6 ก.ค. 2021 เวลา 12:28 • ท่องเที่ยว
เยือนปราสาทบายน ศูนย์กลางนครธม ของอาณาจักรเขมร ศาสนสถานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
เมื่อไปเยือน นครวัด-นครธม 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก
นครธม ซึ่งเป็นศูนย์กลางของปราสาทขนาดใหญ่ต่าง ๆ มากมาย ดั่งจารึกหนึ่งได้กล่าวเปรียบเปรยว่า พระเจ้าชัยวรมัน เป็นเสมือนเจ้าบ่าว ส่วนเมืองนั้นเปรียบเป็นเจ้าสาวของพระองค์ เราคงไม่พลาด โดยเฉพาะ ปราสาทบายน ศูนย์กลางนครธม และเป็นศาสนสถานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
เรามาดูประวัติความสำคัญของนครธม และ ปราสาทบายน กันเลยค่ะ
เครดิตภาพ: Dr. TC
ประวัติความสำคัญของนครธม
นครธม เป็นเมืองหลวงแห่งสุดท้ายและเป็นเมืองที่เข้มแข็งที่สุดของอาณาจักรขะแมร์ ปัจจุบันตั้งอยู่ในจังหวัดเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา สถาปนาขึ้นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 โดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ 9 ตารางกิโลเมตร อยู่ทางทิศเหนือของ นครวัด ภายในนครมีสิ่งก่อสร้างมากมายนับแต่สมัยแรก ๆ และที่สร้างขึ้นต่อโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และรัชทายาท
ใจกลางพระนครเป็นปราสาทหลักที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมัน เรียกว่า "ปราสาทบายน" ซึ่งยังประกอบด้วย กลุ่มปราสาท เช่น ปราสาท บาปวน และลานกลางแจ้งขนาดใหญ่โดยรอบ
ปราสาทบาปวน  เครดิตภาพ: Dr. TC
สัญลักษณ์สำคัญที่โดดเด่นสำหรับนครธม คือ พระพักตร์ สี่หน้า ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 หรือตามแหล่งข้อมูลอื่นเชื่อว่าเป็น พระพักตร์ของ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ซึ่งปรากฏพบตามปราสาทบายน หรือ ตามประตูเมืองทั้งสี่ด้าน
 
นอกจากนี้ ประตูเมืองฝั่งเข้าสู่นคร จะพบถนนหลักที่ทั้งสองฝั่งเป็นแถวของยักษ์ (อสูร) ในทางด้านขวา และเทวดาทางด้านซ้าย เรียงรายแบกพญานาคอยู่สองข้างสะพาน โดยบริเวณประตูด้านใต้นี้ได้รับการอนุรักษ์ฟื้นฟูไว้ได้ดีกว่าบริเวณอื่น ๆ
ประตูด้านทิศใต้ของเมืองพระนครหลวง หรือ นครธม จัดได้ยังมีความสมบูรณ์ของรูปประติมากรรมลอยตัวของเทวดาและยักษ์ยื้อยุดฉุดนาคเพื่อกวนเกษียรสมุทร อันเป็นตอนเริ่มจากนิยานปรัมปราที่พวกพราหมณ์เล่าถึงตอนกำเนิดโลกมนุษย์และจักรวาล
ปราสาทบายน  เครดิตภาพ: Flickr และ Dr. TC
ประวัติ และความสำคัญของปราสาทบายน
ปราสาทบายน เป็นปราสาทหินของอาณาจักรเขมร อยู่ในบริเวณของใจกลางนครธม สร้างขึ้นราวปลายศตวรรษที่ 12 หรือต้นศตวรรษที่ 13 เป็นวัดประจำสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 หลังจากที่พระองค์ทรงได้ชัยชนะจากการขับไล่กองทัพอาณาจักรจามปาออกจากอาณาจักรเขมรได้สำเร็จ
 
นับเป็นศาสนสถานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีความซับซ้อนทั้งในแง่โครงสร้างและความหมาย เนื่องจากผ่านความเปลี่ยนแปลงด้านศาสนาและความเชื่อมาตั้งแต่คราวนับถือเทพเจ้าฮินดู และพุทธศาสนา
 
อาคารมีลักษณะพิเศษ เนื่องจากส่วนของหอเป็นรูปหน้ายิ้มหันสี่ทิศ จำนวน 49 หอ ปัจจุบันคงเหลือเพียง 37 หอ ลักษณะโดยทั่วไปจะมี 4 หน้า 4 ทิศ แต่บางหออาจมี 3 หรือ 2 แต่บริเวณศูนย์กลางของกลุ่มอาคาร จะมีหลายหน้า (ตามภาพบน)
ลักษณทางสถาปัตยกรรมของบายนก็เช่นเดียวกับเรื่องความเชื่อ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงมาในหลาย ๆ สมัย กษัตริย์ในยุคหลัง ๆ พบว่าเป็นการง่ายกว่าที่จะปรับปรุงวัดแห่งนี้ แทนที่จะรื้อสร้างใหม่เช่นที่ทำกัน และใช้เป็นวัดประจำสมัยต่อเนื่องกันมา
สัณฐานของกลุ่มอาคารประกอบด้วยระเบียงคต (gallery) ล้อมรอบอยู่ 2 ชั้น เรียกว่าชั้นในและชั้นนอก ชั้นนอกจะสร้างก่อนชั้นใน
 
ระเบียงจะมีเสาหินเรียงรายสองข้าง และมักมีรูปสลักนูนต่ำของนางอัปสรอยู่ รวมทั้งรูปสลักภาพประวัติความเป็นมาและสังคมในสมัยนั้น เช่น การรบระหว่างขอมกับจาม เป็นต้น(ตามภาพล่างนี้)
 
ระเบียงชั้นนอกจะเข้าถึงที่ตั้งของบรรณาลัย หรือหอหนังสือ (Library) 2 จุด คือหอเหนือ และหอใต้ ส่วนระเบียงชั้นในซึ่งสร้างในยุคหลัง จะเห็นการเปลี่ยนแปลงรูปสลักจากรูปชีวิตประจำวัน เป็นรูปสลักทางศาสนามากขึ้น
เครดิตภาพ: Dr. TC0
รอบปราสาทบายนที่เสียมราฐจะปรากฏภาพโดยเฉพาะภาพแกะสลักอายุนับพันปีเหล่านั้น รอบปราสาทบายนจะเห็นภาพของการประดั่ญ เรียกเป็นภาษาไทยว่าภาพการต่อสู้ อยู่บนกำแพงปราสาทบายน
เครดิตภาพ: Dr. TC
มวย มีมานานตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ คำว่ามวยเอง เป็น ภาษาขะแมร์ แปลว่าหนึ่ง
ทั้งหมดนี้ไทยรับคำมาจากขะแมร์ เพราะอิทธิพลความรุ่งเรืองของขะแมร์ ที่รับมาจากขอม มาจากคำว่า "เนี้ยะประดั่ญเลขมูย" อันมีความหมายว่า นักสู้อันดับหนึ่ง และเรียกกันสั้น ๆ ว่า "เนี้ยะมูย" และคนไทยนำมาเรียกสั้น ๆ ว่า "นักมวย"
จะเห็นว่า ความงามและมนตร์เสน่ห์ของปราสาทบายน ยังเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวอยู่เสมอ อีกทั้งปราสาทบายนยังถือเป็น หนึ่งในกลุ่มปราสาทเมืองพระนคร ที่ได้รับการยกย่องจาก UNESCO ให้มีฐานะเป็นมรดกโลกในปี 1992 จึงขอแนะนำให้ไปเยือน ปราสาทบายน เมื่อโอกาสอำนวย และเหมาะสมค่ะ
โฆษณา