เพื่ออวดภูมปัญญาของบรรพบุรุษให้ลูกหลานคนพวน คนต่างถิ่น และต่างชาติ ได้มาชื่นชมศึกษา
สิ่งอื่นที่เป็นข้าวของเครื่องใช้ที่จัดแสดง มีอีกหลากหลาย … บางชิ้นหาดูได้ยากแล้วในปัจจุบัน
ด้านหลัง .. จัดแสดงเครื่องใช้ในวิถีชีวิตประจำวันของชาวไทยพวนในอดีต ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก
ที่อยู่: 477/2 ต.หาดเสี้ยว อ. ศรีสัชนาลัย จ. สุโขทัย 64130 โทร. 055 671143
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา