10 ก.ค. 2021 เวลา 01:58 • ปรัชญา
ลักษณะบางอย่างที่แตกต่าง
ระหว่างชีวิตแห่งความยึดมั่นถือมั่น
กับ ชีวิตแห่งปัญญา
1
.
Photo by Sapan Patel on Unsplash
"ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้
ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง
ทุกขเวทนาบ้าง
อทุกขมสุขเวทนา (เฉย ๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข) บ้าง
อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้แล้ว
ก็ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง
ทุกขเวทนาบ้าง
อทุกขมสุขเวทนาบ้าง
ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนั้น
อะไรเป็นความพิเศษ เป็นความแปลก
เป็นข้อแตกต่างระหว่างอริยสาวกผู้ได้เรียนรู้
กับปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ?"
"ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้
ถูกทุกขเวทนากระทบเข้าแล้ว
ย่อมเศร้าโศกคร่ำครวญ ร่ำไห้ รำพัน
ตีอกร้องไห้ หลงใหลฟั่นเฟือนไป
เขาย่อมเสวยเวทนาทั้ง 2 อย่าง
คือ เวทนาทางกาย และเวทนาทางใจ"
"เปรียบเหมือนนายขมังธนู
ยิงบุรุษด้วยลูกศรดอกหนึ่ง
แล้วยิงซ้ำด้วยลูกศรดอกที่ ๒ อีก
เมื่อเป็นเช่นนี้
บุรุษนั้นย่อมเสวยเวทนาเพราะลูกศรทั้ง 2 ดอก
คือทั้งทางกาย และทางใจ ฉันใด
ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ก็ฉันนั้น
ย่อมเสวยเวทนาทั้ง 2 อย่าง คือ ทั้งทางกายและทางใจ"
"อนึ่ง เพราะถูกทุกขเวทนานั้นกระทบ
เขาย่อมเกิดความขัดใจ
เมื่อเขามีความขัดใจ
เพราะทุกขเวทนา
ปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนาก็ย่อมนอนเนื่อง
เขาถูกทุกขเวทนากระทบเข้าแล้ว
ก็หันเข้าระเริงกับกามสุข
เพราะอะไร ?
เพราะปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้
ย่อมไม่รู้ทางออกจากทุกขเวทนา นอกไปจากกามสุข
และเมื่อเขาระเริงอยู่กับกามสุข
ราคานุสัยเพราะสุขเวทนานั้นย่อมนอนเนื่อง
เขาย่อมไม่รู้เท่าทันความเกิดขึ้น
ความสูญสลาย
ข้อดีข้อเสีย และทางออก
ของเวทนาเหล่านั้นตามที่มันเป็น
เมื่อเขาไม่รู้ ... ตามที่เป็น
อวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนา(=อุเบกขาเวทนา)ย่อมนอนเนื่อง
ถ้าได้เสวยสุขเวทนา
เขาก็เสวยอย่างถูกมัดตัว
ถ้าเสวยทุกขเวทนา
เขาก็เสวยอย่างถูกมัดตัว
ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนา
เขาก็เสวยอย่างถูกมัดตัว
ภิกษุทั้งหลาย นี้แล เรียกว่าปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้
ผู้ประกอบด้วยชาติ ชรา มรณะ โสกะ
ปริเทวะ ทุกข์ โทมัส และอุปายาส
เราเรียกว่า ผู้ประกอบด้วยทุกข์"
...
"ภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายอริยสาวกผู้ได้เรียนรู้
ถูกทุกขเวทนากระทบเข้าแล้ว
ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่คร่ำครวญ ไม่ร่ำไร
ไม่รำพัน ไม่ตีอกร้องไห้ ไม่หลงใหลฟั่นเฟือน
เธอย่อมเสวยเวทนาทางกายอย่างเดียว
ไม่เสวยเวทนาทางใจ"
"เปรียบเหมือนนายขมังธนู ยิงบุรุษด้วยลูกศร
แล้วยิงซ้ำด้วยลูกศรดอกที่ 2 ผิดไป
เมื่อเป็นเช่นนั้น
บุรุษนั้นย่อมเสวยเวทนาเพราะลูกศรลูกเดียวฉันใด
อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ ก็ฉันนั้น
ย่อมเสวยเวทนาทางกายอย่างเดียว
ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ"
"อนึ่ง เธอย่อมไม่มีความขัดใจเพราะทุกขเวทนานั้น
เมื่อไม่มีความขัดใจเพราะทุกขเวทนานั้น
ปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนานั้น ย่อมไม่นอนเนื่อง
เธอถูกทุกขเวทนากระทบเข้าแล้ว
ก็ไม่หันเข้าระเริงกับกามสุข
เพราะอะไร ?
เพราะอริยสาวกผู้เรียนรู้แล้ว
ย่อมรู้ทางออกจากทุกขเวทนา นอกจากกามสุขไปอีก
เมื่อเธอไม่ระเริงอยู่กับกามสุข
ราคานุสัยเพราะสุขเวทนานั้นก็ไม่นอนเนื่อง
เธอย่อมรู้เท่าทันความเกิดขึ้น
ความสูญสลาย
ข้อดีข้อเสีย และทางออก
ของเวทนาเหล่านั้นตามที่มันเป็น
เมื่อเขารู้ ... ตามที่เป็น
อวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนาก็ไม่นอนเนื่อง
ถ้าเสวยสุขเวทนา
เธอก็เสวยอย่างไม่ถูกมัดตัว
ถ้าเสวยทุกขเวทนา
เธอก็เสวยอย่างไม่ถูกมัดตัว
ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนา
เธอก็เสวยอย่างไม่ถูกมัดตัว
ภิกษุทั้งหลาย นี้แล เรียกว่าอริยสาวกผู้ได้เรียนรู้
ผู้ปราศจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ
ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส
เราเรียกว่า ผู้ปราศจากทุกข์"
"ภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นความพิเศษ
เป็นความแปลก เป็นข้อแตกต่าง
ระหว่างอริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ กับปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้"
อ้างอิง :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา