14 ก.ค. 2021 เวลา 02:48 • ไลฟ์สไตล์
ผ้าซิ่นพื้นเมืองในประเทศไทย
ผ้าไทย .. คือผ้าทอมือที่มีการผลิตในประเทศไทย โดยมีเอกลักษณ์เฉพาะในแต่ละท้องถิ่น ประวัติผ้าไทยไม่ปรากฏในหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากนัก เนื่องจากมีการให้ความสำคัญในด้านอื่น ๆ มากกว่า แต่เราพอจะสืบหาประวัติของผ้าไทยในสมัยก่อนได้บ้างจากวรรณคดี จิตรกรรมฝาผนัง และมรดกศิลปะที่คงเหลืออยู่ในบางท้องถิ่น
ผ้าซิ่น
ผ้าซิ่น ... นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งของหญิงไทย
ในสมัยโบราณ การทอผ้าเป็นงานในบ้าน ลูกผู้หญิงมีหน้าที่ทอผ้า แม่จะสั่งสอนให้ลูกสาวฝึกทอผ้าจนชำนาญ แล้วทอผ้าผืนงามสำหรับใช้ในโอกาสพิเศษ เช่น งานแต่งงาน งานบวช หรืองานบุญประเพณีต่าง ๆการนุ่งผ้าซิ่นของผู้หญิงจึงเป็นเหมือนการแสดงฝีมือของตนให้ปรากฏ ..
ผ้าซิ่นที่ทอได้สวยงาม มีฝีมือดี จะเป็นที่กล่าวขวัญและชื่นชมอย่างกว้างขวาง และยังเป็นการบ่งบอกฐานะทางสังคม เช่น ผ้าทอที่มีลวดลายสวยงาม มีสีสันและพิสดารนั้นมักใช้เฉพาะเจ้านายในราชสำนัก หรือ คนที่มีความร่ำรวย ส่วนผ้าซิ่นลายธรรมดาเรียบงายสีสันน้อยมักใช้ในกลุ่มชาวบ้านโดยทั่วไป
ผ้าซิ่นของไทยมักจะแบ่งได้เป็นสองลักษณะ ..
อย่างแรกคือ ผ้าซิ่นสำหรับใช้ทั่วไป มักจะไม่มีลวดลาย ทอด้วยผ้าฝ้ายหรือด้ายโรงงาน (ในสมัยหลัง) อาจใส่ลวดลายบ้างเล็กน้อยในเนื้อผ้า ..
ผ้าซิ่นอีกอย่างหนึ่ง เป็นผ้าซิ่นสำหรับใช้ในโอกาสพิเศษมักจะทอด้วยความประณีตเป็นพิเศษ มีการใส่ลวดลาย สีสันงดงาม และใช้เวลาทอนานเป็นแรมเดือน
ขนาดและลักษณะของผ้าซิ่น .. ขึ้นกับฝีมือ รสนิยม ขนบการทอในแต่ละท้องถิ่น และยังขึ้นกับขนาดของกี่ทอด้วย การทอผ้าด้วยกี่หน้าแคบ จะได้ผ้าที่แคบ ผ้าซิ่นสำหรับใช้จริงจึงต้องนำมาต่อเป็นผืนให้กว้างขึ้น อย่างไรก็ตาม ผ้าซิ่นในปัจจุบันจะทอด้วยกี่หน้ากว้าง ไม่ต้องต่อผืนอย่างในสมัยโบราณอีกต่อไป
ส่วนประกอบของผ้าซิ่น
ผ้าซิ่นส่วนมาก มีโครงสร้างคล้ายกัน คือ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่
หัวซิ่น .. เป็นส่วนบนสุดของซิ่น ไม่นิยมทอลวดลาย บางแห่งใช้ผ้าขาวเย็บเป็นหัวซิ่น และเหน็บพกไว้ มองไม่เห็นจากภายนอก
ตัวซิ่น .. เป็นส่วนหลักของซิ่น อาจมีการทอลวดลายบ้างเล็กน้อยในลักษณะของลวดลายที่กลมกลืน ไม่ใช่ลายเด่น มักเป็นสีเดียวตลอด
ตีนซิ่น .. เป็นส่วนสุดของซิ่น ในบางท้องถิ่นนิยมทอลวดลายเป็นพิเศษ สำหรับตีนซิ่นโดยเฉพาะ แคบบ้าง กว้างบ้าง เช่น ซิ่นตีนจก ขณะที่ซิ่นของชาวอีสาน จะใส่ตีนซิ่นแคบๆ
ผ้าซิ่นพื้นเมืองในแต่ละภูมิภาคของไทยโดยสังเขป
ในปัจจุบันการทอผ้าพื้นเมืองในพื้นที่หลายแห่งในประเทศไทย ยังคงทอผ้าด้วยลวดลายดั้งเดิม .. โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนที่มีเชื้อชาติพันธุ์บางกลุ่ม และหากจะแบ่งผ้าพื้นเมืองของกลุ่มชนเหล่านี้ตมภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ก็อาจจะแบ่งคร่าวๆ ได้ดังนี้
ผ้าในภาคเหนือ หรือดินแดนล้านนา
ชาวล้านนาก็เรียกผ้านุ่งสำหรับผู้หญิงว่า "ซิ่น/สิ้น" .. ใน 8 จังหวัดของภาคเหนือตอนบน ประกอบไปด้วยกลุ่มประชากร ซึ่งในอดีตเรียกว่า กลุ่มชาติพันธุ์ไท เช่น ไทยวน ไทลื้อ ไทเขิน ไทใหญ่ .. ซึ่งล้วนแล้วแต่มีวัฒนธรรมการทอผ้าเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง
ผู้หญิงชาวไทยวน หรือคนเมือง .. ยังคงทอซิ่นตีนจก ซึ่งลวดลายของซิ่นตีนจกนั้นมีความหลากหลาย แต่โดยรวมแล้วลวดลายทั้งหมดล้วนได้แนวคิดมาจาก "ธรรมชาติรอบตัว" "คติความเชื่อ" และ "พุทธศาสนา" ... แหล่งที่มีชื่อเสียงคือ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ และ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ อำเภอลับแล อุตรดิตถ์
ชาวไทพวนบ้านหาดเสี้ยวสุโขทัย .. โดดเด่นทางด้านผ้าเข็นและผ้ามุกต่อตีนจก
ผ้าซิ่นตีนจก ลำปาง
ชางไทลื้อ .. ในป้จจุบัน ก็ยังคงรักษาวัฒนธรรมการทอผ้านรูปแบบและลวดลายที่สืบทอดกันมา โดยในผ้าซิ่นจะมีลวดลายทั้งเทคนิคจก เกาะ และขิด
เทคนิคสำคัญของชาวไทลื้อ คือเทคนิคการเกาะให้ลวดลายของผ้ามีลายซิกแซ๊ก หรือที่เรียกกันว่า ลายน้ำไหล มีแหล่งทอที่มีชื่อเสียง เช่น อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน เป็นต้น
การทอผ้าไหมยกดอกลำพูน .. ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในระดับประเทศ มีที่มาจากเจ้านายฝ่ายเหนือล้านนาที่นิยมใช้ผ้ายกดอก ทอด้วยไหมเงินไหมทอง
พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ได้ทรงเผยแพร่เทคนิคนี้ และฝึกอบรมให้หญิงชาวบ้านตามหมู่บ้านต่างๆหลายแห่ง เช่น ในจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน ให้รู้จักทอ จนทำเป็นอุตสาหกรรมในหมู่บ้านหลายแห่งจนถึงทุกวันนี้
ในภาคเหนือยังมีผ้าชาวเขาจากหลายเผ่า เช่น กะเหรี่ยง (ปกะญอ, ปกากญอ, ยาง) แม้ว (ม้ง), เย้า (เมี่ยน), อีก้อ (อาข่า), ลีซอ (ลีซู), ปะหล่อง เป็นต้น ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งเทคนิคการทอ วัสดุ และลวดลาย
ผ้าในภาคกลาง
ผ้าทอพื้นเมืองในภาคกลาง .. เป็นงานหัตถกรรมจากกลุ่มชาติพันธุ์ไท ซึ่งอพยพมาตั้งถิ่นฐานในเขตพื้นที่ภาคกลางของประเทศ มาตั้งแต่สมัยช่วงต้นรัตนโกสินทร์ อันประกอบไปด้วย
กลุ่มไทครั่ง .. ในจังหวัดสุพรรณบุรี อุทัยธานี พิจิตร
กลุ่มไทยวน .. ในจังหวัดสระบุรี ราชบุรี ทอผ้าซิ่น มัดก่าน ตีนจก และยกมุก
กลุ่มไททรงดำ .. ในเขตจังหวัดราชบุรี เพชรบุรี สุพรรณบุรี
กลุ่มไทยพวน .. แถบลพบุรี นิยมทอผ้ามัดหมี่
กลุ่มชาวลาวเวียง .. แถบอุทัยธานีและชัยนาท นิยมทอผ้าจกไหม
กลุ่มไทยดำ .. แถบเพชรบุรี นิยมทอผ้าพื้น หรือผ้าซิ่นลายแตงโม
.. ชาวไทยวน และไทลาวเหล่านี้ยังคงรักษาวัฒนธรรมและเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นไว้ได้ โดยเฉพาะวัฒนธรรมการทอผ้าของผู้หญิง ที่ใช้เทคนิคจกในการทำตีนจก และการขิด เพื่อตกแต่งเป็นลวดลายบนผืนผ้าที่ใช้นุ่งในเทศกาลต่างๆ หรือใช้ทำเครื่องนอน เช่น หมอน ผ้าห่ม ผ้าเช็ดหน้า ผ้าขาวม้า ฯ .. และแม้ว่าสภาพเศรษฐกิจ และสังคมปัจจุบันได้เปลี่ยนไปมาก แต่คนไทยเหล่านี้ก็ยังคงยึดอาชีพทอผ้าเป็นอาชีพรอง ต่อจากการเป็นเกษตรกร ซึ่งเป็นอาชีพหลัก
ผ้าในภาคอีสาน
ในภาคอีสาน .. มีชุมชนของกลุ่มคนไทยเชื้อสายลาวเป็นชุมชนใหญ่ กระจายกันอยู่ตามจังหวัดต่างๆ และมีวัฒนธรรมการทอผ้าอันเป็นประเพณีของผู้หญิงที่สืบทอดกันมาช้านานเกือบทุกชุมชน โดยแบ่งลักษณะผ้าคร่าวๆออกได้เป็น 2 แหล่ง คือ ผ้าอีสานเหนือ และผ้าอีสานใต้
ผ้าอีสานเหนือ ... ผ้าที่มีชื่อสียง เช่น ผ้ามัดหมี่ ในจังหวัดขอนแก่น ..
ผ้ากาบบัว ในจังหวัดอุบลราชธานี .. ผ้าแพรวา ในจังหวัดกาฬสิน
ผ้าเหล่านี้ ล้วนเป็นภูมิปัญญาการทอผ้าที่สืบทอดมาจากชาวลาวสองฟากฝั่งแม่น้ำโขง
ผ้าแพรวา .. ดั้งเดิมใช้เป็นผ้าเบี่ยงของสตรีชางภูไท จังหวัดกาฬสินธ์ แต่ปัจจุบันได้ส่งเสริมให้ทอผ้าแพรวาได้หลากหลาย และนำไปใช้ในการตัดเสื้อ และสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ
ผ้าอีสานใต้ .. ภูมิภาคนี้เป็นพื้นที่ที่มีชาวไทยเชื้อสายเขมรอาศัยอยู่ ลักษณะผ้าทอที่พบในบริเวณนี้ จึงมีอิทธิพลของผ้าแบบเขมร .. ผ้าที่มีชื่อเสียง คือ ผ้ามัดหมี่ หรือที่เรียกกันว่า ผ้าโฮล ทอกันมากในเขตจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์
ผ้าในเขตภาคใต้
ภาคใต้ .. มีแหล่งทอผ้าที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง โดยเฉพาะแหล่งทอผ้ายกไหมเงิน ไหมทอง แบบหลายตะกอ เช่น ผ้ายกเมืองนคร ผ้าเกาะยอ และผ้าพุมเรียง
ลักษณะลวดลายมีทั้งเป็นลายดอกเล็กๆ พรมไปทั้งผืน หรือยกลายเน้นเชิง และเชื่อว่า ผ้ายกของภาคใต้นั้นน่าจะได้รับอิทธิพลจากแถบมลายู
ปัจจุบัน ยังคงเหลือผ้ายกของชาวพุมเรียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวมุสลิมเพียงแห่งเดียวในภาคใต้ที่ยังทอผ้าไหม
.. บรรดาเจ้าเมืองภาคใต้นิยมให้ทอขึ้นเพื่อเป็นบรรณาการแก่ สยาม มาตั้งแต่สมัยปลายอยุธยา โดยเฉพาะที่เมืองนครศรีธรรมราช สงขลา และที่ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ล้วนเป็นแหล่งทอผ้าที่มีชื่อเสียงมากในอดีต
นอกจากนี้ยังมีการทำผ้าด้วยเทคนิคบาติก หรือการเขียนเทียน ซึ่งคงได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งการทำผ้าบาติกนี้ในปัจจุบันได้กลายเป็นสินค้าที่ระลึกของภาคใต้ และได้รับความนิยมมากทั่วไป
ขอบคุณเนื้อความบางส่วนจาก : Wikipedia และเพจ ผ้าและสิ่งทอไท
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา