11 ก.ค. 2021 เวลา 04:30 • ศิลปะ & ออกแบบ
ที่ว่างของความว่าง
เมื่อสหายธรรมที่เป็นวิศวกรอยากจะทำบุญสร้างอุโบสถให้กับวัดป่า จึงชักชวนบริษัทสถาปนิกให้มาร่วมกุศลด้วยกัน
นี่จึงเป็นที่มาของโบสถ์ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า 'โบสถ์สามเหลี่ยม'
สถาปนิกผู้ออกแบบเริ่มจากการมองไปที่หลักคำสอนในพุทธศาสนา สุดท้ายสรุปออกมาเป็นคีย์เวิร์ดได้ว่า.. 'ความธรรมดา'
นั่นคือการตัดสิ่งปรุงแต่งทั้งหมดออกไป
โดยเริ่มต้นจากการกำหนดขอบเขตของพื้นที่ จากจำนวนจุดที่น้อยที่สุดที่จะก่อให้เกิดพื้นที่ได้ตามหลักเรขาคณิตคือจุดสามจุด นำไปสู่รูปร่างแบบแปลนของโบสถ์ที่เป็นรูปสามเหลี่ยม
จากนั้นกำหนดทางเดินสำหรับเวียนเทียนเป็นวงกลมแทนสัญลักษณ์แห่งความว่าง แทรกอยู่ท่ามกลางหมู่ไม้ล้อมรอบตัวอุโบสถ
ไม่มีผนัง ไม่มีภาพพุทธประวัติ มีเพียงหมู่ไม้จากผืนป่าโดยรอบและฉากกั้นเล็กๆด้านหลังองค์พระประธานเพื่อเป็นช่วยกำกับสายตา
สถาปนิกผู้ออกแบบยังตั้งใจให้อุโบสถหลังนี้มีขนาดไม่ใหญ่นัก คล้ายกับโบสถ์ของวัดป่าหรือที่คนอีสานเรียกกันว่า 'สิม'
โดยกำหนดให้มีขนาดพื้นที่รองรับพระภิกษุได้ 21 รูปเท่านั้น ซึ่งเป็นจำนวนน้อยที่สุดที่พุทธบัญญัติระบุไว้สำหรับการทำสังฆกรรมได้ทุกประเภท(สงฆ์อติเรกวีสติวรรค)
ตัวหลังคาเป็นระนาบผืนเดียวง่ายๆที่เชิดขึ้นเพื่อการระบายน้ำ ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับฐานคอนกรีตที่มุมอาคารทั้งสามจุดที่มีรูปร่างคล้ายก้อนหินใหญ่ ซึ่งเปรียบคล้ายกับ 'ปาสาณนิมิต' หรือนิมิตที่เป็นศิลา จึงดูก็คล้ายกับผืนหลังคานั้นวางบนก้อนศิลาที่เผยอเชิดขึ้นมาจากพื้นดิน
รูปร่างและพื้นที่ทั้งหมดที่เรียบง่ายนี้เรียงร้อยมาจากหลักเหตุผลซึ่งสามารถอธิบายได้ ดั่งหลักปฏิจจสมุปบาท คือเมื่อมีเหตุจึงมีผล
แต่ความเรียบง่ายนั้น บางทีกลับสร้างปัญหาที่คลาดไม่ถึง เพราะเมื่อเหล่าคณะกรรมการวัฒนธรรมของจังหวัดได้เห็นรูปร่างของโบสถ์จากแบบ เกิดความไม่แน่ใจในลักษณะรูปร่างของสิมรูปสามเหลี่ยมนี้ โดยเฉพาะเมื่อมันไม่มีช่อฟ้าใบระกาอย่างที่ควรจะมีเหมือนวัดทั่วไป
ผู้ออกแบบจึงเดินทางจากกรุงเทพขึ้นมาเพื่อประชุมชี้แจงกับทางจังหวัด หนึ่งในคำโต้แย้งสำคัญของสถาปนิกคือ
'ถ้าเราทำโบสถ์ให้มีลักษณะเหมือนวัดทั่วไป มีช่อฟ้าใบระกาประดับ ชาวบ้านพุทธศาสนิกชนจะได้ประโยชน์อันใดนอกจากความเคยชินที่ยึดถือกันมา ผิดกับการออกแบบซึ่งมีที่มาจากหลักการในพุทธบัญญัติ ซึ่งอาจจะมีผู้ที่สนใจไถ่ถามถึงที่มาที่ไป และอาจจะโน้มนำไปสู่แก่นธรรมของพุทธศาสนาได้ง่ายขึ้น'
อาจจะเป็นข้อโต้แย้งข้อนี้ที่ทำให้ที่ประชุมของคณะกรรมการวัฒนธรรมของจังหวัดในวันนั้นยินยอมให้มีการก่อสร้าง 'สิมสามเหลี่ยม' หลังนี้ตามรูปแบบที่สถาปนิกผู้ออกแบบเสนอมา
แม้จะไม่มีผลชัดเจนว่า รูปทรงสามเหลี่ยมของสิมหลังนี้ทำให้ชาวบ้านรอบวัดเข้าถึงหลักธรรมในพุทธศาสนาหรือไม่ บางคนที่ไม่รู้ที่มาต่างก็คาดเดากันไป บ้างก็บอกว่าหมายถึง'พระรัตนตรัย' บ้างก็บอกว่าเป็น'ไตรสิกขา'
แต่อย่างน้อยตัวอาคารมันก็ทำหน้าที่ตามหลักที่ควรจะเป็นคือ เป็นสถาปัตยกรรมที่ตอบโจทย์การใช้สอยและแสดงแนวความคิดของการออกแบบออกมาได้อย่างชัดเจน โดยใช้ความสงบและปัญญามาเป็นส่วนประกอบในพื้นที่ว่างแห่งนี้
. . . . . . . . . . . . . . . .
สิมวัดป่าบ้านผักบุ้้ง
ตำบลกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือ อุดรธานี
คลิป จากไทยพีบีเอส
ขอบคุณรูปภาพจาก
- บริษัทสถาปนิกอัชชพล ดุสิตนานนท์และคณะ จำกัด
- คุณสาโรช พระวงศ์ [24 Photos] ใน gotarch.com
- คุณ toeytoeytoey ใน forum.fOnt.com
***********************************
เพื่อนๆ Blockdit ครับ ผมมีเขียนลงทั้งหมด 3 เพจ แตกต่างกันตามแต่อารมณ์จะพาไป คือ
๏ 'Bear's Books'  = นำข้อคิดดีๆที่ได้จากการอ่านหนังสือแต่ละเล่มมาเล่า ชวนให้คิดตามกันไป
๏ 'Bear's Blog'  = จิปาถะ กับภาพถ่ายกับมุมมองของชีวิต ในรูปของ บทกลอน เรื่องสั้น หรือ ไฮกุ และ คอลัมน์ การ์ตูนกวนเมือง
๏ 'คิด อย่างสถาปนิก'  = เรื่องของสถาปัตยกรรมต่างๆจากสายตาสถาปนิก
ขอเชิญชวนให้เข้าไปแวะชมแวะชิมนะครับ
เผื่อจะมีบางข้อเขียนที่อาจถูกใจ
ฝากติดตาม หรือ แลกเปลี่ยนความคิดกันได้ครับ
หรือใครสนใจเฉพาะภาพถ่าย
ลองเข้าไปดูและกดติดตามได้ใน
ig : khanaad_photo  นะครับ
ขอขอบคุณและหวังว่า เราจะได้รู้จักกันนะครับ 🐻❤

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา