7 ก.ค. 2021 เวลา 13:10
รู้จัก จัณฑีครห์ (Chandigarh) เมืองหลวงอินเดีย ที่ติดอันดับ “ผังเมืองดีที่สุดในโลก”
ออกแบบโดย “Le Corbusier” สุดยอดสถาปนิกแห่งศตวรรษที่ 20
.
หากคุณเคยรู้จักประเทศอินเดียที่มีแต่ความแออัด ผู้คนพลุกพล่าน บ้านเมืองไม่มีระบบระเบียบ วันนี้ภาพเหล่านั้นอาจต้องลบทิ้งไปก่อน แล้วไปทำความรู้จักกับเมืองจัณฑีครห์ (Chandigarh) ที่ขึ้นชื่อว่ามีผังเมืองที่ดีที่สุดในโลก
.
“จัณฑีครห์” เป็นเมืองหลวงของทั้งรัฐปัญจาบ และรัฐหรยาณา ประเทศอินเดีย ตั้งอยู่ระหว่างเชิงเทือกเขาหิมาลัยและที่ราบลุ่มแม่น้ำคงคา มีเนื้อที่ 114 ตารางกิโลเมตร มีความใหญ่ของเมืองเป็นลำดับที่ 34 นับว่าเป็นเมืองเล็กๆ แต่ก็มีการวางผังเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ อัดแน่นไปด้วยความเจริญ เทคโนโลยี ระบบสาธารณสุข พื้นที่สีเขียว ความเหลื่อมล้ำน้อย เป็นชีวิตดีดีที่ลงตัวของชาวอินเดีย แต่ก่อนจะมาเป็นเมืองที่ฟังดูไม่เหมือนอินเดียที่เรารู้จัก เขาผ่านอะไรมาบ้าง?
.
ในอดีต ประเทศอินเดียเคยเป็นเมืองในอาณานิคมของอังกฤษ ซึ่งหลังจากอินเดียได้รับเอกราชในปี ค.ศ. 1947 นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย (ชวาหระลาล เนรูห์) ได้เกิดความตั้งใจจะสร้างให้เมืองนี้เป็นเมืองหลวงที่มีศักยภาพ และมีคุณภาพมากเพียงพอต่อประชาชนชาวอินเดีย
.
รัฐบาลอินเดียเลยติดต่อไปยังทีมสถาปนิกอเมริกันให้มาออกแบบเมือง แต่โครงการก็ต้องชะลอไป เพราะมีหนึ่งในทีมออกแบบเสียชีวิต แต่ความตั้งใจจะสร้างเมืองที่ดีของรัฐบาลอินเดียก็ไม่ดับมอดลง รัฐบาลอินเดียได้ติดต่อไปยัง “เลอ คอร์บูซิเยร์” สถาปนิกชาวฝรั่งเศส ผู้ที่เป็นนักออกแบบระดับโลก และมีอิทธิพลกับวงการสถาปนิกในช่วงศตวรรษที่ 20 ให้มาสานต่อภารกิจนี้ให้สำเร็จ
.
การวางผังเมืองจัณฑีครห์ ได้รับอิทธิพลจากแนวคิด “Modernism” และ “Garden city” ที่ไม่นิยมตึกสูง แต่จะเน้นแบ่งใช้พื้นที่ในเมืองออกเป็น 4 รูปแบบ พร้อมการแบ่งสัดส่วนของเมือง (Sectors) ออกเป็นบล็อกสี่เหลี่ยมเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ดังนี้
.
1. แบ่งส่วนเซคเตอร์การอยู่อาศัย โดยเน้นพื้นที่บ้าน แหล่งที่อยู่อาศัย
เพราะการอยู่อาศัย ต้องใช้ความเงียบสงบ เซคเตอร์นี้จะมีขนาดไม่ใหญ่มาก สร้างจากแนวคิด “เดิน 10 นาที” จะต้องเข้าถึงได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า ป้ายรถเมล์ สวนสาธารณะ เป็นลักษณะของชุมชนที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตทุกมิติ เช่น จัดให้โรงเรียนอยู่ติดกับพื้นที่สีเขียว เพื่อความสงบและปลอดภัยของเด็กๆ
.
2. แบ่งส่วนการทำงาน ได้แก่ The Capital Complex ณ ใจกลางเมือง
ส่วนอุตสาหกรรมอยู่ทางทิศตะวันออกของเมือง โดยมีแถบพื้นที่สีเขียว (green belt) คั่นอยู่ เพื่อป้องกันส่วนอยู่อาศัยจากมลภาวะและเสียงต่าง ๆ จากอุตสาหกรรม รวมถึงมีกลไกเพื่อควบคุมการก่อสร้างเพิ่มเติมในอนาคต ทั้งภายในและภายนอกเมือง
.
3. จัดสรรพื้นที่สีเขียว มีพื้นที่โล่งเพื่อทัศนวิสัย และช่วยเพิ่มความเงียบสงบให้แต่ละเซคเตอร์
.
4. สร้างระบบการเดินทาง จัดผังโครงข่ายถนนแบบเชื่อมถึงกัน 7 รูปแบบ
ผังเมืองจัณฑีครห์มีลักษณะบล็อกเป็นกริด แต่ละเซคเตอร์เชื่อมต่อกันด้วยถนน นักออกแบบเชื่อว่าถนนก็เป็นเหมือนเส้นเลือดของสิ่งมีชีวิต ซึ่งมีขนาดที่ต่างกัน และทำงานร่วมกัน ดังนั้นการจราจรจะต้องไหลลื่น มีระบบการออกแบบเพื่อควบคุมความเร็วของยานพาหนะ เพื่อให้คนที่สัญจรไปมารู้สึกได้รับคุณภาพชีวิตที่ดี และปลอดภัย ไม่ต้องเสี่ยงถูกเฉี่ยวชนให้ว้าวุ่นใจ
.
จากการวางผังเมืองที่ดีในอดีต ปัจจุบันเมืองจัณฑีครห์ ได้รับการยอมรับจากทั้งคนในประเทศและทั่วโลก ว่าเป็นหนึ่งในเมืองที่สะอาด เป็นระบบระเบียบ และน่าอยู่มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทั้งยังเป็นแหล่งอุตสาหกรรมไอที มีบริษัทระดับโลกตั้งสำนักงานอยู่มากมาย ทั้ง Quark, Infosys, Dell, IBM และ TechMahindra แถมเป็นแหล่งดึงดูดนักลุงทนด้วย “Rajiv Gandhi Chandigarh Technology Park” อีกด้วย การวางผังเมืองที่ดี เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของคุณภาพชีวิตดีดี มีพื้นที่ใช้สอยอย่างเหมาะสม ปลอดภัย แบ่งการใช้ชีวิตได้อย่างลงตัว
.
เรียบเรียงจาก:
.
.
#missiontopluto
#missiontoplutopodcast
#society
โฆษณา