8 ก.ค. 2021 เวลา 13:22 • ประวัติศาสตร์
ทราบหรือไม่ ?
ประเทศไทยเริ่มใช้ “พุทธศักราช” เป็นศักราชในทางราชการ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๖
ก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจัาอยู่หัว การใช้ศักราชในทางราชการของไทย ส่วนใหญ่นิยมใช้ “จุลศักราช” มากกว่าศักราชอื่นๆ โดยมักพบในหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ตัวอย่างเช่น
“…จุลศักราช ๖๘๖ ชวดศก แรกสถาปนาพระพุทธเจ้า เจ้าพะแนงเชิง…”
ที่มา : พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์
“…ในปีเถาะ สัปตศก จุลศักราช ๑๑๕๗ นั้น เมื่อ ณ เดือน ๘ ขึ้น ๑๔ ค่ำ สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จลงมาเฝ้ากราบถวายบังคมลาทรงผนวช และขอรับพระราชทานโทษ เจ้านันทเสนเจ้านครลานช้างที่ต้องโทษ กับสมัครพรรคพวกเจ้านันทเสน และบรรดานักโทษที่ต้องพันธนาการ อยู่ในเรือนจำให้พ้นโทษด้วย…”
ที่มา : พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนการใช้ศักราชในทางราชการ จากจุลศักราช มาเป็น “รัตนโกสินทรศก” ซึ่งเป็นศักราชที่เริ่มนับปีจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อจุลศักราช ๑๑๔๔ เป็นรัตนโกสินทร ศก ๑ (เรียกย่อว่า ร.ศ. ๑)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้วันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย ตามปฏิทินสุริยคติ ดังนั้น จึงมีการเริ่มใช้รัตนโกสินทรศก เป็นศักราชในทางราชการ ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ร.ศ.๑๐๘ เป็นต้นมา
ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริที่จะเปลี่ยนการใช้ศักราชในทางราชการ จากรัตนโกสินทรศก มาเป็น “พุทธศักราช” ดังที่ทรงบันทึกไว้ในจดหมายเหตุรายวัน ว่า
“...ศักราชรัตนโกสินทร ซึ่งใช้อยู่ในราชการเดียวนี้ มีข้อบกพร่องสำคัญอยู่ คือเป็นศักราชที่สั้นนัก จะกล่าวถึงเหตุการณ์ใดๆ ในอดีตภาคก็ขัดข้อง ด้วยว่าพอกล่าวถึงเรื่องราวก่อนสร้างกรุงขึ้นไปแล้ว ก็ต้องหันไปใช้จุลศักราชบ้าง มหาศักราชบ้าง และในข้างวัดใช้พุทธศักราช ฝ่ายคนไทยสมัยใหม่ที่อยากจะกล่าวถึงเหตุการณ์อันมีมาก่อนสร้างกรุงรัตนโกสินทรนี้ ก็มักจะหันไปใช้คฤสตศักราช ซึ่งดูเปนการเสียรัศมีอยู่ จึงเห็นว่าควรใช้พุทธศักราช จะเหมาะดีด้วยประการทั้งปวง เปนศักราชที่คนไทยเรารู้จักซึมทราบดีอยู่แล้ว...”
ในวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๓๑ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศวิธีนับ วัน เดือน ปี ซึ่งกำหนดใช้ “พุทธศักราช” เป็นศักราชในทางราชการ ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๕๖ เป็นต้นไป
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทั้งนี้ ในส่วนพระองค์ ได้ทรงเริ่มใช้พุทธศักราช นับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการ ส่วนประกาศหรือเอกสารราชการอื่นๆ เริ่มใช้พุทธศักราช ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๕๖ เป็นต้นมา ทำให้การใช้ศักราชของไทยจึงสอดคล้องเป็นแนวเดียวกันตั้งแต่บัดนั้น
การเปลี่ยนมาใช้ "พุทธศักราช" เป็นศักราชทางราชการของไทยนั้น ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กน้อยในสายตาของใครหลายคน แต่แท้จริงกลับแฝงด้วยพระบรมราโชบายอันแยบคายลึกซึ้ง ทั้งในส่วนความมั่นคงของราชอาณาจักรอันมีเอกราชและอธิปไตยเป็นของตนเอง มีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักของชาติ และมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ แต่ในขณะเดียวกันก็ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกของทุกศาสนา
อีกทั้งยังเป็นศักราชที่อำนวยประโยชน์แก่การศึกษาค้นคว้าเชิงประวัติศาสตร์ย้อนไปในอดีตได้นานนับพันๆ ปี จนได้รับความชื่นชมจากประเทศสมาชิกองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ต่อการใช้พุทธศักราชเป็นศักราชทางราชการของไทย ดังความตอนหนึ่งจากบันทึกของนายสุชีพ ปุญญานุภาพ ผู้แทนพุทธสมาคมแห่งประเทศไทยที่ได้ไปร่วมการประชุมองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ณ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๑ ดังนี้
“…ในการประชุมคณะกรรมการคราวหนึ่ง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนร้อย ชายชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งได้กล่าวขึ้นว่า เหตุไฉนประเทศชาวพุทธทั้งหลาย จึงไม่เอาอย่างประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศเดียวในโลกที่ประกาศใช้พุทธศักราช เป็นศักราชทางราชการ
…ประเทศไทยได้รับการยกย่องในที่ประชุมระดับโลก และถือเป็นตัวอย่างที่ดีของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา เพราะพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงริเริ่มใช้ จึงน่าที่ชาวพุทธไทยจะได้เทิดพระเกียรติพระมหากษัตริย์พระองค์นี้เป็นอย่างสูง เพื่อเป็นประวัติศาสตร์อันควรจารึก และทรงจำไว้อย่างน่าภาคภูมิใจต่อไป…”
โฆษณา