13 ก.ค. 2021 เวลา 09:38 • ปรัชญา
หากนึกลอง และมองย้อนไปในครั้งหนึ่งก่อนที่เราจะเริ่มก้าวเดิน บางคนอาจได้เห็นภาพของตนที่ยืนคู่อยู่กับบางสิ่งแสนล้ำค่า แต่ในวันนี้ที่หลายคนกำลังก้าวไปข้างหน้านั้น
เมื่อรู้ตัวอีกครั้งสิ่งที่ “เคยอ้าง” ว่า “สำคัญ” ก็กลับถูกทิ้งให้ล่วงหาย ตกหล่นอยู่ที่ใดสักแห่งบนทางเดินที่ผ่านมา
.
เมื่อขอบเขตของเวลาและทรัพยากร
ที่มนุษย์คนหนึ่งจะมีได้ในแต่ละวัน
ยังไม่สามารถจะพัดนำให้พวกเขา
ไปถึงความสำเร็จเป็นเลิศได้ (โดยง่าย) ในทุกด้าน
หรืออาจแม้เพียงด้านใดด้านหนึ่ง
.
การหมั่นมอง หรือค้นหา “จุดมุ่งหมายแห่งชีวิต”
และ “การจัดสรรทรัพยากรที่มี”
จึงกลายเป็น “กลยุทธ์ล้ำค่า”
ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อมนุษย์
หากเวลาในแต่ละวันมีจำกัด
เราจะใช้เวลาที่พอเหลือพอมีนั้นไปกับสิ่งใด
หากทรัพยากรอื่นๆยังมีน้อย
เราจะพลิกแพลง หาทดแทนได้หรือไม่
อะไรคือสิ่งที่เราควรเริ่มเรียนรู้สามารถ
และการฝึกฝนทักษะไหนที่อาจรอไปก่อนได้
.
แต่แม้จะมีหลักการก้องโลกอย่างไร
ผู้คนก็จะยังคงเผลอละทิ้งจุดมุ่งหมาย
อันเป็นแก่นสำคัญแห่งชีวิตให้ล่วงหล่น
แล้วหันมาใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดของตน
ไปกับสิ่งซึ่งอาจไม่สำคัญนัก
พวกเขาอาจใช้เพียงเพื่อ
“ก้าว” เดินไปอย่างนั้น
ก้าวเดินไปตามจังหวะการนำของกระแส
และป้ายชี้บอกทาง
ก้าวไปข้างหน้าตามผลตอบแทน
และรางวัลเฉพาะหน้าที่จะหยิบฉวยได้
หรืออาจก้าวเดินไปเพื่อภาพลักษณ์
หน้าตา บารมี
กระทั่งก้าวไปทั้งอย่างนั้น
เพียงแค่เพื่อหลอกตัวเองให้รู้สึกดี
.
เหล่านี้ทั้งสิ้น ล้วนมักเป็นการก้าวเดินไปเพื่อความสำเร็จ
ที่อาจส่งผลดีได้ ในระยะสั้น
แต่ขณะเดียวกันก็อาจเป็นการฉุดรั้งผู้คน
ให้พวกเขาออกห่างจากแก่นสำคัญของตน
จนนำมาซึ่งความล้มเหลว ในระยะยาว
.
หลักกลยุทธ์พื้นฐานของชีวิตที่อาจฟังดูไม่ยาก
แต่ทำจริงได้ไม่ง่ายนี้
จึงกลายเป็นอีกบทชี้นำหนึ่ง
เพื่อให้ผู้คนได้สามารถออกแบบการเดินทาง
และเลือกเส้นทางที่จะมุ่งสู่จุดหมายแห่งชีวิต
ด้วยความเหมาะสมสอดคล้อง ถูกที่ และถูกทาง
โดยไม่ต้องหลงสละละทิ้งสิ่งล้ำค่าใด
อันเป็นเป้าหมายแห่งชีวิตไว้เบื้องหลัง
อย่างหลายคนที่ได้กลายเป็นผู้สำเร็จ โด่งดัง
แต่กลับค่อยๆออกห่างจากปลายทางที่มุ่งหมาย
หลงอยู่บน “เส้นทางความล้มเหลว” แห่งตน
.
.
ตอนนี้คุณยังจำได้หรือไม่ ว่าอะไรคือสิ่งล้ำค่าในชีวิต?
แล้วคุณได้ใช้เวลา ลงแรง
และให้ความสำคัญกับสิ่งนั้นมากน้อยแค่ไหน
หรือคุณเองก็กำลังหลงทาง ทิ้งขว้าง และละเลย
สิ่งที่คุณเคยพร่ำบอกว่า “สำคัญล้ำค่าที่สุด” ไป
.......... .......... .......... .......... ..........
- Natvarun
.......... .......... .......... .......... ..........
บทความนี้ได้นำ (เศษเสี้ยวหนึ่ง) จากทฤษฎีการจัดการ
ของศาสตราจารย์ Clayton M. Christensen
ผู้พัฒนาทฤษฎี "disruptive innovation"
มาร้อยเรียงขึ้นใหม่บนฐานทรรศนะของผู้เขียน
.......... .......... .......... .......... ..........
.
ภาพประกอบ
: คุณ Jay - Flat N'Round artstudio
.......... .......... .......... .......... ..........
.
#NatvarunA004
เส้นทางของผู้ปรารถนาความล้มเหลว
(Rewrite)
โฆษณา