6 ก.ค. 2021 เวลา 07:51 • ไลฟ์สไตล์
พูดจา ภาษาเด็ก Chapter 3
" ภาษาสะท้อนกลับ "
ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์แบบใด หรืออารมณ์แบบไหน การสะท้อนอารมณ์ เป็นอีกหนึ่งทักษะภาษาสำคัญที่จะช่วยให้เด็ก ๆ เข้าใจอารมณ์ของตนเองได้ดีขึ้น
ผู้ใหญ่จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ด้วยว่า เด็กนั้นมีความตรงไปตรงมาในการแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึกก็จริง แต่ยังขาดการควบคุมปริมาณและความแรงของการแสดงนั้น ๆ มากพอสมควร อีกทั้งยังไม่รู้ด้วยว่าสิ่งที่เขากำลังเป็นอยู่นั้นมันเรียกว่าอารมณ์แบบใด เมื่อยิ่งไม่รู้ ไม่เข้าใจ ก็ยากที่เขาจะควบคุม หรือ สื่อสารกับเราได้ ว่าพวกเขากำลังรู้สึกอย่างไรนั่นเองค่ะ
กฎการสะท้อนของกระจกเป็นอย่างไร กฎการสะท้อนอารมณ์ก็เป็นเช่นนั้นเสมอ
#การสะท้อนทันที ในช่วงที่เด็ก ๆ กำลังแสดงอารมณ์ที่เกินควบคุมได้ คือหัวใจหลัก ของการสะท้อนอารมณ์ เหมือนกับเวลาที่เราส่องกระจกเพื่อดูความเรียบร้อยของร่างกาย ต่างกันก็อาจเป็นการสะท้อนอารมณ์ ไม่ได้หมายถึงการที่ให้ผู้ใหญ่ เลียนแบบท่าทาง อากับกิริยาของเด็กให้เขาดู แต่หมายถึง การเข้าไปหาเขาอย่างใจเย็น ใช้ eyes contact มองเขา และพูดสั้น ๆ ว่า"เขากำลังรู้สึกอย่างไร"
ตัวอย่างเช่น : อารมณ์โกรธ 😡
เมื่อเด็ก ๆ แสดงอารมณ์โกรธ ออกมาให้เห็น ไม่ว่าจะมีสาเหตุหรือปัจจัยใด ๆ เป็นตัวจุดฉนวนก็ตาม ครูการ์ตูนอยากให้ผู้ใหญ่ทราบว่า "ต้นตอของความโกรธ ล้วนมีส่วนผสมของความเสียใจ เป็นส่วนประกอบหลัก ตามด้วยความหงุดหงิด ความรู้สึกแพ้ ไม่ได้ดังใจ เป็นเชื้อไฟเสริม รวมทั้ง ความผิดหวัง ปิดท้าย" ดังนั้น การสะท้อนอารมณ์โกรธ จึงสามารถสะท้อนได้หลายความรู้สึก
ในเหตุการณ์นี้ เราอาจเห็นเขาโกรธมาก เราสะท้อนในสิ่งที่เรามองเห็นได้ชัดเจนที่สุดก่อน แต่อย่าลืมว่า นอกจากอารมณ์โกรธ เขาสามารถรู้สึกอะไรได้อีกบ้าง อาจจะกำลังหงุดหงิด เสียใจ ผิดหวัง ที่ไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ หรือทำบางอย่างไม่สำเร็จ ซึ่งมันทำให้เขา “โกรธ”
1. น้องมังคุดกำลังกรีดร้องเสียงดัง ถ้าเราอยู่ในเหตุการณ์นั้น สามารถเข้าใจปัญหาได้ ให้เดินเข้าไปหา แล้วพูดกับมังคุดว่า “หนูกำลังโกรธ รู้เลยว่าตอนนี้กำลังเสียใจอยู่”
2. น้องมังคุดกำลังกรีดร้องเสียงดัง ถ้าเราไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์นั้น สามารถเข้าใจปัญหาได้ ให้เดินเข้าไปหา แล้วพูดกับมังคุดว่า “อืม รู้เลยว่าโกรธ และกำลังเสียใจอยู่” ถ้ามังคุด เพิ่มระดับความแรงด้วยการแสดงออกทางร่างกายให้จับอารมณ์เพิ่มได้ว่า “อืม มันหงุดหงิดด้วย”
ตัวอย่างเช่น : อารมณ์ ดีใจ / สนุก / ตื่นเต้น 🤣🥴🤓
 
อารมณ์ในด้านลบแม้ว่าจะดูรุนแรง แต่หากได้รับการสะท้อนอารมณ์อย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ จะสามารถทำให้เด็ก ๆ เข้าใจตนเอง และผู้ปกครองสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ง่ายกว่า เมื่อเทียบกับอารมณ์ในยามที่เขากำลังสนุก หรือตื่นเต้นขีดสุด อันนี้เรียกได้ว่าเป็นอารมณ์ปราบเซียนมากทีเดียวค่ะ
 
เพราะอารมณ์ดีใจ สนุกตื่นเต้นที่คึกคักเกินกว่าการควบคุมให้อยู่ในระดับที่พอดี สามารถเรียกได้ว่าเป็นอาการ “เบรกแตก” ซึ่งพบเห็นได้บ่อย เช่น เวลาที่กำลังเล่นกับเพื่อน ๆ เวลาได้ของเล่นที่ชอบอย่างมาก เวลาดีใจเมื่อเจอใครบางคน ความสนุกที่ได้เล่น หรือ ความตื่นเต้นที่ได้ฟังเรื่องราวบางอย่าง ฯลฯ
 
ที่ครูการ์ตูนบอกว่ามันปราบเซียนกว่าอารมณ์โกรธ ก็เพราะเด็ก ๆ จะไม่สามารถหยุดนิ่งได้เลย เขาพร้อมที่จะวิ่งชนอย่างบ้าคลั่ง ใส่ร่างกายของคนตรงหน้า สิ่งของ จนอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุไม่คาดคิดขึ้นมาได้ อีกทั้งระดับเสียงที่อาจทำให้คนรอบข้าง รวมถึงผู้ปกครองควบคุมสติไม่อยู่กันเลยทีเดียว ซึ่งการสะท้อนอารมณ์ในหมวดนี้ แนะนำว่า
a. ให้ดูสถานการณ์ก่อนว่าเขากำลังแสดงความดีใจจนอาจส่งผลให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อตนเอง ผู้อื่นและสิ่งของรึเปล่า เช่น วิ่งด้วยความเร็วสูงจนไม่สามารถหยุดตนเองได้ กระโดดหรือกลิ้งไปชนคนอื่น วิ่งใส่ข้าวของส่วนกลาง ดึงหรือทึ้งเครื่องแต่งกาย รวมถึงร่างกายตนเองและผู้อื่น
 
b. สิ่งที่เขาแสดงนั้นสมเหตุสมผลต่อเหตุการณ์เหล่านั้นหรือไม่ เช่น กรี๊ดในร้านอาหาร วิ่งเล่นในบริเวณระเบียง วิ่งเล่นและกรี๊ดตื่นเต้นในร้านสะดวกซื้อ
 
c. อาการเบรกแตกของเขาอยู่ในสถานที่ที่เอื้อต่อการปล่อยพลังหรือไม่ เช่น ในสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ สถานที่โล่งแจ้ง หน้าบ้านของตนเอง
d. ระดับเสียงของเขารบกวน หรือ สร้างความรำคาญให้กับบุคคลภายนอกหรือเปล่า เช่น กรี๊ดด้วยระดับเสียงที่ควรใช้ในสวนสนุก ในสถานที่อื่น ๆ เช่น ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ข้างทาง สวนสาธารณะที่มีคนพลุกผล่าน ห้องสมุด หรือพูดแทรกเสียงดังในที่ที่มีคนภายนอกใช้บริการร่วมกัน ตะโกน ปีนป่ายที่นั่งส่วนกลาง
e. เผลอพูดคำไม่สุภาพ หรือ หยาบคายเมื่อตื่นเต้น ดีใจอย่างมาก
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อสังเกตบางข้อ ที่ครูการ์ตูนหยิบยกขึ้นมาให้ผู้ปกครองใช้สังเกตเด็ก ๆ ว่าหากเขาเข้าข่ายแม้เพียง 1 ข้อ ให้รู้ได้ทันทีว่า เขากำลัง “เบรกแตก” ซึ่งความน่ารักของเขาอาจไม่ทำให้คนอื่น ๆ ที่มองมานั้น เข้าใจความสดใสของเด็ก ๆ ขณะนั้นได้
1. น้องส้มหัวเราะเพราะขำมุกตลกของคุณพ่อ ขณะรับประทานอาหารกับครอบครัว เธอหัวเราะเสียงดังลั่นจนโต๊ะข้าง ๆ หันมอง และเศษอาหารในปากก็กระเด็นออกมา สามารถสะท้อนไปได้ว่า “กำลังสนุกอยู่เลย แม่รู้ว่ามันตลกจริงๆ แต่เราหัวเราะเบากว่านี้ได้นะคะ ” หากน้องส้มอยู่ในวัยเรียนชั้นประถม อาจเสริมด้วยเหตุผลเพิ่มว่า “เศษอาหารจะได้ไม่กระเด็น และไม่รบกวนพี่ๆ ในร้านนะคะ”
2. พี่น้องกำลังเล่นกันในรถ เมื่อจอดแวะเข้าร้านสะดวกซื้อ ทั้ง 2 คน จึงวิ่งไล่จับกันในร้าน ด้วยเสียงที่ดังและวิ่งไปมาอย่างเร็ว ให้จับคนใดคนหนึ่งแล้วนั่งมองในระดับสายตา “กำลังเล่นสนุกเลย เราเก็บความสนุกไว้เล่นกันบนรถนะครับ เพราะตอนนี้มันไม่ปลอดภัยกับสิ่งของและพี่ๆ ในร้าน และไม่ปลอดภัยต่อหนูด้วย” ถ้าเด็กถามว่า “ทำไม?” ให้เสริมได้ว่า “แม่ / พ่อ เป็นห่วงว่าหนูกับน้องจะบาดเจ็บ”
ตัวอย่างเช่น : อารมณ์เศร้า
ไม่ว่าวัยไหนความรู้สึก หรือ อารมณ์เศร้าเสียใจล้วนเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น และความเสียใจก็เป็นความรู้สึกส่วนบุคคลที่ไม่สามารถเอาตัวเรา หรือ ประสบการณ์ความเป็นผู้ใหญ่ ไปตัดสินได้ว่า เขาควรเศร้า หรือ เสียใจได้มากแค่ไหน หรือ สมควรร้องไห้หรือไม่ คนเราแบกรับความเจ็บปวดได้ไม่เท่ากัน
ในสถานการณ์เดียวกัน คน 10 คน ก็มีความสามารถในการจัดการและแบกรับได้ไม่เท่ากัน เด็ก ๆ ก็เช่นกันค่ะ เมื่อเขาเศร้า ซึม หรือ ร้องไห้เสียใจ ก่อนจะบอก หรือ พูดอะไรกับเขา ครูการ์อยากให้ผู้ใหญ่เก็บคำว่า หยุดร้อง หรือ พูดคำว่า ไม่เป็นไร / ไม่ต้องร้อง เอาไว้ในใจก่อน แม้ว่าเราจะตกใจ หรือ รู้สึกว่าสิ่งที่เขาเผชิญมันเล็กแค่ไหนก็ตาม
เมื่อเขาเกิดอารมณ์เศร้า สิ่งแรกที่อยากให้พูดคือการสะท้อนเพื่อทำให้เขารับรู้ว่า “เรา เข้าใจนะ”
 
1. น้องซันเศร้าซึมเพราะของเล่นของเขาตกแตก มันเป็นของขวัญชิ้นแรกที่คุณตาซื้อให้ น้องเศร้าและรู้สึกผิดที่กลัวว่าคุณตาอาจเสียใจ แต่มันเป็นอุบัติเหตุ หากเราอยู่ในเหตุการณ์ ให้สะท้อนไปว่า “ซันเศร้า แล้วก็รู้สึกไม่ดีด้วย เข้าใจเลย อยากให้อยู่ด้วยมั้ยครับ?” ถ้าน้องซันตอบว่า “ไม่” ให้เสริมได้ว่า “อืม ซันยังไม่พร้อมจริง ๆ แต่แม่ / พ่อเป็นห่วงซันนะ ขอแม่อยู่แถว ๆ นี้ ไว้ซันพร้อม เรียกได้นะครับ” แต่ถ้าน้องซันตอบว่า “ได้” ให้เสริมว่า “ขอบคุณนะครับ แม่ / พ่อจะอยู่ข้าง ๆ จนหนูพร้อมนะ”
2. น้องซันเศร้าซึมเพราะของเล่นของเขาตกแตก มันเป็นของขวัญชิ้นแรกที่คุณตาซื้อให้ น้องเศร้าและรู้สึกผิดที่กลัวว่าคุณตาอาจเสียใจ แต่มันเป็นอุบัติเหตุ หากเราไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ให้สะท้อนไปว่า “แม่เห็นซันเศร้า อยากให้อยู่ด้วยมั้ยครับ?” ถ้าน้องซันตอบว่า “ไม่” ให้เสริมได้ว่า “อืม ซันรู้สึกไม่ดีอยู่ ยังไม่พร้อมจริง ๆ แต่แม่ / พ่อเป็นห่วงซันนะ ขอแม่อยู่แถว ๆ นี้ ไว้ซันพร้อม เรียกได้นะครับ” แต่ถ้าน้องซันตอบว่า “ได้” ให้เสริมว่า “ขอบคุณนะครับ ถ้าหนูพร้อม บอกพ่อ / แม่ได้นะ”
ถามว่าเราสะท้อนอารมณ์เด็กไปทำไม??
ครูการ์ตูนมีคำตอบจากประสบการณ์ที่ผ่านมาค่ะ
1. การสะท้อนอารมณ์อาจดูเป็นวิธีที่ช้าและใช้เวลาในการสอนให้เขาควบคุมอารมณ์ตนเอง แต่ เป็นการเสียเวลาที่คุ้มค่า และได้ผลลัพธ์แบบ ถาวร เพราะหากเขาสามารถค่อย ๆ ลดความแรงของตนเองได้ดีขึ้น นั่นหมายความว่า ความเหนื่อยในการที่ผู้ปกครองจะต้องคอย บ่น ว่า ปากฉีกจนถึงรูหู จะค่อย ๆ ลดลงเช่นเดียวกัน
2. การสะท้อนอารมณ์ เป็นเหมือนการจับจุดที่ต้นเหตุ และทำให้ปลายเหตุเบาบางลง เมื่อเด็ก ๆ เรียนรู้ว่าเขากำลังแสงอาการ หรือ อารมณ์อย่างไรอยู่นั้น มันจะทำให้เขาบอกเราได้ว่า หนูกำลังรู้สึกอะไรอยู่ และมันมาจากสาเหตุอะไร
3. ลดการปะทะ วิวาท ระหว่างเด็กกับผู้ปกครอง ในยามที่เด็ก ๆ อารมณ์ขึ้นจนถึงยอดเขา การที่เราพยายามสร้างอารมณ์ให้เหนือเขา ย่อมเป็นการท้าทายอย่างหนึ่งที่นอกจากจะไม่ทำให้เด็ก ๆ อยากบอกอะไรเราแล้ว ตัวเรานั่นเองที่ยังเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้อารมณ์ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น
4. ความสัมพันธ์ของเด็กกับผู้ใหญ่อย่างเราดีขึ้น เขาสามารถรู้สึกปลอดภัย ไว้วางใจ เชื่อใจเราได้ ว่าเรานั้นจะไม่ตัดสิน หรือ เร่งเร้าให้เขาตัดอารมณ์ตนเอง เขาสามารถแสดงมันออกมาได้อย่างตรงไปตรงมา และยังสามารถเลือกวิธีการแก้ไขล่วงหน้าให้กับตนเองอีกด้วย
5. สร้างความยืดหยุ่นทางอารมณ์ให้กับเด็กและผู้ปกครอง การสะท้อนอารมณ์ไม่เพียงแต่ให้เด็กใจเย็นลง แต่การจะทำได้นั้น ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ก็ต้องเป็นโมเดลความมั่นคงทางอารมณ์ให้กับเขาเสียก่อน เพราะการที่เราจะเข้าไปจับอารมณ์เขา ใจเราจะต้องนิ่งและพร้อมรับมือเสมอ
#คำว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น "อาจไม่ได้หมายลูกกับพ่อแม่ เพียงอย่างเดียว แต่อาจหมายถึงนัยยะ ที่เด็กจะเติบโตตามแบบอย่างผู้ใหญ่รอบตัวที่เขาเห็น อาจจะถึงเวลาแล้วที่ผู้ใหญ่จะสะท้อนว่าเขา ควรเติบโตอย่างไรเพื่อเป็นผู้ใหญ่ EQ ดี”
-Kru. cartoon-
โฆษณา