9 ส.ค. 2021 เวลา 07:50 • การศึกษา
คุณนี้ต้องทดแทน
การใช้ชีวิตอยู่ในโลกมนุษย์นี้ จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก หากไม่ประมาท หมั่นทำความดี โดยการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ปฏิบัติอยู่ทุกๆ วันไม่ให้ขาดเลยแม้แต่วันเดียว การดำรงชีวิตอย่างนี้ถือว่าได้กำไร เราจะได้บุญ เป็นกำไรของชีวิต บุญนั้นเป็นเหมือนขุมทรัพย์ที่มีค่ามหาศาล เป็นประดุจแก้วสารพัดนึก ดังนั้นเราจะต้องรีบตักตวงบุญไว้ให้มากที่สุด เพราะบุญเป็นสิ่งที่ไม่ควรสันโดษ ยิ่งหาได้มากยิ่งดี บารมี ยิ่งเพิ่มพูน ถ้าเกิดมาแล้ว ไม่ได้สั่งสมบารมี ชีวิตนี้ยังบกพร่องอยู่ เป็นชีวิตที่ไม่สมบูรณ์ เกิดมาก็เสียโอกาสไปเปล่า
ดังนั้น เมื่อมีโอกาสในการทำความดี ก็ต้องทำให้เต็มที่ให้คุ้มค่า สมกับที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์มาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนา
มีวาระพระบาลีที่กล่าวไว้ใน เตมียชาดก ว่า........
บุคคลนั่งหรือนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่พึงหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลวทราม
การจะดูว่าใครเป็นคนดีหรือไม่ดี ผู้รู้ท่านบอกว่า ให้สังเกตตรงที่มีความกตัญญูกตเวทีหรือไม่ เพราะความกตัญญูเป็นพื้นฐานของคนดี และเป็นบันไดที่จะก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ทั้งทางโลก และทางธรรม สิ่งที่ควรมีความกตัญญูได้แก่กตัญญูต่อบุคคล คือใครก็ตามที่เคยมีพระคุณต่อเรา ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ก็ต้องพยายามหาโอกาสตอบแทนคุณให้ได้ กตัญญูต่อสัตว์ที่เราเคยใช้งาน โดยมีความกรุณาปรานี เลี้ยงดูให้อาหารอย่าให้อดอยาก ให้ได้กินได้นอนได้พักผ่อนตามเวลา
กตัญญูต่อวัตถุสิ่งของ คือของสิ่งใดก็ตามที่มีคุณต่อเรา เช่น หนังสือธรรมะ หนังสือเรียน สถาบันการศึกษา หรือวัดวาอาราม ก็ต้องรู้จักทำนุบำรุงรักษาอย่างน้อย ไม่ทำลาย ไม่ลบหลู่ กตัญญูต่อบุญ คือต้องตระหนักว่า ที่เรามีชีวิตที่ยืนยาว มีร่างกายแข็งแรง และเจริญก้าวหน้ามาได้จนถึงทุกวันนี้ ก็เพราะผลบุญ ในอดีต และต้องหมั่นสั่งสมบุญให้มากยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่มัวกินบุญเก่า แต่ต้องสร้างบุญใหม่เพิ่มเติม เพราะบุญเท่านั้นเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังของความสุข และความสำเร็จทุกอย่าง
ความกตัญญูประการสุดท้าย คือ กตัญญูต่อตัวเราเอง เราต้องตระหนักว่าสรีรยนต์นี้ เป็นอุปกรณ์สำคัญในการสร้างบารมี และการทำมาหากิน จำเป็นต้องทะนุถนอมดูแลรักษาให้ดี ไม่ประทุษร้ายตนเองด้วยการนำสิ่งไม่ดีเข้ามาสู่ร่างกาย เช่นดื่มเหล้า เสพสิ่งเสพย์ติด ไม่เอาร่างกายที่แข็งแรงนี้ไปเบียดเบียน ฆ่าสัตว์ ลักขโมย ประพฤติผิดศีลผิดธรรม ควรใช้ไปในทางที่ก่อให้เกิดกุศล ที่จะนำตนให้ไปสู่สวรรค์ และนิพพาน
ตัวอย่างที่เป็นปุคลาธิษฐานในครั้งนี้มีอยู่ว่า ในพระนครสาวัตถี พุทธศาสนิกชนนิยมการทำบุญให้ทาน เป็นประจำ โดยเฉพาะผู้เป็นอริยสาวกจะไม่ว่างเว้นจากการให้ทานเลย จะสนับสนุนอุปัฏฐากบำรุงภิกษุสงฆ์มิได้ขาด บ้านใดร่ำรวยมากก็นิมนต์พระมาฉันที่บ้าน ครั้งหนึ่งจำนวน ๕๐๐ รูป บางครั้งก็ชักชวนกันเป็นหมู่คณะ เพื่อทำบุญใหญ่ หรือบางครั้งรวมคนได้มากก็ถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์ทั้งหมด โดยมีพระพุทธเจ้า เป็นประมุข
ในสมัยนั้นมีลูกจ้างของเศรษฐีคนหนึ่ง เป็นคนยากจน เข็ญใจ แต่มีจิตเลื่อมใสในพระรัตนตรัย อยากจะถวายภัตตาหาร แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า แต่เนื่องจากยากจนมากแม้เพียงข้าวยาคูก็ไม่สามารถหามาได้ นี่ความตระหนี่ในอดีตส่งผลให้ลำบากขนาดนั้น หนุ่มเข็ญใจเมื่อได้รำมาก็นวดให้ละเอียด แล้วขยำๆ ใส่ในน้ำ ปั้นเป็นก้อนๆ เอาใบตองมาห่อไว้ เผาในกองเถ้าให้มีกลิ่นหอม แล้วตั้งใจว่า จะถวายขนมที่ทำด้วยมือนี้แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงถือขนมเดินไปรอพระบรมศาสดา
พระบรมศาสดาทรงทราบความมุ่งมั่นในทานของบุรุษยากจนเข็ญใจผู้นี้ จึงตรัสว่า ท่านจงนำของขบเคี้ยวมาเถิด เขาได้ใส่ขนมลงในบาตรแล้ว ยืนอยู่ข้างๆ พระบรมศาสดาไม่ทรงรับของขบเคี้ยวที่คนอื่นๆ ถวายเลย ทรงเสวยขนมที่บุรุษเข็ญใจนั้นนำมาถวาย เมื่อมหาชนแซ่ซ้องว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงรังเกียจของขบเคี้ยวที่ทำด้วยรำของหนุ่มมหาทุคคตะ พระพุทธองค์ทรงเสวยเหมือนเสวยอาหารทิพย์ มหาอำมาตย์ รู้สึกชื่นชมในความศรัทธา ต่อพระรัตนตรัยของหนุ่มยากไร้ จึงมอบสมบัติ๙โกฏิแก่มหาทุคคตะ เป็นการอนุโมทนาในส่วนบุญของเขา พอตกเย็น พระราชารับสั่งให้มหาทุคคตะเข้าเฝ้า ทรงอนุโมทนาบุญด้วยการมอบตำแหน่งเศรษฐีประจำเมืองให้มหาทุคคตะ
พวกภิกษุได้สนทนากันในโรงธรรมสภาว่า พระบรมศาสดามิได้ทรงรังเกียจขนมรำที่มหาทุคคตะถวายเลย ทรงเสวยเหมือนอาหารทิพย์ ฝ่ายมหาทุคคตะได้ทรัพย์จำนวนมาก ได้ทั้งตำแหน่งเศรษฐีเพราะอาศัยพุทธานุภาพโดยแท้ พระบรมศาสดาได้ตรัสว่า มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่พระองค์บริโภคขนมรำของมหาทุคคตะโดยไม่รังเกียจ แม้ในคราวที่เป็นรุกขเทวดา ในกาลก่อน ด้วยความที่เป็นผู้มีความกตัญญูรู้คุณ จึงบริโภคขนมรำของมหาทุคคตะนี้เหมือนกัน ว่าแล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าให้ภิกษุสงฆ์ฟังว่า
ในอดีตกาลพระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติเป็นเทวดา สถิต ณ ต้นละหุ่งต้นหนึ่ง พวกมนุษย์ในหมู่บ้านพากันยึดเอารุกขเทวดาเป็นมงคล เมื่อถึงงานมหรสพ มหาชนต่างพากันทำพลีกรรมแก่รุกขเทวาของตน สมัยนั้นมีมหาทุคคตะผู้หนึ่งเห็นเขาบวงสรวงบูชาเทวดาด้วยวัตถุของหอม และอาหารหวานคาวอย่างดี ก็อยากจะบูชารุกขเทวดาบ้าง จึงเดินไปหยุดยืนอยู่ไม่ไกลต้นละหุ่งแล้ว กล่าวคำนอบน้อมเทวดาด้วยความเคารพ
ในใจของหนุ่มผู้ยากไร้คิดว่า ธรรมดาเทวดาย่อมเสวยแต่ของขบเคี้ยวอันเป็นทิพย์ เทวดาคงไม่เสวยขนมรำของเรา ไว้ให้ร่ำรวยก่อนเถอะ แล้วจะหาอาหารอร่อยๆ มาบวงสรวงเทวดา แล้วคิดจะกินขนมเสียเอง ขณะที่กำลังจะเดินจากไป พระโพธิสัตว์ผู้สถิตอยู่เหนือคาคบไม้ได้กล่าวว่า ดูก่อนท่านมหาทุคคตะ หากเราไม่กินขนมของท่านแล้ว จักกินขนมอื่นได้อย่างไร ท่านจงนำขนมมาเถิด
เมื่อได้ฟังดังนั้นชายหนุ่มหันกลับไปมองเห็นรุกขเทวดาก็บังเกิดความปีติใจ รีบนำขนมรำเข้าไปวางไว้บนคาคบไม้ แล้วกระทำพลีกรรมแก่รุกขเทวา เมื่อพระโพธิสัตว์เสวยโอชารสของขนมรำแล้ว ถามว่า ท่านปฏิบัติเราเพื่อต้องการอะไรหรือ หนุ่มยากไร้บอกว่า ข้าพเจ้าเป็นคนเข็ญใจมาปรนนิบัติด้วยหมายใจว่า จะอาศัยท่านแล้วพ้นจากความยากจน เมื่อร่ำรวยแล้วจะได้มาบวงสรวงท่านให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
เมื่อพระโพธิสัตว์ผู้มีความความกตัญญูได้พังดังนั้น จึงปลอบโยนมหาทุคคตะว่า ท่านบูชาเราผู้มีกตัญญูกตเวที รอบต้นละหุ่งนี้ มีหม้อใส่ขุมทรัพย์ตั้งไว้เรียงราย ท่านจงกราบทูลพระราชาให้เอาเกวียนมาขนทรัพย์ไปกองไว้ที่ท้องพระลานหลวงเถิด แล้วพระราชาจักโปรดปรานพระราชทานตำแหน่งเศรษฐีให้แก่ท่าน ครั้นบอกแล้วก็อันตรธานหายไป ฝ่ายมหาทุคคตะเมื่อทำตามที่พระโพธิสัตวŒบอกแล‰ว ในวันนั้น จากมหาทุคคตะได กลายเป็นมหาเศรษฐีประจำเมืองทันที นี้เป็นเพราะความกตัญญูของรุกขเทวาโพธิสัตว์
ดังนั้น ใครก็ตามที่เคยทำอุปการคุณต่อเรา เราต้องหาโอกาสตอบแทนให้ได้ อย่าได้ดูเบา เรื่องความกตัญญูเป็นเรื่องใหญ่ ผู้รู้กล่าวสอนไว้ว่า ผู้ใดไม่ประทุษร้ายมิตร เป็นผู้มีความกตัญญู ผู้นั้นแม้ศัตรูทั้งหลายก็ไม่ข่มเหง ย่อมข้ามพ้นศัตรูทั้งปวงได้ จะเดินทางไกลก็ได้รับการต้อนรับในทุกที่ทุกสถาน เกียรติคุณย่อมฟุ้งขจรไปไกล ย่อมได้รับการบูชาทั้งจากมนุษย์และเทวา จะได้รับยศตำแหน่งรุ่งเรืองเหมือนพระอาทิตย์ และเป็นที่มาแห่งสิริสมบัติทั้งหลาย จะไม่มีวันตกยากเลย เพราะฉะนั้นให้ทุกท่านหมั่นตระหนักถึงบุญคุณที่คนอื่นทำแก่ตัวเราให้มาก แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม ก็ต้องหาโอกาสตอบแทนบุญคุณ ทำอย่างนี้ได้ชื่อว่าดำเนินตามแบบอย่างของนักปราชญ์บัณฑิต ชีวิตจะรุ่งเรืองสดใสตลอดไปทุกภพทุกชาติ ตราบกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๕ หน้า ๑๒๐-๑๒๘
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
อรรถกถาชาดก เอกนิบาต เล่ม ๕๖ หน้า๔๒๐
โฆษณา