Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สารพันบันเทิงจีน
•
ติดตาม
16 ก.ค. 2021 เวลา 16:00 • หนังสือ
อันเนื่องมาจาก Moonlight - เพลงรักใต้แสงจันทร์ -
ถ้าพูดถึงภาพรวม เพลงรักใต้แสงจันทร์ เป็นซีรีย์แนว rom-com ดูเพลิน ๆ ถูกใจสายฟินและติ่งพระนางทั้งคู่กันไป
แต่ไม่มีอะไรให้พูดถึงในแง่บทหรือดารา
แล้วจะเขียนอะไรล่ะเนี่ย
เนื่องจากเรื่องนี้ พระเอกเป็นนักเขียน นางเอกเป็นบรรณาธิการ และมีเรื่องราวฉากหลังเป็นการทำงานในสำนักพิมพ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์มาแล้วทั้งสิ้น แต่ไม่ได้เจอเรื่องโรแมนติกอะไรอย่างในซีรีย์นะ
คงจะไม่พูดถึงเรื่องราวที่ปรากฏในซีรีย์ว่าเกินจริงหรือไม่ เพราะสังคมวัฒนธรรมการทำงานต่างกัน ธุรกิจหนังสือในจีนก็ต่างจากในไทย
แต่มีอยู่ 2 เรื่องที่อยากเขียนคือ
ประเด็นแรก นางเอกในเรื่องเพิ่งเรียนจบมา แต่ดูเหมือนว่าจะสามารถวิเคราะห์วิจารณ์และแนะนำพระเอกได้ราวกับทำงานมาแล้วสักยี่สิบปี
จำได้ว่าหลังจากเรียนจบ สำนักพิมพ์แห่งหนึ่งรับเข้าทำงานตำแหน่งรีไรท์เตอร์ มีหน้าที่ตรวจต้นฉบับงานนิยายแปลแนวโรมานซ์ (เวลานั้นยังแปลกันโดยไม่มี
ลิขสิทธิ์ )
การเป็นรีไรท์เตอร์ในเวลานั้น ทำทั้งตรวจแก้ไขคำผิด การเว้นวรรคตอน และแก้ไขสำนวนให้อ่านราบรื่น รวมทั้งตัดเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมทิ้ง เช่น การบรรยายฉากเลิฟซีนที่โจ่งครึ่มเกินไป อย่าได้เทียบกับสมัยนี้ เพราะสามสิบกว่าปีก่อน ทั้งคนทำหนังสือ (ส่วนใหญ่) และคนอ่านหน้าบาง
ถามว่าสมัยก่อนมี หนังสือบรรยายฉากบนเตียงแบบเปิดเผยไหม ตอบเลยว่ามีและเคยอ่านด้วย เพียงแต่มันไม่แพร่หลายในวงกว้าง เผอิญว่าตอนเด็ก ๆ บ้าอ่านหนังสือ เจออะไรก็อ่าน แล้วหนังสือมีน้อย ถุงกล้วยแขกยังแกะออกมาอ่านเลย แต่จำไม่ได้ว่าไปหยิบหนังสือประเภทนี้มาจากที่ไหน
เวลานั้นอายุยังน้อย นอกจากตรวจแก้ไขคำผิดแล้ว ก็ไม่ค่อยได้แก้สำนวนนักเขียนอะไรมากนัก เพราะผู้แปลส่วนใหญ่ภาษาไทยค่อนข้างดีกันอยู่แล้ว การแก้ไขส่วนใหญ่มักเป็นการตัดคำที่ไม่จำเป็นต้องมีในประโยคนั้น ๆ
การตรวจแก้ไขหนังสือนิยายแนวโรมานซ์ บรรณาธิการใหญ่ซึ่งเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ ไม่ได้เข้มงวดอะไรมากนัก นาน ๆ ทีก็สุ่มหนังสือมาอ่าน แล้วคั่นหน้าที่เราปรู๊ฟตกหล่นไปแล้วเอามาวางไว้บนโต๊ะ
บรรณาธิการสมัยก่อนพูดน้อย ไม่ค่อยตำหนิอะไรตรง ๆ ใช้วิธีบอกแบบอ้อม ๆ นุ่มนวล แค่นั้นเราก็รู้สึกผิดแล้ว
พอถึงยุคที่เราเป็นบรรณาธิการ ไม่เคยเอาวิธีนี้มาใช้เลย 555
ตอนอายุ 20 กว่า ๆ ใกล้ 30 เคยมีโอกาสตรวจแก้ต้นฉบับให้นักเขียนมีชื่อท่านหนึ่ง ครั้งนั้นบอกเลยว่าเกร็งมาก และรู้เลยว่าความรู้เรายังน้อยมาก แม้ว่าจะอ่านหนังสือมาเยอะมากกว่าเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันสองสามเท่าก็ตาม แต่ยังมีเรื่องอีกมากมายที่เรายังไม่รู้ อย่างหลังคาบ้านทรงไทย ส่วนประกอบต่าง ๆ มันมีชื่อเฉพาะ หรือลายฉลุมีชื่อลาย ซึ่งไม่เคยได้ยินมาก่อน ก็คิดว่าพิมพ์ครั้งแรกปรู๊ฟผิดหรือเปล่า ยังดีว่านักเขียนใจดี อธิบายให้ฟังว่ามันหมายถึงส่วนไหนของหลังคา
การจะเป็นบรรณาธิการได้ จึงไม่ใช่แค่แม่นยำเรื่องการใช้ภาษาไทยถูกต้องเท่านั้น แต่ยังต้องมีความรอบรู้เรื่องต่าง ๆ อย่างกว้างขวางอีกด้วย
คุณสมบัติข้อนี้ต้องอาศัยเวลาค่อย ๆ สั่งสมประสบการณ์ ลองผิดลองลองถูกกันไป ไม่มีทางลัด และยังต้องเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ กันอยู่ตลอดเวลา
มาดูในมุมของนักเขียนกันบ้าง
ส่วนตัวแล้วชอบเป็นนักเขียนมากกว่าเป็นบรรณาธิการ ช่วงที่ทำงานนิตยสาร สนุกมาก เดือนหนึ่งมี 30 วัน อย่างน้อย ๆ ต้องเขียนหนังสือไปแล้ว 15 วัน ที่เหลืออีก 15 วันคือการไปสัมภาษณ์บุคคล ค้นหาข้อมูลต่าง ๆ
เขียนเสร็จก็ส่งให้บรรณาธิการที่เก่งกว่าตรวจต้นฉบับ ถ้าเขียนอะไรผิด เดี๋ยวพี่เขาก็แก้ให้เอง เราแค่คอยจำว่าเล่มนี้ทำอะไรผิด คราวหน้าก็ไม่ทำอีก
จนกระทั่งมีสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งรับพิมพ์นิยายเรื่องแรก บรรณาธิการอายุน้อยกว่าค่อนข้างมาก แต่ก็บอกเขาว่าแก้ตามสบาย พี่ไม่อีโก้ เพราะนึกถึงตอนที่เราอายุยังน้อย หากนักเขียนไม่ให้โอกาสเราทำงาน ก็คงไม่ได้เติบโตมีประสบการณ์เหมือนอย่างทุกวันนี้
ปรากฏว่าในนิยายเขียนถึงทฤษฏี Six degrees (of separation) ซึ่งคงจะใหม่ไปหน่อยในเวลานั้น (ประมาณ 15 ปีที่แล้ว) เนื่องจากมันเป็นบทสนทนาของตัวละคร จึงพูดทับศัพท์สั้น ๆ ว่า Six degrees บรรณาธิการก็หวังดีแก้เป็น 6 ระดับ มาเห็นตอนพิมพ์เป็นเล่มแล้ว หัวเราะก๊ากเลย คือมันไม่จำเป็นต้องแปล แต่ถ้าจะแปลจริง ๆ น่าจะแปลว่า 6 ช่วงคน มากกว่า
อย่างไรก็ตาม ในฐานะนักเขียนก็พลาดที่ไม่ตรวจสอบให้ดีว่าบรรณาธิการแก้อะไรมา
เรื่องราวระหว่างนักเขียนและบรรณาธิการนั้น ยังทั้งเรื่องฮา และฮาไม่ออก อีกเยอะ ไว้มีโอกาสจะค่อย ๆ เขียนเล่าไปเรื่อย ๆ
ประเด็นที่สอง คือ ในเรื่องมีนักเขียนที่เคยเขียนนิยายดัง แล้วปรากฏว่าเรื่องต่อมาผลตอบรับไม่ดีเท่าเรื่องก่อน ประมาณฝีมือตก
จริง ๆ แล้ว เป็นเรื่องปกติของนักเขียนเลย ในจำนวนงานเขียนนับสิบ ๆ เล่ม มันไม่มีทางสนุกเท่ากันทุกเรื่อง
อย่าว่าแต่คนเขียนเลย คนอ่านเอง ก็เติบโตขึ้นด้วยเช่นกัน เมื่ออายุมากขึ้น ผ่านประสบการณ์ในชีวิตมาระยะหนึ่ง จากที่เคยชอบนิยายพาฝัน วิ่งเล่นในทุ่งลาเวนเดอร์ อาจไม่อ่านอีกเลยก็ได้
เหมือนกับการดูซีรีย์ เมื่อก่อนไม่ดูซีรีย์สายอาร์ต สายดาร์ก เด็ดขาด เพราะชอบบันเทิง ซีรีย์จบไม่สมหวัง อย่าหวังจะได้ยอดวิวจากเรา
พออายุมากขึ้น ไม่สนว่าซีรีย์หรือหนังสายไหน สายอาร์ต สายดาร์ก เพื่อชีวิต ดูหมดถ้ามันสนุก พระเอก นางเอก ตายตอนจบก็ไม่เป็นไร
นั่นเพราะอยู่มานานจนเข้าใจแล้วว่า ชีวิตมันก็เป็นแบบนี้
สมหวัง ผิดหวัง เป็นเรื่องปกติ และมันจะเกิดขึ้นเสมอในชีวิตเรา
ซีรีส์จีน
1 บันทึก
2
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย