27 ก.ค. 2021 เวลา 10:00 • ประวัติศาสตร์
คณะราษฎร ตอนที่ 4 : ผลงานชิ้นโบว์แดงของคณะราษฎร และอนุสาวรีย์พานรัฐธรรมนูญทั่วประเทศ
เอาจริง ๆ ถ้าถามว่ายุคที่เรียกว่ายุคคณะราษฎรมีกี่ปีกันแน่ ก็ตอบยากเหมือนกัน เพราะสำหรับบางคนก็นับจากช่วงที่พวกเขาทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้ประเทศมีรัฐธรรมนูญใช้ เมื่อปี พ.ศ. 2475 ไปจนถึงปีสุดท้ายที่ จอมพลป. พิบูลสงคราม ถูกลูกน้อง ก็คือ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารในปี พ.ศ. 2500 แล้วก็ไม่มีใครในกลุ่มคณะราษฎรกลับมามีอำนาจได้อีกเลย ถ้านับตามนี้ก็ราว ๆ 25 ปี
1
แต่สำหรับบางคนรู้สึกว่ามันจบไปนานกว่านั้นแล้ว ตอนที่พลโทผิน ชุณหะวัณ นำกำลังยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ในปี พ.ศ. 2490 เพราะเป็นครั้งแรกที่ทหารบกใช้การทำรัฐประหารสร้างอำนาจทางการเมืองให้กับตัวเองเป็นการเริ่มต้นลูปนรกให้ลูกหลานต้องทนทุกข์ทรมานมาจนปัจจุบัน
1
แม้แต่ ปรีดี พนมยงค์ ก็เคยพูดถึงเรื่องนี้ว่าหลังรัฐประหารปี 2490 สิ่งที่เกิดขึ้นไม่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะราษฎรอีกต่อไป ถ้าคณะราษฎรจบลงในปี 2490 ก็แปลว่า ยุคของคณะราษฎรมีเพียงแค่ 15 ปี เท่านั้น ช่วงที่ต้องนับว่าเป็นยุคทองจริงๆ ของคณะราษฎรคือช่วงหลังจากกบฏบวรเดชแพ้และก่อนที่โลกจะวุ่นวายเพราะเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 คือระหว่าง พ.ศ. 2476 - 2484 ก็จะพบว่าเป็นช่วงเวลาแค่ 7-8 ปี ที่คณะราษฎรมีเวลาสร้างประชาธิปไตยไม่ต้องวนเวียนอยู่กับการต่อสู้กับอำนาจเก่าที่พยายามดึงประเทศกลับไปเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ดังเดิม
1
เรามาดูกันว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในช่วงเวลาสั้นๆ นั้น หลังจากกบฏบวรเดชถูกปราบปราม รัฐบาลของคณะราษฎรที่มีพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นจริงๆ ของคณะราษฎร ที่จะทำงานเพื่อพิสูจน์ว่าไม่ได้ยึดอำนาจมาเพื่อพวกพ้องตนเอง มรดกคณะราษฎรหลายอย่างเกิดขึ้นในช่วงนี้ อย่างหนึ่งที่ดีมากๆ ก็คือ การเปิดโอกาสให้มีรัฐสภา ซึ่งคือการวางรากฐานของการปกครองโดยให้มีผู้แทนที่ได้รับอำนาจจากราษฎรได้ในที่สุด แต่เราคงไม่สามารถติ๊กถูกต้องได้ทุกช่องว่าในช่วงนี้ประเทศสยามเป็นประชาธิปไตยแล้ว เพราะ ส.ส. มีสองประเภทที่มาจากการแต่งตั้งกันเองครึ่งหนึ่ง มีคณะรัฐมนตรีที่เกิดจากการตกลงกันระหว่างอำนาจเก่าและกลุ่มคณะราษฎร แต่ประชาชนที่เค้าบอกว่าเป็นเจ้าของอำนาจ ในที่สุดก็มีโอกาสสะท้อนความต้องการของตนเอง ผ่านการเลือกตั้งผู้แทนสภาราษฎรชุดที่หนึ่ง ในวันที่ 10 ธันวาคม 2476 ส.ส. ชุดนี้ก็มีสองประเภทอย่างที่กล่าวไปนะครับ ประเภทที่ 1 มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม โดยผู้แทนระดับตำบลเลือกผู้แทนระดับจังหวัดอีกที มีจำนวน 78 คน และประเภทที่ 2 มาจากการแต่งตั้ง 78 คน รวมกันเป็น 156 คน รัฐบาลของพยาพหลฯ แม้มีทหารเข้ามา ส.ส. ที่มาจากการแต่งตั้งถึงครึ่งหนึ่ง แต่ ส.ส. ประเภทที่หนึ่ง ที่มาจากการเลือกตั้งนั้น ไม่มีคณะราษฎรเลย ทั้ง ๆ ที่มีสมาชิกคณะราษฎร 5 คน ตัดสินใจไปลงเลือกตั้ง ส.ส. ประเภทที่หนึ่ง ตามภูมิลำเนาตัวเอง เช่น นายสงวน ตุลารักษ์ แต่ทุกคนก็สอบตก แสดงให้เห็นว่าถึงแม้คณะราษฎร จะเคยพยายามตั้งพรรคการเมืองก่อนใคร เพื่อเป็นฐานให้กับตัวเอง แต่ก็ไม่ได้มีอิทธิพลต่อประชาชนขนาดนั้น ตรงกันข้ามฝ่ายอำนาจเก่า ก็ยังชนะการเลือกตั้งเข้ามาเป็น ส.ส.หลายคน อย่างเช่น พระยาเทพหัสดิน ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา ก็ชนะการเลือกตั้งในเขตพระนครเช่นกัน ส่วน ส.ส. ประเภทที่สองที่มาจากการแต่งตั้งกันเอง คณะราษฎรเลือกพวกตัวเองเข้ามามากขึ้นก็จริงคือจากเดิมมี 33 คนจาก 70 คน ในสมัยที่สอง กลายเป็น 47 คน จาก 78 คน แต่ถ้าคิดโดยรวมสำหรับ ส.ส.ทั้งสองประเภทก็จะพบว่า มีคณะราษฎรอยู่ในสภาเพียงแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะว่าเยอะก็เยอะ แต่ไม่เยอะพอที่จะตั้งรัฐบาลได้แบบสะดวกโยธินแน่นอน สมาชิกสภาชุดนี้ เป็นชุดแรกที่เริ่มมีการถ่วงดุลอำนาจบริหารได้จริง ๆ เพราะด้วยสัดส่วน ส.ส.ที่ได้กล่าวไปข้างต้น ทำให้รัฐบาลของพระยาพหลฯ ต้องลำบากหลายครั้ง ซึ่งก็เพราะมีสมาชิกสภาที่ไม่ได้เป็นทั้งฝ่ายคณะราษฎรและฝ่ายอำนาจเก่า แต่เป็นพลังที่สาม พวกเขามาจากจังหวัดต่าง ๆ รวมตัวกันสร้างอำนาจต่อรองได้ แม้จะไม่ได้เป็นพรรคการเมือง ไม่มีวิปคอยต้อนให้ยกมือไปในทางเดียวกัน พลังที่สามคือกลุ่ม ส.ส. ภาคอีสาน และ ส.ส. ภาคใต้
เหตุการณ์ที่อำนาจบริหารไม่สามารถควบคุมสภาเป็นครั้งแรก ในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2477 ส.ส. ยกมือไม่เห็นชอบการทำสนธิสัญญาจำกัดยางพารา โดยกลุ่ม ส.ส. จากภาคใต้พากันยกมือค้าน เพราะเป็นเรื่องที่ทำให้คนที่เป็นเกษตรกรยางพาราต้องเสียผลประโยชน์ มีเสียงค้าน 73 ต่อ 25 พระยาพหลฯ ก็ต้องรับผิดชอบโดยการลาออก แต่ก็ได้รับการยกมือให้เป็นนายกใหม่อีกรอบในเวลาไม่นาน ต่อมาในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ส.ส. อุบลฯ นายเลียง ไชยกาล ตั้งกระทู้ถาม ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลว่า มีการนำที่ดินของพระคลังข้างที่มาซื้อขายในราคาถูกกว่าท้องตลาด เอื้อประโยชน์ให้พวกเดียวกัน ซึ่งคนที่ถูกพาดพิงมีทั้งสมาชิกคณะราษฎรคนสำคัญ ทั้งพระยาฤทธิอัคเนย์ หลวงพิบูลสงคราม และนายวิลาศ โอสถานนท์ ทำให้การซื้อขายที่ดินครั้งนี้ต้องยกเลิกไป พระยาพหลฯ ก็ต้องลาออกอีกรอบเพื่อแสดงความรับผิดชอบ ซึ่งก็ยังคงได้รับการยกมือกลับมาเป็นนายกอีกรอบเช่นกัน สภาชุดนี้อยู่จนครบวาระ 4 ปี ซึ่งเป็นเรื่องที่ว้าวมากๆ ในประวัติศาสตร์ชาติ และมีการเลือกตั้งกันใหม่ในวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2480 มี ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งเพิ่มเป็น 91 คน และ ส.ส.ประเภทที่สอง 91 คน แต่ในวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2481 ส.ส.ร้อยเอ็ด นายถวิล อุดล ตั้งกระทู้เกี่ยวกับกฎหมายข้อบังคับการประชุมสภาที่จะให้รัฐบาลชี้แจงงบประมาณแผ่นดินโดยละเอียด แต่รัฐบาลก็ทำได้ไม่ดีพอ และไม่ได้ความเห็นชอบจากรัฐสภา แพ้ด้วยเสียง 45 ต่อ 31 คราวนี้พระยาพหลฯ ถึงขั้นยุบสภาทั้งที่เพิ่งเลือกตั้งมาได้เพียงแค่ปีเดียว หลังจากเลือกตั้งอีกรอบ คราวนี้พระยาพหลฯ ปฎิเสธไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วนะครับ ก็ด้วยเหตุผลว่าท่านรู้ตัวว่าเป็นทหารไม่เหมาะสมจะบริหารประเทศแถมยังมีปัญหาเรื่องสุขภาพด้วย เครดิตของพระยาพหลฯ ทั้งในเรื่องการทำรัฐประหารเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญ และการลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบบ่อยๆ ทำให้ท่านเป็นนายกที่เป็นทหารที่หล่อที่สุดในประวัติศาสตร์ ไปโดยปริยาย
เมื่อสภาต้องเลือกนายกคนใหม่ ตัวเลือกหลักๆ ก็คือปรีดี พนมยงค์ ผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญ กับวีรบุรุษสงครามและรัฐมนตรีกลาโหม หลวงพิบูลสงคราม ที่ได้เครดิตไปมากมายกับการไล่รัฐบาลเผด็จการของพระยามโนปกรณนิติธาดา และเป็นแม่ทัพในการต่อสู้กับกบฏบวรเดช ทำให้หลวงพิบูลสงครามได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เป็นนายกฯ คนที่สามของสยามในที่สุด ในสมัยรัฐบาลของพระยาพหลฯ ชาตินิยมในแบบใหม่ที่หมายถึงชาติที่เป็นของประชาชน ได้รับการสนับสนุนอย่างคึกคัก รัฐธรรมนูญเป็นตัวแทนของความเป็นชาติใหม่ ที่ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมาย และบอกลาความเป็นชาติแบบราชาชาตินิยม รัฐบาลและทหารเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ มีการเริ่มจัดงานฉลองวันรัฐธรรมนูญที่จัดต่อเนื่องไปถึงปี พ.ศ. 2500 เพื่อเชิดชูหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ในกรุงเทพจะจัดที่สวนสราญรมย์ สนามหลวง เขาดิน สวนอัมพรและลานพระราชวังดุสิต มีการออกร้านของหน่วยงานต่าง ๆ มีการประกวดนางงามและการแข่งกีฬาของเด็กนักเรียนด้วย การฉลองรัฐธรรมนูญและการสร้างอนุสาวรีย์ ก็แพร่ขยายไปต่างจังหวัดผ่านการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการกระจายอำนาจออกไป ซึ่งก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าในพื้นที่อื่นๆ นอกเมืองหลวง ก็มีการตื่นตัวกับระบอบใหม่เช่นกัน ผู้คนไม่ได้ไม่สนใจอะไรเกี่ยวกับประชาธิปไตยเลย วาทกรรมเรื่องคนต่างจังหวัดไม่รู้จักรัฐธรรมนูญ ไม่รู้จักประชาธิปไตย เป็นการทำลายความน่าเชื่อถือในคณะราษฎรที่มีมานานมากแล้ว ประชาชนบางคนที่มีอายุหน่อย ก็อาจจะเคยเจอประสบการณ์แปลก ๆ แบบ ครูสอนสังคมอยู่ดีๆ ก็ปิดหนังสือแล้วก็เล่าเรื่องนอกตำราว่า ชาวบ้านในยุคนั้นคิดว่าคำว่ารัฐธรรมนูญ คือชื่อลูกของนายกรัฐมนตรีพระยาหลฯ ลองดูภาพนี้จากหนังสือราษฎรธิปไตย การเมือง อำนาจและทรงจำของคณะราษฎรภาพการ์ตูนล้อการเมืองจากหนังสือพิมพ์เป็นภาพชาวบ้านแต่งตัวจนๆ ทั้งคลานทั้งกราบพานรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ว่า “ลูกพระยาพหลฯ” คือตั้งใจจะบอกว่า ชาวบ้านชอบบูชารัฐธรรมนูญแบบงมงาย เหมือนไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เข้าใจว่ารัฐธรรมนูญคือชื่อลูกนายก แต่การ์ตูนล้อชิ้นนี้ มาจากหนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์ ที่ก่อตั้งในปี 2495 ห่างจากปี 2475 ตั้ง 20 ปีเลย
ช่วงที่นายปรีดี ลี้ภัยไปแล้ว เคยเขียนถึงเรื่องวาทกรรมรัฐธรรมนูญคือชื่อลูกพระยาพหลฯ ไว้ว่า เป็นการเสกสรรปั้นแต่งโดยผู้มีเศษซากทัศนะทาสและทัศนะศักดินา ทั้งๆ ที่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ใครที่เป็นครูประถมก็ต้องสอนเด็กเรื่องรัฐธรรมนูญตามหลักสูตร ใครเป็นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ในยุคนั้น ย่อมเคยทำหน้าที่เป็นผู้ชี้แจงเรื่องรัฐธรรมนูญกับลูกบ้าน กรมโฆษณาการสอนผ่านวิทยุแทบทุกวัน ใครมีใจเป็นธรรมย่อมไม่ควรดูถูกสติปัญญาราษฎรว่าไม่เข้าใจรัฐธรรมนูญ คณะรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ต่างหากที่ยึดอำนาจเข้ามาและหยุดให้ความสำคัญกับประชาธิปไตย แม้แต่นักวิชาการรุ่นใหม่ก็พบคำอธิบายคือตอนนั้นคนฝ่ายรัฐบาลไพโรจน์ ชัยนาม อธิบดีกรมโฆษณาการ พูดถึงในคำบอกเล่าเรื่องการประชาสัมพันธ์รัฐธรรมนูญว่า มีเรื่องชาวบ้านเข้าใจผิดว่าเป็นชื่อลูกพระยาพหลฯ จริงๆ แต่เขาหมายถึงว่ามันน่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นช่วงเวลาสั้นๆ ในช่วง พ.ศ. 2475 เท่านั้น และก็เป็นแค่เรื่องเล่าที่ไม่มีหลักฐานอะไร แต่กลับเป็นสิ่งที่พูดต่อๆ กันมากเป็นพิเศษ หลังการทำรัฐประหาร พ.ศ. 2490 พูดง่าย ๆ คือข่าวปลอมจากพวกเผด็จการนั่นแหละ เป็นบรรยากาศทางการเมืองที่พยายามรื้อทิ้งความสำเร็จของคณะราษฎร มีแม้กระทั่งเรื่องราวว่ารัฐธรรมนูญไม่ใช่เพิ่งมามีตอน พ.ศ. 2475 หรอก เรามีใช้ตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว!
ความตื่นตัวในประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในสยาม โดยเฉพาะในภาคอีสาน หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่นานเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก เพราะมันเกี่ยวโยงกับคนสำคัญมากมาย ถ้ายังจำตอนที่หนึ่งของเราได้ที่ว่าในระบอบรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประชาชนต้องถูกบังคับให้จ่ายภาษีอากรที่ไม่ค่อยยุติธรรม หาเงินได้มากได้น้อยก็ต้องจ่ายภาษีเท่ากัน อย่างเช่น การเก็บอากรรัชชูปการ อากรนา แต่ภูมิภาคที่เจ็บที่สุดก็คือภาคอีสาน พอถูกรวมเข้ามาปกครองโดยส่วนกลาง ก็หมายถึงถูกดึงเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ ระบบที่ใช้เงินตราแลกเปลี่ยน ก็แปลว่าต้องเข้าสู่การเก็บภาษี ทั้งๆ ที่ก็เพาะปลูกอะไรไปขายแทบไม่ได้เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่แห้งแล้งและห่างไกล และไม่เคยได้รับอะไรตอบแทนจากการเสียภาษี ไร้การเหลียวแลจากรัฐ
บางข้อมูลบอกว่า ภาษีที่ประชาชนธรรมดาๆ ต้องจ่ายเท่าๆ กันก็คือ ปีละ 4-6 บาท ในขณะที่ไก่ 1 ตัวราคา 1 สลึง ซึ่งนี่คือในสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยความไม่พอใจที่สั่งสมเหล่านี้ จึงมีความพยายามก่อการกบฏปลดแอกจากการปกครองส่วนกลาง ในช่วง ร.ศ. 119 หรือราว ๆ พ.ศ. 2444 หรือช่วงปลายๆ รัชกาลที่ 5 เรียกว่ากบฏผู้มีบุญ หรือกบฏผีบุญอีสาน หรือถ้าเกิดเป็นผู้ปกครองในกรุงเทพเรียก ก็เรียกว่า กบฏผีบ้าผีบุญ ซึ่งก็ดำเนินการต่อสู้กับกองกำลังจากกรุงเทพอยู่หลายปี และถูกปราบปรามอย่างรุนแรง
แม้ว่าในช่วงปีพ.ศ. 2470 รัฐจะพัฒนาอีสานโดยสร้างทางรถไฟเชื่อมเมืองต่าง ๆ กับกรุงเทพ อย่างเช่น ปากช่อง โคราช บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ซึ่งเป็นเมืองหัวหอกกบฏผีบุญอีสาน เขาบอกว่าเพื่อให้เกิดความเจริญและการค้าขาย แต่มันดูคล้าย ๆ สร้างรถไฟไว้ขนทหารไปปราบกบฏยังไงก็ไม่รู้ ไม่ว่ารถไฟนี้จะสร้างเพื่ออะไรเป็นหลักแต่มีรถไฟมันก็ดีแหละ อย่างไรก็ตามครับ เมืองอื่นที่ห่างไกลทางรถไฟ ก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คนธรรมดาจะเดินทางจากโคราชไปขอนแก่นก็ยังต้องใช้เกวียน ซึ่งก็ยังใช้เวลาประมาณ 10 วัน เท่ากับการเดินทางเมื่อหลายร้อยปีก่อนหน้านั้นอยู่ดี แต่ถึงอย่างนั้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจด้วยทางรถไฟก็ทำให้มีคนที่มีต้นทุนทางสังคมอย่างเช่น ชนชั้นเจ้าของที่ดินตระกูลเจ้าเมือง คนจีน ได้ผลักดันตัวเองเป็นข้าราชการท้องถิ่น เป็นครู และเป็นพ่อค้า ซึ่งคนพวกนี้ก็จะมีบทบาทอย่างมากเมื่อมีการเลือกตั้งผู้แทน ผ่านการกระจายอำนาจที่เกิดขึ้นในยุคของคณะราษฎร นักการเมืองอีสานหลายคนที่มีพื้นเพในลักษณะนี้ เป็น ส.ส.ฝ่ายที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ บางคนได้เป็นรัฐมนตรีบางคนเป็นสมาชิกเสรีไทย ที่ได้เกริ่นไปข้างต้นว่ามีนักการเมืองสายอีสานหลายท่านที่สร้างความลำบากให้กับพระยาพหลฯ ก็ได้แก่ ถวิล อุดล หรือ เลียง ไชยกาล, เตียง ศิริขันธ์, ทองอินทร์ ภูริพัฒน์, จำลอง ดาวเรือง และครูครอง จันดาวงศ์ เจ้าของวลี “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ทุกคนที่กล่าวมาล้วนเป็นคนที่กล้าหาญ แหลมคม ที่เกือบทุกคนถูกเผด็จการกำจัดด้วยวิธีการสุดโหดเหี้ยม ทั้งด้วยการประหารชีวิตและอุ้มฆ่า ความเกลียดและกลัวนักการเมืองที่มาจากต่างจังหวัดชนะเลือกตั้ง มันฝังรากลึกตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ จากหลักฐานก็พบว่าคนทั่วไปไม่เข้าใจคำว่าประชาธิปไตย หรือรัฐธรรมนูญหรอก แต่มีการบันทึกถึงการตื่นตัวในเรื่องการเมืองคือ มีความเข้าใจว่าต่อไปนี้ทุกคนจะเท่ากันด้วยกฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐคือลูกจ้างของคนเสียภาษีก็คือราษฎร จะมีการเลือกผู้แทนเข้าไปรักษาผลประโยชน์ให้ตน ซึ่งก็มีความหมายเดียวกันกับคำว่าประชาธิปไตย แค่ไม่ได้ใช้คำที่บัญญัติขึ้นมาโดย “ผู้มีการศึกษา” เท่านั้นเอง
หลังจากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.จัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 ที่กระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นในรูปแบบเทศบาลเมืองและมีเลือกตั้งแบบท้องถิ่นเพื่อรักษาผลประโยชน์ในตำบลซึ่งผู้แทนตำบลที่ได้รับคะแนนมากที่สุดในประเทศก็คือคือผู้แทนในภาคอีสานจากอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคามชื่อ สิบตรี พุฒ ทิววิภาต ด้วยซ้ำไป ความตื่นตัวในจังหวัดต่างๆ มองผ่านอนุสาวรีย์พานรัฐธรรมนูญได้อีกด้วยเพราะหลายๆ จังหวัดได้มีการสร้างอนุสาวรีย์พานรัฐธรรมนูญก่อนที่กรุงเทพฯ จะมีตั้งหลายปี อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในกรุงเทพมีพิธีเปิดในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 แต่อนุสาวรีย์พานรัฐธรรมนูญแห่งแรกในประเทศก็คือพานรัฐธรรมนูญที่มหาสารคาม อยู่ที่หน้าศาลากลางจังหวัดสร้างในปี พ.ศ. 2477 ข้าราชการกับพลเรือน ที่เป็นพ่อค้า ห้างร้านต่าง ๆ เรี่ยไรเงินสร้างกันเอง ล้ำหน้ากรุงเทพฯ ไป 6 ปี
ที่สุรินทร์ก็เป็นอีกจังหวัดที่สร้างพานรัฐธรรมนูญไว้หน้าศาลากลางจังหวัด มีรายชื่อคนบริจาค 137 คน เป็นรายนามและคณะบุคคลต่างๆ บริจาคตั้งแต่ 5 บาท ถึง 50 บาท มีพิธีเปิดในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2479 โดยมีนายควง อภัยวงศ์ที่เป็นรัฐมนตรีมาเป็นประธานในพิธีเปิดล้ำหน้ากรุงเทพไป 4 ปี เช่นเดียวกันกับขอนแก่น ที่ทุกคนคุ้นเคยกันดีว่ามีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยซึ่งสร้างโดยคณะกรรมการจังหวัด เริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2481 ขออนุญาตจากส่วนกลางก็จริงแต่งบประมาณต้องหากันเอง สถานที่ตั้งก็สะท้อนถึงความสำเร็จของการปกครองส่วนท้องถิ่นเพราะตัดสินใจสร้างกันเองทำให้เลือกได้ว่าไม่ต้องเอาไปไว้หน้าศาลากลางก็ได้แต่ไปสร้างไว้ตรงแยกถนนและต่อมาก็เรียกกันว่า "วงเวียนประชาสำราญ" หรือ "วงเวียนรัฐธรรมนูญ"ที่อยู่ตรงจุดตัดระหว่างถนนศรีจันทร์กับถนนประชาสำราญ
ทุกวันนี้ยังมีอนุสาวรีย์พานรัฐธรรมนูญในจังหวัดต่าง ๆ หลงเหลืออยู่ 9 แห่ง ส่วนมากอยู่ในภาคเหนือและอีสาน นอกจาก มหาสารคาม, สุรินทร์, ขอนแก่นแล้วก็ยังมีที่ร้อยเอ็ด, ชัยภูมิ, อุบลราชธานี ที่ภาคกลางยังมีที่สมุทรสาคร ภาคใต้มีที่สงขลา และปัตตานี และบางส่วนก็โดนทำให้หายไปแบบตามกับใครไม่ได้ อย่างเช่นที่บุรีรัมย์, โคราช, อุดรธานีส่วนที่ลพบุรี, ลำปาง, เพชรบุรี, พิษณุโลก ก็มีแต่คำบอกเล่าว่าเคยสร้าง แต่ยังไม่พบหลักฐานรูปถ่ายใดๆ ที่เล่ามายืดยาวก็พอจะยืนยันได้มากทีเดียวว่าปฏิวัติ 2475 ไม่ใช่การ “ชิงสุกก่อนห่าม” การพูดว่าชาวบ้านไม่รู้เรื่องและไม่รู้สึกอะไรด้วย เลิกพูดได้เลย
กลับมาที่ผลงานรัฐบาลคณะราษฎรกันสักหน่อย สมัยเรียนหนังสือเราต้องได้เรียนกันทุกคนในเรื่องประวัติศาสตร์อันแสนปวดแสบปวดร้อนที่เราโดนมหาอำนาจตะวันตกรังแกต้องเสียดินแดนนั่นนู่นนี่และที่สำคัญที่สุดคือ เสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตนั่นก็คือ เสียสิทธิทางการศาลหมายความว่าชาวต่างชาติไม่ต้องขึ้นศาลสยามให้ขึ้นศาลของประเทศตัวเองที่มาตั้งอยู่ในสยาม พราะเค้าถือว่ากฎหมายของสยามล้าหลังมันไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนแน่นอนมันไม่เป็นสากลว่าอย่างนั้นเถอะ ซึ่งถ้าเกิดจะไปเถียงก็คงลำบาก เพราะสมัยรัชกาลที่ 4 ยังใช้กฎหมายตราสามดวงซึ่งเป็นเอกสารที่น่าจะเรียกว่าเป็นวรรณกรรมมากกว่าประมวลกฎหมาย เพราะpy'มีความเหนือจริงอยู่มาก อย่างเช่นในหมวดดำน้ำลุยเพลิง บอกว่า เมื่อมีการพิสูจน์ “ความจริง” ด้วยการลุยเพลิง ใครโกหก คนนั้นจะเท้าพอง ถ้าเท้าพองทั้งคู่ แปลว่าโกหกทั้งคู่ แต่ทั้งนี้ต้องให้ผู้คุมระวังและควบคุมเป็นอย่างดี ไม่ให้ใครใช้คาถาอาคมและก็เล่นของ หรือในหมวดเกี่ยวกับลักษณะโจร บอกว่า ถ้าเกิดมีโจรปล้นแล้วเขาหนีไป ให้เอาพ่อแม่ลูกเมียพี่น้องที่บ้านอยู่ใกล้กันมาขังแทนจนกว่าจะจับโจรได้ แต่ถ้าบ้านอยู่ไกลกันก็ไม่ต้องขัง เพราะให้ถือว่าไม่รู้ไม่เห็นด้วย แต่ไม่ได้บอกนะว่าใกล้ไกลนี่คือเท่าไหร่? ยังไง? แต่จะโทษฝรั่งที่ไม่ยอมรับกฎหมายแบบนี้ มันก็คงโทษเขาไม่ได้เต็มปาก ต่อเรือเดินสมุทรเดินทางมาไกลโพ้น มีเรือปืนใหญ่ มีเทคโนโลยี แสนยานุภาพขนาดนั้นแล้ว จะให้โอเคกับการระงับข้อพิพาทด้วยการลุยไฟพิสูจน์มันก็ฟังดูแปลกๆ
ก็นั่นล่ะ! ระบบยุติธรรมของไทยตั้งแต่อยุธยายันรัชกาลที่ 4 มันก็เป็นประมาณนี้ เมื่อฝรั่งเข้ามาบังคับให้ทำสนธิสัญญาต่างๆ การที่สยามต้องเสียสิทธิทางการศาลหรือฝรั่งได้สิทธิสภาพนอกอาณาเขต มันก็ไม่น่าแปลกใจ คำว่าเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต หมายถึง ถ้าคนในบังคับของประเทศคู่สัญญา ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ ฝรั่งเศส หรือ อเมริกันทำผิดกฎหมายสยาม ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะให้ขึ้นศาลของสยาม เราต้องส่งตัวให้ศาลในกงศุลของประเทศต่างๆ นั้น เป็นผู้ตัดสิน สิ่งนี้นะครับ เขาว่ากันว่าเป็นความเจ็บปวดของผู้ปกครองและใคร ๆ ก็อยากไปเป็นคนในบังคับของเจ้าอาณานิคมต่างๆ ทั้งนั้น เพราะเสมือนมีเกราะคุ้มครองพิเศษ อย่างน้อยก็ไม่ต้องลุยไฟ หรือติดคุกแทนญาติ หรือในด้านเศรษฐกิจเราก็เสียเปรียบ คือมีการบังคับว่าเราเก็บภาษีสินค้าได้เท่าไหร่ ซึ่งจริงๆ มันก็ไม่ถูก เพราะถ้าเป็นประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยก็ย่อมมีสิทธิ์ตั้งอัตราภาษีของตัวเองได้นี่คืออะไรเสียสิทธิทางการศาลแล้วยังต้องให้ฝรั่งมากำหนดอีกว่าเราจะเก็บภาษีเท่าไหร่ บางเรื่องก็ไม่ใช่เรื่องอำนาจอธิปไตยแต่ก็ย่ำแย่พอสมควร อย่างเช่น ในสมัยรัชกาลที่ 6 รัฐบาลไปกู้เงินมาพัฒนาประเทศสร้างสาธารณูปโภคให้ทัดเทียมตะวันตกแต่ดอกเบี้ยที่ฝรั่งเก็บก็แพงมากทำเหมือนเราเป็นประเทศยากจนกลัวจะไม่มีเงินใช้หนี้ ตอนที่คณะราษฎรยึดอำนาจการปกครองมาประเทศมันก็อยู่ในสภาพประมาณนี้ แต่ด้วยความที่ในช่วง พ.ศ. 2477-2482 คณะราษฎรมีความมั่นคงทางการเมืองสูงสมาชิกคณะราษฎรคนสำคัญเริ่มก้าวเข้ามาเป็นรัฐมนตรีได้ไม่ต้องไปเป็นรัฐมนตรีลอยเฉยๆ อย่างในช่วงแรก
นอกจากพระยาพหลฯ จะเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วหลวงพิบูลสงครามดูแลกระทรวงกลาโหม หลวง สินธุสงครามชัย ประจำกระทรวงธรรมการหรือกระทรวงศึกษาธิการในเวลาต่อมา หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ดูแลกระทรวงมหาดไทย ต่อมาเป็นปรีดี พนมยงค์ก็ไปอยู่กระทรวงการต่างประเทศด้วย ซึ่งแม้จะเป็นช่วงสั้นๆ ราว ๆ 1 ปีเศษ แต่ก็ได้ทำภารกิจสำคัญสำเร็จนั่นก็คือ การเจรจากับประเทศตะวันตกต่างๆ เพื่อยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและยังได้เจรจาขอลดดอกเบี้ยกับอังกฤษลดภาระหนี้สินรุงรังของประเทศไปได้ประมาณหนึ่ง
ส่วนเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตนั้นเหมือนจะมีความพยายามเจรจายกเลิกมานานแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 แต่ก็ไม่เสร็จสักที มาสำเร็จเอาในยุคที่ปรีดี พนมยงค์เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ประเทศไทยของเรามีอธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบในปี พ.ศ. 2481 ก่อนนั้นเราไม่ได้ตกเป็นเมืองขึ้นเราแค่เสียอธิปไตยเฉย ๆ ถ้าจะต้องมีการเชิดชูใครสักคนในยุคนั้นเป็นวีรบุรุษผู้กู้ชาติจริงๆ ขอแนะนำปรีดี พนมยงค์ตอนที่เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ นี่แหละ
ส่วนในทางรัฐสภา รัฐสภาจากการเลือกตั้งก็คึกคักมากในระหว่างปี พ.ศ. 2477 - 2479 มีการออกกฎหมายมากถึง 241 ฉบับ หลังจากนั้นในช่วงปี พ.ศ. 2482-2484 ปรีดี ก็ย้ายไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งนายปรีดีก็ยกเลิกการเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรมกับประชาชนได้สำเร็จ นั่นก็คือ มีการยกเลิกภาษีรัชชูปการที่ไม่ต่างอะไรกับส่วย ยกเลิกอากรนาที่กดชาวนาเอาไว้เหมือนยุคศักดินา เริ่มปรับปรุงภาษีให้เป็นธรรมมากขึ้นเหมือนกับในโลกเสรีที่ผู้มีรายได้มากก็ต้องเสียภาษีมาก แต่สำหรับการปฏิรูปที่ดิน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสุดๆ ที่จะนำพาประเทศออกจากความเหลื่อมล้ำและเป็นประชาธิปไตยได้ในที่สุด ปรีดีทำไม่สำเร็จและก็ไม่มีใครทำได้สำเร็จจนถึงวันนี้คนส่วนใหญ่ในประเทศไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเองที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในมือคนไม่กี่คนและภาษีมรดกซึ่งก็สำคัญไม่แพ้การปฏิรูปที่ดิน คณะราษฎรได้ออกกฎหมายบังคับใช้อยู่ได้เพียง 11 ปีเท่านั้น คือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 - 2487 ซึ่งเป็นปีก่อนที่ในหลวงรัชกาลที่ 8 จะสวรรคตเพียง 2 ปี อย่างไรก็ตาม ต้องนับว่าเป็นโชคดีของคนรุ่นหลัง ที่การเมืองในช่วงนี้คณะราษฎรไม่ต้องเหนื่อยสู้เพื่อปกป้องประชาธิปไตยมากเกินไปนัก ทำให้เกิดการวางโครงสร้างในเรื่องสำคัญๆ ได้เยอะมากเลยทีเดียว
1
แม้ไม่มีการก่อกบฏยิ่งใหญ่อย่างกบฏบวรเดช แต่การต่อสู้กับกลุ่มอำนาจเก่าก็ไม่ได้หายไป หลังการปราบกบฎบวรเดชความรุนแรงยังคงแอบแฝงมาในรูปแบบการลอบสังหารผู้นำคณะราษฎรและรัฐบาลก็ตอบโต้ด้วยการใช้ตำรวจสันติบาลตามจับผู้ที่รัฐบาลเชื่อว่าอยู่เบื้องหลังโดยเฉพาะการลอบสังหารหลวงพิบูลสงคราม เกิดขึ้นถึงสามครั้งด้วยกันในช่วงเวลานี้ ครั้งแรกในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2477 มีการแข่งฟุตบอลระหว่างทหาร ชิงถ้วยหลวงพิบูลสงครามรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ที่สนามหลวงหลวงพิบูลฯ ก็เป็นประธานต้องไปดูบอลแล้วก็มอบถ้วย แต่ขากลับตอนกำลังก้าวขึ้นรถมีคนมาประกบยิงถึงสามนัดคนยิงถูกตะครุบตัวได้ทันที ชื่อนายพุ่ม ทับสายทอง เป็นนักเลงธรรมดาๆ ที่เข้าๆ ออกๆ คุก มาแล้วหลายครั้ง หลวงพิบูลฯ โดนกระสุนไปสองนัดเข้าแก้มซ้ายทะลุออกหลังต้นคอนัดนี้เฉียดชีวิตไปไม่กี่มิลลิเมตร และอีกนัดเข้าหัวไหล่ทะลุออกหลัง หลวงพิบูลถูกนำไปรักษาที่โรงพยาบาลทหารพญาไทในตอนนั้นหรือโรงพยาบาลพระมงกุฎในปัจจุบัน ครั้งที่สองเกิดขึ้นในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 ที่บ้านของหลวงพิบูลฯ ซึ่งก็คือ บ้านพักทหารปืนใหญ่ที่บางซื่อหลวงพิบูลฯ กับคุณหญิงละเอียดกำลังแต่งตัวเพื่อไปงานเลี้ยงส่งทูตที่กระทรวงกลาโหม แต่ นายลี บุญตา คนสวนและคนขับรถที่ไว้ใจมานานทำงานให้มาถึง 7 ปี กลับบุกเข้ามายิงถึงในห้องนอน โดยมีการไล่ยิงในบ้านยิงไปสองนัด แต่โชคดียิงไม่โดนเลย และในบ้านมีเหล่าทหารตำรวจติดตามกันอยู่หลายคน เผ่า ศรียานนท์ ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น ช่วยกันตะครุบตัวไว้ได้ส่วนหลวงพิบูลฯ กับคุณหญิงละเอียดหลังจากประสบเหตุการณ์เฉียดตายมาก็แต่งตัวจนเสร็จแล้วไปงานเลี้ยงต่อเลย และครั้งที่ 3 เกิดขึ้นในอีกเพียง 1 เดือนต่อมาเท่านั้นเอง คือในวันที่ 9 ธันวาคม 2481 ที่บ้านหลังเดิมมีการนัดกันกินข้าวกลางวันของเหล่าทหารตำรวจที่หลวงพิบูลฯ สนิท ในขณะที่กำลังกินกันอยู่ดีๆหลวงพิบูลฯ ก็รู้สึกเอะใจว่า นี่กำลังกินยาพิษเข้าไปหรือเปล่า? ทำไมมันชาๆ ตอนนั้นทุกคนรีบพาหลวงพิบูลฯ ไปล้างท้องที่โรงบาลทหารพญาไท(รพ.พระมงกุฎในปัจจุบัน) ท่านผู้หญิงละเอียดรีบเก็บอาหารไว้เพื่อเป็นหลักฐานพอมีการสอบสวนก็ตรวจพบว่าในอาหารมีสารหนูอยู่จริงๆ คุณหญิงละเอียดจึงต้องเป็นคนทำอาหารให้หลวงพิบูลฯ ทุกมื้อ ตั้งแต่ชงโอวัลตินในตอนเช้า ยันอาหารค่ำของทุกวัน การเฉียดตายหลายครั้งของหลวงพิบูลฯ เป็นจุดเริ่มต้นของตำนานนายพลกระดูกเหล็ก
เพียงไม่นานหลังจากการลอบสังหารครั้งที่สาม ก็มีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทนพระยาพหลฯ หลวงพิบูลสงครามก็ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่สาม ไม่แน่ว่าภาพลักษณ์ความแข็งแกร่งฆ่าไม่ตายอาจจะช่วยส่งเสริมไม่มากก็น้อย หากคุณยังจำกันได้จากตอนที่แล้ว หลังการปราบกบฏบวรเดชก็มีการใช้ พ.ร.บ. ศาลพิเศษเพื่อตัดสินโทษคนก่อการกบฏและก็ยังมีการใช้ พ.ร.บ.ศาลพิเศษอีกสองครั้งด้วยกัน ครั้งที่สองเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2478 ถูกเรียกว่าเหตุการณ์ ‘กบฏนายสิบ’ เพราะเป็นทหารนายสิบ 8 นาย ถูกจับก่อนจะปฏิบัติการยึดอำนาจเพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อมาถูกตัดสินโทษประหารชีวิต 1 ราย และครั้งที่สามคือหลังจากที่หลวงพิบูลสงครามเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียง 1 เดือนมีการจับกุมผู้คิดก่อการกบฏครั้งใหญ่มีคนถูกจับกุมมากถึง 51 คน บางรายถูกจับตายศาลพิเศษใช้เวลาพิจารณาพิพากษาถึง 9 เดือน คำพิพากษาถูกพิมพ์ออกมาโดยกรมโฆษณาการหรือกรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบันเรียกว่าคำพิพากษาศาลพิเศษ พ.ศ. 2482 ซึ่งในเอกสารฉบับนี้มีให้เราโหลดอ่านกันได้ที่หอสมุดดิจิทัลของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (จะแปะลิงก์ไว้ให้ในตอนท้าย)
กรณีการจับกุมครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2482 สร้างความสั่นสะเทือนมากๆ คนที่ถูกจับและกล่าวหาว่าเป็นแกนนำมีคนสำคัญ อย่างเช่น พระยาเทพหัสดินคนของฝ่ายคณะราษฎรเอง คือ หลวงชำนาญยุทธศิลป์และที่สร้างความเจ็บปวดให้ฝ่ายอำนาจเก่าเป็นอย่างมากก็คือ กรมขุนชัยนาทนเรนทรหรือ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ พระราชโอรสองค์ที่ 58 ในรัชกาลที่ 5 ในบันทึกคำพิพากษา จะเป็นการบันทึกคำให้การของโจทย์และจำเลยไล่เรียงเหตุการณ์ตั้งแต่เริ่มปฏิวัติ 2475 และกลุ่มนี้เคลื่อนไหวต่อต้านด้วยการก่อกบฏบวรเดช, กบฏนายสิบ, การลอบสังหารหลวงพิบูลฯ ทั้งสามครั้งและยังมีอีกหลายครั้งที่วางแผนไว้แต่ทำไม่สำเร็จ อย่างเช่น มีความพยายามวางยาพระยาพหลฯ ในปี พ.ศ. 2477 ตามมาด้วยแผนที่จะยิงหลวงพิบูลสงครามและคณะรัฐมนตรีคนอื่นๆ ที่หัวลำโพงบ้างที่ตลาดศรีย่านบ้าง และที่สะพานมัฆวาน แถมยังมีเรื่องราวประเภทเบื้องหลัง เล่าเรื่องราวต่างๆ ใครตกลงกับใคร ใครเป็นอย่างไรในเหตุการณ์ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 อะไรเกิดขึ้นในวันที่มีการยึดอำนาจคืนจากพระยามโนปกรณนิติธาดาและอะไรเกิดขึ้นบ้างในหลายๆ วันที่มีการรบกับกบฏบวรเดชมีเรื่องของพระองค์เจ้าบวรเดช เล่าว่าท่านมีความคิดจะเปลี่ยนแปลงการปกครองจริงๆ หลังจากที่ลาออกจากตำแหน่งในรัฐบาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและหลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วเคยขอตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากคณะราษฎรด้วย และไม่พอใจเป็นอย่างมากที่ตำแหน่งดังกล่าวไปตกที่พระยามโนปกรณนิติธาดา ซึ่งหลายเรื่องก็ตลกดี อย่างเช่น ก่อนที่คณะราษฎรจะยึดอำนาจคืนจากพระยามโนฯ พระยาฤทธิอัคเนย์แอบไปบอกพระยาพหลฯ ให้หนีไปเมืองนอกเสีย เพราะรู้ว่าคณะราษฎรทุกคนกำลังจะโดนเช็คบิล แต่พระยาพหลฯ ที่แอบตกลงกับหลวงพิบูลฯ ไปแล้วว่าจะเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติอีกรอบก็อ้างกลับไปว่า ไม่หนีเพราะไม่มีเงินมีการเล่าว่าก่อนกบฏบวรเดชจะเริ่มขึ้น อยู่ดีๆ จะมีการพระราชทานเงินให้พระยาพหลฯ ถึง 2 แสนบาทแต่พระยาพหลฯ ก็ไม่กล้ารับไว้และก็ยังพบว่ามีการเอาเงินออกไปจากพระคลังข้างที่ถึง 2 แสนบาทเพื่อเอาไปให้ฝ่ายกบฎบวรเดชอีกด้วย จากบันทึกคำให้การเหล่านี้อาจจะพอสรุปได้ว่าแกนนำของกลุ่มเคลื่อนไหวจะใช้วิธีชักชวนกันโดยบอกว่าจะทำการยึดอำนาจคืนจากคณะราษฎรจะมีการอัญเชิญในหลวงรัชกาลที่ 7 กลับมาครองราชย์หลังจากที่ทรงสละราชสมบัติไปในปี พ.ศ. 2477 หรือไม่ก็จะเชิญ กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ หรือเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ พระโอรสอีกพระองค์หนึ่งของในหลวงรัชกาลที่ 5 ขึ้นครองราชย์ และจะให้พระยาทรงสุรเดชเป็นนายกรัฐมนตรี ผลของการพิพากษาก็คือ มีคนโดนประหารชีวิตจริง 18 คน พระยาเทพหัสดิน, หลวงชำนาญยุทธศิลป์ และกรมขุนชัยนาทนเรนทรถูกลดโทษจากประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งต่อมาก็ถูกปล่อยตัวหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เพราะสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนไป
ส่วนพระยาทรงสุรเดชที่ถูกพาดพิงถึงก็ถูกเนรเทศออกไปอินโดจีนของฝรั่งเศสและไม่เคยได้กลับมาอีกเลยทำให้กรณีคำพิพากษาศาลพิเศษ พ.ศ. 2482 มักจะถูกเรียกว่า ‘กบฏพระยาทรงสุรเดช’ หรือไม่ก็ ‘กบฏ 18 ศพ’ ตามจำนวนคนที่ถูกตัดสินประหารชีวิตนั่นเอง คำพิพากษาศาลพิเศษ พ.ศ. 2482 ควรอ่านอย่างระมัดระวังเวลาเอามาใช้อ้างอิง เพราะมักถูกฝ่ายตรงข้ามโจมตีเสมอว่ากระบวนการไม่มีความยุติธรรม อย่างเช่นกรณีบวรเดชก็คือเรื่องที่เกิดขึ้นไปแล้วมีความผิดแน่นอน กบฏนายสิบคือการบุกจับซึ่งเป็นความผิดซึ่งหน้า ส่วนกรณี 2482 ที่มีคนถูกจับถึง 52 คน มีคนถูกวิสามัญด้วยเป็นการจับโดยใช้ข่าวกรองล้วนๆ แต่ถ้าดูที่ พ.ร.บ.ศาลพิเศษทั้งสามครั้งจะพบว่ามีความชอบธรรมหลายเรื่องเช่น ออกกฎหมายโดยผ่านสภาผู้แทนที่มีการเลือกตั้งในระดับหนึ่งมีกำหนดขอบเขตชัดเจนว่าตั้งขึ้นเพื่อกรณีกบฏในช่วงนั้นโดยเฉพาะเอาไปเหมารวมเพื่อกำจัดศัตรูทางการเมืองไม่ได้ แต่ข้อที่เทาๆ ที่โดนด่า ก็เพราะว่า พ.ร.บ. ก็ให้อำนาจไปในทางคล้ายๆ ศาลทหารคือไม่มีอุทธรณ์ ไม่มีฎีกาและให้อำนาจรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมฯ หรือหลวงพิบูลสงครามเลือกประธานศาลและอัยการซึ่งก็ฟังดูทับซ้อนอยู่เหมือนกัน ถ้าท่านอ่านประวัติศาสตร์ในฉบับของคนไม่ชอบคณะราษฎรเขาก็จะเรียกช่วงนี้ว่าเป็น “ยุคทมิฬ” ที่หลวงพิบูลสงครามไล่กำจัดศัตรูทางการเมืองด้วยความโหดเหี้ยม เรื่องราวยุคทมิฬที่ว่านี้ เคยมีข่าวลือในอินเตอร์เน็ตนานมากแล้วว่าเคยจะถูกสร้างเป็นหนังอีกด้วย แต่เสียดายไม่มีใครทราบว่าทำไมหนังเรื่องนี้ถึงไม่เกิดขึ้นจริง
แต่หากมองคณะราษฎรโดยผ่านบริบทของปี 2482 ก็น่าสนใจ ถ้ารัฐบาลไม่ใช้ศาลพิเศษกระบวนการยุติธรรมในระบอบประชาธิปไตยที่เพิ่งเกิดขึ้นมาไม่กี่ปีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองศาลจะสามารถตัดสินคดีที่มีผู้ต้องหาคดีกบฏที่จำนวนมาก และเป็นคนชั้นสูงเต็มไปด้วยบารมี มีเส้นสายและเงินทองได้ยุติธรรมแค่ไหนตรงนี้ก็น่าคิด และการตั้งศาลพิเศษก็เป็นทางออกให้กับสังคมที่เผชิญความขัดแย้งสูงทั้งช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองและยังเกิดขึ้นในเกาหลีใต้ยุคหลังเผด็จการทหารด้วย เอาเป็นว่าเราก็ควรอ่านพวกคำให้การในคำพิพากษาศาลพิเศษ 2482 ในฐานะความจริงที่รัฐบาลในตอนนั้นอยากจะเล่าให้ลูกหลานฟัง จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็คงต้องชั่งน้ำหนักกันอย่างเช่น เรื่องเงินแสนสองบาทจากพระคลังข้างที่ ที่เอาไปจ่ายให้กบฏบวรเดชนั้นในอีกมุมมองหนึ่ง เช่น ในหนังสือของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุลจะบอกว่าถึงจะมีเงินออกไปจากพระคลังข้างที่สองแสนบาทจริงแต่เป็นการอ้างในหลวงรัชกาลที่ 7 เพราะพระองค์ไม่เคยเห็นด้วยกับการก่อกบฏบวรเดชเลยที่ประวัติศาสตร์ฝ่ายขวารู้สึกว่านี้คือยุคทมิฬไม่ใช่เพียงแค่กรณี พ.ศ. 2482 เท่านั้น ยังมีอีกเรื่องก็คือการที่รัฐบาลยึดทรัพย์ในหลวงรัชกาลที่ 7 หลังสละราชสมบัติไปแล้ว ถึง 6 ล้านบาท เรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะเมื่อมีการออกพ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 เป็นครั้งแรก ทำการเปลี่ยนกรมพระคลังข้างที่ที่ดูแลทรัพย์สินของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ให้แยกออกมาเป็นทรัพย์สินสามประเภทก็คือหนึ่ง “ทรัพย์สินส่วนพระองค์" หมายถึง ทรัพย์สินที่เป็นของพระมหากษัตริย์อยู่แล้วก่อนเสด็จขึ้นครองราชสมบัติหรือได้รับการถวาย หรือดอกผลจากเงินดังกล่าวสอง “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” คือทรัพย์สินของตำแหน่งกษัตริย์เท่านั้นที่อยู่นอกเหนือจากทรัพย์สินส่วนพระองค์ ซึ่งมีคณะกรรมการที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแลและสาม “ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน” คือ ทรัพย์สินของตำแหน่งพระมหากษัตริย์ซึ่งใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ อย่างเช่น พระราชวังเมื่อกฎหมายนี้ออกมา ก็ทำให้มีการตรวจพบว่าในช่วงที่ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญแล้วเคยโอนเงินจำนวนกว่า 6 ล้านบาท จากพระคลังข้างที่เข้าบัญชีของพระองค์เองในต่างประเทศโดยไม่มีผู้สนองพระบรมราชโองการซึ่งเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญจะทำอะไรด้วยพระองค์เองไม่ได้ ต้องมีผู้แทนประชาชนรับสนองพระบรมราชโองการแต่ในเมื่อพระองค์สละราชสมบัติไปใช้ชีวิตอยู่ที่อังกฤษแล้วกระทรวงการคลังจึงฟ้องคดีแพ่งเรียกทรัพย์สินกลับมาซึ่งศาลอุทธรณ์ก็ตัดสินในปี พ.ศ. 2484 ให้รัฐบาลเป็นฝ่ายชนะและยึดทรัพย์สินของพระองค์ที่ยังเหลืออยู่ในประเทศไทยเป็นการชดเชยเพื่อขายทอดตลาดต่อไป แต่ทรัพย์สินเหล่านั้นก็ไม่เคยได้ขายทอดตลอด เมื่อสงครามโลกจบลงรัฐบาลใหม่ที่ขึ้นมาก็ยกเลิกการยึดทรัพย์ไปด้วย เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่คนฝ่ายขวาจะมองว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นการกลั่นแกล้งในหลวงด้วยกฎหมาย ซึ่งก็อาจจะมองแบบนั้นได้ถ้ามองว่า กฎหมายไม่มีผลย้อนหลังเพราะ พ.ร.บ.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ออกมาหลังจากที่ในหลวงรัชกาลที่ 7 ได้ทรงสละราชสมบัติไปแล้ว พ.ร.บ. นี้จึงไม่ควรมีผลย้อนหลังกับสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนแต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งในขณะที่มีการโอนเงิน 6 ล้านบาทออกไปจากพระคลังข้างที่ไปเข้าบัญชีส่วนตัวของพระองค์ในต่างประเทศนั้นเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2475 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วหลายสัปดาห์ได้มีรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว มีหมวดพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว การบอกว่าการออกกฎหมาย พ.ร.บ.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และฟ้องเรียกทรัพย์ 6 ล้านบาทคืนเป็นการกลั่นแกล้งด้วยกฎหมายนั้น มันก็ยังไงอยู่ แล้วคุณคิดเห็นอย่างไร
ในยุคของหลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีการสร้างชาตินิยมก็เข้มข้นกว่าเดิม แต่เป็นเวอร์ชั่นของหลวงพิบูลเอง ที่อาจจะมองว่าอุตส่าห์มีอธิปไตยสมบูรณ์ไม่มีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตแล้วแท้ๆ แต่มันก็ยังจับต้องไม่ได้ ดังนั้นในเวอร์ชั่นของลวงพิบูลฯ ก็เลยต้องมีวัฒนธรรมใหม่ที่เห็นชัดๆ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งวันชาติ ครั้งแรกในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 มีเอกราชสมบูรณ์ทั้งที ก็ต้องมีชื่อประเทศใหม่ไปเลย ไม่เอาแล้วสยามเป็น ‘ประเทศไทย’ ดีกว่า แต่งเพลงให้กับประเทศด้วย มีเพลงชาติร้องกันไปทุกเช้าเลย รัฐบาลหลวงพิบูลฯ ทยอยเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ในสังคม โดยออกมาเป็นประกาศ “รัฐนิยม” มีถึง 12 ฉบับ มีการตั้งสภาวัฒนธรรมแห่งชาติคอยชี้นำวัฒนธรรมดีๆ ให้กับคนไทยอย่างเช่น ต้องพูดครับ พูดค่ะ ต้องใส่หมวกเวลาออกจากบ้าน ก่อนออกจากบ้านชายไทยควรจูบภรรยาอะไรทำนองนี้ เราเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ช่วงนี้ด้วยจากเดิม 1 เมษายน เป็น 1 มกราคม เพื่อให้เป็นไปตามแบบสากลโดยการออกกฎหมาย “พ.ร.บ.ปีประดิทิน 2483” กฎหมายบอกให้หักดิบปี 2483 เหลือแค่ 9 เดือนเพื่อที่จะได้นับวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2484 เป็นปีใหม่ ซึ่งจากเดิมเดือนมกราคมปฏิทินเก่ามันคือเดือน 10 แบบนี้แปลว่าไม่มีคนไทยคนไหนมีบัตรประชาชนเขียนว่าเกิดในเดือน มกราคม 2483 กุมภาพันธ์ 2483 และมีนาคม 2483 เลย คนไทยในปี พ.ศ. 2483 คงลำบากน่าดูแก่เร็วไปสามเดือนยังไม่พอ ยังคำนวนภาษียากอีกด้วย เพราะเขาเขียนกฎหมายไว้ว่าให้ทำภาษี 12 เดือนอยู่ดี ส่วนปี พ.ศ. 2484 จะลดภาษีให้ โดยจะเก็บแค่ 3 ใน 4 ตอนต่อไปจะมาเล่าชาตินิยมแบบจอมพล ป. สไตล์ แล้วคณะราษฎรจะนำประเทศเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองแบบไหนคณะราษฎรกับเสรีไทยคือพวกเดียวกันหรือไม่ คอยติดตามอ่านกัน
ข้อมูลเพิ่มเติม :
ประวัติการเมืองไทยสยาม พ.ศ.2475-2500 โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
การปฎิวัติสยาม พ.ศ.2475 : นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
หนังสือพิมพ์เก่าจาก D-library หอสมุดแห่งชาติ : http://164.115.27.97/digital
คำพิพากษาศาลพิเศษ พุทธศักราช 2482 เรื่อง กบฏ เล่มที่ 1
คำพิพากษาศาลพิเศษ พุทธศักราช 2482 เรื่อง กบฏ เล่มที่ 2
ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมและรูปภาพจากคุณนริศ จรัสจรรยาวงศ์ นักวิชาการอิสระ และ ผศ.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ ผู้เขียนหนังสือ 'ราษฎรธิปไตย การเมือง อำนาจ และทรงจำของ (คณะ) ราษฎร
'คณะราษฎร' ตอนที่ 1 : ปฏิวัติสยาม 2475 เกิดขึ้นได้อย่างไร?
'คณะราษฎร' ตอนที่ 2
เค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี และรัฐประหารสองครั้งแรกหลัง 2475
รัฐธรรมนูญฉบับ 2475 เป็นอย่างไร? ทำไมใครๆ ถึงบอกว่าดีที่สุด?
'คณะราษฎร' ตอนที่ 3 : กบฏบวรเดช และอนุสาวรีย์ที่หายไป

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา