29 ก.ค. 2021 เวลา 13:00 • ธุรกิจ
ตั้งราคาขายเท่าไร ถึงมีกำไร
ต้องขายเท่าไรแล้วจะกำไร มักเป็นคำถามแรกๆ ในหัวผู้ประกอบการ
ตั้งราคาขายเท่าไรถึงมีกำไร
ถ้าอยากรู้ว่าจะทำกำไรได้อย่างไร สิ่งแรกที่ผู้ประกอบการต้องรู้ก็คือ เราต้องคำนวณจุดคุ้มทุนให้เป็น
เพราะหัวใจของการสร้างกำไร ก็คือ การขายของให้ได้มากกว่าจุดคุ้มทุนนั่นเอง
ขายให้ได้มากกว่าจุดคุ้มทุน
จุดคุ้มทุนคืออะไร?
จุดคุ้มทุนตามความหมายแล้ว มันคือ จุดที่รายได้เท่ากับค่าใช้จ่ายพอดี คือ ไม่มีกำไรและไม่มีขาดทุน
ดูจากสมการนี้ จะเข้าใจจุดคุ้มทุนได้ดียิ่งขึ้น
รายได้ = ค่าใช้จ่าย
จุดคุ้มทุนคืออะไร?
รายได้เกิดจากราคาขายสินค้า คูณกับ ปริมาณสินค้าที่ขายไป ส่วนค่าใช้จ่ายก็แบ่งเป็นหลายประเภท เดี๋ยวเราจะพูดกันแบบละเอียดถัดจากนี้
ถ้าสมมติเรามีรายได้มากกว่าค่าใช้จ่ายเมื่อไร เมื่อนั้นแหละคือ เราจะมีกำไรทันที
แต่ก่อนจะไปมีกำไร ลองมาดูกันสักนิดว่าเราเข้าใจจุดคุ้มทุนกันดีหรือยัง
จุดคุ้มทุนคำนวณอย่างไร?
1. แบ่งประเภทค่าใช้จ่ายคงที่ และผันแปร
ค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจ มีวิธีการจัดประเภทได้หลากหลายรูปแบบ แต่หากจะคำนวณจุดคุ้มทุนล่ะก็ อย่างแรกเลย ต้องแบ่งประเภทค่าใช้จ่ายคงที่และค่าใช้จ่ายผันแปรออกจากกันให้ได้ก่อน
ค่าใช้จ่ายคงที่และผันแปร มันคืออะไร? ลองมาดูกันตรงนี้ค่ะ
- ค่าใช้จ่ายคงที่ คือ ค่าใช้จ่ายที่มีจำนวนเท่ากันตลอดในแต่ละช่วงเวลา ไม่ว่าจะขายได้จำนวนมากน้อยขนาดไหนก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น เงินเดือนพนักงานประจำ ค่าเช่าโรงงาน ค่าเช่ารถ
1
- ค่าใช้จ่ายผันแปร คือ ค่าใช้จ่ายที่เปลี่ยนแปลงเป็นสัดส่วนเดียวกับจำนวนการขาย ถ้าขายได้จำนวนมากก็จะมีค่าใช้จ่ายตัวนี้มาก ในขณะที่มีมูลค่าต่อหน่วยคงที่ ยกตัวอย่างเช่น ค่าวัตถุดิบสินค้า ค่าขนส่งสินค้า ค่าคอมมิชชั่นพนักงานขาย
ถ้าสมมติเราเอาไปแทนค่าในสมการนี้จะพบว่า รายได้ จะเท่ากับค่าใช้จ่ายสองส่วนรวมกันนั่นเอง
รายได้ = ค่าใช้จ่าย
รายได้ = ค่าใช้จ่ายคงที่ + ค่าใช้จ่ายผันแปร
หากำไรส่วนเกิน
2. หากำไรส่วนเกินของสินค้า
ถ้าหากอยากรู้จุดคุ้มทุน ใน Step ถัดไปให้เรา ต้องหากำไรส่วนเกินต่อหน่วยของสินค้าให้ได้ก่อน
ชื่ออาจจะฟังดูยาก แต่จริงๆ แล้วกำไรส่วนเกินต่อหน่วยตัวนี้ก็คือ ราคาขายต่อหน่วย - ค่าใช้จ่ายผันแปรต่อหน่วย
ถ้าลองสังเกตจากสมการนี้ จะพบว่า ถ้าเราสลับตำแหน่งค่าใช้จ่ายผันแปรไปไว้ด้านเดียวกับรายได้ และแปลงเป็นหน่วยราคา คูณกับปริมาณ จะพบว่า กำไรส่วนเกินต่อหน่วย * ปริมาณการขาย แล้วจะเท่ากับค่าใช้จ่ายคงที่ ณ จุดคุ้มทุน
รายได้ - ค่าใช้จ่ายผันแปร = ค่าใช้จ่ายคงที่
(ราคาขายต่อหน่วย – ค่าใช้จ่ายผันแปรต่อหน่วย) * ปริมาณขาย = ค่าใช้จ่ายคงที่
กำไรส่วนเกินต่อหน่วย * ปริมาณขาย = ค่าใช้จ่ายคงที่
หาปริมาณการขาย ณ จุดคุ้มทุน
3. หาปริมาณการขาย ณ จุดคุ้มทุน
เมื่อมีองค์ประกอบครบ ทั้งค่าใช้จ่ายคงที่ กำไรส่วนเกินต่อหน่วย ลองแทนค่าในสมการ ก็จะหาปริมาณขาย ณ จุดคุ้มทุนได้ไม่อยากเลย
ปริมาณขาย = ค่าใช้จ่ายคงที่/ กำไรส่วนเกินต่อหน่วย
ณ ปริมาณการขายนี้ เป็นปริมาณการขายขั้นต่ำที่ธุรกิจควรจะขายได้เพื่อให้คุ้มทุน และหากขายได้มากกว่านี้แล้ว ก็จะถือเป็นกำไรของกิจการนั่นเอง
ลองมาดูตัวอย่างง่ายๆ กันสักนิด
ตัวอย่าง
บริษัทน้ำอร่อย ขายน้ำดื่มบรรจุขวด โดยมีราคาขายต่อขวดเท่ากับ 10 บาท และค่าใช้จ่ายผันแปรต่อหน่วย เช่น ค่าน้ำ ค่าบรรจุภัณฑ์ และค่าแรงพนักงานผลิต รวมเป็น 3 บาทต่อขวด นอกนั้นเป็นค่าใช้จ่ายคงที่ เช่น ค่าเช่าโรงงาน ค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร ค่าเงินเดือนพนักงานประจำ รวมเป็น 30,000 บาท คำถามคือ บริษัทนี้ต้องขายน้ำได้กี่ขวดจึงคุ้มทุน
เรามาลองแทนค่าจากสมการจุดคุ้มทุนกันดู
ปริมาณขาย = ค่าใช้จ่ายคงที่/ กำไรส่วนเกินต่อหน่วย
= 30,000 / (10 – 3)
= 4,286
เมื่อแทนค่าลงไปในสมการ จะพบว่า เราต้องขายน้ำให้ได้มากถึง 4,286 ขวดจึงคุ้มทุน เพราะฉะนั้นเป้าหมายยอดขายต่อเดือนต้องตั้งเป้าให้ได้มากกว่านี้จึงจะมีกำไร
ต่อมาจากปริมาณการขายนี้ เราก็คำนวณหาจำนวนเงินยอดขายรวม ณ จุดคุ้มทุนได้ง่ายๆ โดยคูณด้วยราคาขายต่อหน่วย
ยอดขายรวม = ปริมาณการขาย * ราคาขายต่อหน่วย
= 4,286 * 10
= 42,860
ตั้งเป้ากำไรไว้เท่านี้ จะต้องขายได้เท่าไร
4. ตั้งเป้ากำไรไว้เท่านี้ จะต้องขายได้เท่าไร
ถ้าลองประยุกต์ แนวคิดเรื่องจุดคุ้มทุนต่ออีกนิด เพื่อคำนวณว่าต้องขายให้ได้เท่าใดจึงมีกำไรเท่านี้ ก็ทำไม่ยาก เพียงแค่บวกกำไรที่ต้องการเพิ่มเข้ากับค่าใช้จ่ายคงที่ แล้วลองคำนวณหาปริมาณการขาย และยอดขายตามกำไรเป้าหมายได้เลย
จากตัวอย่างเดิม ถ้าสมมติเราอยากได้กำไรทุกเดือน เดือนละ 10,000 บาท ลองแทนค่าในสมการจะได้ตามนี้
ปริมาณขาย = (ค่าใช้จ่ายคงที่+ กำไรที่ต้องการ)/ กำไรส่วนเกินต่อหน่วย
= (30,000 + 10,000) / (10 – 3)
= 5,714 ขวด
ยอดขายรวม = ปริมาณการขาย * ราคาขายต่อหน่วย
= 5,714*10
= 57,140 บาท
ถ้าคิดเป็นปริมาณการขาย เราต้องขายให้ได้ 5,714 ขวด จึงจะมีกำไรตามเป้าหมาย และคิดเป็นยอดขายรวมเท่ากับ 57,140 บาท นั่นเองจ้า
พอคำนวณจุดคุ้มทุนเป็นแล้ว ทีนี้เราก็ยืดอกตอบตัวเองได้อย่างมั่นใจแล้วล่ะว่า เดือนนี้ต้องขายให้ได้เท่าไรจึงจะมีกำไร
ข้อดีของการรู้จุดคุ้มทุนนั้น จะทำให้เรามีเป้าหมายในการขายสินค้าและกำหนดราคาสินค้า ถ้าอยากกำไรเยอะ ยอดขายควรควรมากกว่าจุดคุ้มทุนเสมอ
ถ้าคำนวณจุดคุ้มทุนเป็น และบริหารยอดขายให้ได้ตามเป้าแล้ว เส้นทางไปถึงกำไรก็คงไม่ใช่เรื่องไกลตัวแล้วล่ะ
zerotoprofit #วิธีคำนวณจุดคุ้มทุน
โฆษณา