15 ก.ค. 2021 เวลา 01:00 • ประวัติศาสตร์
ส่องแฟชั่นสุดอันตรายแห่งยุควิคตอเรียน
ย้อนกลับไปช่วงศตวรรษที่ 19 ในยุควิคตอเรียน เสื้อผ้า หน้า ผม เคยทำร้ายคนถึงตายมาแล้ว มันเป็นแบบนั้นได้ยังไง มาดูกัน
-- ยุควิคตอเรียน พอสังเขป --
สำหรับยุควิคตอเรียนที่เราพูดถึงมักจะเน้นไปที่บริบทของอังกฤษ คร่าวๆประมาณ ค.ศ. 1820 - 1914 หรือ จะบอกว่าเป็นยุคที่ควีนวิคตอเรียแห่งอังกฤษครองราชย์ ตั้งแต่ ค.ศ. 1837 - 1901 ก็ย่อมได้
ลักษณะทั่วไปของยุคนี้ จะเป็นยุคที่มีการแบ่งชนชั้นทางสังคม ประชาชนมีสิทธิมีเสียงมากขึ้น มีการเลือกตั้ง อังกฤษมีการเติบโตทางเศรษฐกิจและเป็นจักรวรรดิที่มีอิทธิพลอย่างมากของโลก เนื่องจากมีอาณานิคมหลายแห่ง
ในด้านสังคม ศิลปะและวัฒนธรรม ยุคนี้ค่อนข้างเพื่องฟู มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ เช่น เครื่องจักรเย็บผ้า การทำโรงงานผ้า ส่งผลให้เสื้อผ้ามีราคาถูกลง คนเข้าถึงแฟชั่นได้มากขึ้น อังกฤษจึงถือเป็นผู้นำแฟชั่นในยุคนั้นก็ว่าได้
มาดูแฟชั่นเสื้อผ้าที่สุดแสนจะแปลกและอันตรายของยุควิคตอเรียนกันได้เลย
1. คอร์เซท (Corset)
ผู้หญิงในยุคนั้นไม่ว่าจะอยู่คลาสไหนของสังคมก็จะต้องสวมใส่เจ้าคอร์เซท ซึ่งเป็นที่รัดเอว ทำให้เอวคอดกิ่วสวย แลดูมีสัดส่วน
ในช่วงแรกโครงของคอร์เซท มักจะทำมาจากกระดูกวาฬ แล้วค่อยพัฒนาเปลี่ยนเป็นลวดหรือเหล็กต่อมา ก่อนที่จะเป็นลูกไม้อย่างหนาในสมัยหลัง ทำให้การรัดแน่นยิ่งเพิ่มมากขึ้น เอวของสาวๆก็จะยิ่งกิ่วเล็กลงมากขึ้น ซึ่งเป็นค่านิยมความสวยในสมัยนั้น
Credit: https://stylezator.com/fashion/162-strange-morality-of-the-%22victorian-era%22
ยิ่งรัดแน่นเท่าไหร่ก็ยิ่งมีผลต่อร่างกายมากเท่านั้น พบว่าผู้หญิงหลายคนมีอาการหายใจไม่ออก เป็นลมบ่อย เนื่องจากปอดถูกบีบรัด นอกจากนี้พวกเธอยังมีปัญหาในการย่อยอาหารจากการที่ลำไส้ถูกบีบรัดด้วย บางคนถึงขั้นอวัยวะภายในแตก มีเลือดออกภายในโดยไม่รู้ตัว ทำให้เสียชีวิตในเวลาต่อมา
ครั้งหนึ่งในปี ค.ศ. 1901 การชันสูตรร่างของผู้หญิงคนหนึ่งนามว่า Mary Halliday เผยให้เห็นชิ้นส่วนเหล็กจากคอร์เซทที่หัวใจของเธอ นอกจากนี้ยังมีผู้หญิงอีกหลายคนที่เมื่อชันสูตรร่างแล้วเห็นอวัยวะภายในอย่างลำไส้และปอดที่ผิดรูป ซึ่งเกิดจากการใส่คอร์เซทที่แน่นจนเกินไป
2. ชุดติดไฟ
ชุดกระโปรงที่สวมบนสุ่มของผู้หญิง ที่นิยมใส่เพื่อให้กระโปรงบานออก มีชื่อเรียกว่า คริโนลิน (Crinoline) หรือ ที่เราคนไทยเรียกกันว่ากระโปรงสุ่มไก่ ครั้งหนึ่งเป็นอันตรายต่อคนใส่ถึงขั้นเสียชีวิตเลยทีเดียว
การสวมใส่คริโนลิน (Credit: https://en.wikipedia.org/wiki/Crinoline#/media/File:Crinoline_joke_photograph_sequence_04.jpg)
สมัยนั้นมักใช้ขนม้า เส้นป่าน หรือเหล็กมาทำเป็นโครงของกระโปรง ส่วนเนื้อผ้ามักทำมาจากขนสัตว์ หรือ ผ้าฝ้าย ความอันตรายของคริโนลินไม่ธรรมดาเลยทีเดียว เริ่มจากการถูกโครงเหล็กรัดตัวจนกระดูกหัก ยิ่งเวลาออกมากลางแจ้งแล้วเจอลมพัดแรงๆ พัดพวกเธอตัวหักได้เลยทีเดียว บางรายกระโปรงบานๆเป็นเหมือนร่มรับลมได้ด้วย ซึ่งมักจะพัดพวกเธอไปชนนู้นชนนี้ หรือพัดจนพวกเธอตกจากที่สูงก็มี
โครงของคริโนลินหรือกระโปรงสุ่มไก่ (Credit: https://historyofyesterday.com/fatal-fashion-21-historical-fashion-trends-that-led-to-the-death-of-many-d1d3e58207d6)
สิ่งที่มักจะเห็นตามท้องถนนคือ กระโปรงพวกเธอไปเกี่ยวกับรถม้าบ้าง โดนเหยียบบ้าง โดนประตูรถม้าลากบ้าง ไม่แปลกที่แต่ละวันจะมีเสียงหวีดร้องบนถนนจากพวกเธอ
บางเคสที่เป็นแรงงานที่ทำงานในโรงงาน กระโปรงที่บานและยาว ถูกเครื่องจักรดึงลากเข้าไป บางรายก็รอดอันตรายมาได้ บางรายก็ไม่รอดบาดเจ็บก็มี
ยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้ เพราะคริโนลินนี้ทำมาจากใยผ้าที่ติดไฟง่ายสุดๆ เจอประกายไฟนิดเดียว ชุดพวกเธอก็พร้อมที่จะติดไฟลุกพรึบขึ้นมาแล้ว
ในปีค.ศ. 1844 นักบัลเลต์หญิง Clara Webster ขณะที่ทำการแสดงอยู่ที่โรงละคร London's Drury Lane กระโปรงบัลเลต์เธอไปโดนประกายไฟบนเวทีทำให้ไฟลุกขึ้นมา
ในปีค.ศ. 1862 นักบัลเลต์ชื่อดัง Emma Livry ขณะที่ทำการแสดงเช่นกัน กระโปรงโดนแก๊สไฟจากตะเกียง ทำให้ลุกไหม้คลอกเธอทั้งตัว แผลไฟไฟม้สาหัสมากทำให้เธอเสียชีวิตในเวลาไม่กี่เดือนต่อมา
หลายครั้งกระโปรงบัลเลต์ไปโดนประกายไฟ จากไฟที่วางอยู่ที่พื้นเวที (Credit: https://www.buzzfeed.com/agh/1800s-victorian-fire-women-burning-alive-fashion)
ในปีค.ศ. 1858 มีเคสผู้หญิงที่ใส่คริโนลิน ถูกไฟคลอกถึง 3 คนภายในอาทิตย์เดียว สองในนั้นเป็นน้องสาวต่างมารดาของนักเขียนชื่อดัง ออสการ์ ไวลด์ (Oscar Wilde) ที่คริโนลินไปติดประกายไฟ ทำให้โดนไฟคลอกจนเสียชีวิต
ปีค.ศ. 1861 เช่นกันภรรยาของนักกวี Hentry Wadsworth เสียชีวิตจากไฟคลอก เนื่องจากคริโนลินไปโดนประกายไฟจากไม้ขีดไฟ
เคสที่น่าเศร้ามากๆเกิดขึ้นในปีค.ศ. 1863 ที่เมืองซานติเอโก ประเทศชิลี เกิดไฟไหม้โบสถ์ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,000 คน เมื่อผ้าคลุมหน้าต่างไปติดไฟ ไหม้โบสถ์ทั้งหลัง ผู้คนต่างพากันแย่งออกจากประตู แต่เนื่องจากกระโปรงบานและยาวนี้ไปเกี่ยวกับเก้าอี้บ้าง ประตูบ้างทำให้ออกจากประตูไม่ทัน ผู้คนส่วนใหญ่ในโบสถ์จึงถูกไฟคลอกเสียชีวิตแทบทั้งหมด
การเสียชีวิตจากไฟคลอก ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับคนสมัยนั้น ในยุคนี้ยังใช้ตะเกียงน้ำมัน เทียนไข เตาผิง ที่คริโนลินไปติดประกายไฟทำให้ไฟใหม้บ้านหรือโดนไฟคลอกได้ง่ายมาก แต่โศกนาฏกรรมหลายครั้งก็สร้างความสูญเสียไม่น้อย หลังจากนั้นก็เริ่มมีการพัฒนาให้กระโปรงมีความบานน้อยลง เพื่อลดโอกาสที่ชุดจะไปติดไฟหรือเกิดอุบัติเหตุ
แม้ว่าคริโนลินจะอันตราย แต่ผู้หญิงสมัยนั้นก็ยังใส่กันต่อไป เพื่อความอินเทรนด์
3. ชุดอาบพิษ
ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่ามีการทำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ในการผลิตเสื้อผ้าทำให้ราคาถูกลง ทำให้ชนชั้นกลางและล่างเข้าถึงแฟชั่นชนชั้นสูงได้ง่ายขึ้น แต่ใครจะรู้ว่าเขาจะนำเม็ดสีจากสารหนู (Arsenic) มาใช้ในการย้อมผ้า เพื่อให้ผ้ามีสีสันสดใสในราคาที่ถูกลง
ในงานวิจัยสมัยใหม่พบว่า ชุดสีเขียวสดในสมัยนั้น เรียกว่า Scheele's Green ตามชื่อผู้คิดค้นส่วนผสมของสีนี้ ชื่อว่า Carl Wilhelm Scheele ชาวสวีดิชเยอรมัน หรือ บางที่ก็เรียก Paris Green เกิดจากการผสมเฉดสีจากทองแดงและเม็ดสีจากสารหนู ไม่เพียงแต่นำสีนั้นมาใช้กับเสื้อผ้า พวกเขายังใช้กับของตกแต่งบ้าน วอลเปเปอร์ในบ้าน รวมถึงตกแต่งเค้กด้วย หลังๆถูกนำไปใช้ในหลายสีไม่เฉพาะแต่สีเขียว
ชุดจริงจากค.ศ. 1860 ที่สีย้อมผ้ามีส่วนผสมของสารหนู (Credit: https://hyperallergic.com/133571/fatal-victorian-fashion-and-the-allure-of-the-poison-garment/)
พิษจากสารหนูก่อให้เกิดการอาเจียนที่รุนแรง ไปถึงปวดหัวอย่างรุนแรง และก่อให้เกิดโรคโลหิตจาง ผู้หญิงในสมัยนั้นเสียชีวิตโดยที่อายุยังน้อย ซึ่งส่วนใหญ่ถูกวินิจฉัยภายหลังว่าเป็นมะเร็งเพราะได้รับพิษจากสารหนูด้วย
แม้กระทั่งควีนวิคตอเรียเองก็เคยสวมใส่เสื้อผ้าที่ทำจาก Scheele’s Green นโปเลียนแห่งฝรั่งเศสเองก็เคยเจ็บป่วยจากการสูดสารหนูเข้าไป โดย Scheele’s Green ถูกใช้บนวอลเปเปอร์ที่บ้านของเขา
Matilda Scheurer เป็นผู้ใช้แรงงานในโรงงานได้ออกมาเรียกร้องถึงอันตรายของสารหนู ที่ทำให้เธอเจ็บป่วย ทั้งดวงตาเป็นสีขาว มองแทบไม่เห็นและเล็บมือของเธอกลายเป็นสีเขียว มีแผลที่เกิดจากสารหนูกัด ต่อมาเธออาเจียนอย่างหนัก ถึงขั้นกระอักฟองพิษออกจากปาก ก่อนที่จะเสียชีวิตในเวลาต่อมา ผลชันสูตรร่างของเธอ พบสารหนูจำนวนมากในกระเพาะอาหาร ตับและปอด
ทำให้ผู้คนยุโรปในสมัยนั้น เช่น เยอรมัน สวีเดน ฝรั่งเศส เริ่มตระหนักถึงอันตรายของสารหนู และสั่งยกเลิกไม่ใช้ผสมในสีย้อมผ้าแต่กว่าที่อังกฤษจะออกกฎหมายยกเลิกการใช้สารหนูเช่นกัน ก็มีผู้เคราะห์ร้ายได้รับสารพิษไปมากมายแล้ว
4. หมวกมหาภัย
คุณจะต้องสวมหมวกทรงสูงเพื่อความโก้เก๋ แต่รู้หรือไม่ว่าหมวกส่วนใหญ่ถูกเคลือบด้วยสารพิษอย่างปรอท
หมวกทรงสูง (Credit: https://www.thevintagenews.com/2016/01/29/48734/)
คนทำหมวกส่วนมากนิยมใช้ปรอท เพราะมันราคาถูก ในการเคลือบขนสัตว์อย่างกระต่ายซึ่งใช้มาทำหมวก ปรอทจะทำให้ขนสัตว์นิ่ม เงางาม มีลักษณะเหมือนกำมะหยี่ในแบบที่ลดต้นทุนที่สุด
มีคนบอกว่า มิน่าถึงเป็นที่มาของ Mad Hatters หรือเปล่า เพราะคนทำหมวกจะโดนสารปรอทโดยตรงมากกว่าผู้ใส่ ทำให้มีอาการแปลก ไม่พึงประสงค์
การสูดดมสารปรอทเข้าไปจะทำให้เกิดผลเสียต่อระบบประสาท คนทำหมวกในสมัยนั้นส่วนใหญ่มักเจ็บปวดจากอาการชักกระตุก เกร็ง ชัก ชา ลำไส้หดเกร็งด้วย และจะยิ่งแย่ขึ้นถ้าระหว่างที่ทำหมวก พวกเขาดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปด้วย เพราะแอลกอฮอล์จะยิ่งไปขัดขวางการทำงานของตับในการขจัดสารปรอท
5. ชุดแพร่โรค
เหล่าทหารรบในช่วงวิคตอเรียนป่วยจากโรคระบาดที่มาจากเห็บและสัตว์อื่นๆ ทำให้ป่วยเป็นโรคไข้รากสาดใหญ่ และไข้เลือดออกกันเยอะมาก เชื้อโรคต่างๆที่ติดมากับชุดเสื้อผ้าที่ใส่แล้วไม่ได้ซัก ทำให้พวดเขาแพร่เชื้อโรคต่อได้อย่างดีเมื่อกลับมาที่บ้าน
ชนชั้นสูงเองก็เช่นกัน บางทีที่พวกเธอออกจากบ้านเหยียบเอาดินโคลน ฝุ่นจากถนน ชุดของผู้หญิงที่ยาวลากพื้นกวาดเอาสิ่งสกปรกและเชื้อโรคเข้ามาเต็มๆ บางคนก็เป็นโรคติดเชื้อทางผิวหนัง บางคนก็เป็นวัณโรค
ส่วนคนชนชั้นล่าง ที่ยากจนมักจะสวมใส่เสื้อผ้ามือสอง มักจะป่วยเป็นไข้ทรพิษ มีตุ่มผื่นที่ผิวหนังรุนแรง ซึ่งทั้งหมดเกิดจากการสวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่สะอาด
Credit: https://www.writing-endeavour.com/blog/crinoline-dresses-women-fashion-of-18-19-centuries-in-france-and-england-p87.html
6. ผมไหม้
ในยุควิคตอเรียน ผู้หญิงมักทำม้วนผมให้เป็นลอนตามแฟชั่นสุดฮิตแต่การทำลอนผมไม่ง่ายเหมือนสมัยนี้ พวกเธอไม่มีเครื่องม้วนผมที่ใช้ไฟฟ้า แต่ใช้ลอนม้วนที่ทำจากเหล็ก โดยเอาไปวางใกล้ถ่านหินร้อนๆก่อน แล้วค่อยเอามาม้วนผม
ถ้ากะความร้อนได้ไม่ดี เหล็กร้อนจัดๆโดนผมปุ๊ป ผมไหม้ขาดทันที กลิ่นไหม้นี่คละคลุ้งเลยทีเดียว
Credit: https://www.mimimatthews.com/2020/01/10/the-girl-with-the-19th-century-curl-hot-tongs-setting-lotions-and-artificial-hair/
7. มหันตภัยจากคอเสื้อ
สำหรับคุณผู้ชายในยุคนี้ คุณจะต้องใส่ปลอกคอ หรือ ​Collar เพื่อความไฮโซและแสดงความเป็นผู้ดี
แต่ความน่ากลัวคือปลอกคอนี้สามารถรัดคอคุณจนตายได้ จนมีชื่อเรียกว่า Father Killer เพราะบางทีมันสามารถรัดคอปิดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้คุณหายใจไม่สะดวก เลือดไม่ไปเลี้ยงสมองได้เลย
ถึงขึ้นมีข้อห้ามว่า อย่าสวมใส่ปลอกคอขณะดื่มแอลกอฮอล์ เพราะมันจะทำให้คุณสำลัก จนหายใจไม่ออกเป็นลมล้มตึงได้เลยทีเดียว บางรายช่วยไม่ได้ทันเสียชีวิต และถูกลงบันทึกไว้ด้วยว่าหายใจไม่ออกจากปลอกคอ
8. ภัยร้ายจากเมคอัพ
ในตอนก่อนหน้าเราได้เล่าเบื้องหลังเมคอัพอันตรายจากยุคควีนอลิซาเบธที่ 1 ไปแล้ว กว่าที่ผู้คนจะรู้ว่าตะกั่วไม่ควรนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของเมคอัพก็ช้าไปเสียแล้ว
ยุควิคตอเรียนก็เช่นเดียวกัน ผู้คนยังใช้เมคอัพ และผลิตภัณฑ์บำรุงผิวอื่นๆที่มีส่วนผสมของตะกั่ว เพื่อทำให้ผิวขาว บางคนแพ้ตั้งแต่ผิวแห้งเสีย ไปจนถึงเป็นมะเร็งเลยก็มี
9. พิษร้ายจากรองเท้าที่เงาวับ
แทบจะทุกส่วนของร่างกายแล้วที่สามารถฆ่าคุณได้ในยุควิคตอเรียน
รองเท้าก็ถูกรวมด้วย เนื่องจากสารที่นำมาเคลือบให้รองเท้าเงาวับเป็นสารพิษที่ก่ออันตรายต่อร่างกายอีกแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่คนที่จะได้รับผลกระทบมักจะเป็นคนรับใช้หรือคนที่ทำอาชีพขัดรองเท้าตามถนน
สารที่ถูกใช้ในน้ำยาขัดรองเท้า คือสารไนโตรเบนซีน (Nitrobenzene) ซึ่งมีกลิ่นคล้ายกับอัลมอนด์
Credit : https://www.victorianlondon.org/publications/thomson-36a.png
การสูดดมบ่อยๆส่งผลให้พวกเขาเป็นลม หมดสติ อาเจียน และขาดออกซิเจนจนเสียชีวิตได้ ซึ่งการใช้สารนี้ขัดรองเท้าต้องรอให้แห้งก่อน ถ้าสัมผัสโดนตอนเปียกๆทันทีอาจเกิดอาการเหล่านี้ได้
มีรายงานว่าหนุ่มชนชั้นสูงคนหนึ่ง พึ่งใส่รองเท้าที่ถูกขัดโดยสารนี้โดยยังไม่แห้งดี และสารบางส่วนไปติดอยู่ที่ผิวหนังบริเวณข้อเท้า เขาไปปาร์ตี้และดื่มเหล้า ไม่กี่ชั่วโมงต่อมาเขาอาเจียนและหมดสติไป เพื่อนเขาได้มาพบว่าเขาเสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตก็น่าจะมาจากสารพิษไนโตรเบนซินและแอลกออฮอล์
10. แม้แต่นกก็ไม่รอด
ข้อสุดท้ายไม่ได้ส่งผลต่อมนุษย์อย่างเดียว สัตว์อย่างนกก็ไม่รอดด้วย
ในยุควิคตอเรียน เหล่าเลดี้ทั้งหลายมักจะใส่หมวกที่ทำจากขนนกจริงๆ บางครั้งก็นกจริงๆมาทั้งตัวเลย โดยยิ่งอลังการขนาดไหน ยิ่งบ่งบอกสถานะทางสังคมและความไฮโซโก้เก๋ของพวกเธอ
ในยุคนั้นมีบันทึกว่าประชากรนกลดลงอย่างมาก และการทำหมวกเพื่อให้ขนนกเงางามสวย เขาก็มักจะใช้สารหนูมาเคลือบเอาไว้ ถ้าสูดดมหรือสัมผัสโดยตรงก็ส่งผลต่อคนด้วยเช่นกัน
จบแล้วกับแฟชั่นที่สุดแสนจะอันตรายจากยุควิคตอเรียน การที่จะเป็นคนโก้เก๋ อินเทรนด์ต้องแลกมาด้วยหลายอย่างจริงๆ หวังว่าผู้อ่านที่อ่านจบครบ 10 ข้อ จะยังหายใจกันคล่องคอ สำหรับตอนหน้าเราจะนำเรื่องอะไรมาฝาก อย่าลืมกดติดตามคิดก่อนไว้ด้วยนะคะ
เขียนและเรียบเรียงโดยทีมงานคิดก่อน ไม่อนุญาตให้ดัดแปลง แก้ไข และคัดลออกโดยไม่ได้รับอนุญาต
References:
โฆษณา