10 ก.ค. 2021 เวลา 13:07 • ธุรกิจ
รู้จัก Business Model Canvas ตัวช่วยธุรกิจวางแผนให้เป๊ะ สร้างกลยุทธ์ใหม่ให้ปัง
.
.
อยากเริ่มต้นธุรกิจแต่ยังสับสน
มองภาพรวมธุรกิจตัวเองตอนนี้ไม่ออก
จะพัฒนาธุรกิจอย่างไรดี
ควรเสริมกลยุทธ์ตรงส่วนไหน
.
สิ่งเหล่านี้คงเป็นความคิดของผู้ที่กำลังเริ่มธุรกิจและผู้ที่กำลังทำธุรกิจอยู่ วันนี้เราจึงจะพาทุกคนไปรู้จักกับ Business Model Canvas เครื่องมือออกแบบธุรกิจ ที่จะช่วยไขคำถามคาใจของเหล่าผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจทั่วไปหรือธุรกิจออนไลน์ ก็สามารถทำได้ง่ายๆ แต่ก่อนอื่น ไปทำความรู้จัก Business Model Canvas กันก่อน!
.
.
Business Model Canvas คืออะไร?
.
Business Model Canvas (BMC) คือเครื่องมือช่วยวางแผน เพื่อที่จะทำให้เราเห็นภาพรวมธุรกิจได้อย่างชัดเจน ผ่านการมองถึงองค์ประกอบ 9 อย่างของธุรกิจ โดย BMC จะเป็นเหมือนเทมเพลตกระดาษหน้าหนึ่งที่ประกอบไปด้วยกรอบสี่เหลี่ยม 9 ช่อง ที่เราจะต้องกรอกองค์ประกอบทั้ง 9 อย่างของบริษัทลงไป โดยช่องทางฝั่งซ้ายจะโฟกัสที่กระบวนการและทรัพยากรทางธุรกิจ (ปัจจัยภายใน) และฝั่งด้านขวาจะโฟกัสไปที่องค์ประกอบเกี่ยวกับลูกค้า (ปัจจัยภายนอก)
.
โดย Business Model Canvas นั้นพึ่งถูกคิดค้นขึ้นมาในปี 2005 โดย Alexander Osterwalder นักคิดด้านธุรกิจและการบริหารจัดการ และต่อมาก็ถูกใช้กันอย่างกว้างขวางในวงการธุรกิจและวงการ Startup เนื่องจากมีวิธีใช้ค่อนข้างง่ายและไม่ว่าจะธุรกิจแบบใด จะเล็กจะใหญ่ ก็สามารถใช้ได้
.
.
Business Model Canvas สำคัญอย่างไรต่อธุรกิจ?
.
อย่างที่กล่าวไปว่า BMC เป็นเครื่องมือที่จะต้องให้เราระบุองค์ประกอบทั้ง 9 ข้อ ของธุรกิจลงไป การทำเช่นนี้จะช่วยให้ทั้งผู้ประกอบการ สามารถมองเห็นถึงภาพรวมธุรกิจได้อย่างครบถ้วน รวมถึงยังทำให้คนอื่นๆ เช่น หัวหน้าทีม พนักงาน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีความเข้าใจในธุรกิจไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้องค์กรรู้จุดเด่น จุดด้อย ปัญหาและโอกาสของธุรกิจ วิเคราะห์จุดต่างๆ ได้อย่างรอบด้าน และสามารถที่จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปพัฒนาและต่อยอดได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำมากขึ้น
.
ทีนี้ หลายๆ คนคงอยากรู้กันแล้วว่าต้องเริ่มต้นตรงไหน เพราะมีด้วยกันถึง 9 ข้อ แถมหลายๆ คนก็บอกว่าจะเขียนให้ดีไม่ใช่จะเรียงจากซ้ายไปขวา แต่ต้องเรียงตามลำดับขั้นตอน ทางเราก็เลยเรียงมาให้ทุกท่านว่าจะต้องเริ่มจากขั้นตอนใดและไปต่อที่ช่องไหน ไปดูกันเลย!
.
1. กลุ่มลูกค้า (Customer Segments)
.
เริ่มจากฝั่งขวากันก่อน สิ่งแรกที่ต้องคำนึงคือคำถามที่ว่า ‘ใครคือกลุ่มลูกค้าของธุรกิจเรา?’ เราจะต้องระบุให้ได้ว่ากลุ่มลูกค้าของเราเป็นคนกลุ่มไหน อายุประมาณเท่าไหร่ ตอบโจทย์คนเพศใด รวมถึงความชอบความสนใจและพฤติกรรมของกลุ่มคนเหล่านี้ นอกจากนี้ จะต้องดูด้วยว่าตลาดของกลุ่มลูกค้าเราเป็นแบบใด ธุรกิจของเราตอบโจทย์กลุ่ม Mass Market ที่เข้าถึงคนทุกกลุ่มหรือไม่ หรือเป็นแบบ Niche Market ที่เข้าถึงคนแค่เฉพาะกลุ่มเท่านั้น
.
2. คุณค่าของสินค้าและบริการที่มอบให้ลูกค้าคืออะไร (Value Proposition)
.
คุณค่าที่มอบให้กับลูกค้า ถือเป็นพื้นฐานของธุรกิจของคุณเลยก็ว่าได้ ในข้อนี้คุณจะต้องตอบให้ได้ว่า ธุรกิจของคุณจะให้คุณค่าแก่ลูกค้าได้อย่างไร จะเข้าไปแก้ปัญหาอะไรให้พวกเขา และทำไมพวกเขาถึงต้องเลือกใช้ผลิตภัณฑ์และบริการของคุณเพื่อแก้ปัญหา
.
3. ผ่านช่องทางใด (Channels)
.
เราสามารถเอากลุ่มลูกค้าที่เราวิเคราะห์ออกมาแล้ว มาวิเคราะห์ดูว่าพวกเขามีพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยอย่างไร หรือพวกเขาจะสามารถรู้จักสินค้าและบริการของเราได้ทางใดบ้าง อาจจะดูว่าพวกเขาเล่นโซเชียลมีเดียหรือไม่ พวกเขาเป็นกลุ่มที่ชอบดูโทรทัศน์และฟังวิทยุหรือเปล่า หรือพวกเขาจะตัดสินใจซื้อสินค้าจากการเห็น Influencer ใช้หรือไม่
.
โดยช่องทางที่เราอาจจะเอามาคำนึงดูในยุคนี้ ก็จะมีอย่างเช่น การใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย การใช้ E-mail Marketing การใช้ Influencer การใช้ Content Marketing การทำ Viral Marketing หรือแม้แต่การทำโฆษณาแบบออฟไลน์ เป็นต้น
.
4. สร้างสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างไร (Customer Relationships)
.
ธุรกิจของคุณจะสร้างสายสัมพันธ์และรักษาสายสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างไร เป็นการพูดคุยโดยตรงแบบหนึ่งต่อหนึ่งหรือไม่ ผ่านทางช่องทางแช็ต ตัวต่อตัวหรือผ่านโทรศัพท์ หรือจะเป็นการใช้ระบบอัตโนมัติ ซึ่งธุรกิจหนึ่งสามารถที่จะเลือกวิธีการสร้างสัมพันธ์กับลูกค้าได้หลากหลายรูปแบบ แล้วแต่ความเหมาะสม สามารถลองดูจาก Customer Journey ของลูกค้าก่อนก็ได้ว่าพวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับสินค้าและบริการของเราอย่างไร
.
5. มีโครงสร้างรายได้อย่างไร (Revenue Stream)
.
คำถามสำคัญของข้อนี้คือ ช่องทางรายได้ของเรามาจากไหน? เราจะแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการของเรากับเงินอย่างไร? เป็นการซื้อครั้งเดียวจบ (One-time Revenues) หรือจ่ายเรื่อยๆ (Recurring Revenue) โดยช่องทางรายได้ส่วนมากก็จะมีดังนี้ การขายทรัพย์สิน (Asset Sales) ค่าใช้จ่ายตามการใช้งาน (Usage Fees) ค่าใช้จ่ายจากการใช้งานรายเดือน (Subscription Fees) หรือ การเช่า (Lending) เป็นต้น
.
6. ทรัพยากรของบริษัทมีอะไรบ้าง (Key Resources)
.
ลองดูว่าในบริษัทของคุณมีทรัพยากรอะไรบ้างที่เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้สินค้าหรือบริการของคุณเกิดขึ้นได้ โดยแบ่งเป็น 4 ส่วนหลักด้วยกัน คือ ทรัพยากรมนุษย์ (พนักงาน) เงิน (เงินลงทุนหรือวงเงินสินเชื่อ) ทรัพย์สินทางปัญญา ​​(แบรนด์, สิทธิบัตร หรือลิขสิทธิ์) และ ทรัพยากรที่จับต้องได้ (อุปกรณ์, โกดังเก็บของ หรืออื่นๆ ขึ้นอยู่กับแต่ละธุรกิจ)
.
7. กิจกรรมที่ขับเคลื่อนธุรกิจคืออะไร (Key Activities)
.
กิจกรรมหรือกระบวนการอะไรที่ควรทำเพื่อที่จะบรรลุจุดมุ่งหมายทางธุรกิจ โดยกิจกรรมเหล่านี้ควรที่จะเน้นย้ำไปที่การสร้างคุณค่าที่ธุรกิจของคุณอยากจะมอบให้ลูกค้า การเข้าหาลูกค้า การรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้า และการหารายได้ ทำให้คำถามต่อไปที่จะเกิดขึ้นคือ ในการที่จะทำกิจกรรมเหล่านั้นเพื่อบรรลุเป้าหมาย จะต้องใช้ทรัพยากรอะไรบ้าง ใช้เวลาเท่าไหร่ ต้องใช้ความเชี่ยวชาญหรือไม่ มีการจับจ่ายอย่างไร เป็นต้น
.
8. คู่ค้าของเราคือใคร (Key Partners)
.
มีคู่ค้าใดบ้างที่มีส่วนในการผลักดันให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจได้ โดยคู่ค้าเหล่านี้อาจจะหมายถึง บริษัทที่ทำพาร์ตเนอร์ชิปด้วย บริษัทผู้ร่วมทำ Joint-Ventures ซัพพลายเออร์ หรือผู้ที่มีส่วนร่วมด้านอื่นๆ
.
9. ค่าใช้จ่ายหลักของธุรกิจคืออะไร (Cost Structure)
.
ค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจของคุณมีอะไรบ้าง ทั้งค่าใช้จ่ายแบบคงที่ (Fixed Cost) และค่าใช้จ่ายแบบไม่คงที่ (Variable Cost) ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการสร้างสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ค่าใช้จ่ายในการสร้างช่องทางรายได้ ค่าใช้จ่ายในการรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้า ค่าดำเนินกิจกรรม รวมถึงค่าทรัพยากรต่างๆ ที่บริษัทมีอยู่เช่นกัน
.
ไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจใดหรือประเภทไหนก็สามารถนำ Business Model Canvas ไปปรับใช้ได้ง่ายๆ และถ้าทำครบทั้ง 9 ข้อนี้แล้ว เชื่อว่าหลายๆ คนก็คงจะได้เห็นภาพรวมของธุรกิจของตัวเองได้อย่างชัดเจนกันมากขึ้น และสามารถนำไปพัฒนา สร้างกลยุทธ์ หาช่องทางโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจ รวมถึงปรับปรุงจุดด้อยของธุรกิจให้ดีขึ้นได้เช่นเดียวกัน
.
.
อ้างอิง:
.
#missiontothemoonpodcast
#missiontothemoon
#business
โฆษณา