15 ก.ค. 2021 เวลา 13:00 • ประวัติศาสตร์
ความแตกต่างหนึ่งระหว่างมนุษย์กับสัตว์คือเราชอบตั้งคำถาม โลกและตัวเรามาจากไหน ปรากฏการณ์ธรรมชาติคืออะไร บรรพบุรุษของเราพยายามหาคำตอบเรื่อยมา
3
แต่ละกลุ่มวัฒนธรรมต่างมีเรื่องราวการสร้างโลกเป็นของตัวเอง บ้างเกี่ยวกับเทพเจ้า บ้างเชื่อวิญญาณภูติผี หรือสิ่งมีชีวิตในตำนาน จนถึงช่วงประมาณศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล หรือประมาณ 2,520 ปีที่แล้ว เกิดกลุ่มนักปราชญ์ชาวกรีกที่พยายามค้นหาคำตอบที่แตกต่างออกไป เริ่มจากธาเลสแห่งไมลิตัส ผู้ได้ชื่อว่าเป็นนักปราชญ์คนแรกในปรัชญาตะวันตก เขาเสนอแนวคิดว่าสรรพสิ่งทั้งหมด รวมถึงจักรวาลของเราเกิดขึ้นโดยมีน้ำเป็นธาตุหลัก จากการสังเกตว่าสิ่งมีชีวิตล้วนเติบโตจากความชื้น ธาเลสเองยังเชื่อว่าโลกลอยตัวอยู่บนน้ำด้วย
ในขณะที่ลูกศิษย์ของเขาเห็นแย้งว่าธรรมชาติเกิดจากส่วนประกอบหนึ่งเดียวที่เรียกว่า อเพรอน (apeiron) ซึ่งเป็นภาษากรีก แปลว่า ไม่มีขอบเขต (boundless) มันมองไม่เห็นจำแนกแยกแยะไม่ได้ และเคลื่อนไหวตลอดเวลา เขาเองเห็นด้วยกับธาเลสว่าสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นจากองค์ประกอบบางอย่าง แต่ไม่ใช่น้ำ มันคืออเพรอนซึ่งสามารถกลายไปสู่ธาตุต่างๆ ด้วยการเคลื่อนไหวของมัน เกิดความร้อนและความเย็น และทำให้เกิดสรรพสิ่ง ทั้งดวงดาวต่างๆ ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ อากาศ น้ำและผืนดิน
1
แต่แนวคิดนี้ก็ยังถูกโต้แย้งโดยลูกศิษย์อีกทอดว่าสรรพสิ่งเกิดขึ้นจากอากาศ (air) ต่างหาก เขาให้แนวคิดว่าเมื่ออากาศบางเบามันจะกลายเป็นไฟ และเมื่อหนาแน่นจะกลายเป็นลม จากนั้นก็เป็นเมฆและกลั่นตัวออกมาเป็นน้ำ จนกลายเป็นดินและหินต่อไป
3
หลังจากนั้นประมาณ 100 ปี นักคิดนามลูคิปปัสและศิษย์เอกอย่างเดโมคริตุสเสนอแนวคิดที่แตกต่างว่าเอกภพทั้งมวลประกอบจากอวกาศ (void) อันไร้ขอบเขตที่ซึ่งอนุภาคจำนวนนับไม่ถ้วนเคลื่อนไหวอยู่ภายใน พวกเขาเรียกอนุภาคนั้นว่า "อะตอม"(atomos ภาษากรีกแปลว่าไม่สามารถตัดหรือแบ่งแยกได้) จึงเป็นที่มาของสำนักอะตอมอันยิ่งใหญ่แห่งยุคกรีกโบราณ ทั้งสองเสนอว่าการเกิดขึ้นของสรรพสิ่งทั้งมวลเป็นเพียงผลลัพธ์ของการอะตอมที่เคลื่อนไหวแบบสุ่มและบังเอิญเคลื่อนที่มารวมกัน
นักคิดนั้นมีอยู่ทุกมุมโลก ในช่วงที่ลูคิปปัสและเดโมคริตุสก่อตั้งสำนักอะตอม อีกฟากหนึ่งอย่างอินเดียก็มีนักคิดที่นำเสนอแนวคิดที่คล้ายคลึงกันไว้เช่นกัน ตั้งแต่ก่อนยุคพุทธกาลเล็กน้อยหรืออาจเป็นยุคเดียวกัน นักปราชญฮินดูที่ได้ชื่อว่า กณาท (Kanada) ก่อตั้งสำนักไวเศษิก (Vaisheshika) นำเสนอแนวคิดที่ว่ามีอนุภาคที่เล็กที่สุดจนไม่สามารถแบ่งแยกได้อีก และไม่สามารถทำลายได้เรียกว่า "อณู" และเมื่ออณูเหล่านี้รวมตัวกันจะเกิดสสารใหม่ขึ้น
4
ยังไม่มีการยืนยันแน่ชัดว่าอณูเป็นความหมายเดียวกับอะตอมหรือไม่ แต่แน่นอนว่าคำนี้เองที่เรานำมาใช้เป็นรากศัพท์ของปรมาณู ซึ่งมาจาก ปรม แปลว่า อย่างยิ่ง และอณูแปลว่า เล็ก ละเอียด ปรมาณูจึงแปลว่าเล็กหรือละเอียดอย่างยิ่ง ในยุคสมัยปัจจุบันเราใช้คำว่าปรมาณูเป็นคำแปลของนิวเคลียร์หรือนิวเคลียส ซึ่งเป็นอนุภาคอยู่ในใจกลางของอะตอม
1
แม้ไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าแนวคิดทั้งสองนี้ได้อิทธิพลจากกันและกันหรือไม่ แต่นับได้ว่ายุคนี้เป็นยุคที่มนุษย์เริ่มวางรากฐานการทำความเข้าใจธรรมชาติด้วยวิธีการที่เรายังใช้ในปัจจุบัน นั่นคือการสังเกตและการใช้เหตุผล
2
เกือบทุกครั้งการค้นพบครั้งสำคัญของเราเกิดจากความสงสัย ตั้งคำถาม กล้าที่จะคิดแตกต่างจากความรู้เดิมๆ และหาเหตุผลมาโต้แย้ง ลูกศิษย์เองก็สามารถคิดต่างกับอาจารย์หรือตำราที่ส่งผ่านกันมา แต่ละคนมีอิสระที่จะคิดในแนวทางของตน ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้คนอื่นวิพากษ์วิจารณ์ได้ และพัฒนาองค์ความรู้นั้นต่อไป นี่คือกุญแจสำคัญไปสู่พัฒนาการทางกระบวนวิธีทางปรัชญาและวิทยาศาสตร์สืบมา
1
จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านจะเห็นได้ว่าไม่ใช่ทุกยุคสมัยที่มนุษย์จะทำเช่นนั้นได้ แต่ยุคสมัยไหนที่ทำได้ ยุคนั้นปัญญาจะเรืองรองเสมอ
5
ข้อมูลดีๆ จากหนังสือ
"Reality Is Not What It Seems ความจริงไม่ใช่อย่างที่เห็น"
โดย คาร์โล โรเวลลี
สำนักพิมพ์ Sophia
1
โฆษณา