17 ก.ค. 2021 เวลา 13:00
ถึงขี้เกียจก็พัฒนาตัวเองได้!
รู้จัก 3 วิธีในการใช้ประโยชน์จาก ‘จุดอ่อน’ ของเราให้เต็มที่
หากถามว่าเราเห็นภาพตัวเองแบบไหนในอีก 5 ปีข้างหน้า เชื่อว่าหลายๆ คนก็พอจะมีภาพลางๆ แล้วว่า ในแง่สุขภาพ การงาน การเงินและการใช้ชีวิต เราอยากเห็นตัวเองในแบบไหน
.
อยากอ่านหนังสือให้มากขึ้น..
อยากหุ่นดี สุขภาพแข็งแรง..
อยากมีเงินเก็บเยอะๆ..
.
เรารู้ว่าวิธีที่จะทำให้ ‘ฉันในวันนี้’ กลายเป็น ‘ฉันในวันพรุ่งนี้’ ต้องทำอย่างไร เช่น ต้องออกกำลังกายเป็นประจำ ต้องอ่านหนังสือก่อนนอนทุกคืน และต้องไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เป็นต้น
.
แม้จะรู้ทั้งเป้าหมายและวิธีการ แต่เราก็ยังพ่ายแพ้ให้แก่ ‘ความขี้เกียจ’ และ ‘ความใจอ่อน’ อยู่เป็นประจำ!
.
ดอกเตอร์เคธี มิลค์แมน นักวิทยาศาสตร์สาขาพฤติกรรม ได้พูดถึงวิธีใช้ประโยชน์จากความขี้เกียจและความใจอ่อนของตัวเอง ไว้ในพอดแคสต์ Hidden Brain ตอน You, But Better (ฉันในเวอร์ชันที่ดีกว่า) เรามาดูกันดีกว่าว่าเราจะหลอกสมองตัวเอง และพลิก ‘จุดอ่อน’ ให้กลายเป็น ‘พลังวิเศษ’ ได้อย่างไร
.
.
1) งานหนักไม่เอา งานเบาเราสู้ไม่ถอย
.
สิ่งที่เราอยากทำเพื่อพัฒนาตัวเองนั้นอาจต้องใช้แรงมาก บ่อยครั้งเราจึงเลือกทำอย่างอื่นที่ ‘ง่ายกว่า’ แทนอย่างช่วยไม่ได้
.
อย่างการออกกำลังกาย เราต้องทำหลายอย่างมาก ตั้งแต่การเปลี่ยนชุดออกกำลังกาย สวมถุงเท้า สวมรองเท้า ปูเสื่อโยคะ เลือกเพลงที่ใช่ และไล่หาคลิปสอนออกกำลังกายที่ชอบ ภารกิจนี้ช่างยากยิ่งนัก หากเทียบกับการดูซีรีส์ ที่เราต้องทำเพียงนอนเอกเขนกบนโซฟาและกดเปิดทีวีเท่านั้น!
.
หากเรารู้ว่าสิ่งที่เราต้องทำนั้นใช้แรงจูงใจและพลังงานเยอะ เรามาทำให้มัน ‘ง่าย’ แบบที่เราไม่ต้องคิดอะไรเลยดีไหม?
.
เช่น การวางตารางออกกำลังกายล่วงหน้าและการสร้างเพลย์ลิสต์สนุกๆ ไว้ให้พร้อม พอถึงวันที่เราตั้งใจจะออกกำลังกาย ก็สวมชุดออกกำลังกายไว้และทับด้วยชุดลำลองเลย พอถึงเวลาเราจะได้ทำแค่ถอดชุดลำลองออก และเริ่มออกกำลังกายเลย
.
นอกจากการลดขั้นตอนแล้ว ถ้าเราทำให้สิ่งนั้น ‘ใกล้แค่เอื้อม’ จะยิ่งได้ผลมากขึ้น
.
มีอาหารวิตามินและอาหารเสริมทั้งหลายที่ซื้อมาตุนไว้ แต่ลืมทานอยู่บ่อยๆ บ้างไหม? ลองวางอาหารเสริมไว้ใกล้ๆ ขวดน้ำดู หรือหากเราตั้งใจจะอ่านหนังสือให้มากขึ้น การมีหนังสือสักเล่มไว้อ่านขณะทำธุระส่วนตัวในห้องน้ำก็ช่วยได้ ยิ่งใกล้มือ ยิ่งมองเห็นบ่อยๆ ยิ่งมีแนวโน้มว่าเราจะทำสิ่งนั้น
.
ในทางกลับกัน หากเราเพิ่มขั้นตอนให้การทำสิ่งล่อใจเป็นเรื่องยาก เราก็จะทำสิ่งนั้นน้อยลงไปโดยปริยาย ยกตัวอย่างเช่น การไม่ตั้ง Log In อัตโนมัติในโซเชียลมีเดีย ทำให้เราต้องพิมพ์ Username และ Password ทุกครั้งก่อนใช้งาน เป็นต้น
.
มาทำเรื่องที่ควรทำให้เป็นเรื่องง่าย และเรื่องที่ไม่ควรทำให้เป็นเรื่องยากดีกว่า
.
.
2) ตั้ง ‘ค่าเริ่มต้น’ ให้ดี
.
บางทีเราก็เป็นพวกงานหนักไม่เอา งานเบาไม่สู้จริงๆ แม้แต่เรื่องง่ายมากๆ เราก็ไม่อยากทำ เพราะการ ‘ไม่ทำอะไรเลย’ ง่ายที่สุด
.
งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ศึกษาเรื่อง ‘ค่าตั้งต้น’ (Default) ได้ศึกษาพฤติกรรมของพนักงานใหม่ ในการสมัครโครงการออมเงินสำหรับการเกษียณ
.
พนักงานใหม่เหล่านี้สามารถสมัครได้ง่ายๆ เพียงแค่การเช็กถูกในช่องสี่เหลี่ยมเท่านั้น แต่หลายคนกลับไม่ได้ใส่ใจและไม่ได้สมัคร แม้โครงการออมเงินนี้จะดีสำหรับตัวพวกเขาเองหลังเกษียณ
.
ในตอนหลังบริษัทจึงเปลี่ยนค่าตั้งต้นให้เป็นการสมัครโดยอัตโนมัติ
ถ้าใครไม่สนใจ ให้เช็กถูกในเอกสารว่า ‘ไม่ต้องการ’ สมัครโครงการนี้ ผลคือพนักงานใหม่สมัครโครงการนี้มากขึ้นถึง 35%
.
จะเห็นได้ว่ามนุษย์เรา หากจะต้องเปลี่ยนอะไรที่เป็นค่าเริ่มต้น แม้ขั้นตอนจะง่ายแค่ปลายนิ้ว (อย่างการเช็กเครื่องหมายถูก) เรามักจะไม่เปลี่ยนและเออออไปกับค่าตั้งต้น ด้วยเหตุนี้ผู้บริโภคหลายคนจึงถูกเอาเปรียบจากบริษัทอยู่บ่อยๆ เช่นการสมัครสมาชิกเว็บไซต์บางแห่ง เรายินยอมให้บริษัทเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวง่ายๆ เพราะในฟอร์มการสมัครมีการเช็กเครื่องหมายถูกมาในช่องยินยอมแต่แรกแล้ว
.
เมื่อรู้แล้วว่าเราไม่ค่อยอยากเปลี่ยนแปลงอะไรจากค่าตั้งต้นเท่าไร ดังนั้นเรามาตั้งค่าเริ่มต้นให้ ‘ดีต่อเรา’ กันไหม?
.
หากเรามีความตั้งใจว่า อยากอ่านข่าวภาษาอังกฤษทุกวัน เพื่อฝึกภาษาและได้ความรู้รอบตัวไปด้วย ลองตั้งหน้าแรกของเสิร์ชเอนจินให้เป็นเว็บข่าวอย่าง The New York Times แทน Facebook หรือ Twitter ดูไหม?
.
หรือถ้าเราอยากมีเงินเก็บเยอะๆ ล่ะ? ลองตั้งระบบโอนเงินอัตโนมัติ (automation) ให้โอนเงินจำนวนหนึ่งเข้าบัญชีเงินเก็บทันทีที่เงินเดือนออกดูสิ
.
ถ้ารู้ว่าเราไม่ชอบทำอะไรยุ่งยาก ก็ใช้ประโยชน์จากนิสัยนี้ด้วยการตั้งค่าเริ่มต้นให้ดีไปเลย
.
.
3) ทำให้มันสนุก
.
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า นอกจากความขี้เกียจแล้วเรายังพ่ายแพ้ให้อีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งก็คือ ‘ความใจอ่อน’ กล่าวคือ หากให้เลือกระหว่างการนอนเล่นโทรศัพท์และสนุกไปกับมันในตอนนี้ หรือว่าการอ่านหนังสือเพื่อสอบชิงทุน (ซึ่งนอกจากจะน่าเบื่อแล้ว ยังไม่แน่นอนว่าจะสอบติดไหม) เรามีแนวโน้มที่จะใจอ่อนยอมแพ้สิ่งยั่วยุ และเลือกเล่นโทรศัพท์แทน
.
เรายอมแลกความสุขที่ใหญ่กว่าในอนาคต เพื่อความสนุกเล็กๆ ในวันนี้
.
แต่ถ้าเราทำภารกิจของเราให้สนุกขึ้นล่ะ เราจะอยากทำมันวันนี้เลยไหม?
.
ในงานวิจัยหนึ่งมีการทดลองเปลี่ยนขั้นบันไดในสถานีรถไฟใต้ดิน ให้เป็นบันไดดนตรี โดยแต่ละขั้นจะมีเสียงเหมือนเปียโนเมื่อถูกสัมผัส ผลที่ออกมาคือคนใช้บันไดเลื่อนน้อยลง และหันมาเดินขึ้นลงบันไดมากถึง 66% เลย!
.
เมื่อทราบเช่นนี้ ดอกเตอร์เคธี มิลค์แมนจึงได้ลองทำเทคนิคที่เรียกว่า “Temptation Bundling” ซึ่งก็คือการทำสิ่งยากๆ ที่เธอไม่ชอบทำ ไปพร้อมๆ กับสิ่งที่เธออยากทำ เช่น เธอมักจะฟัง audiobook ไปด้วยระหว่างออกกำลังกาย
.
เราสามารถนำวิธีนี้มาปรับใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการกระโดดเชือกหรือเล่นฮูลาฮูป ขณะที่ดูซีรีส์ไปด้วย การเปิดเพลงสนุกๆ ระหว่างล้างจาน หรือการอัปโหลดรูปลง Instagram ทุกครั้งหลังออกกำลังกายในแต่ละวัน
.
เปลี่ยน ‘สิ่งยั่วยุ’ ให้เป็นรางวัล และทำมันไปพร้อมๆ กับเรื่องยากๆ เลย!
.
.
ความขี้เกียจและความใจอ่อน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมชาติ เราไม่ควรมองจุดอ่อนเป็นเรื่องเลวร้าย แต่ควรหันมามองด้วยสายตาที่ไม่ตัดสิน เรียนรู้ว่าสมองของตัวเองทำงานอย่างไร และหาทางจัดการกับพฤติกรรมเหล่านี้อย่างสร้างสรรค์จะดีกว่า
.
อ้างอิง
.
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#selfimprovement
14
โฆษณา