6 ก.ค. 2021 เวลา 06:55 • หนังสือ
แนะนำหนังสือน่าอ่าน 14 เล่มจากจดหมายข่าวไฟฉาย ครึ่งปีแรกของปี 2021
Photo by Artem Beliaikin from Pexels
เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ นักเขียนรางวัลโนเบลเคยกล่าวว่า “ไม่มีเพื่อนคนไหนที่ซื่อสัตย์เท่ากับหนังสือ”
1
เมื่อผมทำจดหมายข่าวไฟฉายเพื่อแนะนำเรื่องต่าง ๆ ที่น่าสนใจ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การแนะนำหนังสือต่าง ๆ ในจดหมายข่าวไฟฉายทุกฉบับ เพราะหนังสือเป็นเพื่อนที่แสนดีของเราเสมอ
ผมจึงรวบรวมหนังสือทั้งหมดที่แนะนำในจดหมายข่าวไฟฉายระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน 2564 ในบทความนี้ครับ
หนังสือที่แนะนำมีหลายแนวครับ เช่น นิยาย ฮาวทู นวัตกรรม จิตวิทยา สร้างแรงบันดาลใจ เป็นต้น
1
1. วิถีแห่งอำนาจ เอี้ยก่วย
ผมไปงานหนังสือ Winter Book Fest 2020 ที่สามย่านมิตรทาวน์ในต้นเดือนธันวาคมปี 2020 มีหนังสือเล่มหนึ่งที่สะดุดตาผมมาก จนต้องซื้อกลับมา
หนังสือเล่มนี้คือ วิถีแห่งอำนาจ เอี้ยก่วย เขียนโดยคุณเสถียร จันทิมาธร ซึ่งนักอ่านนิยายกำลังภายในทุกคนคงรู้จักเอี้ยก่วยหรือเอี้ยก้วย จอมยุทธอินทรีจากมังกรหยกภาค 2
คุณเสถียรเขียนวิเคราะห์ชีวิตของเอี้ยก่วยฉากต่อฉากจากฉบับนิยายที่มีผู้แปลไทยหลายคน ดังนั้นเล่มนี้จึงหนามาก เกือบ 600 หน้า
ใครที่ชื่นชอบจอมยุทธอินทรีเอี้ยก้วยกับท่านอาเสียวเล้งนึ้ง ลองหาเล่มนี้มาอ่านครับ
2. ล้ม ลุก เรียน รู้ FAIL AND LEARN
หนังสือเล่มหนึ่งที่ผมอ่านในเดือนธันวาคม 2020 แล้วได้ข้อคิดมากมายเกี่ยวกับการทำงานคือ “ล้ม ลุก เรียน รู้ FAIL AND LEARN” ของคุณธนา เธียรอัจฉริยะ
ถึงแม้ว่าเล่มนี้หนา 400 กว่าหน้า แต่ก็อ่านสนุก ผมอ่านเล่มนี้ไม่กี่วันก็จบ และใช้ปากกาไฮไลท์ข้อความจำนวนมากในเล่มนี้
ตัวอย่างข้อความในเล่มนี้ที่กระแทกใจผม เช่น “ทักษะที่ทำให้ก้าวหน้าในสายงานอาชีพก็คือการที่เราสามารถเล่าเรื่องได้ดี ถ่ายทอดออกมาได้ง่าย ชัดเจน และน่าฟัง ต่อให้เราเก่งแค่ไหน แต่ถ้าเราถ่ายทอดไม่ได้ ความรู้ ความสามารถของเราก็แทบไม่มีประโยชน์อันใดเลย” จากหน้า 158
1
หน้า 239 บอกว่า “ความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่ศักยภาพ แต่อยู่ที่ใจไม่ท้อและทำอย่างสม่ำเสมอต่างหาก”
3. คิดใหญ่ ไม่คิดเล็ก
ผมเคยมีปัญหาเรื่องการเรียนและกลุ้มใจมากตอนเรียนปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา เรียนสู้เพื่อนคนอื่นไม่ได้เลย
เคยมีอาจารย์ยกตัวอย่างการบ้านในห้อง แล้วมีเพื่อนชาวอินเดียตอบได้ทันที จนอาจารย์อึ้งไปเลย เพราะตั้งใจจะให้ไปทำที่บ้าน แต่เพื่อนคนนี้กลับตอบได้ทันที ผมแทบจะไปถามเพื่อนว่า ยูช่วยพูดช้า ๆ อีกครั้งได้ไหม ไอฟังไม่ทัน
เย็นวันหนึ่ง ผมหยิบหนังสือที่ซื้อจากเมืองไทยหลายเดือนแล้ว แต่ยังไม่เคยอ่าน แล้วเข้าไปอ่านในห้องสมุดมหาวิทยาลัยซึ่งแทบไม่มีคน เพราะทุกคนสอบเสร็จกันหมดแล้ว
หนังสือเล่มนี้คือ คิดใหญ่ ไม่คิดเล็ก (The Magic of Thinking Big) เชื่อไหมครับว่า แค่อ่านสองสามบทแรก ก็เห็นทางสว่างทันที และอยากเขกหัวตัวเองหลายครั้งว่า ทำไมเพิ่งมาอ่านตอนนี้ น่าจะรีบอ่านตั้งแต่ตอนซื้อมา
เล่มนี้ทำให้ผมเข้าใจปัญหาของตัวเองว่า ทำไมมีความคิดลบ และทราบว่า วิธีแก้ปัญหาตัวเองเริ่มจากการเปลี่ยนทัศนคติ คิดว่าต้องสู้ก่อน ไม่ใช่อยากแพ้ท่าเดียว
จากนั้น ผมรีบอ่านเล่มนี้จนจบ แล้วเกิดกำลังใจต่อสู้อุปสรรคด้านการเรียนมากขึ้น ไม่ยอมแพ้เรื่องการเรียนง่าย ๆ เหมือนเมื่อก่อน และทำให้ผมสนใจเรื่องการเรียนรู้ เช่น Mind map , การฝึกความจำ หรือการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์จนถึงทุกวันนี้
ถ้าใครเจอปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต ลองหยิบเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน อาจเห็นทางออกหรือเกิดกำล้งใจเหมือนผมครับ
4. มันสมอง
หนังสือไทยเล่มหนึ่งที่ผมคิดว่าคลาสสิคมาก ยังมีเนื้อหาทันสมัย ถึงแม้ว่าเขียนมาเกือบ 100 ปีแล้ว คือหนังสือ มันสมอง ของพลตรี หลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งผมอ่านเล่มนี้ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม และยังประทับใจจนถึงทุกวันนี้ครับ
เวลาที่ผมอ่านหนังสือของนักเขียนในยุคที่ใช้เครื่องพิมพ์ดีด ก็เตือนใจตัวเองเสมอว่า ถ้าเราเขียนบทความในคอมพิวเตอร์ แล้วรู้สึกเบื่อ
แต่คนรุ่นเก่าลำบากกว่าเราตั้งเยอะ สมัยก่อนไม่มีโปรแกรมหรือคอมพิวเตอร์ที่ช่วยแก้ไขงานอย่างสะดวกเหมือนยุคนี้
5. ช่างหัวคุณสิครับ!
หนังสือเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์มีมากมาย แต่มีบางเล่มที่ผมหยิบขึ้นมาอ่านบ่อย ๆ เช่น “ช่างหัวคุณสิครับ! IGNORE EVERYBODY” ที่ผู้เขียนคือคุณ Hugh MacLeod ซึ่งเป็นนักเขียนโฆษณาและนักวาดการ์ตูน แนะนำวิธีการทำงานที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์
ผมอ่านเล่มนี้ตั้งแต่ฉบับแปลไทยครั้งแรกชื่อ มองมุมกลับ ลับคมความคิด Ignore Everybody ซึ่งหมายความว่า หนังสือเล่มนี้เสนอมุมมองการทำงานที่แตกต่างจากเล่มอื่น
ข้อความในเล่มนี้ที่โดนใจผม เช่น “ไอเดียของคุณไม่จำเป็นจะต้องใหญ่โตอะไรมากมายอะไร ขอแค่ให้เป็นไอเดียของคุณแท้ ๆ ก็พอแล้ว ยิ่งไอเดียนั้นเป็นไอเดียแปลกใหม่มากเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งมีอิสระในการสร้างสรรค์สิ่งที่น่าตื่นเต้นมากเท่านั้น”
1
คำแนะนำบางเรื่องของคุณ Hugh ตรงข้ามกับสิ่งที่คนส่วนใหญ่เชื่อ เช่น ในขณะที่หลายคนบอกว่า ควรนำงานอดิเรกมาทำเป็นอาชีพ แต่คุณ Hugh เล่าตัวอย่างของคนที่นำงานอดิเรกมาเป็นอาชีพ แล้วเกิดความหายนะ
สำหรับคนที่ทำงานด้านความคิดสร้างสรรค์แล้ว หนังสือเล่มนี้ก็ไม่ควรมองข้ามครับ
6. มายานวัตกรรม
ถ้าคุณสนใจเรื่องนวัตกรรมแล้วล่ะก็ ผมขอแนะนำหนังสือ มายานวัตกรรม ซึ่งแปลจาก The Myths of Innovation ซึ่งรวบรวมเรื่องราวความเชื่อต่าง ๆ ที่เราเคยได้ยินเกี่ยวกับการสร้างนวัตกรรม และบางเรื่องที่เราเคยได้ยินอาจเป็นความเชื่อผิด ๆ หรือเป็นเรื่องเล่ากันต่อ ๆ มา โดยปราศจากความจริง
ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คือ คุณ Scott Berkun ซึ่งผมอ่านหนังสือของเขามาหลายเล่ม และซื้อเล่มนี้อ่านตั้งแต่ยังไม่ได้แปลไทย จนกระทั่งมีฉบับแปลไทยแล้ว ก็ซื้อไปฝากเพื่อนที่สนใจเรื่องนวัตกรรม เพราะเนื้อหาเล่มนี้ทำให้เราต้องทบทวนความเชื่อต่าง ๆ ด้านการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์หรือนวัตกรรม
คุณ Scott Berkun ยังเขียนหนังสืออีกหลายเล่มเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์และการนำเสนอ ซึ่งผมหวังว่า จะมีสำนักพิมพ์สนใจแปลหนังสือของเขามาให้พวกเราอ่านกันครับ
ระหว่างที่คอยอ่านหนังสือแปลเล่มอื่นของเขา ลองเข้าไปอ่าน blog ของเขาได้ที่ scottberkun.com
7. ทิ้งไว้ให้เย็น
ผมกำลังอ่านหนังสือชื่อ “ทิ้งไว้ให้เย็น” ของคุณบอย วิสูตร ซึ่งเป็นนักเขียนที่ผมติดตามผลงานมานาน ในระยะหลัง ๆ คุณบอยไม่ได้ออกหนังสือเล่มใหม่ จนกระทั่งออกหนังสือ “ทิ้งไว้ให้เย็น” เป็นเล่มล่าสุด
ผมไม่ทราบว่าคุณบอยออกหนังสือเล่มใหม่ จนกระทั่งเห็นโพสต์ของเพื่อนในเฟซบุ๊กที่ป้ายยาเล่มนี้ จนทำให้ผมสั่งซื้อเล่มนี้จากเพจบอย วิสูตร เพราะไม่ได้วางจำหน่ายทั่วไป
“ทิ้งไว้ให้เย็น” เล่าประวัติส่วนตัวของคุณบอย และข้อคิดในการใช้ชีวิตด้านต่าง ๆ รวมทั้งแนะนำหนังสือที่คุณบอยคิดว่าน่าสนใจครับ
8. สกัดจุดยุทธจักรมังกรหยก
มีหนังสือวิเคราะห์นิยายกำลังภายในจีนคือ สกัดจุดยุทธจักรมังกรหยก ของคุณถาวร สิกขโกศล ที่เล่าความเป็นมาของนิยายดังคือ ไตรภาคมังกรหยกและนิยายเรื่องอื่นของกิมย้ง และเกร็ดต่าง ๆ เกี่ยวกับนิยายกำลังภายใน
ถ้าคุณชอบอ่านหรือดูหนังกำลังภายในของกิมย้ง สนใจประวัติศาสตร์จีน และอยากทราบที่มาของตัวละครต่าง ๆ เช่น เตียซำฮง ปรมาจารย์ผู้ก่อตั้งสำนักบู๊ตึงในดาบมังกรหยก , ก๊วยเจ๋งจากมังกรหยกภาคแรกมีตัวตนจริงหรือไม่ ขอแนะนำเล่มนี้ครับ
9. HEALTHY ALWAYS สุขภาพดีตลอดไป
COVID-19 ทำให้คนทั้งโลกสนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น และตระหนักว่า สุขภาพคือสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของเรา
ถ้าคุณอยากอ่านหนังสือเกี่ยวกับสุขภาพที่อ่านรู้เรื่อง ขอแนะนำหนังสือ HEALTHY ALWAYS สุขภาพดีตลอดไป ของดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่รวบรวมงานวิจัยด้านการแพทย์และสุขภาพ มาสรุปให้อ่านเข้าใจง่ายและนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน
ตัวอย่างเนื้อหาในหนังสือ HEALTHY ALWAYS เช่น ความสำคัญของการนอนหลับให้เพียงพอ , การลดความเสี่ยงโรคสมองเสื่อม , ยารักษาโรคแก่ , ข้อมูลเกี่ยวกับ COVID-19 เป็นต้น
เล่มนี้จะเป็นหนังสือที่ผมหยิบมาอ่านอีกหลายเที่ยวครับ
10. ขุมทรัพย์สุดปลายฝัน
ผมเพิ่งอ่านนิยายดังระดับโลกเรื่อง “ขุมทรัพย์สุดปลายฝัน” ที่แปลจาก The Alchemist ของเปาโล คูเอลญู
ขุมทรัพย์สุดปลายฝันเป็นเรื่องราวของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่เดินทางค้นหาขุมทรัพย์ แต่ระหว่างการเดินทาง เขาพบอุปสรรคต่าง ๆ และบุคคลมากมาย
ผมทราบว่าขุมทรัพย์สุดปลายฝันเป็นนิยายที่โด่งดังมาก แต่แปลกมากที่ผมไม่เคยอยากอ่านเลย จนกระทั่งวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 ผมไปร้านหนังสือ เห็นเล่มนี้เชิญชวนให้ผมอ่าน จนต้องซื้อกลับมา
หลังจากอ่านเล่มนี้จบ ก็ไม่ผิดหวังเลย เพราะมีข้อความโดนใจ ปรัชญาชีวิตที่น่าคิด และเนื้อเรื่องที่ชวนติดตามครับ
11. เซนในการทำงานอย่างเซียน
คุณดังตฤณเป็นนักเขียนหนังสือธรรมที่มีชื่อเสียงมาก หนังสือเล่มหนึ่งของคุณดังตฤณ “เซนในการทำงานอย่างเซียน” เล่าว่า คนทำงานจะใช้แนวคิดแบบเซนมาประยุกต์กับการทำงานทางโลกได้อย่างไร
ดาวน์โหลดอีบุ๊คเล่มนี้ฟรี ฟังเสียงอ่านหรือซื้อเล่มนี้ได้จากเว็บไซต์ของคุณดังตฤณที่ dungtrin.com
12. The Slight Edge
ความสม่ำเสมอเป็นเคล็ดลับสำคัญอย่างหนึ่งในการประสบความสำเร็จ และหนังสือภาษาอังกฤษเกี่ยวกับความสม่ำเสมอที่ผมชอบมากคือ The Slight Edge (Turning Simple Disciplines into Massive Success and Happiness)
ผมอ่านเล่มนี้อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ตั้งแต่ซื้อมาหลายปีก่อน
The Slight Edge อธิบายว่า ทำไมบางคนเข้าคอร์สเรียนหลักสูตรต่าง ๆ อ่านหนังสือฮาวทูมากมาย ลดน้ำหนัก หรือพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเอง แต่ทำไม่สำเร็จหรือไม่เห็นเปลี่ยนแปลงสักที เล่มนี้มีคำตอบครับ
1
ผมไม่แน่ใจว่า The Slight Edge มีฉบับแปลไทยแล้วยัง ถ้ายังไม่มีใครแปล หวังว่ามีสำนักพิมพ์สนใจขอลิขสิทธิ์เล่มนี้เพื่อแปลให้คนไทยได้อ่านกันครับ
13. Ultralearning
ถ้าอยากอ่านหนังสือภาษาอังกฤษเกี่ยวกับการเรียนรู้ในยุคใหม่ Ultralearning: Master Hard Skills, Outsmart the Competition, and Accelerate Your Career ของ Scott H Young อธิบายเทคนิคต่าง ๆ ในการเรียนรู้ทักษะที่นำไปใช้ได้จริง
สิ่งที่ผมชอบมากที่สุดอย่างหนึ่งของหนังสือ Ultralearning คือ ยกตัวอย่างบุคคลที่ใช้เทคนิคการเรียนรู้แบบต่าง ๆ ในการพัฒนาทักษะของตนเอง เช่น การเรียนภาษา การพูดในที่สาธารณะ การทำงานในสาขาที่ต้องการ และอธิบายกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรมชัดเจนมาก
เว็บไซต์ Ultralearning ยังมีข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับหนังสือ และบทสัมภาษณ์บุคคลต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนรู้ที่เข้าไปชมได้ครับ
14. Effortless
ผมกำลังอ่านหนังสือใหม่ล่าสุดที่เพิ่งออกในวันอังคารที่ 27 เมษายนครับ หนังสือเล่มนี้คือ Effortless: Make It Easier to Do What Matters Most ของ Greg Mckeown
คุณ Greg Mckeown เป็นผู้เขียนหนังสือ Essentialism: The Disciplined Pursuit of Less ซึ่งเป็นหนังสือที่ผมชอบมากที่สุดเล่มหนึ่งเกี่ยวกับการโฟกัสและการเลือกทำเรื่องสำคัญ และเล่มนี้มีฉบับแปลไทยแล้วชื่อ จงทิ้งสิ่งที่ดีเพื่อสิ่งที่ดีที่สุด
ข้อแตกต่างระหว่างสองเล่มคือ Essentialism บอกวิธีการเลือกเรื่องสำคัญจากเรื่องไม่สำคัญ
ส่วน Effortless เป็นตอนต่อจาก Essentialism คือ แนะนำวิธีช่วยในการทำเรื่องสำคัญหรือเรื่องยาก ๆ ให้ง่ายขึ้น ราบรื่นขึ้น หรือลื่นไหลมากขึ้น
ดาวน์โหลดตัวอย่างหนังสือ Effortless มาอ่านได้ใน Kindle ครับ
ถ้าคุณเป็นนักอ่านหรือผู้ชอบการเรียนรู้ เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ออกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือนเพื่อแนะนำเรื่องน่าสนใจ เช่น บทความ หนังสือ เว็บไซต์ แอป วิดีโอ คอร์สออนไลน์ เป็นต้น
1
สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่
โฆษณา