21 ก.ค. 2021 เวลา 09:30 • ประวัติศาสตร์
ไต้หวันเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร?
เรื่องของพัฒนาการความเป็นประชาธิปไตยในประเทศต่าง ๆ รอบโลก เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ๆ เพราะว่าประชาธิปไตย จะว่าไปแล้วก็ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ของเรามาตั้งแต่โบร่ำโบราณสักเท่าไหร่ เพราะว่าจริง ๆ แล้ว คนเราก็ไม่ได้ต่างจากสัตว์มากขนาดนั้น ในเรื่องของสัญชาตญาณว่า "ใครใหญ่ใครอยู่" การแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง อะไรอย่างนี้ คือในสัญชาตญาณของมนุษย์ น่าจะเป็นไปในทางของ "อำนาจนิยม" ซะมากกว่า เราก็เลยจะมาวิเคราะห์กัน ในเรื่องของบทเรียนประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการสิ้นสุดของระบอบเผด็จการทหารและการก้าวสู่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยในประเทศที่น่าสนใจมากประเทศหนึ่ง เอาไว้เพื่อเป็นความรู้รอบตัว ไว้ใช้ถกเถียงเสริมรสเวลาคุยกับเพื่อน ๆ เรื่องการเมือง ไม่ได้จะยกมาเปรียบเทียบอะไรกับประเทศไหนทั้งนั้น อันนี้ต้องบอกกันไว้ก่อน และประเทศที่จะมาพูดถึงก็คือ "ไต้หวัน" หรือ "สาธารณรัฐจีน" นั่นเอง
คิดกันเล่น ๆ ว่า เอ๊ะ ! ไต้หวันนี่ทำไมอยู่ดี ๆ ก็เจริญเอา เจิญเอา ซะอย่างนั้น ? มีรถไฟความเร็วสูง มีรถใต้ดิน ตอนเด็ก ๆ ยังจำได้ว่าไต้หวันกับประเทศไทย จริง ๆ แล้วเนี่ย ก็พอ ๆ กันนี่ จึงเป็นที่น่าตกใจมาก ๆ เพราะว่าเขาพึ่งจะมีการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ เมื่อปี ค.ศ. 1996 (พ.ศ. 2539) เท่านั้นเอง ก็คือเมื่อ 25 ปีที่แล้วเท่านั้นเอง ถามว่า "แล้วก่อนหน้านี้เขาอยู่กันยังไงเหรอ ?" ก็ก่อนหน้านี้ ไต้หวันเนี่ย ก็อยู่ใต้กฎอัยการศึกของรัฐบาลเผด็จการทหาร ยาวนานมาก ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1949 ถึงปี ค.ศ. 1987 (พ.ศ. 2492 - 2530) ยาวนานถึง 38 ปีเลยทีเดียว เป็นการใช้กฎอัยการศึกที่ยาวนานที่สุด เป็นอันดับสองของโลก เป็นรองก็เพียงแค่ประเทศซีเรียเท่านั้น เกือบ 40 ปี ที่อยู่ภายใต้กฎอัยการศึก คนไต้หวันสมัยก่อนเขาทนได้ยังไง ?
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ในยุคนั้น เผด็จการทหารมีการปราบปรามประชาชนที่เห็นต่าง "หนักมาก" เพียงแค่ไม่กี่ปีหลังจากที่รัฐบาลทหารขึ้นมามีอำนาจต่อจากจักรวรรดิญี่ปุ่น ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองนะ ก็เกิดเหตุการน่าเศร้า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1947 (พ.ศ. 2490) มีการปราบปรามคนที่ออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาล เป็นการสังหารหมู่ ที่มีตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ยังไม่แน่นอนจนถึงเดี๋ยวนี้ แต่ว่าบางข้อมูลก็บอกว่าประมาณ 5,000 คน แต่บางข้อมูลบอกว่ามีสูงถึง 28,000 คนเลยทีเดียว และเหตุการณ์นี้ในทางประวัติศาสตร์ ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการกดขี่ประชาชน โดยอ้างว่าเป็นการปราบปรามคอมมิวนิสต์ หรือที่เรียกว่า White Terror ที่แปลว่า "ความน่าสพรึงกลัวของสีขาว" ที่เรียกว่าสีขาวก็เพราะว่ามันเป็นความรุนแรงของผู้ที่อ้างความถูกต้องในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ที่เป็นสีแดงนั่นเอง ภายใต้ความโหดของ White Terror นั้น กินเวลายาวนานเกือบ 40 ปี ตลอดช่วงเวลานั้น มีการจับคน อุ้มคน โดยตำรวจลับ มีการเก็บสถิติว่า มีผู้ถูกจับกุมถึง 1.4 แสนคน ถูกประหารชีวิตไป 3-4 พันคนด้วยกัน อันนี้คือข้อหาของการเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งในตอนนั้นเขาเรียกว่าเป็นเทรนด์ของโลกเลย ว่าถ้าเผื่อจะต้องการปราบปรามคนที่เห็นต่างทางการเมืองก็ยัดข้อหาให้เป็นคอมมิวนิสต์ซะ แล้วก็หลังจากนั้นก็จะทำอะไรก็ได้มีความชอบธรรมทั้งหมด
พูดถึงความโหดไปแล้ว คราวนี้มาดูเหตุผลที่ผู้นำเผด็จการเขาใช้อ้างเพื่ออยู่ในอำนาจกันก่อนอื่น เราต้องเข้าใจประวัติศาสตร์จีนเสียก่อนว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างไต้หวันกับจีนคืออะไร เขาทะเลาะกันจนถึงปัจจุบันในเรื่องนี้ก็ยังไม่จบ เรื่องแย่งกันเป็น “จีนเดียว” คือเขาแย่งกันว่าใครกันแน่ที่เป็น "ประเทศจีนที่แท้จริง" ความขัดแย้งนี้ก็ซ่อนอยู่ในชื่อประเทศ ก็เคยงงกันไหมอะครับ ? ว่าสองประเทศนี้ทำไมชื่อดูแบบตี ๆ กันดูคล้าย ๆ กัน เหมือนแบบใครก๊อปใคร อะไร ยังไง แบบ ตกลงชื่อ "ไต้หวัน" หรือว่าชื่อ "สาธารณรัฐจีน" กันแน่ แล้วก็ทำไมอีกจีน ถึงเรียกว่า "จีนแผ่นดินใหญ่" มีชื่อเป็นทางการว่า "สาธารณรัฐประชาชนจีน" งงไหม !? คือใครก๊อปใคร ? ไม่แน่ใจ และเพื่อความเข้าใจเรื่องแย่งกันเป็นจีนเดียว เราก็ต้องย้อนประวัติศาสตร์จีนกันก่อน จะขอเล่าแบบย่อ ๆ อาจจะตกหล่นไปบ้างในรายละเอียด แต่ว่าขอแนะนำว่าถ้าเผื่อว่าสนใจ ก็อาจจะเจียดเวลาไปเปิดอ่านประวัติศาสตร์ในสื่ออื่น ๆ ในหนังสืออื่น ๆ ก็อาจจะได้อรรถรส แล้วก็สนุกมาก อันนี้ต้องขอแนะนำให้ลองไปหาดู
ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1911 (พ.ศ. 2454) จีนเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ราชวงศ์ชิงสิ้นสุดลงหมดยุคของฮ่องเต้ มีการยึดอำนาจที่เกิดขึ้นโดยเหล่าทหารแล้วก็เข้าร่วมกับพรรคก๊กมินตั๋งซึ่งเป็นพรรคการเมืองและก็ได้ก่อตั้งประเทศขึ้นมาใหม่ในชื่อ “สาธารณรัฐจีน” ที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหาร ด้วยความพยายามที่จะรวมชาติจีนขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เอ๊ะ ! สาธารณะรัฐจีน ก็ชื่อเหมือนกับไต้หวันเลยนี่ ? แต่ว่าตอนนี้เนี่ยยังไม่ใช่ไต้หวันนะ กาลเวลาผ่านไปถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม เกาะไต้หวันหรือว่าเกาะฟอร์โมซานที่ญี่ปุ่นเคยยึดมาจากจีน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1895 (พ.ศ. 2438) ก็ถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐจีน ตรงนี้ก็สำคัญ ญี่ปุ่นเคยปกครองเกาะไต้หวันมายาวนานถึง 50 ปีภาษาราชการในเกาะไต้หวันช่วงนั้นเป็นภาษาจีนฮกเกี้ยนและภาษาญี่ปุ่น ผู้คนได้รับการศึกษาในแบบญี่ปุ่น แม้แต่ทุกวันนี้คนสูงอายุในไต้หวันหลายคนก็ยังพูดภาษาญี่ปุ่นได้อยู่หลายคนอาจจะมีชื่อจีน แล้วก็ยังมีชื่อญี่ปุ่นอีกด้วย เรียกได้ว่าญี่ปุ่นเนี่ยมาล้างความเป็นจีน และปกครองไต้หวันในฐานะที่เป็น "เจ้าอาณานิคม" อย่างแท้จริง คราวนี้เรากลับมาที่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
โลกก็เข้าสู่ "ความขัดแย้งครั้งใหม่" ระบอบคอมมิวนิสต์เกิดฮิตขึ้นมา ฮิตมาก ๆ และขัดแย้งมาก จนเป็นสงครามไปทั่วในประเทศจีน พรรคก๊กมินตั๋งที่เป็นรัฐบาลกลาง นำโดยจอมพล เจียง ไค เช็ค ต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ที่นำโดย เหมา เจ๋อ ตง จนเกิดเป็นสงครามกลางเมืองขึ้น ผลปรากฏว่า เหมา เจ๋อ ตง ไอเดียเจ๋งกว่ามีแนวคิดโดนใจชาวนาที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ในจีน ให้ลุกขึ้นมาต่อสู้ได้ เรียกว่าเป็นกลยุทธ์แบบป่าล้อมเมือง ชาวนามีเยอะกว่าทหาร ก็เลยชนะไป เจียง ไค เช็ค และพรรคก๊กมินตั๋ง ก็เลยหนีมาตั้งรัฐบาลผลัดถิ่นที่เกาะไต้หวัน ขนข้าราชการมาเพียบมีการประมาณการว่ามีคนหนีตาม เจียง ไค เช็ค จากแผ่นดินใหญ่มาไต้หวันเกือบ 2 ล้านคนเลยทีเดียว ในขณะที่ไต้หวันเอง ก็มีคนที่อยู่ที่นั่นอยู่แล้วอีก 2 ล้านคน ผลเป็นยังไงละ ? ก็เละสิ เกิดความแตกแยก เพราะว่าผู้มาใหม่ดันทำตัวเป็นจีนที่จีนกว่า บอกว่าตัวเองมาจากแผ่นดินใหญ่ เป็นคนดีกว่าเป็นชนชั้นปกครอง แต่ก็มาปกครองด้วยความคิดที่ว่า "มาอยู่แค่ชั่วคราว" สักวันนึงก็ต้องกลับไปเป็นใหญ่ที่แผ่นดินใหญ่เหมือนเดิม คือก็ไม่ได้กะว่าจะมาอยู่ถาวรด้วยอีกต่างหาก สังคมตอนนั้นที่ไต้หวันงานการดี ๆ แล้วก็คุณภาพชีวิตเลิศ ๆ กลายเป็นของสงวนสำหรับอภิสิทธิ์ชนจากแผ่นดินใหญ่ไปซะอย่างนั้น คนที่อยู่เกาะไต้หวันมาแต่เดิมก็เลยเซ็ง หลังจากที่มีเจ้าอาณานิคมเป็นญี่ปุ่นมาแล้วตั้งนาน 50 ปี ก็ยังต้องมาถูกเจ้าอาณานิคมใหม่มากดขี่อีก ความขัดแย้งนี้ก็ขยายตัวออกไป สุดท้ายก็เกิดเป็นความรุนแรงและการปราบปรามอย่างหนัก โดยข้ออ้างที่ว่าคนที่ก่อความไม่สงบเป็นคอมมิวนิสต์อีกแล้ว จนเป็นที่มาของกฎอัยการศึกแสนยาวนานอันนั้น ส่วนทางด้านเหมา เจ๋อ ตง ที่ชนะไป ก็เปลี่ยนแปลงจีนแผ่นดินใหญ่ให้เป็นประเทศที่ปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์และใช้ชื่อประเทศใหม่ว่า "สาธารณรัฐประชาชนจีน"
พอมาถึงตรงนี้ ก็เลยมีประเทศจีนอยู่ 2 ประเทศ จีนที่อยู่ที่ไต้หวัน และจีนที่อยู่แผ่นดินใหญ่ ที่เป็นคอมมิวนิสต์ ต่างคนก็ต่างอ้างความเป็นเจ้าของซึ่งกันและกัน ก็วุ่นวายมาก ๆ แล้วนี่คือเรื่องประเทศ ไม่ใช่คนแค่ 2 คน 3 คน ช่วงแรก ๆ ประชาคมโลกก็ให้การยอมรับจีนที่อยู่ที่ไต้หวันมากกว่า ซึ่งก็มีเหตุผลไม่ซับซ้อนอะไรเพราะว่า โลกทั้งโลกตอนนั้น ทั้งเกลียดกลัวคอมมิวนิสต์เป็นอย่างมาก ใคร ๆ ก็เลยรับรอง แถมไต้หวันก็ยังได้เป็นสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอีกด้วย จึงมีตัวละครใหม่เข้ามานั่นก็คือ "สหรัฐอเมริกา"
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ในช่วงยุค 1970 อเมริกากำลังเข็ดขยาดกับการทำสงครามกับเวียดนามเป็นอันมาก เพราะว่ารบกับเวียดนามมานานมาก แต่ว่ารบยังไงก็ไม่ชนะสักที ก็อยากจะเลิกรบแล้ว อยากจะถอนทหารแล้ว แต่ว่ามันก็จะเป็นการเสียหน้าเพราะจะได้ชื่อว่า "แพ้คอมมิวนิสต์" แล้วจะทำอย่างไรกันดีล่ะทีนี้ ก็ปรากฏว่าที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศ ของประธานธิบดี "ริชาร์ด นิกสัน" ชื่อว่านาย "เฮนรี คิสซินเจอร์" เขาก็ได้กลิ่นมาว่า พวกคอมมิวนิสต์กำลังทะเลาะกันเอง คอมมิวนิสต์จีนกับโซเวียตกำลังเหม็นขี้หน้ากันเพราะว่าเริ่มจะคิดไม่ตรงกัน แล้วก็เริ่มมีเรื่องบารมีที่ทับซ้อนกันเอง นายคิสซินเจอร์ก็เลยปิ๊งไอเดียบ เปลี่ยนนโยบายต่างประเทศครั้งใหญ่ ขอเรียกว่าเป็นการย้ายค่ายเบอร์เดิมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็แล้วกัน การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็คือว่า อเมริกาเลือก "เปลี่ยนข้าง" เลือกที่จะเข้าพวกกับคอมมิวนิสต์จีนแทน แล้วก็คิสซินเจอร์นี่แหละ ก็จัดการให้นิกสันซื้อบัตรจับมือกับเหมา เจ๋อ ตง ภาพออกมากระหนุงกระหนิงน่ารัก สนิทกันขึ้นมาซะอย่างนั้นเลย ผลที่ได้ก็คือ อเมริกาก็ได้ถอนกำลังจากเวียดนาม ส่วนจีนคอมมิวนิสต์ก็รบสงครามเวียดนามต่อให้ โดยที่จีนสนับสนุนคอมมิวนิสต์กัมพูชาอีกทีหนึ่ง ให้คอยรบกับเวียดนาม ซึ่งเวียดนามมีสหภาพโซเวียตหนุนหลังอยู่ อันนี้เรียกว่าเป็น "สงครามตัวแทน" ซึ่งเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในยุคสงครามเย็น จีนทำอะไรแบบนี้เพราะอะไร ? เพราะว่าจีนแดงของ เหมา เจ๋อ ตง ไม่ชอบโซเวียต ซึ่งจริง ๆ แล้วก็เป็นระบอบคอมมิวนิสต์เหมือนกัน แล้วโซเวียตก็สนับสนุนเวียดนามอยู่ เพราะฉะนั้นเวียดนามก็ถือเป็นศัตรูของจีน โดยทางอ้อม นี่คือวิธีคิดของยุคสงครามเย็น ที่เป็นสงครามตัวแทน สรุปว่าอเมริกาก็ได้กลับบ้าน
ส่วนลัทธิคอมมิวนิสต์ก็ไม่แผ่ขยายต่อไป เพราะว่า รบกันเองแล้ว ง่าย ๆ แค่นั้นเอง ไม่น่าเชื่อเลยว่าบทจะจบก็จบง่าย ๆ และเหตุผลอีกข้อหนึ่ง ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ อเมริกาก็ได้ตกลงกับเหมา เจ๋อ ตง ว่า จะยอมเปลี่ยนจากที่เคยรับรองจีนไต้หวันเป็นจีนที่แท้จริง หันมารับรองจีนคอมมิวนิสต์แทน จีนที่ไต้หวันก็เลยตกกระป๋องไป และในปี ค.ศ. 1971 (พ.ศ. 2514) สหประชาชาติก็รับรองจีนแผ่นดินใหญ่ว่าคือจีนเดียว จีนที่แท้จริง และตัดสัมพันธ์ทางการเมืองกับไต้หวัน เรียกได้ว่าไต้หวัน อกหักอย่างแรงเลย ไต้หวันที่อยู่ ๆ ก็โดนเท ถูกโลกทอดทิ้งก็หันมามองหาคุณค่าในตัวเองอีกครั้งหนึ่ง ก็ต้องรู้จักทำตัวให้มีคุณค่ามากขึ้น จะมาอ้างคนนู้น อ้างคนนี้เป็นคอมมิวนิสต์จะกลับไปเป็นจีนดั้งเดิมอีกครั้งหนึ่ง มันก็เชยเกินไป แล้วมันก็ย้อนเวลากลับไปตรงนั้นไม่ได้แล้วด้วย สรุปว่าคนเราต้องยอมรับความเป็นจริง แล้วก็เดินหน้าต่อไป ไต้หวันก็เลยต้องลุกขึ้นมาสร้างชาติใหม่และก็ต้องให้อยู่รอดจากจีน ที่กำลังกลายเป็นประเทศมหาอำนาจ ก็เลยจำเป็นจะต้องสร้างตัวเองให้เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจดี ใคร ๆ ก็อยากค้าขายด้วย โดยเฉพาะ "สหรัฐอเมริกา" และต้องเป็นจีนที่มีเสรีภาพแบบประชาธิปไตย แต่การเปลี่ยนแปลงก็ไม่ได้เกิดขึ้นในทันที พรรคก๊กมินตั๋งที่กุมอำนาจอยู่อย่างเบ็ดเสร็จ ก็ต้องค่อย ๆ ลดอำนาจลง ตามกระแสเรียกร้องของคนในประเทศ ที่อยากจะเป็นเอกราช และเป็นประชาธิปไตย บางคนอาจจะเรียกว่า "ค่อยเป็นค่อยไป" บางคนอาจจะเรียกว่า "ยื้อ" อันนี้ก็แล้วแต่จะเรียก
1
เริ่มตั้งแต่ จอมพลเจียง ไค เช็ค ในที่สุดก็เสียชีวิตไปในปี ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518) มีลูกชายชื่อ "เจียง จิงกว๋อ" ได้ขึ้นมาสืบทอดอำนาจแทน โดยที่ต้องออกมาโฆษณาว่า ตัวเองถึงจะเป็นคนจากแผ่นดินใหญ่แต่ว่าก็เป็นประธานธิบดีของคนไต้หวัน แปลว่า จะเลิกคิดกลับไปเป็นจีนเดียว คือเลิกคิดว่าจะได้ย้ายกลับไปเป็นใหญ่ที่จีนแผ่นดินใหญ่ แถมยังประกาศ "ไม่สืบทอดอำนาจ" และบอกว่า ประธานาธิบดีคนต่อไป ต้องไม่ใช่คนแซ่เจียง และหันมาเน้นเศรษฐกิจมากกว่าการทหาร นอกจากนี้ เจียง จิงกว๋อ ก็ปล่อยให้มีการตั้งพรรคการเมือง ทำให้เกิดพรรคฝ่ายตรงข้ามขึ้น ชื่อ "พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า" หรือ "DPP" และสุดท้ายก็ยกเลิกกฎอัยการศึกไปในปี ค.ศ. 1987 (พ.ศ. 2530)
เมื่อเจียง จิงกว๋อ เสียชีวิต ผู้ที่เป็นประธานธิบดีคนต่อมา ก็ไม่ใช่คนแซ่เจียง คน ๆ นี้ ชื่อ "หลี่ เติงฮุย" เป็นประธานธิบดีสมัยแรกในปี ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) ท่ามกลางแรงกดดันจากสังคมที่คาดหวังให้ประเทศเป็น "ประชาธิปไตย" มีการชุมนุมของนักศึกษาเป็นหมื่นคน เรียกว่าตื่นตัวกันแบบสุด ๆ หลี่ เติงฮุย ก็ทำตามสัญญาจริง ๆ นำประเทศสู่การเลือกตั้งได้ในที่สุด ในปี ค.ศ. 1996 (พ.ศ. 2539) และก็เป็นเขานี่แหละที่นำพรรคก๊กมินตั๋งลงชิงตำแหน่งและก็ชนะอีกสมัยเป็นสมัยที่สอง ถึงจะเป็นพรรคขั้วอำนาจเดิมแต่ก็ชนะมาอย่างขาวสะอาด ประกาศผลเร็วไม่มีบัตรเขย่งขย่มแต่อย่างใด และไต้หวันก็ถูกนับว่า เป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยสักที คุณ ๆ คงแปลกใจใช่ไหม ? ว่าทำไม หลี่ เติงฮุย ถึงทำตามสัญญา ปล่อยให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยได้ง่าย ๆ ทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็อยู่ในพรรคที่ครองอำนาจแบบเบ็ดเสร็จอยู่แล้ว หลี่ เติงฮุย เขาถูกเปรียบเทียบเรียกว่าเป็น "หมาป่าที่ห่มหนังแกะ" แกแอบมีใจเป็นประชาชาธิปไตยมาตั้งนานแล้ว เรียกแบบเข้าปากหน่อยก็คือแกแอ๊บเนียนมาก นายหลี่ เติงฮุย แกมีพื้นเพเป็นคนไต้หวันดั้งเดิมอยู่แล้ว ถือเป็นประธานาธิบดีไต้หวันคนแรกเลยนที่ไม่ได้มาจากแผ่นดินใหญ่ ในสมัยหนุ่ม ๆ แกไปเรียนที่ญี่ปุ่น แล้วก็เป็นทหารให้กองทัพญี่ปุ่นด้วย แล้วนายหลี่ เติงฮุยเป็นคนที่ไม่สนใจเป็นอย่างมาก เกี่ยวกับเรื่องนโยบายจีนเดียวตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แต่ก็แปลกที่แกก็ยังกลับทำงานกับพรรคก๊กมินตั๋ง จนได้ดิบได้ดี ชนะใจ เจียง จิงกว๋อ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำคนต่อไป จนได้เป็นประธานธิบดี วิธีการก็คือแกค่อย ๆ ใช้อำนาจที่ตัวเองมีเพิ่มคนหัวก้าวหน้าเข้ามาในพรรค โละคนแก่อนุรักษ์นิยมที่ฝันจะกลับไปอยู่กับแผ่นดินใหญ่ออกไปแล้วก็ใส่คนรุ่นใหม่ที่เรียนจบเมืองนอกมีหัวก้าวหน้าเข้ามาแทนจนในที่สุดอำนาจของแกก็มั่นคง หลี่ เติงฮุยดำรงตำแหน่งครบสองเทอม ก็ลาออกจากพรรคก๊กมินตั๋ง แล้วก็ไปตั้งพรรคใหม่ที่มีจุดยืนเรียกร้องเอกราช เช่นเดียวกับพรรคฝ่ายตรงข้าม เฉกเช่นพรรค DPP ซะอย่างนั้น แล้วแกก็กลายเป็นรัฐบุรุษ ที่นำประเทศสู่ประชาธิปไตยแบบหล่อ ๆ นี่แหละ รัฐบุรุษของจริง แต่มันก็ยังเป็นคำถามว่า หลี่ เติงฮุย รักประชาธิปไตยจริง ๆ หรือว่าจริง ๆ แล้ว ฝืนกระแสโลก และเสียงของประชาชนไม่ไหวกันแน่ อันนี้ก็ต้องลองเก็บไปคิดกันดู
หลังจากนั้นการเมืองไต้หวันก็กลายเป็นผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งที่ยังเชื่อว่าควรจะยอมรับอำนาจของจีนและพรรค DPP ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ชูเรื่องการเป็นเอกราชจากจีน โดย DPP ชนะการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2000 และประธานาธิบดีคนล่าสุด ไช่ อิงเหวิน ก็มาจากพรรค DPP ชูนโยบายประกาศเอกราชแบบไม่กลัวจีนเลย
คุณคิดว่าประชาธิปไตยของไต้หวันเป็นแบบไหน ทุกวันนี้จอมพล เจียงไคเช็ค คนที่ถือว่าเป็นเผด็จการสุดโหด ก็มีอนุสรณ์สถาน อนุสาวรีย์ใหญ่โตมากเลยในไต้หวัน แล้วก็ได้รับการยกย่องว่าเป็น "บิดาของประเทศ" ในขณะที่คนกลุ่มหนึ่งก็ถือว่าการเชิดชู เจียง ไค เช็ค เป็นเรื่องที่เลวร้าย มีบ่อย ๆ เลยที่เกิดเรื่อง มีคนไปทุบอนุสาวรีย์ เจียง ไค เช็ค ตามสวนสาธารณะหรือว่าอะไรต่าง ๆ เพื่อแสดงว่าเขาไม่ลืมความโหดร้าย คุณผู้ชมคิดว่าอย่างไร ? ลองมาคอมเมนต์กัน ว่าการได้มาของประชาธิปไตยในไต้หวัน คิดว่าเป็นเพราะว่าการต่อสู้แบบค่อยเป็นค่อยไป กินระยะเวลาหลายสิบปีหรือว่าเป็นเพราะเผด็จการเขาไม่ดื้อ รู้สึกตัวว่าฝืนธรรมชาติต่อไปไม่ไหวก็เลิก หรือเพราะว่าทั้งสองอย่าง ? อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด แต่เรื่องที่น่ายินดีก็คือว่าถึงโอกาสเขาจะน้อย แต่เขาก็คว้าเอาไว้ได้ และหลังจากยุค 1990 ประเทศไต้หวันก็เจริญเอา เจริญเอา แบบพรวด ๆ อย่างที่เราเห็นกันนี่แหละ ส่วนเรานี่ได้คว้าอะไรไว้บางหรือเปล่า ? ประเทศไทยเนี่ย ผ่านยุค 1990 มาแล้ว และเราได้อะไรมาบ้าง ?
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา