17 ก.ค. 2021 เวลา 08:26 • ท่องเที่ยว
#ฮาวทูเที่ยวจีน คุนหมิง-ต้าหลี่ ตอนที่ 3
เขียนเสร็จสักที่กับ #ฮาวทูเที่ยวจีน คุนหมิง-ต้าหลี่ ตอนที่ 3 ลูกเพจที่ตามอ่านอยู่คงถอดใจไปแล้ว เหมือนผมเหมือนกันที่ถอดใจไปหลายรอบจนบังคับตัวเองให้เขียนจนจบ ก่อนจะไปเริ่มต้นการผจญภัยใน ตอนที่ 3 ผมต้องบอกก่อนว่าทริปนี้ผมไปมาเมื่อช่วงปลายปี 2019 นั้นคือก่อนช่วงโควิด และปัจจุบันข้อมูลบางส่วนอาจมีเปลี่ยนแปลง เพราะจีนเป็นประเทศที่พัฒนารวดเร็วจนอะไรหลายๆอย่างเปลี่ยนไป เค้าว่ากันว่า จีนเปลี่ยนไป 1 ปีเท่ากับ ไทยพัฒนา 10 ปี แล้วอีกสิ่งที่ขอบอกก่อนคือ ผมแนะนำให้ผู้ติดตามลองไปอ่านการผจญภัยของผมก่อนหน้านี้ ใน ตอนที่ 0 ถึงตอนที่ 2 โดยผมจะแปะลิงก์ไว้ดังต่อไปนี้
คุณหมิง-ต้าลี่ EP.0 ไปจีน ต้องเตรียมอะไรบ้าง https://bit.ly/2HbYLJX
คุณหมิง-ต้าลี่ EP.1 เที่ยวคุนหมิงกับคนคุนหมิง https://bit.ly/3b6tyrH
คุณหมิง-ต้าลี่ EP.2 บันทึกการเดินทาง ไป Dali ครั้งแรกในชีวิต https://bit.ly/3c4cUIz
#สิทธิ์แลกซื้อมือเช้า
เช้าวันนี้ผมตื่นขึ้นมาด้วยแสงอาทิตย์ยามเช้า ภายใต้อุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศา ทำให้แอร์ในห้องทำหน้าหน้าที่เป็นเครื่องมือให้ความอบอุ่น วันนี้ผมและชู เพื่อนคนจีนมีแผนกันว่าจะเดินทางจากเมืองเก่าต้าหลี่ไปยังทะเลสาบเอ๋อไห่ หลังจากนั้นจากนั้นเราก็จะกลับ #คุนหมิง กันในตอนเย็น
เมื่อเดินลงมาที่ล็อบบี้อาเหล่าเจ้พี่
สาวชาวจีนใจดีก็ยืนมอบรอยยิ้มให้เรา พร้อมแจ้งว่า เวลานี้ครัวของที่พักยังไม่เปิด เนื่องจากเราเช็คเอาท์ออกจากที่พักกันตั้งแต่เช้า ทำให้เราทั้งสองคนได้สิทธิพิเศษ ถึง 2 อย่างในเช้าวันนี้ โดยไม่ต้องซื้อของให้ครบกำหนดเหมือนเซเว่นบ้านเรา สิทธิพิเศษแรกคืออาหารเช้าที่ต่างไปจากปกติ และแน่นอนว่าคนที่ยังไม่ตื่นก็จะไม่ได้กิน และอีกสิทธิ์พิเศษคือ คนที่จะไปซื้ออาหารเช้ามาให้เรา คือเจ้าของโรงแรม เจ้าของที่นี่เป็นคุณลุงใจดี สามีของพี่สาวใจดีที่ชอบมาเที่ยวเมืองไทยนั่นแหละ ไม่รู้จะมีสักกี่โรงแรมที่เจ้าของไปซื้ออาหารให้ลูกค้าเนอะ
ระหว่างที่นั่งรออาหารมื้อเช้า พี่สาวใจดีก็เอาน้ำชา มาให้กินกันก่อน พูดถึงน้ำชาแล้วบอกได้เลยว่ามันช่วยคลายหนาวได้อย่างดี แต่ต้องรีบกินนะ เพราะตั้งไว้ไม่กี่เพลา อาจกลายเป็นชาดำเย็น คนที่นี่มักจะนิยมดื่มชาร้อนกันพอๆ กับน้ำเปล่าเลยก็ว่าได้ ทุกเช้าที่ผมตื่นมา สิ่งแรกๆ ที่คนจีนมักจะทำ คือ ต้มน้ำร้อน สำหรับใช้ชงชานี่แหละ
รอได้ไม่นานมื้อเช้าของเราก็มาและอาหารเช้าในวันนี้ก็คือ............
ซาลาเปาหมูสับ ผักดอง แล้วข้าวต้ม พอเห็นคำว่าซาลาเปาแล้วคำเตือนหนึ่งที่ผมอยากจะบอกคือ อย่าไปเผลอสั่งเจ้าก้อนกลมๆ สีขาวนี้ว่า ”ซาลาเปา” เพราะภาษาจีนกลางเค้าเรียกเจ้านี่ ว่า “เปาซึ” (baozi) ผมเคยสอนเพื่อนคนจีนพูดคำว่า ซาลาเปา ด้วย แต่ทุกครั้งที่พูดกลายเป็น “สลัมเพรา”ทุกที
หลังจากกินอาหารมื้อเช้า ก็มีรถมารับจากที่พักไปยังท่ารถ เพื่อต่อรถบัสไปยังทะเลสาบ ซึ่งราคา คนละ 3หยวน (15 บาท) และค่ารถบัส 30 หยวน(150บาท) จากเมืองเก่าไปยังทะเลสาบเอ๋อไห่
#ERHAI = หนองแส
“คนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต” หลายคนคงเคยได้ยินประโยคนี้ จากวิชาประวัติศาสตร์ แต่ปัจจุบันหลายคนก็บอกว่าข้อมูลนี้ไม่เป็นความจริง ที่ผมต้องพูดถึงประโยคนี้เพราะ ทะเลสาบเอ๋อไห่ เป็นหนึ่งในสถานที่ ที่ชนชาติไต ชนชาติที่สันนิษฐานกันว่ามีเชื้อสายเดียวกับคนไทย เคยอาศัยอยู่ ดังนั้นที่นี่จึงอาจมีความเกี่ยวข้องกับคนไทยอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากที่ลองเอาชื่อไปใส่ในช่องค้นหาข้อมูลของอากู๋ ข้อมูลที่ปรากฏบอกไว้ว่า หนองแสคือชื่อภาษาไทยของทะเลสาบแห่งนี้ และ 250 ตารางกิโลเมตร คือ ขนาดของมัน
ระหว่างทางรถแล่นผ่านบ้านคนให้อารมณ์เหมือนนั่งรถทัวร์ ผ่านหมู่บ้านเล็กๆ ตามต่างจังหวัด เรายังสามารถเห็นชาวสวน ชาวไร่ ออกมาเดินทำตามพื้นที่การเกษตรของตัวเอง
เวลาผ่านไป 1 ชั่วโมง เราสองคนก็มาถึงหมู่บ้านฉางหลาง (Shuanglang) ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายๆหมู่บ้านที่ติดกับทะเลสาบนี้ และยังมีคนชาติพันธุ์ไป๋ (bai) อาศัยอยู่
#หยางหยูปาปา
ท่ามกลางแสงแดดยามสาย แต่ตัวเลขอุณหภูมิไม่ได้สูงตามไปด้วย อากาศเย็นๆ ทำให้การเดินเล่นรู้สึกเหนื่อยช้า และก็ไม่เหนียวตัวเหมือนเดินกลางกรุงเทพ เมื่อผ่านซุ้มประตูหมู่บ้าน ชูก็ได้ถามคำถาม ที่มักถามผมเป็นประจำว่า “หิวหรือยัง” แล้วก็ พาเดินไปซื้อ ของกินเล่นชนิดหนึ่ง เรียกว่า "หยางหยูปาปา" โดยมีคุณยายสวมใส่ชุดชาติพันธุ์ไป๋กำลังยืนขายอยู่
"หยางหยูปาปา" คือแป้งกับมันผรั่งเส้น ผสมกุ้งตัวเล็กๆ ทอดกรอบ โรยด้วยผงพริกหม่าล่า กินไปก็รสชาติเหมือนกุ้งเต้นทอด
#ฟีลญี่ปุ่น
"ฉางหลาง" เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่รายล้อมไปด้วยอาคารเก่า คนในหมู่บ้านสัญจรกันด้วยถนนสายหลัก เลียบทะเลสาบ และมีตรอกซอกซอยเล็กแยกออกจากถนนสายหลักไปยังบ้านของตัวเอง มองไปมองมาก็คล้ายกับเมืองเก่าที่เคยเห็นในการ์ตูนญี่ปุ่นของจิบิ
นอกจากหมู่บ้านจะให้ความรู้สึกแบบญี่ปุ่นแล้ว ชูเพื่อนของผมพาเดินมาจนหยุดหน้าร้านสินค้าชื่อญี่ปุ่นอย่าง Miniso ซึ่งมีสาขาอยู่แทบทุกห้างในกรุงเทพ รวมถึงหมู่บ้านนี้ด้วย ชูบอกว่าจริงๆ ยี่ห้อนี้เป็นของคนจีน แต่ไปจดทะเบียนบริษัทที่ญี่ปุ่นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในตัวคุณภาพสินค้า เพราะโดยปกติคนเอเชียประเทศอื่นๆ มักจะเชื่อมั่นสินค้า Made in Japan มากกว่า Made in China การเข้ามาของสินค้าต่างถิ่นขนาดใหญ่ อาจจะเป็นผลดีกับนักท่องเที่ยว แต่สำหรับคนพื้นที่แล้ว มันเหมือนเป็นการบีบให้สินค้าท้องถิ่นขายยากขึ้น และทำให้บางครอบครัวต้องย้ายออกเพราะมันสามารถจ่ายค่าเช่าได้ และเป็นเหตุผลหนึ่งด้วยที่ทำให้คนวัยหนุ่ม สาวเลือกที่จะออกไปทำงานในเมืองมากกว่าจะทำมาหากินในบ้านเกิดตัวเอง
#ทางเดิน ประตู บ้าน ศาลเจ้า และทะเลสาบ
ถนนสายหลักใน ฉางหลาง เรียงรายไปด้วยร้านค้า ร้านอาหาร และถูกคั่นด้วยตรอก ซอก ซอย สำหรับเดินเชื่อมไปยังบ้าน บางซอยก็สามารถเดินทะไปยัง ทะเลสาบเอ๋อไห่
บางซอยมีซุ้มประตูตั้งแสดงสัญลักษณ์ว่าภายในมีศาลเจ้า ในหมู่บ้านจะมีศาลเจ้าเล็กตั้งอยู่ในหลายตรอกคล้ายกับตรอกตามเยาวราช แสดงให้เห็นว่ายังมีความเชื่อในเรื่องเทพเจ้าจีนอยู่ในหมู่บ้านนี้ ซึ่งจะต่างจากคนจีนรุ่นใหม่ๆ ที่บางคนเลือกเปลี่ยนไปเป็นมุสลิม หรือนับถือศาสนาคริสต์
ระหว่างเดินตามถนนสายหลักของหมู่บ้าน เราจะเห็นบ้านส่วนใหญ่จะยังมีลักษณะแบบจีนโบราณคือหลังคากระเบื้องทรงโค้ง และตกแต่งด้วยลวดลาดศิลปะพู่กันจีน ตามผนังบ้าน เสา และหน้าจั่วหลังคา
แต่ผมก็มาสะดุดตากับบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งเป็นบ้านของเศรษฐีในหมู่บ้านนี่ซึ่งปัจจุบันไม่ได้มีคนอาศัยอยู่ จึงเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว
ซึ่งภายในบ้านสามารถมองเห็นเครื่องมืด เครื่องใช้ และการแกะสลักไม้แบบจีน รวมอุปกรณ์ตกแต่งบ้านแบบจีนโบราณ และที่เป็นจุดเด่นคือ เมื่อเดินไปยังด้านหลังของตัวบ้านเราจะได้ชมความสวยงามของทะเลสาบเอ๋อไห่
คนที่ผมเห็นส่วนใหญ่ก็จะเป็นวัยอายุมากว่า 50 ปี กับเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี สำหรับคนวัยทำงานส่วนใหญ่ก็จะเข้าไปทำงานกันในเมืองหมดปล่อยให้คุณปู่ คุณย่า เลี้ยงหลานๆ กันไป
แล้วคุณย่าคุณยายที่เห็นส่วนใหญ่ก็จะใส่ชุด พื้นเมืองประจำชาติพันธุ์
ระหว่างที่เดินถ่ายรูปก็เหลือบไปเห็นแก๊งคุณยายนั่งล้อมวงกัน มองจากไกลๆ ทำให้เข้าใจเข้าใจว่าพวกแกคงกำลังนั่งกินข้าว พูดคุยกันตามภาษาสาวสูงวัย แต่พอเดินเข้าไปใกล้ๆ ผมก็เจอกับลูกเต๋าอยู่ในถ้วยแทนที่น้ำแกงร้อนๆก็พอจะเดากันได้นะครับว่าเค้าทำอะไรกัน
1
#คนดังต้าหลี่
เคยเป็นกันไหม? เวลาเห็นข่าวคนที่มีบ้านเกิด หรืออาศัยแถวย่านบ้านเดียวกับเรา สามารถประสบความสำเร็จด้วยความสามารถที่เขาถนัด เราจะภูมิใจกับเขาไปด้วย ถ้าคุณเคยเป็นแบบนั้นก็คงเหมือนคนที่นี่ เพราะที่ต้าหลี่ก็มีผู้หญิงคนหนึ่งที่ใช้ความสามารรถของเธอจนสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเธอ ให้กับเมืองที่เธอเกิด มณฑลที่ และประเทศที่เธออาศัย เธอมีชื่อว่า “หยาง ลี่ ผิง” ความสามารถของเธอคือการ เต้นระบำนกยูง ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Peacock Dance โดยเลียนแบบลักษณะท่าทางของนกยูง เช่น การรำแพน การเดิน มาประยุกต์เป็นการเต้น เธอเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่คนจีนส่วนใหญ่รู้จัก ถ้าอยากรู้ประวัติของเธอมากขึ้น ก็ลองเอาชื่อของเธอไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ ที่
นี่คือเรื่องที่ชู พูดให้ฟังเมื่อเราสองคนเดินมาถึงหน้า บ้านของเธอ ซึ่งตอนนี้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ ที่มีชื่อว่า “Yang li ping space” ไปแล้ว
ชูบอกว่าตอนที่มารอบที่แล้วเค้าเปิดให้เข้าชมฟรี แต่พอเราไปลองถามถาม ปรากฏว่ามีการเก็บค่าเข้าชม ซึ่งราคาเข้าชมทำให้ผมตัดสินใจว่าจะเดินถ่ายรูปอยู่รอบนอกดีกว่า บวกกับตอนนั้นยังไม่ได้รู้สึกอินกับ “หยาง ลี่ ผิง” ขนาดนั้น แต่พอลองเอาชื่อของเธอพิมพ์ในช่องค้นหา ก็ทำให้รู้ว่าเธอเป็นคนดังของเมืองจีน ถึงขนาดเคยไปเดิน พรมแดงเมืองคาน ปีเดียวกับ “ฟานปิงปิง”สงสัยถ้าเป็นเมืองไทยคงเป็นชมพู่อารยาล่ะมั่ง
บ้านของเธอ เป็นตึกอิฐก่อ 4 ชั้น ลักษณะคล้ายอาคารแบบยุโรป สิ่งที่หลายคนคงจะอิจฉา คือหลังบ้านของเธอเป็นจุดชมความสวยงามของทะเลสาบอีกจุดหนึ่งของหมู่บ้านนี้
ถึงแม้ว่าแดดยามสายจะช่วยให้อากาศอุ่นขึ้น แต่การเดินท่ามกลางอุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศา ก็ยังคงเหมือนเราเดินซื้อของในซุปเปอร์มาร์เก็ต อากาศแบบนี้ของกินร้อนๆ คงจะเป็นตัวเลือกที่คนอยากจะกิน แต่เมื่อมาที่นี่ความคิดคุณอาจจะเปลี่ยนไป เพราะของขึ้นชื่อที่นี่คือของเย็น อย่างแรกมีขึ้นชื่อเรียกว่าว่า “Leng mian” หรือบะหมี่เย็น
ตอนไปยืนหน้าร้านผมเห็นถาดเหล็กหลายอันเต็มไปด้วยเส้นหลากหลายแบบเหมือนตู้ร้านก๋วยเตี๋ยวบ้านเรา ที่จีนมีเส้นให้เลือกเยอะมาก คิดมาตลอดว่าร้านบะหมี่ป๊อกๆ มีเส้นให้เลือกเยอะแล้ว ยังต้องแพ้ที่นี่ อาม่าเจ้าของร้านก็ถามเราว่าเอาเส้นแบบไหนบ้าง เพื่อนผมก็จัดการสั่งให้ เส้นแบบแรกเป็นเส้นคล้ายๆ ขนมจีน กับอีกอันเป็นเส้นใหญ่ซึ่งอาม่าทำแป้งมาเป็นถาดใหญ่แล้วใช้ที่ขูดแบบพิเศษ ขูดแป้งจากในถาดให้ออกมาเป็นเส้นกว้างขอบบาง มองไปก็คล้ายเส้นก๋วยจั๊บ พอเอาเส้นใส่ถ้วยแกก็ใช้กระบวยตักน้ำซอสเย็นๆในไห มาราดบนเส้นราดบนเส้นจะคล้ายกับซอสกิมจิของเกาหลี ผมต้องขอโทษด้วยเพราะรสชาติมันมีความแปลกแต่อร่อยมาก พยายามสรรหาหาอาหารที่รสชาติใกล้เคียงให้พอเห็นภาพแล้ว แต่อาจจะไม่เหมือน100เปอร์เซ็นต์
นอกจากอาหารคาวแล้วของเย็นขึ้นชื่ออีกอย่าง คือ “ไอศกรีมดอกกุหลาบ” ซึ่งไม่ได้มาแค่รสหรือกลิ่นกุหลาบ แต่ใส่กลีบกุหลาบเข้าไปด้วย ที่ยูนนาน เรามักจะเห็นกลีบดอกกุหลาบอยู่ในขนม ในน้ำชา รวมทั้งไอติมของที่นี่ด้วย รสชาติคือการกินไอติมรสนมสดกับดอกกุหลาบ กลีบดอกไม่ได้มีรสชาติอะไรแต่ช่วยเพิ่มกลิ่นความเป็นกุหลาบได้อย่างดีโดนไม่ต้องเติมกลิ่นสังเคราะห์ ได้เห็นการเอาดอกไม้มาทำเป็นอาหารก็ทำให้นึกถึงนึกถึงเมืองไทยที่เอาดอกไม้มาทอดขาย แต่ก็ยังไม่เคยเห็นใครเอามาทำเป็นไอศกรีม นอกเสียจากจะได้เห็นในรายการแข่งทำอาหาร
ถึงแม้ว่าของเย็นอาจจะไม่ได้ช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกาย แต่ระหว่างเดินการกินของเย็นท่ามกลางอากาศหนาว เราจะได้เห็นภาพคนสูงอายุพร้อมด้วยรอยยิ้ม บางคนอุ้มหลาน บางคนเดินแบกผลไม้ บางคนก็นั่งคุยเล่นกับเพื่อนวัยเดียวกัน มองไปก็ทำให้รู้สึกอุ่นขึ้นมาได้เหมือนกัน แต่ไม่ใช่อุ่นทางกายแต่เป็นความอบอุ่นทางใจ
#กลับเมืองหลวง
หลังจากขึ้นรถจากฉางหลางกลับมายังเมืองเก่าต้าหลี่ อีกครั้งเพื่อรอรถไปสถานีรถไฟ เพื่อกลับเข้าเมืองหลวงของมณฑล ยูนนานอย่างคุนหมิง
ผมจะสรุปรายละเอียดค่าโดยสารและระยะเวลาการเดินทางคร่าวๆ ให้อ่าน
รถบัสจากฉางหลาง – เมืองเก่าต้าหลี่ ค่าโดยสาร 145 หยวน (650 บาทไทย) ต่อคน ใช้เวลา 1 ชั่วโมง
เมืองเก่าต้าหลี่ – สถานีรถไฟต้าหลี่ ค่าโดยสาร 10 หยวน (50 บาทไทย) ต่อคน ใช้เวลา 40 นาที
สถานีรถไฟต้าหลี่ – คุนหมิง ค่าโดยสาร 145 หยวน (650 บาทไทย) ต่อคน ใช้เวลา 1 ชั่วโมง 30 นาที
การนั่งรถไฟความเร็วสูงครั้งที่สอง ของชายหนุ่มจากเมืองรถไฟความเร็วต่ำ ทำให้ความตื่นเต้นหายไปมากกว่าครึ่ง พร้อมกับความเหนื่อยมาทั้งวันทำให้นั่งหลับมาตลอดทาง แม้แต่ความเร็ว 198 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็ไม่สามารถปลุกให้ตื่นได้
#รีวิวรถเมล์จีน
เมื่อเดินออกจากสถานีรถไฟ ผมก็ต้องตกใจอีกครั้งกับการตกแต่งไฟ บนอาคารของสถานีรถไฟ ผมเหลือบมองไปเห็น taxi จอดอยู่แล้วคิดว่าคงจะต้องขึ้นมันเพื่อกลับไปบ้านเหมือนขามา แต่เพื่อนของผมบอกว่า อยากให้ลองนั่งรถเมล์ ดูเพราะขามาก็ตั้งใจจะขึ้นรถเมล์ แต่ไม่ได้ขึ้นเพราะกลัวตกรถไฟ เราสองคนก็เลยเดินไปที่ป้ายรถเมล์
สิ่งที่น่าชื่นชมอย่างหนึ่งของป้ายรถเมล์ที่นี่ คือ การให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูลกับผู้ใช้งานรถประจำทาง และลดความสำคัญของป้ายโฆษณา เราจะเห็นป้ายบอกว่า รถเมล์สายอะไรผ่านป้ายนี้บ้าง และบอกด้วยว่ารถเมล์สายนั้นจะผ่านไปที่ไหนบ้าง นอกจากนี้ยังบอกดด้วยว่ารถเมล์สายที่ผ่านคนที่ใกล้สุดอยู่ป่ายไหนแล้ว ทำให้เราสามารถเลือกได้ว่าจะรอรถเมล์สายไหน หรือเลือกจะขึ้นสายไหน แต่ก็มีความยากสำหรับชาวต่างชาติเพราะส่วนใหญ่เป็นภาษาจีน ผมจินตนาการไม่ออกเลยว่าถ้ามาเดินแถวนี้คนเดียวจะขึ้นรถเมล์สายไหน ต่อสายไหน
ระหว่างยืนรอไปประมาณ 15 นาที รถเมล์สายที่เรารออยู่ก็มาจอดเทียบป้าย รถเมล์ที่นี่เหมือนกับรถเมล์รุ่นใหม่สีฟ้า ที่วิ่งอยู่ในกรุงเทพ และก็มีรถแบบสองชั้นเหมือนที่ ผมเคยเห็นที่สิงคโปร์ด้วย เมื่อขึ้นไปเราจะต้องหยอดเงินใส่กล่องข้างคนขับด้วยอัตราค่าโดยสาร 2 หยวน (10บาท) ตลอดสาย ผมไม่รู้ว่าที่จีนใช้ราคานี้ทุกเมืองไหม แต่ถ้าเทียบกับกรุงเทพถือว่าถูกว่า เพราะราคาเท่ารถเมล์ร้อน แต่ด้วยความสบายแบบรถเมล์แอร์ พูดถึงรถเมล์ร้อน ผมไม่เห็นที่นี่เลยนะ ทุกคันเป็นรถแอร์หมดเลย อีกอย่างหนึ่งที่ต่างจากรุงเทพคือ ที่นี่ไม่มีกระเป๋ารถเมล์ พอราคาเท่ากันตลอดทั้งสาย อาชีพกระเป๋ารถเมล์ก็หมดความสำคัญลงไปโดยปริยาย
1
สำหรับตอนที่ 3 ก็จบลงเพียงเท่านี้ ในตอนต่อไปเป็นตอนสุดท้ายของ #ฮาวทูเที่ยวจีน คุนหมิง-ต้าหลี่ ชูจะพาไปตลาดสดของจีนไปดูว่าตลาดสดที่นี่จะมีอะไรเหมือนหรือต่างจากเมืองไทยบ้าง และอีกอย่างที่สำคัญคัญคือ ผมจะพาเดินจากบ้านไปศาลเจ้าบนเขาซึ่งผมจะเดินไปคนเดียว ท่ามกลางเสียงคนพูดภาษาจีน ที่ผมฟังไม่เข้าใจ และอากาศหนาวเย็น มาดูกันว่าผมจะเดินหลงทางไหม
โฆษณา