12 ก.ค. 2021 เวลา 12:20 • สิ่งแวดล้อม
ขมิ้น สมุนไพรใกล้ตัว
ภาพโดย Steve Buissinne จาก Pixabay
หากนึกถึงอาหารที่ออกสีเหลืองอย่าง แกงเหลือง หมูสะเต๊ะ ก็อดไม่ได้ที่จะสงสัยว่า สีเหลืองๆของอาหารจานนั้น มาจากอะไร หลายๆคนอาจจะไม่ทราบว่า ขมิ้นถูกใส่ในอาหารหลายๆอย่าง ที่เราทานอยู่กันเป็นประจำ ขมิ้นโดยมากมักจะไม่มา เป็นชิ้นเป็นอันเวลาใส่ในอาหาร แต่มักจะมาในรูปแบบที่เป็นผงและถึงจะเป็นผง ขมิ้นก็ยังมีประโยชน์หลากหลายมาก
#ขมิ้นคืออะไร?
ขมิ้นเป็นพืชล้มลุกในวงศ์ขิง(Zingiberaceae) มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แถวๆบ้านเรานี้เอง เป็นพืชที่มีเหง้าใต้ดิน และในเหง้าจะมีสีออกเหลืองเข้ม เป็นไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี ชอบแสงแดดและความชื้นสูง
ต้นขมิ้น
#ขมิ้นชันต่างกับขมิ้นอ้อยอย่างไร?
ขมิ้นชันหรือขมิ้นแกง ก็ตรงตามชื่อเลย ขมิ้นชันจะเป็นส่วนประกอบของเครื่องแกงต่างๆ โดยเฉพาะแกงในภาคใต้ ขมิ้นชันเป็นสิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลย ส่วนขมิ้นอ้อยมักเจอจะได้ตามงานบวชนาค ที่เวลาปลงผมเสร็จจะเอาขมิ้นมาทาบนศรีษะและตามตัว และยังมีความแตกต่างที่สีอีกด้วย โดยขมิ้นชันจะมีสีเหลืองเข้มจนถึงสีแสด ส่วนขมิ้นอ้อยจะมีสีขาวแกมเหลืองไปจนถึงเหลืองสด และขมิ้นอ้อยจะมีเหง้าที่ใหญ่กว่าขมิ้นชันและจะมีกลิ่นฉุนน้อยกว่าขมิ้นชัน
1
#ขมิ้นกับไทยเรา
นอกจากขมิ้นจะใส่ในอาหารไทยหลากหลายชนิดแล้ว ขมิ้นยังอยู่คู่กับวัฒนธรรมเราอีกด้วย จะเห็นได้จากทั้งวรรณกรรมทั้งความเชื่อต่างๆในสมัยก่อน ที่มักจะใช้ขมิ้นในการทาตัว อาบน้ำ อยู่ไฟหลังคลอด ปลงผมนาค นำมาทาน เคี้ยว ทำเป็นยา และยังมีเรื่องไสยศาสตร์อีกด้วย เช่น ใช้ขมิ้นเพื่อความคงกระพันชาตรี จะถือได้ว่าขมิ้นเป็นสมุนไพรยอดนิยมที่ใช้ได้หลากหลายอย่าง ถึงแม้ในอดีตจะมีความนิยมเป็นอย่างมาก แต่เดี๋ยวนี้ขมิ้นมักจะในรูปแบบเป็นผลิตภัณฑ์มากกว่าที่จะนำมาใช้แบบสมัยก่อน เป็นเพราะว่าสมัยนี้มีการใช้สบู่ มีการแพทย์ที่ดีขึ้น ความนิยมของขมิ้นจึงลดไปกว่าเมื่อก่อน ถึงอย่างนั้นขมิ้นก็ยังถูกจัดลงในบัญชีสมุนไพรและบัญชียาแผนปัจจุบัน หวังว่าประเทศเราจะอนุรักษ์สมุนไพรนี้ไว้เป็นภูมิปัญญาไทยสืบต่อไปให้รุ่นลูกหลาน
ภาพโดย cgdsro จาก Pixabay
#ขมิ้นกับไวรัสโควิด19
จากการศึกษาในหลอดทดลอง พบว่าขมิ้นชัน ช่วยลดการอักเสบของปอดที่ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ และช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน ทั้งนี้จากการจำลองภาพสามมิติในคอมพิวเตอร์ พบว่า สารสำคัญของขมิ้นชัน และ demethoxycurcumine(พบได้ในขมิ้นชัน) สามารถแย่งจับกับตำแหน่งของไวรัสโควิด19 ที่จะเข้าสู่เซลล์ปอด และตำแหน่งที่มีผลยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสได้และอีกงานวิจัย พบว่าขมิ้นชัน เป็นสมุนไพรที่ใช้เพิ่มภูมิต้านทาน ป้องกันและบรรเทาโรคที่เกิดจากไวรัส พบว่ามีคุณสมบัติยับยั้งไวรัสไม่ให้เข้าสู่เซลล์ได้ ขมิ้นชันจึงมีคุณสมบัติป้องกันและ บรรเทาอาการจากการติดเชื้อไวรัสโควิด19 ได้ (จากการศึกษาของ Zahedipour F และคณะ ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสาร Phytother Res ค.ศ.2020)
1
ภาพโดย Nirmal Sarkar จาก Pixabay
#ขมิ้นใช้ยังไง?
ขมิ้นใช้ทาน ขมิ้นเป็นพืชที่หาได้ง่าย และพบอยู่ในอาหารไทยหลายๆอย่าง โดยเฉพาะแกงในภาคใต้อย่างแกงเหลือง แกงขมิ้น แกงไตปลาและอีกหลากหลายอย่าง
ทานขมิ้นแบบผง หลังอาหารในขนาด 1.5–4 กรัมต่อวัน แบ่งเป็นวันละ 3–4 ครั้ง ช่วงเวลาหลังอาหารและก่อนนอน แก้จุกเสียดอาหารไม่ย่อย
ต้มขมิ้นแล้วนำน้ำมาดื่ม และมีอีกหลายสูตรที่จะใช้วัตถุดิบต่างกัน แต่ส่วนผสมหลักจะต้องเป็นขมิ้น
ขมิ้นชันยังสามารถใช้เป็นยาสำหรับทาภายนอกได้อีกด้วย เพื่อรักษาอาการแพ้ ผื่นคัน ผิวหนังเกิดอาการอักเสียบ หรือแมลงกัดต่อย โดยวิธีการคือ ให้นำเอาเหง้าของขมิ้นชันมาต้มในน้ำจนสุก จากนั้นเอามาทาบริเวณที่มีอาการ หรือถูกแมลงกัดต่อย วันละ 3 เวลาก็จะช่วยบรรเทาที่เกิดขึ้นได้
ขมิ้นชันแบบแคปซูลก็ได้ผ่านอย.แล้ว แต่ต้องระวังในการซื้อ ให้ซื้อจากแหล่งที่ไว้ใจได้
#ขมิ้นมีประโยชน์อย่างไร
ช่วยเรื่องโคเรสเตอรอลสูง มีงานวิจัยหลายชิ้น แสดงให้เห็นว่า การทานขมิ้นหรืออาหารเสริมจากขมิ้นที่มีสารเคอร์คูมิน ในปริมาณที่เหมาะสมต่อวันอาจเป็นประโยชน์ต่อการลดระดับไขมันรวมและเพิ่มระดับไขมันชนิดดี ในเส้นเลือด ในการศึกษา ประสิทธิภาพสารเคอร์คูมินต่อระดับไขมันรวม ไขมันชนิดไม่ดี ไขมันชนิดดีและไตรกลีเซอไรด์ในผู้ป่วยภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 75 คน โดยให้รับประทานสารเคอร์คูมิน 3 ขนาด แบ่งรับประทาน 3 ครั้งต่อวัน ได้แก่ ปริมาณน้อย 15 มิลลิกรัมต่อวัน ปริมาณปานกลาง 30 มิลลิกรัมต่อวัน และปริมาณสูง 60 มิลลิกรัมต่อวัน จึงพบว่าการรับประทานสารเคอร์คูมินในปริมาณน้อยต่อวันช่วยลดระดับไขมันชนิดไม่ดีและไขมันรวมได้มากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับการรับประทานสารเคอร์คูมินในปริมาณปานกลางและมาก อีกทั้งยังช่วยเพิ่มระดับไขมันชนิดดีสูงสุดเช่นกัน
และมีการวิจัยที่สอดคล้องกับการศึกษาสารเคอร์คูมินต่อการลดระดับไขมันในผู้ป่วยภาวะอ้วนลงพุง 65 คน เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนัก ระดับน้ำตาลในเลือด และระดับไขมัน เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ โดยได้ผลไปในทางเดียวกัน ผู้ป่วยกลุ่มแรกรับประทานสารสกัดเคอร์คูมิน 630 มิลลิกรัมต่อวัน เปรียบเทียบกับผู้ป่วยอีกกลุ่มที่รับประทานยาหลอก โดยแบ่งรับประทาน 3 ครั้งต่อวันทั้ง 2 กลุ่ม นาน 12 สัปดาห์ ผลปรากฏว่า กลุ่มที่รับประทานสารสกัดเคอร์คูมินมีระดับไขมันชนิดไม่ดีและไตรกลีเซอไรด์ลดลง ส่วนไขมันชนิดดีเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่ส่งผลต่อน้ำหนักตัวและระดับน้ำตาลในเลือด
ช่วยเรื่องโรคเบาหวาน ผลจากการวิจัยหลายชิ้นชี้ว่าสารเคอร์คูมินที่พบในขมิ้นอาจช่วยลดและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการรักษาโรคเบาหวานหรือป้องกันผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงของโรค จากการศึกษาสรรพคุณของขมิ้นต่อการป้องกันโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 ในผู้ที่มีภาวะเสี่ยงโรคเบาหวาน 240 คน เปรียบเทียบกับยาหลอก เป็นระยะเวลา 9 เดือน หลังจบการทดลองพบว่า กลุ่มที่รับประทานสารเคอร์คูมินตรวจไม่พบผู้ป่วยโรคเบาหวาน ในขณะที่กลุ่มรับประทานยาหลอกวินิจฉัยพบโรคเบาหวานประมาณ 16.4% จึงเชื่อว่าสารเคอร์คูมินในขมิ้นอาจเป็นประโยชน์ต่อการรักษาโรคเบาหวาน แต่ยังไม่มีการระบุประสิทธิภาพในการรักษาที่ชัดเจน ผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือมีความเสี่ยงเป็นเบาหวานจึงไม่ควรรับประทานเพื่อวัตถุประสงค์โดยตรงแทนการไปพบแพทย์ จนกว่าจะมีข้อยืนยันทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนและถ้าจะทานควรทานในปริมาณที่ไม่มากเกินไป เพราะขมิ้นจะไปลดระดับน้ำตาลในเลือด อาจจะส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจนเป็นอันตรายได้
ช่วยเรื่องโรคอัลไซเมอร์ การศึกษาคุณสมบัติของขมิ้นต่อการรักษาโรคอัลไซเมอร์ ยังมีอยู่จำกัดในปัจจุบัน แต่ผลการวิจัยบางส่วนแสดงให้เห็นว่าขมิ้นอาจเป็นประโยชน์ต่อการรักษาโรคนี้ จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ให้ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ จำนวน 3 ราย ที่มีปัญหาด้านพฤติกรรมและอาการสมองเสื่อมอย่างรุนแรงรับประทานสารสกัดจากขมิ้นติดต่อกันเป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ จากนั้นจึงวัดผลด้วยแบบประเมินอาการ ผลพบว่า มีผู้ป่วยเพียงรายเดียวที่ได้คะแนนสูงขึ้นในการทดสอบความจำเมื่อเทียบกับผลก่อนการทดลอง ในขณะที่ผู้ป่วยอีก 2 คน ไม่พบการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนจากการทำแบบประเมิน แต่สามารถจดจำบุคคลในครอบครัวเมื่อผ่านไป 1 ปี นอกจากนี้ ผู้ป่วยทั้ง 3 ราย ไม่มีอาการในลักษณะเดิมเมื่อรับประทานสารสกัดจากขมิ้นมากกว่า 1 ปี งานวิจัยนี้จึงชี้ให้เห็นว่า ขมิ้นอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ที่มีปัญหาด้านพฤติกรรมและความจำเสื่อม อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ป่วยในการทดลองมีจำนวนน้อยมาก จึงไม่แน่ชัดว่าใช้ได้จริงหรือไม่ต้องรอการวิจัยเพื่อยืนยันในอนาคต
ช่วยเรื่องโรคข้อเสื่อม ได้มีศึกษาทางเภสัชวิทยาและพิษวิทยาของแคปซูลสารสกัดขมิ้นชัน โดยการศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยเปรียบเทียบกับยาต้านอักเสบไอบูโพรเฟนในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่ รพ.ศิริราช จำนวน 367 คน แบบสหสถาบัน แบ่งการทดลองออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับแคปซูลสารสกัดขมิ้นชัน ขนาด 250 มิลลิกรัม ครั้งละ 2 แคปซูล 3 ครั้งต่อวัน นาน 4 สัปดาห์ จำนวน 185 คน และกลุ่มที่ได้รับยาต้านอักเสบไอบูโพรเฟน รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัม 3 ครั้งต่อวัน จำนวน 182 คน พบว่า แคปซูลสารสกัดขมิ้นชันมีประสิทธิผลในการลดอาการปวดข้อจากโรคข้อเข่าเสื่อมและช่วยให้การทำงานของข้อเข่าดีขึ้น ไม่แตกต่างจากการใช้ยาไอบูโพรเฟน แต่พบผลข้างเคียงด้านระบบทางเดินอาหาร เช่น อาการปวดท้อง ท้องอืด น้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยาไอบูโพรเฟนอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนการศึกษาทางพิษวิทยา มีการศึกษาพิษเรื้อรังในสัตว์ทดลอง พบว่าปลอดภัยและไม่ก่อให้เกิดพิษเรื้อรัง
และขมิ้นยังเป็นสมุนไพรไทย ตัวแรกที่เป็นสารสกัดที่มากจากสมุนไพรแล้วนำมาใช้แทนยาแผนปัจจุบันได้เลย แต่ที่ผ่านมาสมุนไพรตัวอื่นๆจะใช้ควบคู่กับยาแผนปัจจุบัน ล่าสุด อภ.สามารถพัฒนาสารสกัดขมิ้นชันมาผลิตเป็นยาในรูปแบบของแคปซูลในชื่อ “แอนติออกซ์ (Antiox)” และได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว
ภาพโดย Nikin จาก Pixabay
#ข้อควรระวังในการใช้ขมิ้น
ผู้ที่มีอาการของกรดไหลย้อน ควรปรึกษาแพทย์และระมัดระวังในการใช้ เพราะอาจส่งผลให้อาการแย่ลงในบางคน
ผู้ที่เป็นนิ่วในท่อน้ำดีหรือมีปัญหาเกี่ยวกับถุงน้ำดี ควรหยุดใช้ขมิ้นรูปแบบต่าง ๆ เพราะอาจทำให้อาการแย่ลง
ขมิ้นอาจลดระดับฮอร์โมนฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนและการเคลื่อนไหวของตัวอสุจิในน้ำเชื้อในผู้ชาย ผู้ชายที่ประสงค์จะมีบุตรควรรับประทานด้วยความระมัดระวัง
ขมิ้นอาจชะลอกระบวนการแข็งตัวของเลือด ผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติอาจเสี่ยงต่อการเกิดรอยช้ำหรือเลือดออกได้ง่าย รวมถึงผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดอาจเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกผิดปกติ จึงควรหลีกเลี่ยงรับประทานขมิ้นก่อนเข้ารับผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์
การใช้ขมิ้นในรูปแบบอื่น ๆ เช่น น้ำยาบ้วนปาก น้ำยาสวนล้างทวาร ควรใช้ในระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อความปลอดภัย
สารเคอร์คูมินในขมิ้นอาจลดระดับน้ำตาลในเลือดลงได้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงรับประทานอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลงกว่าเดิม
โดยทั่วไปขมิ้นมักไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้หรือรับประทาน แต่ในบางรายอาจมีอาการท้องเสีย เวียนศีรษะ คลื่นไส้ หรือปวดท้อง
ภาพโดย Summer Malik จาก Pixabay
ขมิ้น ได้รับความนิยมมาตั้งแต่สมัยก่อน เป็นพืชที่มีประโยชน์หลากหลาย อยู่คู่กับชนชาติเรามานาน เป็นภูมิปัญญาที่ควรอนุรักษ์ไว้ และเป็นพืชที่มีประโยชน์หลากหลายแต่ต้องใช้ให้ถูกวิธีและพอดีจึงจะนำมาซึ่งประโยชน์จากขมิ้นสู่เรา
อ้างอิง
โฆษณา