13 ก.ค. 2021 เวลา 09:28 • ครอบครัว & เด็ก
“ให้รางวัลลูกอย่างไร ไม่เสียนิสัย”
คุณพ่อ คุณแม่ เคยพูดแบบนี้กับลูกๆมั้ย
“ถ้าลูกสอบได้เกรด4วิชาเลขแม่จะซื้อ LEGO เซตนี้ให้เลย
“กินข้าวให้หมดนะคะ แล้วแม่จะให้ดูPeppa Pig 1ตอน”
“ทำการบ้านให้เสร็จเด๋วนี้ ไม่งั้นอดเล่นเกม”
1
วันนี้อ.สามจะมาแชร์เรื่องทฤษฎีแรงจูงใจแบบคร่าวๆ เข้าใจง่ายให้ฟังค่ะ
แรงจูงใจนั้น เกิดได้ทั้ง ปัจจัยภายใน ภายนอก หรือทั้งสองอย่างรวมๆกัน
แรงจูงใจภายใน (intrinsic motivation)
ความอยากรู้ อยากเห็น ใฝ่รู้ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งของเด็กๆเอง
เชื่อว่า เรามักแปลกใจเวลาเห็นลูกจำไดโนเสาร์เป็นร้อยๆตัว
ยี่ห้อรถได้เป็นร้อยๆแบบ โดยที่เราไม่ต้องหลอกล่อใดทั้งสิ้น
นี่แหละ พลังของแรงจูงใจภายใน
อีกรูปแบบเรียกว่า แรงจูงใจภายนอก (extrinsic motivation)
เป็นแรงจูงใจที่เกิดจากปัจจัยภายนอกมากระตุ้น ทำให้เด็กๆเกิดพฤติกรรมอันที่เราอยากได้
ปัจจัยที่กระตุ้นแรงจูงในภายนอกมีได้หลายรูปแบบ
การให้ของรางวัล เช่น ถ้าสอบได้คะแนนดีจะพาไปซื้อของเล่นใหม่
การแข่งขัน เช่นการที่ครูให้เด็กๆแข่งกันตอบคำศัพท์ภาษาอังกฤษในห้อง
การลงโทษ เช่น ถ้าไม่กินผักจะไม่ให้กินคุกกี้ของโปรด
จากงานวิจัยพบว่า
เด็กที่เรียนรู้จาก "แรงจูงใจภายใน" มักจะรู้สึกตื่นตัวกับความรู้ใหม่
มีความรู้เชิงลึก และสามารถนำองค์ความรู้นั้นไปประยุกต์ใช้ได้ดีกว่า
อีกทั้งยังมีความสุขกับการเรียนรู้ และมีความพยายามมากกว่าอีกด้วย
แล้วพ่อแม่จะทำอย่างไรดีหละเพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจภายในแก่เด็กๆ
วันนี้อ.สามนำงานวิจัยของ Martha Carlton และ Adam Winsler มาให้อ่านกันพอเป็นแนวทางค่ะ
1. สร้างความท้าทายใหม่ แทนการให้ของรางวัล
เมื่อเด็กทำสิ่งที่เราบอกได้แล้ว
แทนที่จะให้รางวัล พ่อแม่อาจตั้งความท้าทายใหม่ๆร่วมกับเด็กเพื่อกระตุ้นความอยากเรียนรู้
เช่นเมื่อลูกเขียนเลข 1-10ได้แล้ว อาจจะลองถามว่า
อยากรู้มั้ยว่าหลังจากสิบคืออะไร อาจจะลองเอาดินสอสี11แท่ง เพื่อให้ลูกนับเพิ่ม
หรือลองเขียนเลข 10โดยการเปลี่ยน 0 เป็นตัวเลขอื่นๆ
คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตว่าลูกเข้าใจ หรือไม่เข้าใจในจุดไหน
ค่อยๆเพิ่มlevelความยากให้เหมาะสม
ท้าทายแต่ไม่ยากจนเด็กหมดกำลังใจ
2. หมั่นให้กำลังใจ
ไม่มีอะไรสำคัญกับการสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ไปมากกว่าการสร้างเสริมความมั่นใจให้กับเด็กๆว่า “ฉันทำได้”
ทั้งนี้พ่อแม่ต้องใช้คำพูดที่ให้กำลังใจ หากเด็กทำไม่สำเร็จ
หรือแม้แต่ทำสิ่งของเลอะเทอะ ก็ไม่ควรต่อว่าให้กลัว
แต่ควรพูดด้วยเหตุผล และช่วยกันเสนอแนวทางการแก้ปัญหา
รับฟังเด็กๆเป็นกำลังใจให้เขาเสมอค่ะ
3. เลือกของเล่นที่เหมาะสม
เลือกของเล่นที่ทำให้เด็กๆเห็นการเปลี่ยนแปลงในการกระทำของตน
เช่น ของเล่นรถยนต์บรรทุกขนาดเล็กใหญ่ โมเดลสัตว์นานาชนิด
เครื่องจักรกลอย่างง่าย อุปกรณ์ชั่งตวงวัด ชุดแต่งตัวเพื่อการเล่นบทบาทสมมุติ
หุ่นมือ เกมจับผิดภาพ ตัวต่อจิ๊กซอว์ เป็นต้น
ของเล่นเหล่านี้สนับสนุนอิสระของเด็กในการเรียนรู้ไปพร้อมๆกับการเล่น ทดลอง ลองผิดลองถูก
4. ให้รางวัลอย่างพอดี
หลายงานวิจัยคอนเฟิร์มว่าการให้รางวัลในสิ่งที่เด็กควรทำอยู่แล้ว
จะทำให้เด็กคิดว่ามันเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองที่ต้องให้รางวัลเขาในการทำดี
งานวิจัยของ Lepper และคณะ แบ่งเด็กที่ชอบวาดภาพเป็นสองกลุ่ม
กลุ่มA ได้รับรางวัลจากการวาดภาพเสร็จ ส่วนกลุ่มBไม่ได้รางวัล
นักวิจัยพบว่าในเวลาว่างเด็กกลุ่มB วาดภาพต่อสัปดาห์มากกว่ากลุ่มA เป็นไหนๆ
เมือได้รับรางวัลเด็กจะไปโฟกัสที่ของรางวัล (ปัจจัยภายนอก)
แทนที่จะโฟกัสกับการใฝ่รู้ด้วยปัจจัยภายใน เช่นการเรียนรู้ เพื่อความสนุก
หวังว่าแนวทางเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ให้ผู้ปกครองทุกท่านในการสร้างแรงจูงใจให้กับเด็กๆนะคะ
ใครลองวิธีไหนไปบ้างอย่าลืมคอมเม้นท์ แชร์ไอเดียกันนะคะ
และถ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์ ฝากกดแชร์หนึ่งทีค่ะ :)
ดร.สวรส ธนาพรสังสุทธิ์ (อาจารย์สาม)
อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Columbia University
Doctor of Education in Instructional Technology & Media
อ้างอิง
Carlton, M. P., & Winsler, A. (1998). Fostering intrinsic motivation in early childhood classrooms. Early Childhood Education Journal, 25(3), 159-166.
Gottfried, A. E. (1985). Academic intrinsic motivation in elementary and junior high school students. Journal of educational psychology, 77(6), 631.
Lepper, M. R., Greene, D., & Nisbett, R. E. (1973). Undermining children's intrinsic interest with extrinsic reward: A test of the" overjustification" hypothesis. Journal of Personality and social Psychology, 28(1), 129.
Pintrich, P. R., & Schunk, D. H., (1996). Motivation in education: Theory, research, and applications. Englewood Cliffs, New Jersey: Prentice-Hall.
1
โฆษณา