8 ก.ค. 2021 เวลา 11:00 • ประวัติศาสตร์
“สงครามดอกกุหลาบ (Wars of the Roses)” สงครามชิงบัลลังก์อังกฤษ
หากใครที่เป็นแฟน “Game of Thrones” น่าจะเคยได้อ่านเรื่องราวของ “สงครามดอกกุหลาบ (War of the Roses)”
สงครามนี้เป็นสงครามที่มีความเข้มข้นไม่แพ้เรื่องราวของ Game of Thrones เต็มไปด้วยการเมืองและการชิงดีชิงเด่น
“สงครามดอกกุหลาบ (War of the Roses)” คือสงครามที่กินระยะเวลายาวนาน โดยต้นเหตุแห่งสงคราม คือ “บัลลังก์อังกฤษ”
สงครามนี้เป็นการต่อสู้ระหว่างสองราชวงศ์ นั่นคือ “ราชวงศ์ยอร์ก (House of York)” และ “ราชวงศ์แลนคาสเตอร์ (House of Lancaster)”
2
สงครามนี้เกิดขึ้นระหว่างปีค.ศ.1455-1485 (พ.ศ.1998-2028) และสาเหตุที่เรียกว่า “สงครามดอกกุหลาบ” ก็เนื่องจากสัญลักษณ์ของราชวงศ์ยอร์ก คือกุหลาบสีขาว ส่วนราชวงศ์แลนคาสเตอร์ คือกุหลาบสีแดง
ภายหลังจากสงครามดำเนินไปกว่า 30 ปี สงครามนี้ก็จบลง และก่อกำเนิดราชวงศ์ใหม่
ในปีค.ศ.1422 (พ.ศ.1965) “พระเจ้าเฮนรีที่ 5 แห่งอังกฤษ (Henry V of England)” ได้สวรรคต และทำให้ “พระเจ้าเฮนรีที่ 6 แห่งอังกฤษ (Henry VI of England)” พระราชโอรสวัยเก้าเดือน ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งอังกฤษ
พระเจ้าเฮนรีที่ 5 แห่งอังกฤษ (Henry V of England)
พระเจ้าเฮนรีที่ 6 แห่งอังกฤษ (Henry VI of England)
เนื่องด้วยชัยชนะในการสงครามของพระเจ้าเฮนรีที่ 5 พระเจ้าเฮนรีที่ 6 จึงดำรงตำแหน่งกษัตริย์แห่งฝรั่งเศสอีกด้วย
ในปีค.ศ.1445 (พ.ศ.1988) พระเจ้าเฮนรีที่ 6 ได้ทรงอภิเษกสมรสกับ “พระราชินีมาร์กาเรตแห่งอ็องฌู (Margaret of Anjou)”
พระราชินีมาร์กาเรต เป็นหญิงสูงศักดิ์จากฝรั่งเศสผู้มีความทะเยอทะยานและฉลาดหลักแหลม ล้ำหน้าพระสวามี
พระราชินีมาร์กาเรตแห่งอ็องฌู (Margaret of Anjou)
สถานการณ์ในราชสำนักของพระเจ้าเฮนรีที่ 6 ไม่ค่อยราบรื่นเท่าไรนัก พระเจ้าเฮนรีที่ 6 ไม่ค่อยสนพระทัยในการเมือง และเป็นผู้นำที่อ่อนแอ ทำให้เหล่าขุนนางที่กระหายอำนาจ ต่างสบโอกาสหาอำนาจและผลประโยชน์ โดยชักใยอยู่เบื้องหลังพระองค์
ความอ่อนแอของพระเจ้าเฮนรีที่ 6 ทำให้พระองค์สูญเสียอำนาจเกือบทั้งหมดในฝรั่งเศส อีกทั้งการคอร์รัปชั่นในอังกฤษ และการบริหารที่ล้มเหลว บวกกับการขูดรีดภาษี ก็ทำใหัเจ้าของที่ดินและชาวไร่ในเคนต์ต่างทนไม่ไหว และลุกขึ้นมาก่อการกบฏในปีค.ศ.1450 (พ.ศ.1993)
การกบฏ นำโดยชายที่ชื่อ “แจ๊ค เคด (Jack Cade)” ได้นำขบวนกบฏ เดินทางมายังลอนดอนพร้อมข้อเรียกร้องต่างๆ ทูลเกล้าถวายให้พระเจ้าเฮนรีที่ 6 ทอดพระเนตร
1
แจ๊ค เคด (Jack Cade)
พระเจ้าเฮนรีที่ 6 ไม่ทรงยินยอมในข้อเรียกร้องต่างๆ ของเหล่ากบฏ โดยเฉพาะข้อที่ว่า ให้เรียก “ริชาร์ดแห่งยอร์ก (Richard of York)” กลับจากไอร์แลนด์มาอังกฤษ
ริชาร์ดแห่งยอร์กเป็นหนึ่งในสายเลือดของ “พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษ (Edward III of England)” และมีสิทธิในราชบัลลังก์อังกฤษ
1
ริชาร์ดแห่งยอร์ก (Richard of York)
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษ (Edward III of England)
ภายหลังจากต่อสู้กับกองทัพกบฏ กองทัพของพระเจ้าเฮนรีที่ 6 ก็ได้ขยี้ทัพกบฏจนราบคาบ และพระเจ้าเฮนรีที่ 6 ก็ได้ทรงอภัยโทษให้เหล่ากบฏ ยกเว้นเพียงเคดที่เป็นผู้นำกบฏ ซึ่งเคดก็ได้เสียชีวิตขณะถูกจับกุม จากบาดแผลที่เกิดจากการสู้รบ
พระเจ้าเฮนรีที่ 6 เชื่อว่าริชาร์ดแห่งยอร์กเป็นผู้อยู่เบื้องหลังทัพกบฏ และนี่ คือจุดเริ่มต้นของสงครามที่จะกินเวลากว่า 30 ปี ต่อสู้กันต่อมาอีกกว่าสามรุ่น
ในปีค.ศ.1452 (พ.ศ.1995) ริชาร์ดแห่งยอร์กได้เดินทางกลับมาอังกฤษ และตั้งใจว่าจะกำจัดเหล่าที่ปรึกษาจอมโฉดของพระเจ้าเฮนรีที่ 6 โดยเฉพาะ “เอ็ดมันด์ โบฟอร์ท ดยุคแห่งซัมเมอร์เซ็ทที่ 2 (Edmund Beaufort, 2nd Duke of Somerset)”
ริชาร์ดแห่งยอร์กได้ยกทัพ มุ่งตรงมายังลอนดอน โดยได้กล่าวว่า ตัวเขานั้นภักดีต่อพระเจ้าเฮนรีที่ 6 หากแต่ขอให้ปลดโบฟอร์ทออกจากตำแหน่ง
เอ็ดมันด์ โบฟอร์ท ดยุคแห่งซัมเมอร์เซ็ทที่ 2 (Edmund Beaufort, 2nd Duke of Somerset)
แต่ยังไม่ทันจะปลดโบฟอร์ท ในปีค.ศ.1454 (พ.ศ.1997) พระเจ้าเฮนรีที่ 6 ก็ทรงพระประชวรจากอาการทางพระสติ ไม่สามารถขยับองค์ได้ ทำให้ไม่สามารถปกครองแผ่นดินได้
ในช่วงที่พระเจ้าเฮนรีที่ 6 ทรงพระประชวร ริชาร์ดแห่งยอร์กก็ได้ดำรงตำแหน่ง “เจ้าผู้อารักขา (Lord Protector)” หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ริชาร์ดแห่งยอร์กได้สั่งให้นำตัวโบฟอร์ทไปคุมขังในหอคอยแห่งลอนดอน
ดูเหมือนโชคจะเข้าข้างริชาร์ดแห่งยอร์ก แต่แล้วอยู่ๆ ในปีค.ศ.1453 (พ.ศ.1996) พระราชินีมาร์กาเรตก็ให้พระประสูติกาล “เอ็ดเวิร์ดแห่งเวสต์มินสเตอร์ เจ้าชายแห่งเวลส์ (Edward of Westminster, Prince of Wales)” พระราชโอรสองค์เดียวในพระเจ้าเฮนรีที่ 6 ซึ่งทำให้สิทธิในการครองบัลลังก์ตกเป็นของเจ้าชายพระองค์น้อย ในฐานะรัชทายาทของพระเจ้าเฮนรีที่ 6
เอ็ดเวิร์ดแห่งเวสต์มินสเตอร์ เจ้าชายแห่งเวลส์ (Edward of Westminster, Prince of Wales)
ค.ศ.1455 (พ.ศ.1998) พระเจ้าเฮนรีที่ 6 ทรงหายจากพระอาการประชวร ทำให้ริชาร์ดแห่งยอร์กและเหล่าขุนนางฝ่ายริชาร์ดแห่งยอร์ก ถูกส่งไปอยู่ที่อื่น และโบฟอร์ทก็กลับคืนสู่อำนาจอีกครั้ง
แต่ริชาร์ดแห่งยอร์กก็ยังไม่ยอมแพ้ ในวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ.1455 (พ.ศ.1998) ริชาร์ดแห่งยอร์ก ได้จับมือกับ “ริชาร์ด เนวิลล์ เอิร์ลที่ 16 แห่งวอริก (Richard Neville, 16th Earl of Warwick)” นำทัพมุ่งตรงไปยังเซนต์อัลบันส์ เพื่อเจรจากับพระเจ้าเฮนรีที่ 6
การเจรจานั้นล้มเหลว ทำให้เกิดสงครามตามมา และผลของสงคราม ก็คือโบฟอร์ทนั้นเสียชีวิต ส่วนพระเจ้าเฮนรีที่ 6 ทรงได้รับบาดเจ็บ
ริชาร์ด เนวิลล์ เอิร์ลที่ 16 แห่งวอริก (Richard Neville, 16th Earl of Warwick)
ชัยชนะครั้งนี้ ทำให้ริชาร์ดแห่งยอร์กกลับคืนสู่ตำแหน่งเจ้าผู้อารักขา และพระเจ้าเฮนรีที่ 6 ก็ตกอยู่ในกำมือของริชาร์ดแห่งยอร์ก ส่วนพระราชินีมาร์กาเรตกับพระราชโอรส ก็ต้องหนีออกจากเมืองเพื่อเอาชีวิตรอด
ในขณะที่ริชาร์ดแห่งยอร์กกำลังครองอำนาจในอังกฤษ พระราชินีมาร์กาเรตก็พยายามหาทางทำให้พระเจ้าเฮนรีที่ 6 กลับคืนสู่บัลลังก์ และให้พระราชโอรสดำรงตำแหน่งรัชทายาทอย่างถูกต้อง
2
ริชาร์ดแห่งยอร์กก็ตระหนักว่าพระราชินีมาร์กาเรตคงไม่ยอมง่ายๆ เขาจึงจัดกองทัพ โดยมี “ริชาร์ด เนวิลล์ เอิร์ลที่ 5 แห่งซอลส์บรี (Richard Neville, 5th Earl of Salisbury)” เป็นแม่ทัพ
1
ริชาร์ด เนวิลล์ เอิร์ลที่ 5 แห่งซอลส์บรี (Richard Neville, 5th Earl of Salisbury)
กองทัพของเอิร์ลที่ 5 แห่งซอลส์บรี ได้ปะทะกับกองทัพขนาดใหญ่ของพระราชินีมาร์กาเรตที่บลอร์ฮีธในวันที่ 23 กันยายน ค.ศ.1459 (พ.ศ.2002)
ถึงแม้กองทัพฝ่ายยอร์กซึ่งนำโดยเอิร์ลที่ 5 แห่งซอลส์บรีจะมีกำลังน้อยกว่าฝ่ายพระราชินีมาร์กาเรตกว่าครึ่ง แต่กองทัพฝ่ายยอร์กก็เป็นฝ่ายชนะ
1
ถึงจะแพ้ แต่พระราชินีมาร์กาเรตก็ยังไม่ยอมแพ้ โดยในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ.1459 (พ.ศ.2002) พระเจ้าเฮนรีที่ 6 และพระราชินีมาร์กาเรตก็ได้จัดกองทัพ พร้อมสู้รบอีกครั้ง
ฝั่งริชาร์ดแห่งยอร์ก ก็ได้ถอยทัพไปยังลัดฟอร์ดบริดจ์ เพื่อต้านทัพของพระเจ้าเฮนรีที่ 6
ในคืนวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ.1459 (พ.ศ.2002) ทหารฝ่ายยอร์กจำนวนมาก ได้แปรพักตร์ไปเข้ากับกองทัพพระเจ้าเฮนรีที่ 6 อีกทั้งเหล่าแม่ทัพก็หนีทัพ ทำให้ริชาร์ดแห่งยอร์กต้องหนีกลับไปไอร์แลนด์
หากแต่ริชาร์ดแห่งยอร์กและผู้สนับสนุนก็ยังไม่ยอมแพ้ โดยในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1460 (พ.ศ.2003) เอิร์ลที่ 16 แห่งวอริกได้นำทัพทหารจำนวนหลักพันคน เข้ามายังลอนดอน
ถึงแม้จำนวนจะน้อยและไม่น่าจะมีทางชนะ แต่หนึ่งในแม่ทัพฝ่ายพระเจ้าเฮนรีที่ 6 ได้แปรพักตร์มาเข้ากับฝ่ายยอร์ก และได้เปิดประตูรับคนของเอิร์ลที่ 16 แห่งวอริก เข้ามาในค่าย
ศึกครั้งนี้ ฝ่ายยอร์กเป็นฝ่ายชนะ และสามารถจับพระเจ้าเฮนรีที่ 6 ได้ ทำให้พระราชินีมาร์กาเรตต้องหนีไปอีกครั้ง
เมื่อเป็นฝ่ายชนะ ริชาร์ดแห่งยอร์กจึงแต่งตั้งตนเองเป็นเจ้าผู้อารักขาอีกครั้ง และให้ทายาทของตนเป็นรัชทายาท สืบบัลลังก์ต่อจากพระเจ้าเฮนรีที่ 6
1
พระเจ้าเฮนรีที่ 6 ทรงยินยอม อย่างน้อย บัลลังก์อังกฤษก็ยังเป็นของพระองค์ หากยินยอม พระองค์ก็จะนั่งบัลลังก์ไปจนสวรรคต
1
ข้อตกลงนี้เป็นที่ยอมรับของสภา และได้ออกเป็น “พระราชบัญญัติแอคคอร์ด (Act of Accord)”
หากแต่พระราชินีมาร์กาเรตก็ยังไม่ยอมแพ้ พระองค์ไม่ทรงยอมรับ และได้รวบรวมกองทัพ กลับมาต่อสู้อีกครั้ง
30 ธันวาคม ค.ศ.1460 (พ.ศ.2003) ริชาร์ดแห่งยอร์กได้นำทัพออกสู้รบกับกองทัพของพระราชินีมาร์กาเรต โดยทั้งสองทัพได้ปะทะกันที่เวกฟิลด์
แต่คราวนี้ โชคไม่เข้าข้างริชาร์ดแห่งยอร์ก เขาถูกฆ่าในสนามรบ และหัวของเขาก็ถูกนำมาเสียบประจานพร้อมมงกุฎที่ทำจากกระดาษ ใส่บนหัวเป็นการล้อเลียน
ยุทธการที่เวกฟิลด์ (Battle of Wakefield)
เมื่อริชาร์ดแห่งยอร์กได้เสียชีวิต “เอ็ดเวิร์ด เอิร์ลแห่งมาร์ช (Edward, Earl of March)” ลูกชายของริชาร์ดแห่งยอร์ก ก็ได้ขึ้นสู่อำนาจแทนที่ผู้เป็นพ่อ และยังทำสงครามต่อสู้กับราชวงศ์แลนคาสเตอร์ของพระเจ้าเฮนรีที่ 6 และพระราชินีมาร์กาเรตต่อไป
ฤดูหนาว ค.ศ.1461 (พ.ศ.2004) กองทัพของเอิร์ลแห่งมาร์ชได้เอาชนะกองทัพฝ่ายแลนคาสเตอร์ ก่อนที่จะพ่ายแพ้ในสงครามครั้งที่สองที่เซนต์อัลบันส์ และพระเจ้าเฮนรีที่ 6 ก็ได้รับการช่วยเหลือ เสด็จกลับไปหาพระราชินีมาร์กาเรตได้อีกครั้ง
แต่ทางฝ่ายเอิร์ลแห่งมาร์ชก็ยังไม่ยอมแพ้
มีนาคม ค.ศ.1461 (พ.ศ.2004) กองทัพของเอิร์ลแห่งมาร์ชได้เข้าปะทะกับกองทัพฝ่ายแลนคาสเตอร์ที่ทาวตัน นอร์ทยอร์กเชอร์
เชื่อว่าสงครามครั้งนี้มีทหารสู้รบกันกว่า 50,000 นาย เสียชีวิตราว 28,000 นาย
ยุทธการที่ทาวตัน (Battle of Towton)
ยุทธการที่ทาวตันคือสงครามที่จบในวันเดียว และเป็นสงครามที่รุนแรงและสูญเสียเลือดเนื้อมากที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ
ในศึกนี้ เอิร์ลแห่งมาร์ชเป็นฝ่ายชนะ ทำให้พระเจ้าเฮนรีที่ 6 พระราชินีมาร์กาเรต และพระราชโอรส ต้องเสด็จหนีไปสก็อตแลนด์
ชัยชนะครั้งนี้ ทำให้เอิร์ลแห่งมาร์ชสถาปนาตนเป็นกษัตริย์แห่งอังกฤษ มีพระนามว่า “พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 แห่งอังกฤษ (Edward IV of England)”
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 แห่งอังกฤษ (Edward IV of England)
ถึงแม้ชัยชนะจะเป็นของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 หากแต่พระราชินีมาร์กาเรตก็ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ
พระราชินีมาร์กาเรตได้รวบรวมไพร่พล โดยได้รับความช่วยเหลือจากชาวฝรั่งเศสที่ภักดี จัดทัพ ยกมาโจมตีพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ซึ่งครั้งนี้ ทัพของพระราชินีมาร์กาเรตเป็นฝ่ายชนะ และสามารถคืนบัลลังก์ให้พระสวามีได้ในปีค.ศ.1470 (พ.ศ.2013)
1
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ได้เสด็จหนีและต้องซ่อนองค์ในที่ลับ ซึ่งพระองค์ก็ไม่ทรงอยู่เฉย ทรงรวบรวมทัพ และโจมตีกองทัพฝ่ายยอร์ก ได้รับชัยชนะถึงสองครั้ง
ใน “ยุทธการที่ทิวก์สบรี (Battle of Tewkesbury)” เมื่อค.ศ.1471 (พ.ศ.2014) พระราชโอรสของพระเจ้าเฮนรีที่ 6 และพระราชินีมาร์กาเรตได้สิ้นพระชนม์ในสนามรบ และพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ก็สามารถจับพระเจ้าเฮนรีที่ 6 และพระราชินีมาร์กาเรตได้
พระเจ้าเฮนรีที่ 6 และพระราชินีมาร์กาเรตถูกนำไปคุมขังในหอคอยแห่งลอนดอน ส่วนบัลลังก์อังกฤษ ก็ได้กลับคืนสู่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 อีกครั้ง
ยุทธการที่ทิวก์สบรี (Battle of Tewkesbury)
พระเจ้าเฮนรีที่ 6 สวรรคตในวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ.1471 (พ.ศ.2014) ซึ่งคาดว่าสาเหตุที่สิ้นพระชนม์ มาจากการที่พระองค์ทรงตรอมพระทัย แต่นักประวัติศาสตร์บางคนก็เชื่อว่าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ทรงมีรับสั่งให้ปลงพระชนม์พระเจ้าเฮนรีที่ 6
ส่วนพระราชินีมาร์กาเรตได้ถูกปล่อยเป็นอิสระ และเสด็จกลับไปประทับยังฝรั่งเศส ก่อนจะสวรรคตในปีค.ศ.1482 (พ.ศ.2025)
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 สวรรคตในปีค.ศ.1483 (พ.ศ.2026) และกษัตริย์องค์ต่อไป ก็คือพระราชโอรสของพระองค์ นั่นคือ “พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 แห่งอังกฤษ (Edward V of England)” ซึ่งมีพระชนมายุเพียง 12 พรรษา
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 แห่งอังกฤษ (Edward V of England)
ผู้ที่รับตำแหน่งเจ้าผู้อารักขา คือ “ริชาร์ด ดยุกแห่งกลูสเตอร์ (Richard, Duke of Gloucester)” พระอนุชาของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4
ถึงแม้จะรับตำแหน่งเจ้าผู้อารักขา แต่ดยุกแห่งกลูสเตอร์ก็ไม่ได้ภักดี และได้วางแผนที่จะทำให้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 และพระอนุชา ไม่เป็นที่ยอมรับ ไม่สามารถครองบัลลังก์ได้
1
ดยุกแห่งกลูสเตอร์ทำสำเร็จ และได้ขึ้นครองบัลลังก์ เป็น “พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษ (Richard III of England)”
พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษ (Richard III of England)
ภายหลังจากขึ้นครองราชย์ พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ได้มีรับสั่งให้ขังพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 และพระอนุชาในหอคอยแห่งลอนดอน โดยอ้างว่าเพื่อความปลอดภัย
ภายหลัง ทั้งสองพระองค์ได้หายสาปสูญไปอย่างปริศนา เกิดเป็นตำนาน “เจ้าชายในหอคอย (Princes in the Tower)”
1
ผู้คนต่างสงสัยว่าพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ทรงมีรับสั่งให้ปลงพระชนม์พระราชนัดดาทั้งสองพระองค์ ทำให้ประชาชนเริ่มเสื่อมความนิยมในตัวพระองค์
เจ้าชายในหอคอย (Princes in the Tower)
เมื่อประชาชนเริ่มเสื่อมความนิยม ทำให้ “เฮนรี ทิวดอร์ (Henry Tudor)” ผู้มีเชื้อสายของราชวงศ์แลนคาสเตอร์ และมีศักดิ์เป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าเฮนรีที่ 6 ได้ขอความช่วยเหลือจากชาวฝรั่งเศสและขุนนางอีกหลายคน ยึดบัลลังก์คืนจากพระเจ้าริชาร์ดที่ 3
22 สิงหาคม ค.ศ.1485 (พ.ศ.2028) ทัพของเฮนรี ทิวดอร์ได้ปะทะกับทัพของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ที่บอสเวิร์ธฟิลด์ และในศึกนี้ พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ได้สวรรคตในสนามรบ
ยุทธการที่บอสเวิร์ธฟิลด์ (Battle of Bosworth Field)
ภายหลังจากศึกนี้ เฮนรี ทิวดอร์ได้ขึ้นเป็น “พระเจ้าเฮนรีที่ 7 แห่งอังกฤษ (Henry VII of England)”
พระเจ้าเฮนรีที่ 7 แห่งอังกฤษ (Henry VII of England)
ภายหลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระเจ้าเฮนรีที่ 7 ได้อภิเษกสมรสกับ “เอลิซาเบธแห่งยอร์ก (Elizabeth of York)”พระราชธิดาในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4
เอลิซาเบธแห่งยอร์ก (Elizabeth of York)
การอภิเษกสมรสนี้ ทำให้ความบาดหมางระหว่างสองราชวงศ์นั้นคลี่คลาย และสงครามดอกกุหลาบที่กินเวลายาวนานกว่า 30 ปีก็จบลง พร้อมกับการเริ่มต้น “ราชวงศ์ทิวดอร์ (Tudor Dynasty)”
โฆษณา