Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
InfoStory
•
ติดตาม
14 ก.ค. 2021 เวลา 07:55 • ธุรกิจ
รู้จัก "IKEA" แบรนด์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติสวีเดน กับคอนเซปต์ "เรียบง่าย อบอุ่น ยั่งยืน"
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พวกเราได้มีโอกาสไปรับเฟอร์นิเจอร์ที่อิเกียสาขาบางนา
ก็แอบมีความคิดอยู่ว่า น่าจะเดินไปช็อปได้อีกสักนิด
แต่ก็ เอ้อ ! เกือบลืมไปว่า ที่พวกเราสั่งออนไลน์และเลือกตัวเลือกไปรับที่สาขา เพราะไม่อยากเดินช็อปเพิ่มโอกาสเพื่อติดเชื้อนี่หว่า…
จนต่อมาอิเกีย ก็ได้ประกาศปิดให้บริการหน้าร้านชั่วคราวไม่มีกำหนด เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา…
เกริ่นมาแบบนี้ อะ ใช่แล้วละ !
พวกเรา InfoStory จะขอพาเพื่อน ๆ ท่องไปกับซีรี่ส์บทความใหม่ของพวกเรา ที่มีชื่อว่า “BrandStory”
ซีรี่ส์ที่จะหยิบเรื่องราวของแบรนด์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ของใช้ เทคโนโลยี หรือ แบรดน์เนมที่น่าสนใจ นำมาเล่าเรื่องผ่านภาพอินโฟกราฟิกและสาระสบายสมองผ่านบทความสั้น ๆ
โดยวันนี้พวกเรา ขอหยิบเรื่องราวความรู้รอบตัวเกี่ยวกับแบรนด์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติสวีเดนอย่าง “IKEA” มานำเสนอเป็นความรู้สบายสมอง กันในตอนแรก
“การกำเนิดของแบรนด์ IKEA ของคุณ Ingvar Kamprad เด็กน้อยขายไม้ขีดไฟ”
ชีวิตวัยเด็กของคุณ Kamprad อาจะไม่ได้มีจุดเริ่มที่ดี กล่าวคือ เขาเกิดในครอบครัวชาวนา
และคุณ Kamprad ต้องช่วยครอบครัวหารายให้กับตัวเองตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ด้วยการขายไม้ขีดไฟ นี้จึงนับได่ว่าเป็นการเริ่มจาก “ศูนย์”
หลังจากนั้น เขาก็เริ่มที่จะเรียนรู้ว่า การขายสินค้า มันเป็นอย่างไร…
ต่อมา เขาจึงได้เริ่มนำของอย่างอื่นมาขายเพิ่ม เช่น ต้นคริสต์มาส เมล็ดพืช ปากกา ดินสอ
ด้วยเงินเก็บของเขา ที่ได้มาจากการสะสมเงินเก็บจากที่คุณพ่อมอบให้รายเดือน ประกอบกับรายได้จากธุรกิจขายของจิปาถะเล็ก ๆ
จึงทำให้ฝันอันใหญ่โตของเขาได้ถือกำเนิดขึ้น ในวัย 17 ปี นั่นคือ การเปิดบริษัทเฟอร์นิเจอร์ “IKEA”
IKEA อ่านว่า "อิเกีย" ตั้งมาจากเรื่องราวของตัวเขานี่เองละ
I = Ingvar ชื่อแรกของผู้ก่อตั้ง
K = Kamprad นามสกุลของผู้ก่อตั้ง
E = Elmtaryd ชื่อฟาร์มของผู้ก่อตั้ง
A = Agunnaryd ชื่อหมู่บ้านที่ผู้ก่อตั้งกำเนิด
จริง ๆ แล้วต้องบอกว่า จุดเริ่มต้นของ “IKEA” เริ่มมาจากการขายโต๊ะที่ใช้ภายในครัวเป็นอันดับแรก ๆ
ก่อนที่จะค่อย ๆ ขยายออกมาขายเฟอร์นิเจอร์ในครัวเรือน
ถ้าถามว่าคุณ Kamprad เด็กวัยเพียงแค่ไม่ถึง 20 ปี ทำเฟอร์นิเจอร์เองเลยเหรอ ?
ก็คงต้องตอบว่า ไม่ใช่จ้า !
คุณ Kamprad ทำการออกแบบ รวมถึงการกำหนดวัสดุต่าง ๆ แล้วจึงนำไปให้โรงงานรับผลิตเฟอร์นิเจอร์ในระแวกหมู่บ้านเป็นคนผลิต
โดยคอนเซปต์หลัก ๆ ของเขาก็คือ เฟอร์นิเจอร์ของ IKEA จะต้อง ราคาถูก คุณภาพสูง ขนย้ายและประกอบสะดวก มีความเรียบง่ายและดูอบอุ่น
วิธีการขายงาน IKEA ของคุณ Kamprad เนี่ย ก็ง่ายมากเลย
โดยเริ่มแรก เขาได้ปริ้นแคตตาล็อก และนำมาแจกจ่ายในงานแฟร์จัดแสดงสินค้าต่าง ๆ
ซึ่งลูกค้าที่สนใจภาพจากแคตตาล็อก ก็สามารถมาดูที่โชว์รูมแห่งแรกของ IKEA ได้ที่เมือง Älmhult นั่นเอง
First IKEA ที่เมือง Älmhult
จนมาถึงปัจจุบัน จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของ IKEA ที่เราจะต้องมีติดไม้ติดมือกลับบ้านมาเสมอ นั่นก็คือ หนังสือแคตตาล็อก นั่นเองจ้าา
IKEA ก็เริ่มเป็นที่ยอดนิยมขึ้นมาเรื่อย ๆ ไม่ใช่แค่เฉพาะในสวีเดนนะ
แต่ในปี ค.ศ. 1963 IKEA ได้เริ่มขยายสาขาออกไปยังต่างประเทศแล้ว
รวมไปถึงปี ค.ศ. 2000 เนี่ย IKEA ยังได้เริ่มจับพัฒนา E-Shopping platform
(ซึ่งเรียกได้ว่า มาคู่ Amazon ในตอนนั้นเลย เพียงแต่ IKEA ไม่ได้โด่งดังเท่า...)
จนมาถึงปี 2013 ที่ IKEA กำลังสุกงอมอย่างเต็มที่
คุณ Kamprad เอง ก็ติดอันดับหนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกไปเรียบร้อย
นั่นจึงทำให้เขาเริ่มคิดที่จะหาผู้สืบทอดต่อ เขาจึงได้ทำการปลดเกษียณตัวเอง และให้คุณ Per Ludvigsson เข้ามารับตำแหน่งหัวเรือต่อไป
ก่อนที่บั้นปลายชีวิตของคุณ Kamprad ก็ได้จบลงอย่างสงบสุขในเมืองบ้านเกิดของเขา และยังเป็นเมืองต้นกำเนิดของ IKEA “เมือง Älmhult”
แคตตาล็อกเล่มแรกของ IKEA
คุณ Ingvar Kamprad
เคล็ดลับความสำเร็จของการเติบโต “IKEA” ของคุณ Ingvar Kamprad ก็คือ
1. หน้าร้านค้า หรือ โชว์รูม ต้องมีขนาดใหญ่
หนึ่งเคล็ดไม่ลับของคุณ Kamprad คือ การทำหน้าร้านให้มีขนาดใหญ่ ที่จะจุเฟอร์นิเจอร์ได้ครบทุกชนิด ที่มีในแคตตาล็อก
ลูกค้าทุกคนจะต้องสามารถหาสินค้าที่พวกเขาต้องการได้ใน IKEA
IKEA หนึ่งสาขาจะต้องมีขนาดที่ใหญ่แบบนี้ (ตัวอย่างจาก IKEA ที่ California, USA)
ขนาดก็ต้องกว้างจริง ๆ ขนาดที่ต้องมี Stock ของทกุชิ้นให้ครบ (แต่มีค่าบริการหยิบสินค้านะ) (ภาพตาก IKEA บางใหญ่ ประเทศไทย)
2. นอกจากจะขยายแค่ขนาดร้านค้าแล้ว ก็ต้องขยายขนาดฐานลูกค้า
คุณ Kamprad ไม่ได้มองเป้าหมายเพียงแค่ จะเป็นห้างเฟอร์นิเจอร์ที่ใหญ่ที่สุดในสวีเดน หรือ ในสแกนดิเนเวีย
แต่เขามองว่า IKEA จะต้องเป็นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีสินค้าที่หลากหลายมากที่สุด
เขาจึงได้ทำการขยายสาขาออกนอกแถบประเทศยุโรป ออกไปยังฝั่งอเมริกา และ ฝั่งเอเชีย
3. มองอนาตต มองความยั่งยืน
คุณ Kamprad อ่านเกมออกว่า ในอนาคตเนี่ย
ยกตัวอย่างเช่น วัสดุที่ IKEA นิยมใช้คือ “ไม้”
แน่นอนว่า ในอนาคตแบรนด์ของเขา อาจโดนกลุ่มอนุรักษ์โลกมาต่อต้าน การตัดไม้ก็เป็นได้....
เขาจึงใช้การมองการณ์ไกล และ ได้เริ่มให้บริษัท IKEA ทำแคมเปนรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม ก่อนเลย (ตอนนั้นช่วงปี ค.ศ. 1990 ซึ่งยังไม่มีกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แบบในปัจจุบันนี้)
นั่นจึงเป็นที่มาของคอนเซปต์ ที่เน้นความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เขาก็รณรงค์จริง ๆ ขนาดที่ว่าชื่อของรายงานผลประกอบการยังใช้ชื่อ Sustainability report (ซึ่งส่วนแรกสุด เป็นการพูดถึงรายงานความยั่งยืนและนโยบายก่อนด้วย)
4. อย่าไปคิดว่า เราประสบสำเร็จแล้ว ไม่งั้นเเราจะหยุดพัฒนาตัวเอง
ความคิดนี้ เป็นความคิดที่ทำให้ IKEA เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
คือ คุณ Kamprad เคยกล่าวไว้ว่า เขาจะต้องมีสติทุกครั้งเวลาใช้เงิน หรือ ลงทุน
ถึงแม้ว่าธุรกิจจะเป็นการทดลองความสำเร็จอย่างหนึ่ง
แต่ เงินและเวลาทุกนาที เขาจะต้องใช้ไปให้คุ้มค่าที่สุด
และเมื่อเขาตระหนักได้ ก็จะทำให้เขามองกลับมาที่ตัวเองอยู่เสมอว่า
เราไม่มีทางประสบความสำเร็จ ไปได้ตลอดหรอก หากเราหยุดพัฒนา และ ทำตัวสุรุ่ยสุร่าย นั่นจึงเป็นที่มาของการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากความสำเร็จที่เกิดมาจากตัวผู้บริหารแล้ว
เรามาดูเรื่องราวกลยุทธ์ความสำเร็จของตัวแบรนด์ “IKEA” กันบ้างดีกว่า
1. IKEA Effect
เพื่อน ๆ คุ้นกับทฤษฎีนี้กันบ้างไหมเอ่ย ?
เชื่อว่าหลาย ๆ คน คงน่าจะเคยเนอะ
“IKEA Effect” เป็นงานวิจัยของ คุณ Michael I. Norton
จาก Harvard Business School ในปี 2011
ใจความของเขาคือ
การที่เราจะทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มได้ เราจะต้องลองโฟกัสไปที่ความภาคภูมิใจในตัวของลูกค้า ดูสิ !
หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นชัดเจน ก็คือ เฟอร์นิเจอร์ของแบรนด์ IKEA ที่จะไม่ได้มีการประกอบสำเร็จรูปมาให้ เพราะลูกค้าจะต้องเป็นคนมาทำการรับขนส่ง และ ประกอบเองที่บ้าน
และถึงแม้ว่าจะสามารถเลือกได้ให้ทางแบรนด์ประกอบสำเร็จมาให้
แต่ดูเหมือนว่า ลูกค้าของ IKEA ต่างต้องการที่จะนำมาประกอบเองที่บ้านมากกว่า
เพราะสิ่งที่พวกเขาได้กลับไปเพิ่มอีก ก็คือ ความภาคภูมิใจ ว่าชั้นนะ.. ได้มีส่วนร่วมกับการประกอบเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนี้นะ จนถึงการที่สามารถบอกเพื่อนบ้านที่มาแวะเยี่ยมชม ให้รับรู้ภึงความภาคภูมิใจของเราได้
พอเป็นแบบนี้ มูลค่าของเฟอร์นิเจอร์ IKEA ที่แสนเรียบง่ายก็จะเพิ่มขึ้นในทันทีจ้า !
IKEA Effect
2. Sensory Marketing และ ทางเดินเขาวงกต ที่มีทางเข้า-ออก ทางเดียว
เพื่อน ๆ คงต้องเคยรู้สึกกันว่า การมาเดินห้าง IKEA มันจะใช้เวลานาน
เพราะมันเข้า-ออกทางเดียว
แม้ว่าเราจะรู้ว่า เราต้องการอะไร เข้าไปปั้บ ตรงไปหยิบของปุ้บ
แต่กว่าจะออกได้ ก็ต้องเดินเร็วเพื่อหาทางมุดออกไป
แต่กว่าจะออกได้ ก็เจอสิ่งล้อตาล่อใจเข้าไปเยอะมากมาย ไหนจะของจิปาถะที่วางในตะกร้าตามเสาต่าง ๆ
เฟอร์นิเจอร์ ที่ดูขัดหูขัดตา วางอยู่ในที่ ที่ขัดหูขัดตา แต่เพราะอะไรไม่รู้ จังหวะมันช่างดีเหลือเกิน… จู่ ๆ ก็อยากได้ขึ้นมา
ที่สำคัญคือ IKEA ไม่มีพี่ ๆ คนขาย มาคอยวิ่งตามมาทำให้เรารู้สึกเกรงใจ
สิ่งเหล่านี้ ก็ไปตรงกับหนึ่งในกลยุทธ์การตลาดอย่าง “Sensory Marketing” ที่เน้นสิ่งกระตุ้นมากระทบประสาทสัมผัสของผู้บริโภค ไปจนถึงกระบวนการคิด ตีความ แปลความหมายของผู้บริโภค นั่นเองจ้า
คือ ถึงแม้ว่าเราจะรีบเดิน หรือ บางจุดเริ่มรู้สึกเบื่อ ๆ อึน ๆ
แต่ IKEA จะพยายามจัดเรียงสินค้า หรือ บางที นำของแปลก ๆ เข้ามาแทรกทำให้เรารู้สึก ตื่นตัว อยากรู้อยากเห็นได้อยู่ตลอดเวลานั่นเอง
ทางเดินเขาวงกต ที่มีทางเข้า-ออก ทางเดียว
3. “Peak-End Rule” กับไอศกรีมและฮอตดอก
Peak-End Rule ก็เป็นทฤษฎีที่ว่าด้วย ความทรงจำที่ดี หรือ ความพึงพอใจของมนุษย์ จะจดจำแค่ 2 ช่วงเหตุการณ์
หากเปรียบเป็นหนัง ก็คือ จะมี ช่วงจุดไคล์แมกซ์ และ ช่วงจุดจบ
ถ้าจุดไคล์แมกซ์ สร้างความไม่ประทับใจมากเท่าไร แต่ จุดจบของหนังอาจสร้างจุดซึ้ง หรือ ความประทับใจ
ก็จะทำให้ผู้คน ตัดสินไปในหัวว่า เอ้อ ! หนังเรื่องนี้ ดีนะ จบดี จบสวย !
เช่นเดียวกันกับ IKEA
IKEA ทราบดีว่า ระหว่างการเดินทางในห้างเขาวงกต อาจทำให้จุดไคล์แมกซ์ของลูกค้า เนี่ย… ไม่ค่อยสวยงามไปบ้าง
แต่ ณ ตอนจบ ทุกอย่างจะต้องดี พวกเขาจะต้องได้รับความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ
อย่างเช่น IKEA แทบจะทุกสาขา จะต้องมีเครื่องทำไอศกรีมโยเกิร์ต ในราคาที่น่ารัก และ ร้านขายฮอตดอก ไว้หลังเคาน์เตอร์ชำระเงินให้ลูกค้าบริการตัวเอง
ภาพจำสุดท้ายก่อนเดินออกจากห้างก็คือ ใบหน้าที่ยิ้มแย้มของพนักงานแคชเชียร์
นี่ละ คือ “Peak-End Rule” การสร้างภาพจำประทับใจ ในแบบฉบับของ IKEA
เห็นเก่ง ๆ แบบนี้
แล้ว IKEA เคยก้าวผิดพลาดไหมนะ ?
ขอยกตัวอย่างมาสักเรื่องเดียวละกัน เดี๋ยวเพื่อน ๆ เริ่มง่วงกันแล้ว
IKEA เคยมีก้าวที่ผิดพลาด ในประเทศญี่ปุ่น
คือในปี 1974 IKEA บุกตลาดญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก
เพียงแค่ 12 ปี IKEA ก็ต้องถอยออกจากประเทศญี่ปุ่นไปจ้า…
เพราะว่า
- วัฒนธรรมการใช้ชีวิตอยู่อาศัยของคนญี่ปุ่น แตกต่างจากชาติอื่น ๆ
ซึ่ง IKEA ไม่ได้ตีโจทย์ให้แตกพอ
- ชื่อสินค้าของ IKEA ที่เป็นภาษาสวีดิช และ สินค้าทุกชิ้นจะมีปรัชญาของชาวสวีเดน
แน่นอนว่า จุดนี้ทำให้คนญี่ปุ่นในสมัยนั้น เกิดคำถามว่า… “อ้าว แล้วทำไมชั้นต้องมาเรียนรู้หรือยอมรับปรัชญาของเธอ?”
- ประเทศญีปุ่น ขึ้นชื่อเรื่อง ของคุณภาพสูง ที่มีราคาถูก
แน่นอนว่า คอนเซปต์เดียวกันนี้ ก็เหมือนกับแบรนด์ IKEA
ซึ่งแน่นอนว่า ในสมัยนั้น คนญี่ปุ่นก็ได้นำแบรนด์สัญชาติสวีดิช ทั้งราคาและคุณภาพที่บอกว่า Premium ไปเทียบกับแบรนด์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติญี่ปุ่น อย่าง Nitori
แน่นอนว่า IKEA พ่ายแพ้ราบคาบ…
อย่างไรก็ดี IKEA รู้จักการเรียนรู้และปรับตัว
พวกเขาแพ้แค่ครั้งเดียวเท่านั้น ก่อนที่จะปรับกลยุทธ์และกลับมาบุกตลาดญี่ปุ่นใหม่อีกครั้ง ในช่วงปี 2006
มีเป็นบทความแบบนี้เลยด้วย (ตามอ่านได้ที่ https://businessfocus.io/article/76858/)
จริง ๆ แล้ว เรื่องราวความสำเร็จหรือแม้กระทั่งจุดที่ผิดพลาดของแบรนด์ IKEA ยังมีให้เพื่อน ๆ อ่านกันได้อีกเยอะเลย
แต่ยาวกว่านี้ ก็เกรงว่าเพื่อน ๆ จะหลับกันไปเสียก่อน
ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้ เราก็คงจะพอเห็นภาพคร่าว ๆ เนอะ
ว่าแบรนด์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติสวีเดน กับคอนเซปต์ "เรียบง่าย อบอุ่น ยั่งยืน" มีเรื่องราวที่น่าสนใจอย่างไร
ถ้าหยั่งงั้น วันนี้พวกเรา InfoStory ขอจบเรื่องราวสาระเบาสมอง ไว้ที่ตรงนี้ 🙂
แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม
https://www.britannica.com/topic/IKEA
https://en.wikipedia.org/wiki/IKEA
https://www.ikea.com/
https://www.longtunman.com
https://shortrecap.co/investment/
https://www.estopolis.com/article/lifestyle/travel/
https://positioningmag.com/11805
https://www.behance.net/.../6974.../IKEA-History-Infographic
https://about.ikea.com/.../from-child-entrepreneur-to
2 บันทึก
3
2
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย