7 ก.ค. 2021 เวลา 09:04 • ปรัชญา
EP116 : ใ ห้ ท า น คื อ อ ะ ไ ร ? ในคำพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าตรัสว่า …ถ้าพวกเราได้มีความรู้ชัดเจนในเรื่องการให้ทานเหมือนอย่างที่พระองค์เข้าใจ สิ่งที่เราจะทำคือ
จะให้ทานก่อนที่จะกินใช้เองเสียก่อน แม้จะเป็นก้อนข้าวก้อนสุดท้าย
อนึ่งมลทินคือความตระหนี่นี้จะไม่ครอบงำจิตของเราได้…
การให้ทาน คือหมายความว่าอย่างไร ?
ให้ทานโภชนะต่างๆแก่พระสงฆ์ ตายไปเป็นเทวดา หรือคนร่ำรวย
…เราไม่ว่าชายหญิงให้ทาน ” ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และโคมประทีป “ แก่สมณะหรือพราหมณ์ เมื่อตายไปจะเกิดในสวรรค์ หรือเกิดเป็นคนที่ร่ำรวย…
การให้ทาน ที่ถูกต้อง ทำอย่างไร ?
…ใจที่ไม่มีมลทินคือ ความตระหนี่ มีการให้บริจาคเป็นประจำ มีฝ่ามืออันชุ่ม มีใจยินดีเสียสละ เป็นผู้ควรแก่การขอยินดีในการให้และแบ่งปัน เป็นการบริจาคที่สมบูรณ์ (จาคสัมปทา)…
ผลจาก การให้ทาน คืออะไร ?
การให้ทานเป็นกรรมดี เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดผลดีอย่างไรบ้าง ?
…ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักของผู้คน สัปบุรุษย่อมคบหา กิตติศัพท์งมงามขจรไกล ในท่ามกลางคนชั้นสูงเช่นกษัตริย์ คหบดี สมณะพราหมณ์ ก็องอาจไม่เคอะเขิน ตายไปภายหน้าเกิดในสวรรค์
- อานิสงส์ 5 ประการของผู้ให้ทานคือ
1- ย่อมเป็นที่รักชอบใจของคนเป็นอันมาก
2- สัปบุรุษผู้สงบ ผู้สำรวมอินทรีย์ประกอบพรหมจรรย์ ย่อมคบหา
3- กิตติศัพท์อันงามย่อมขจรไกล
4- ผู้ให้ทานย่อมไม่เหินห่างจากธรรมของคฤหัสถ์
5- ผู้ให้ทานตายไปย่อมเข้าถึงสุคคติโลกสวรรค์
เขาได้ฟังธรรมบรรเทาทุกข์ทั้งปวงจากสัปบุรุษแล้ว เขาได้ทราบชัดแล้ว เป็นผู้พ้นจากอาสวะ ปรินิพพานในโลกนี้…
ประโยชน์ที่ได้จากการให้ทานโภชนะแก่พระสงฆ์คืออะไรบ้าง ?
พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า ถ้าเราได้รู้ว่าการจำแนกทานของพระองค์ก็จะหมั่นละความตระหนี่ จิตใจแจ่มใส และหมั่นให้ทานที่มีผลมาก
…ผู้ให้โภชนะ ได้ชื่อว่าเป็นผู้ให้ฐานะ 4 อย่างแก่ ปฏิคาหก คือ อายุ วรรณะ สุข พละ เป็นผู้มีส่วนทำให้ฐานะ๔นี้เป็นทิพย์ เกิดที่ใดย่อมอายุยืน และมียศในที่นั้นๆ…
…ผู้ให้ข้าวยาคู ข้าวยาคูมีคุณ 10 อย่าง ผู้ให้ทำการถวายด้วยความเคารพตามกาลเหมาะสม ได้ชื่อว่าเป็นผู้ให้ฐานะ 5 อย่างแก่ ปฏิคาหก คือ อายุ วรรณะ สุข กำลัง ปฏิภาณ นอกจากนี้เป็นยา แก้หิว แก้กระหาย ลมเดินคล่อง ล้างลำใส้ ย่อยอาหารที่เหลืออยู่ ใครที่อยากได้ความสุขเป็นนิจ สุขเป็นเลิศ ความงามเพริศพริ้งในมนุษย์…
…ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ผู้ให้ของที่พอใจโดยสุจริต ไม่หวังคิดเอาคืนเมื่อสละแล้ว เป็นผู้ที่ย่อมได้ของที่พอใจ และอายุยืน…
…ผู้ไม่มักโกรธ ไม่มากด้วยความคับแค้นใจ แม้ถูกว่ามากไม่ขัดเคือง ฉุนเฉียว กระฟัดกระเฟียด กระด้างกระเดื่อง ไม่แสดงความโกธร ขัดเคือง และเป็นผู้ให้ทานโภชนะ แก่สมณะหรือพราหมณ์ กลับมาเกิดในที่ใดย่อม มีรูปงาม น่าดูน่าชม และมีผิวพรรณงามยิ่งนัก ทั้งเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคทรัพย์มาก และสูงศักดิ์…
…การให้โภชนะ แก่สมณะหรือพราหมณ์เป็นการปฏิบัติเพื่อการมีทรัพย์มาก…
…ความต่างของผู้ให้ และผู้ไม่ให้ คือ อายุ วรรณะ สุข ยศ และอธิปไตย ต่างกันหรือข่มกันในเรื่องนั้นๆในการเป็นมนุษย์ หรือเทวดา…
ถ้าสัตว์รู้ผลการจำแนกทานตามพระพุทธเจ้าสอน เขาจะละมลทิน ไม่ตระหนี่ มีจิตแจ่มใส
และให้ทานเพื่อมีผลมาก พึงให้ทานแก่พระอริยบุคคลทั้งหลายตามกาลอันควร เมื่อทายกเป็นอันมาก ให้ข้าวเป็นทักขิณา แก่ทักขิเณยบุคคลทั้งหลาย ตายไปสู่สวรรค์ เสวยผลการจำแนกทาน…
ธรรมที่ตั้งแห่งการสงเคราะห์ คือ สังคหวัตถุ ๔ ประการ
1- ทาน การให้
2- เปยยวัชชะ การพูดถ้อยคำอันเป็นที่รัก
3- อัตถะจริยา การประพฤติประโยชน์
4- สมานัตตา การมีตนเสมอกัน
เป็นธรรมเครื่องสงเคราะห์โลก ประดุจสลักเพลาที่ควบคุมรถแล่นไปอยู่ ถ้าเราไม่มีธรรมนี้ พ่อแม่จะไม่ได้รับการนับถือบูชาจากลูก
และด้วยเหล่าบัณฑิตเห็นถึงความสำคัญนี้จึงส่งผลให้พวกเขายิ่งใหญ่และน่าสรรเสริญ
ธรรมที่บัณฑิตกำหนดไว้ คือ
1- ทาน
2- บรรพชา
3- มาตาปิตุอุปัฏฐาน
ทาน การไม่เบียดเบียด การสำรวม การฝึกตน การบำรุงมารดา และบิดา
บุคคลผู้มีศรัทธา เลื่อมใสย่อมมีจุดที่มองออกได้ 3 ประการคือ
1. เป็นผู้ที่ใคร่อยากจะเห็นผู้มีศีล
2. เป็นผู้ที่ใคร่อยากจะฟังธรรม
3. มีใจปราศจากมลทินคือความตระหนี่
ข้อควรปฎิบัติคือปฏิปทาของคฤหัสถ์ เพื่อได้ยศและเกิดในสวรรค์
1. เป็นผู้บำรุงภิกษุสงฆ์ด้วยจีวร
2. เป็นผู้บำรุงภิกษุสงฆ์ด้วยบิณฑบาต
3. เป็นผู้บำรุงภิกษุสงฆ์ด้วยเสนาสนะ
4. เป็นผู้บำรุงภิกษุสงฆ์ด้วยยาและเครื่องใช้ในการรักษาโรค
คฤหัสถ์บำรุงภิกษุสงฆ์ สงฆ์แสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด พร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ต่างอาศัยซึ่งกันและกันอยู่ ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อถอนกิเลสอันเป็นเสมือนห้วงน้ำ เพื่อที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบ ด้วยประการอย่างนี้
หลักการจัดสรรทรัพย์ : หาเงินมาได้ ควรใช้จ่ายอย่างไรให้รุ่งเรือง ?
อริยสาวกใช้ทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความเพียรเป็นเครื่องลุกขึ้น รวบรวมมาด้วยกำลังแขน มีตัวชุ่มด้วยเหงื่อ เป็นโภคทรัพย์ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม เพื่อทำกรรมหน้าที่ ๔ ประการคือ
1. เลี้ยงตนให้เป็นสุข อิ่มหนำ บริหารตนเป็นสุขถูกต้อง เลี้ยงบิดา มารดา เลี้ยงบุตร ภรรยา ทาสและกรรมกรชายหญิง
2. ใช้ปิดกั้นอันตรายจากไฟ จากน้ำ จากพระราชา จากโจร หรือจากทายาทที่ไม่เป็นที่รัก
3. ใช้ในการสงเคราะห์ 5 ประการ คือ ญาติ แขก ผู้ล่วงลับไปแล้ว ช่วยชาติ และสงเคราะห์ช่วยเทวดา
4. ใช้ตั้งไว้ซึ่งทักษิณา อุทิศสมณพราหณ์ทั้งหลาย ผู้งดเว้นแล้วจากการประมาทมัวเมา มีขันติ โสรัจจะ ทำความสงบ ความดับเย็นแก่ตนเอง มีผลเลิศในเบื้องบน เป็นฝ่ายดีมีสุขเป็นผลตอบแทน เป็นไปพร้อมเพื่อสวรรค์
โภคทรัพย์ทั้งหลายของบุคคลใด ถึงความหมดสิ้นไปด้วยกรรมดังกล่าวนี้ บุคคลนั้นถึงแล้วซึ่งการบริโภคโดยชอบ
หลักดำรงชีวิตเพื่อสุขในภพหน้า ทำอย่างไร ?
1. สัทธาสัมปทา
2. สิลสัมปทา
3. จาคสัมปทา
4. ปัญญาสัมปทา
- สัทธาสัมปทา เป็นผู้มีศรัทธาเชื่อในการตรัสรู้ของตถาคตว่า “…เพราะเหตุอย่างนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ไกลจากกิเลส เป็นผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง และเป็นผู้ฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม เป็นผู้มีความจำเริญ จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์…”
- สีลสัมปทา เป็นผู้เว้นขาดจากอานาติบาต อทินนาทานา กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท สุราเมยรยมัชชปมาทัฏฐาน
- จาคสัมปทา มีใจปราศจากมลทินคือความตระหนี่ อยู่ครองเรือน มีการบริจาคอันปล่อยอยู่เป็นประจำ มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ เป็นผู้ควรแก่การขอ ยินดีในการให้ และการแบ่งปัน
- ปัญญาสัมปทา เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาเครื่องให้ถึงสัจจะแห่งการเกิดดับ เป็นเครื่องไปจากข้าศึก เป็นเครื่องเจาะแทงกิเลส เป็นเครื่องถึงซึ่งความสิ้นไปแห่งทุกข์โดยชอบ
การสงเคราะห์ผู้ล่วงลับ : ต้องการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับ จะได้รับหรือไม่ ?
ทานนั้นย่อมสำเร็จในฐานะ (สถานภาพในภพนั้นที่ยังให้สำเร็จประโยชน์ได้) และย่อมไม่สำเร็จในอฐานะ (สถานภาพในภพนั้นที่ยังให้สำเร็จประโยชน์ไม่ได้)
1. บางคน เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ผิดในกาม พูดเท็จ สอดเสียด หยาบ เพ้อเจ้อ มีความอยากได้ของผู้อื่น มีจิตปองร้าย มีความเห็นผิด ตายไปย่อมเข้าถึงนรก เขาย่อมเลี้ยงอัตภาพตั้งอยู่ด้วยอาหารของสัตว์นรก ทานนั้นเป็นอฐานะ ❎
2. บางคน เป็นผู้ฆ่าสัตว์…ตายไปย่อมเข้าถึงกำเนิดเดรัจฉาน ย่อมเลี้ยงอัตภาพตั้งอยู่ด้วยอาหารของเดรัจฉาน ทานนั้นเป็นอฐานะ❎
3. บางคน เป็นผู้เว้นขาดการฆ่าสัตว์…ตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของมนุษย์ เขาย่อมเลี้ยงอัตภาพตั้งอยู่ด้วยอาหารของมนุษย์ ทานนั้นเป็นอฐานะ❎
4. บางคน เป็นผู้เว้นขาดการฆ่าสัตว์…ตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดา เขาย่อมเลี้ยงอัตภาพตั้งอยู่ด้วยอาหารของเทวโลก ทานนั้นเป็นอฐานะ❎
5. บางคน เป็นผู้ฆ่าสัตว์…ตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเปรตวิสัย เขาย่อมเลี้ยงอัตภาพตั้งอยู่ด้วยอาหารของเปรตวิสัย หรือว่ามิตรอำมาตย์ หรือญาติสาโลหิต ย่อมอุทิศทานให้ ฐานะอันเป็นที่ตั้งแห่งความสำเร็จแห่งทาน เป็นฐานะ คือทานนั้นเป็นประโยชน์ได้✅
6. การทำทานให้ผู้ล่วงลับนั้น หากเขาเกิดเป็นเปรตวิสัยเท่านั้นจะได้รับประโยชน์แห่งทาน ถ้าญาติทำทานไปแต่เขาไม่ได้เป็นเปรตวิสัย ก็จะมีเปรตวิสัยที่เป็นญาติอื่นๆมารับแทนไป
7. บางคน เป็นผู้ฆ่าสัตว์…มีความเห็นผิด แต่เขายังให้ ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และโคมประทีป แก่สมณะหรือพราหมณ์ เมื่อตายไปเกิดเป็น ช้าง ม้า โค สุนัข ด้วยกรรมนั้น เขาย่อมได้ ข้าว น้ำ มาลา เครื่องประดับต่างๆ
8. บางคน เป็นผู้เว้นขาดการฆ่าสัตว์…มีความเห็นชอบ และเขายังให้ ข้าว น้ำ…แก่สมณะหรือพราหมณ์ เมื่อตายไปเกิดเป็นมนุษย์ และได้เบญจกามคุณของมนุษย์
9. บางคน เป็นผู้เว้นขาดการฆ่าสัตว์…มีความเห็นชอบ และเขายังให้ ข้าว น้ำ…แก่สมณะหรือพราหมณ์ เมื่อตายไปเกิดเป็นเทวดา และได้เบญจกามคุณของเทวโลก
การสงเคราะห์เทวดา : ทำบุญอุทิศให้เทวดาได้ไหม ?
ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าหลังจากที่พระองค์ได้ฉันท์อาหารอันปรานีตที่ท่านอามาตย์สองท่านได้ทำมาถวายพระองค์คือ สุนีธะและวัสสะการะ ได้ตรัสด้วยคาถาว่า
…บุรุษชาติบัณฑิตย่อมสำเร็จการอยู่ณที่ใด พึงเชิญท่านผู้มีศิล ผู้สำรวมและประพฤติพรหมจรรย์ให้บริโภคในที่นั้น ควรอุทิศทักขิณา เพื่อเทวดาผู้สถิตย์อยู่ในที่นั้นๆ เทวดาเหล่านั้นอันบุรุษชาติบัณฑิตนับถือแล้ว ย่อมนับถือบูชาตอบ แต่นั่นย่อมอนุเคราะห์บุรุษชาติบัณฑิตนั้น ประหนึ่งมารดาอนุเคราะห์บุตร บุรุษผู้อันเทวดาอนุเคราะห์แล้ว ก็ย่อมถึงความเจริญทุกเมื่อ…
ความตระหนี่ขวางกั้นทางบรรลุผล : โทษมหันต์ของความตระหนี่
หากบุคคลมีความตระหนี่ จะไม่ควรเข้าอยู่สมาธิในระดับ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ได้ และไม่เข้าทำให้แจ้งระดับโสดาปติผล สกทาคามิผล อสกทาคามิผล อรหันตผล ได้แก่
1. ความตระหนี่อาวาส
2. ความตระหนี่ตระกูล
3. ความตระหนี่ลาภ
4. ความตระหนี่วรรณะ (ความดี)
5. ความตระหนี่ธรรม (เครื่องให้บรรลุมรรคผล)
ความตระหนี่คือความมัวหมองของผู้ให้
1. มนต์มีการไม่ท่องบ่นเป็นมลทิน
2. ความไม่หมั่นเป็นมลทินของเรือน
3. ความเกียจคร้านเป็นมลทินของผิวพรรณ
4. ความประมาทเป็นมลทินของผู้รักษา
5. ความประพฤติชั่วเป็นมลทินของหญิง
6. ความตระหนี่เป็นมลทินของผู้ให้
7. อกุศลธรรมอันเป็นบาปเป็นมลทินแท้ทั้งโลกนี้และโลกหน้า
8. เราจะบอกมลทินที่ยิ่งกว่ามลทินนั้น คือ อวิชชาเป็นมลทินอย่างยิ่ง
เหตุให้ไปนรก~สวรรค์ : ความตระหนี่ส่งผลกรรมด้วย ?
บุคคลผู้ประกอบธรรม ๓ ประการ และไม่ละมลทิน 3 ประการย่อมจะถูกเก็บไว้ในนรกเหมือนถูกขังฉะนั้น
1. เป็นผู้ทุศีลและไม่ละความเป็นมลทินแห่งผู้ทุศิล
2. เป็นผู้ริษยาและเป็นผู้ไม่ละมลทินแห่งผู้ริษยา
3. เป็นผู้ตระหนี่และเป็นผู้ไม่ละมลทินแห่งความตระหนี่
บุคคลผู้ประกอบธรรม ๓ ประการ และละมลทิน 3 ประการย่อมจะประดิษฐานบนสวรรค์เหมือนจัดวางอยู่ไว้ฉะนั้น
1. เป็นผู้มีศีลและละความเป็นมลทินแห่งผู้ทุศิล
2. เป็นผู้ไม่ริษยาและเป็นผู้ละมลทินแห่งผู้ริษยา
3. เป็นผู้ไม่ตระหนี่และเป็นผู้ละมลทินแห่งความตระหนี่
วิบาทของคนตระหนี่และคนไม่ตระหนี่ : ความต่างระหว่างคนตระหนี่คืออะไร ?
…ชนเหล่าใดในโลกนี้เป็นคนตระหนี่ เหนียวแน่นดีแต่ว่าเขาทำการกีดขวางผู้อื่นให้อยู่ เขาย่อมเข้าถึงนรก กำเนิดเดรัจฉานหรือยมโลก
- หากเป็นมนุษย์ ก็เกิดในสกุลคนยากจน จะหาผ้า อาหาร ความร่าเร่งได้โดยยาก คนพาลเหล่านั้นต้องประสงค์สิ่งใดแต่ผู้อื่น เขาย่อมไม่ได้แม้สิ่งนั้นสมปรารถนา นั่นเป็นผลในภพนี้ ในภพหน้าก็ยังเป็นทุกคติอีกด้วย
- ชนเหล่าใดในโลกนี้เป็นมนุษย์แล้ว รู้ถ้อยคำ ปราศจากความตระหนี่ เลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นผู้มีความเคารพแรงกล้า ชนเหล่านี้ย่อมปรากฏในสวรรค์อันเป็นที่อุบัติ หากถึงความเป็นมนุษย์ ย่อมเกิดในสกุลที่มั่งคั่ง ได้ ผ้า อาหาร ความร่าเริง สนุกสนานโดยไม่ยาก พึงมีอำนาจแผ่ไปในโภคทรัพย์ที่ผู้อื่นหาสะสมไว้ บันเทิงใจอยู่ นั่นเป็นวิบากในภพนี้ ทั้งภพหน้าก็เป็นสุขคติ…
ทรัพย์ในอริยวินัย (นัยที่1)
1. ทรัพย์คือ “ศรัทธา” ต่อพระพุทธเจ้า
2. ทรัพย์คือ “ศิลห้า”
3. ทรัพย์คือ “สุตะ” เป็นพหูสูต ฟังมากสดับมามาก ทรงจำได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดอย่างดีด้วยความเห็นซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถะ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง
4. ทรัพย์คือ “จาคะ” ละความตระหนี่ ผู้มีใจปราศจากมลทินคือความตระหนี่ อยู่ครองเรือน มีการบริจาคอันปล่อยอยู่เป็นประจำ มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ เป็นผู้ควรแก่การขอ ยินดีในการให้และการแบ่งปัน
5. ทรัพย์คือ “ปัญญา” ผู้มีปัญญาอันหยั่งถึงความตั้งขึ้นและความเสื่อมไป เป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
ผู้ใดมีศรัทธาหยั่งลงมั่นต่อพระตถาคต มีศิลที่พระอริยสงฆ์สรรเสริญ มีเลื่อมใสในพระสงฆ์ มีความเห็นตรง บัณฑิตต่างกล่าวว่าผู้นั้นเป็นคนไม่ขัดสน ชีวิตไม่เปล่าประโยชน์ ดังนั้นผู้มีปัญญาเมื่อนึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงประกอบศรัทธา ศิล ความเลื่อมใส และความเห็นธรรมเนืองๆเถิด
ทรัพย์ในอริยวินัย (นัยที่2)
ทรัพย์ ๗ ประการ
1. ทรัพย์คือ “ศรัทธา” เป็นผู้มีศรัทธา ย่อมเชื่อในปัญญาเครื่องตรัสรู้ของตถาคต ยิ่งกว่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น …เป็นผู้เบิกบาน เป็นผู้จำแนกธรรม
2. ทรัพย์คือ “ศิล” ขาดจากการฆ่า…ขาดจากการดื่มสุรายาเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
3. ทรัพย์คือ “หิริ” เป็นผู้มีความละอายต่อ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ละอายต่อการถูกต้องอกุศลกรรมอันเป็นบาป
4. ทรัพย์คือ “โอตตัปปะ” เป็นผู้สะดุ้งกลัวต่อ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต สะดุ้งกลัวต่อความถูกต้องอกุศลกรรมอันเป็นบาป
5. ทรัพย์คือ “สุตะ”
6. ทรัพย์คือ “จาคะ”
7. ทรัพย์คือ “ปัญญา”
ประโยชน์จากการสร้างวิหาร : สร้างอาคารถวายวัดได้บุญไหม ?
…ครังหนึ่งมี ราชคหเศรษฐีกราบทูลพระพุทธเจ้า ท่านมีความประสงค์อยากทำบุญสร้างวิหาร 60 หลัง พระพุทธเจ้าตรัสให้ถวายแก่พระสงฆ์ที่มาจากสี่ทิศ ทั้งที่มาแล้ว และยังไม่มา
วิหารป้องกันหนาว ร้อน และสัตว์ร้าย นอกจากนั้น ยังป้องกันงู และยุง ฝนในสิสิรฤดู นอกจากนั้นวิหารยังป้องกันลมและแดดอันกล้าที่จะเกิดขึ้นได้
การถวายวิหารแก่พระสงฆ์ เพื่อหลีกเร้นอยู่ เพื่อความสุข เพื่อเพ่งพิจารณาและเพื่อเห็นแจ้ง พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่าเป็นทานอันเลิศ ด้วยเหตุนี้ผู้ฉลาดจึงสร้างวิหารถวายแด่สงฆ์
และพร้อมกันนี้มีความเลื่อมใสถวาย ข้าว น้ำ ผ้า และเสนาสนะอันเหมาะสมแก่พระสงฆ์ และพระสงฆ์ผู้ซื่อตรง ย่อมแสดงธรรมอันเป็นเครื่องบรรเทาสรรพทุกข์แก่เขา เขารู้ทั่วถึงแล้ว จะเป็นผู้ไม่มีอาสวะ ปรินิพพานในโลกนี้.…
จาคานุสสติ : สัทธรรมที่ได้จากการทำทานอย่างเข้าใจถ่องแท้
การหมั่นระลึกถึงจาคะคือ การทำบุญทำทานถวายโภชนะแก่พระสงฆ์ เป็นผลให้ไม่หมกมุ่นใน ความอยาก ความโกธรเคือง ความหลงมัวเมา จิตใจตรงต่อการรู้เนื้อธรรม และไปสู่ทางบรรลุธรรม
…มหาราช! ท่านควรระลึกถึง จาคะ ของตนว่า เป็นลาภ และได้ดีแล้ว
ผู้มีจาคะ คือ
- ผู้มีใจที่ไม่มีมลทิน คือความตระหนี่
- อยู่ครองเรือน มีการบริจาคอันปล่อยอยู่เป็นประจำ(ทำบุญ ถวายทานโดยไม่หวังผลตอบแทนอยู่เป็นประจำ)
- มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการเสียสละ (ยินดี ตั้งใจที่จะให้)
- เป็นผู้ควรแห่งการขอ ยินดีในการให้ และการแบ่งปัน (มีความพร้อมที่จะให้และแบ่งปัน)
ในหมู่สัตว์ผู้ถูกมลทินคือความตระหนี่กลุ้มรุม
เมื่ออริยสาวกระลึกถึงจาคะ เมื่อนั้นจิตของอริยสาวกจะไม่ถูกราคะ โทสะ โมหะ กลุ้มรุม
อริยสาวกมีจิตที่ดำเนินไปตรง ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม ปีติย่อมเกิด กายสงบ และเสวยสุข จิตตั้งมั่น…
การให้ทาน ต้องให้ด้วยจิตใจที่ปล่อย เสียสละความอยาก ความหวงกัน ความยึดเหนี่ยวไว้เป็นของตนเอง
ผลกรรมดี มีอานิสงส์มากทั้งในชาตินี้ ชาติหน้า และทางสู่การพ้นทุกข์
เรียบเรียงและอ้างอิงจาก พุทธวจน-หมวดธรรม เปิดธรรมที่ถูกปิด ฉบับ๑๓ ทาน (การให้)
โฆษณา