18 ก.ค. 2021 เวลา 06:49 • ครอบครัว & เด็ก
Ep.1 ทำไม "ฟันน้ำนม" มีความสำคัญมากกว่าที่คุณคิด
 
     สวัสดีค่ะ ขอเรียกแทนตัวเองว่า หมอทานตะวันนะคะ เป็นหมอฟันเฉพาะทางสำหรับเด็กค่ะ หมอตั้งใจให้ block นี้ บอกเล่าเรื่องราวและพูดคุยเกี่ยวกับการทำฟันของลูกๆในมุมมองของหมอ... Ep แรกนี้ หมอขอเริ่มต้นจากเรื่องที่ได้ยินบ่อยที่สุด คือ "ฟันน้ำนมทำไมต้องดูแล เดี๋ยวก็หลุดแล้ว" เชื่อว่าพ่อแม่คงจะเคยได้ยินกันบ่อยใช่มั้ยคะ อาจเป็นคำธรรมดา แต่เป็นคำที่ทำร้ายจิตใจ หมอฟันสำหรับเด็กมากๆ เพราะหน้าที่สำคัญของพวกเราก็คือการรักษาฟันน้ำนมนั่นเอง
       ในช่วงชีวิตของคนเราจะมีฟันธรรมชาติ 2 ชุด คือ ฟันน้ำนมและฟันแท้ค่ะ ฟันน้ำนม มีทั้งหมด 20 ซี่ จะขึ้นมาในช่องปากตั้งแต่ช่วงอายุ 6 เดือน ขึ้นครบในช่วง 2 ขวบครึ่ง โดย บน/ล่าง/ซ้าย/ขวา/จะมีฟันน้ำนมข้างละ 5 ซี่ที่สมมาตรกัน ประกอบด้วยฟันตัด 2 ซี่ ฟันเขี้ยว และฟันกราม2 ซี่ค่ะ ฟันน้ำนมจะค่อยๆหลุดร่วงไปสลับกับฟันแท้ที่ค่อยๆขึ้นมาแทนที่ในช่วงอายุ 6-12 ปี ก็จะเป็นช่วงอายุของฟันแท้ ซึ่งมีทั้งหมด 32 ซี่ ค่ะ จะสังเกตว่าฟันแท้มีจำนวนมากกว่าฟันน้ำนมใช่มั้ยคะ พ่อแม่หลายคนถามหมอว่าฟันซี่นี้เป็นฟันแท้เหรอคะ ทำไมไม่เห็นมีฟันน้ำนมหลุดเลย.. ใช่ค่ะ ฟันแท้กลุ่มนึงจะเป็นฟันแท้ที่ขึ้นมาแทนฟันน้ำนม ส่วนอีกกลุ่มนึงจะไม่ได้ขึ้นมาแทนฟันน้ำนม แต่ขึ้นมาด้านหลังสุดต่อฟันน้ำนม ฟันแท้จึงมีจำนวนมากกว่านั่นเองค่ะ
       ตรงนี้ขอนอกเรื่องนึดนึงนะคะว่า ช่วงที่ฟันกรามแท้ขึ้นมาหลังฟันน้ำนมจะเป็นช่วงอายุประมาณ 5-7 ขวบ คุณพ่อคุณแม่จะไม่ค่อยสังเกตกัน ช่วงนี้ฟันจะผุง่ายกว่าปกติ เพราะเคลือบฟันยังสร้างไม่สมบูรณ์  และในช่วงอายุนี้เด็กๆก็ยังแปรงฟันได้ไม่สะอาด จึงเป็นสาเหตุที่ว่า ทำไมจึงควรให้คุณพ่อคุณแม่แปรงฟันให้ก่อนในช่วงอายุน้อยๆค่ะ  ep ถัดๆไป หมอจะมาลงลึกถึงช่วงอายุของน้องๆกับการแปรงฟันกัน วันนี้ขอให้ความสำคัญกับฟันน้ำนม ก่อนค่ะ
      ทีนี้ถ้าน้องๆมีฟันผุในช่วงอายุของฟันน้ำนม ถอนได้เลยมั้ย ก็ขอตอบว่า ไม่ควรถอนฟันน้ำนม ก่อนช่วงอายุที่ฟันซี่นั้นๆจะหลุดเองตามปกติค่ะ เพราะฟันน้ำนมเนี่ย นอกจากจะช่วยในการบดเคี้ยวแล้วยังมีความสำคัญอีกหลายอย่างที่เรานึกไม่ถึงนะคะ เรามาดูกันว่า "ฟันน้ำนม" สำคัญขนาดไหนกัน
1."ความสวยงาม" มีฟันครบสวย สีขาว ไปโรงเรียนก็ไม่โดนเพื่อนล้อ
2."การออกเสียง" เช่น ฟ.ฟัน
3."เป็นตัวจองที่ให้ฟันแท้ขึ้น" ปกติแล้วฟันน้ำนมจะหลุดไปเองตามเวลาที่ฟันแท้แต่ละซี่ขึ้นมาแทน แต่ถ้าดูแลได้ไม่ดี ทำให้ต้องถอนออกก่อนเวลาปกติที่เค้าจะหลุด ฟันข้างเคียงก็จะล้มเอียง ทำให้บริเวณนั้นมีพื้นที่ไม่เพียงพอให้ฟันแท้ขึ้นมา ก็เกิดฟันซ้อนเกได้นั่นเอง
4."การเคี้ยวอาหาร" อาจฟังดูเป็นเรื่องปกติ  แต่มีน้องที่หมอพบสัก80% หลังจากบูรณะฟันน้ำนมแล้ว มีน้ำหนักขึ้น จากที่ผอมๆ น้ำหนักตกเกณฑ์ กลายเป็นมีน้ำมีนวล ทานข้าวได้เยอะขึ้น  เพราะไม่ปวดฟันแล้ว หรือน้องที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ หรือ cerebral palsy หลังจากทำฟันเสร็จแล้ว น้ำหนักขึ้น มีเรี่ยวแรง หมอเห็นแล้วก็ชื่นใจ พ่อแม่ก็มีความสุขไปด้วยค่ะ
5."ช่วยในการเจริญเติบโตของกระดูกเบ้าฟัน" แรงบดเคี้ยวที่กระทำต่อฟันน้ำนม จะกระตุ้นให้กระดูกขากรรไกร ขยายขนาดขึ้นตามวัย ทำให้เจริญเติบโตได้สมวัยค่ะ
6.ข้อดีอีกข้อซึ่งสำคัญมาก คือ "ฟันน้ำนมมีผลดีต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตที่ดี" จากที่กล่าวไปตอนต้นว่าฟันกรามน้ำนมซี่ใหญ่ซี่สุดท้ายนั้น  จะขึ้นมาในช่องปากช่วง 2 ขวบครึ่งจนถึงอายุ 12 ปี ก็เท่ากับว่ามีอายุการใช้งานถึงเกือบ 10 ปี  และเป็นฟันซี่หลักที่ใช้ในการบดเคี้ยว โดย 10 ปีแรกของชีวิตเป็นช่วงที่มีการเจริญเติบโตและพัฒนาการของร่างกายมากที่สุด ดังนั้นฟันที่แข็งแรงจะสามารถทำให้ลูกกินอาหารได้ดี ทำให้มีการเจริญเติบโตและพัฒนาการสมวัย นั่นเองค่ะ
7."ฟันน้ำนม เป็นสิ่งแวดล้อมให้ฟันแท้" ฟังแล้วงงมั้ยคะ คือ ในช่วง 6 - 12ปี จะมีฟันน้ำนมและฟันแท้ปะปนกันไปค่ะ หากฟันน้ำนมผุ เชื้อก่อโรคฟันผุในฟันน้ำนมก็จะส่งต่อถึงฟันแท้ได้
        ทราบอย่างนี้แล้ว พอจะมีกำลังใจดูแลฟันน้ำนมมากขึ้นมั้ยคะ ถ้าหากเราดูแลฟันน้ำนมเป็นอย่างดี ตรวจฟันเคลือบฟลูออไรด์เป็นประจำทุก 6 เดือน ไม่มีฟันผุที่ต้องบูรณะ การมาทำฟันก็จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับเด็กๆค่ะ
วันนี้ tooth fairy ก็ต้องขอลาไปก่อน อย่าลืมว่าฟันน้ำนมมีค่ามากกว่าที่คุณคิดนะคะ สวัสดีค่ะ
2
โฆษณา