18 ก.ค. 2021 เวลา 11:27 • ท่องเที่ยว
มัณฑะเลย์ (10) .. พระราชวังมัณฑะเลย์ … จากศูนย์กลางแห่งจักรวาล สู่ความล่มสลาย
“มัณฑะเลย์” ตั้งอยู่ตอนบนของประเทศพม่า เป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนเขาและบนฝั่งแม่น้ำอิรวดีที่มีต้นน้ำร่วมกับแม่น้ำโขง …
.. การ์เนอร์ เมย์ ชาวอังกฤษได้มาจัดผังเมืองที่นี่ให้เป็นเมืองตากอากาศในสมัยที่พม่าตกเป็นอาณานิคม ถนนในมัณฑะเลย์เลยมีกลิ่นอายของความเป็นอังกฤษให้เราได้สัมผัส คือ ถนนตัดกับไปมาเหมือนตาราง และชื่อถนนเป็นตัวเลข เช่นถนนจากเหนือไปใต้ เริ่มจากถนนสายที่ 10 นับลงไปเรื่อยๆลงไปทางใต้จนถึงสายที่ 50 เป็นต้น
“แม่น้ำเอยาวดี” เป็นแม่น้ำที่สำคัญของพม่า ในภาษาพม่า “อิระ” แปลว่า ใหญ่ “วดี” แปลว่า แม่น้ำ “อิรวดี” จึงแปลว่า “แม่น้ำใหญ่” ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองเก่าหลายเมืองที่คุ้นหูชาวไทย เช่น เมืองอังวะ เมืองอมรปุระ เมืองสะกาย เมืองมัณฑะเลย์ หากแต่น่าเสียดายที่เมืองเก่าเหล่านี้ส่วนใหญ่แทบจะไม่มีหลงเหลือร่องรอยของเมืองอยู่เลย
มัณฑะเลย์ .. เป็นเมืองหลวงสุดท้ายของพม่า เคยมีพระราชวังอันสง่างามกว่าใครในอุษาคเนย์ สร้างขึ้นด้วยพระราชประสงค์ของกษัตริย์ผู้มุ่งมั่นจะประกาศว่า มัณฑะเลย์ คือศูนย์กลางของโลกและจักรวาล ในเวลาเดียวกับการเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาสายเถรวาทของโลก
มัณฑะเลย์ .. สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2400 ก่อนที่จะตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษในปี พ.ศ.2428 ในสมัยของพระเจ้าสีป่อ หรือธีบอ กษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่า ตรงกับรัชสมัยของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 5 และเป็นฉากสุดท้ายของราชสำนักพม่า
หลังจากเสียเมืองได้ 60 ปี พระราชวังไม้อันใหญ่โตโอฬารอายุ 88 ปี ก็ถูกระเบิดแห่งความโง่เขลาทำลายราบเป็นหน้ากลอง
พระเจ้าสีป่อ .. ได้รับการเล่าขานว่า เป็นกษัตริย์ที่ทารุณโหดร้ายที่สุดพระองค์หนึ่ง พระองค์ทรงประหารญาติพี่น้อง และขุนนางพม่าจำนวนมากเพื่อขึ้นครองราชย์ ทว่าทรงเป็นกษัตริย์ที่อ่อนแอไร้พระปรีชาสามารถ ทรงตกอยู่ใต้อำนาจของพระราชินี คือ พระนางศุภยาลัต …
บ้านเมืองในสมัยของพระเจ้าสีป่อเกิดความแตกแยกรุนแรง จนกระทั่งอังกฤษเข้ามายึดกรุงมัณฑะเลย์ แล้วจับพระเจ้าสีป่อพร้อมกับพระนางศุภยาลัตใส่ในเกวียนเทียมโค ไปลงเรือในแม่น้ำอิรวดี เนรเทศให้ไปอยู่ที่เมืองรัตนคีรี ประเทศอินเดีย จนพระเจ้าสีป่อสิ้นพระชนม์ที่นั่น ปิดฉากการปกครองระบอบกษัตริย์ของพม่าที่มีอายุยาวนานมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์พุกาม เมื่อเกือบพันปีก่อนอย่างน่าเศร้าใจ
จากนั้นอีก 50 ปีต่อมา พระราชวังมัณฑะเลย์ได้ถูกเนรมิตขึ้นมาใหม่ในปี พ.ศ. 2538 เพื่อเรียกร้องความสนใจจากนักท่องเที่ยว โดยจำลองขึ้นจากภาพถ่ายเก่าและแบบจำลองของพระราชวัง ที่อังกฤษได้ทำไว้ โดยเฉพาะตำหนักสำคัญเท่านั้นที่สร้างเท่าขนาดเดิม นอกนั้นจะเป็นการย่อส่วนลงมา รวมถึงการย่นพื้นที่ตำหนักเข้ามา…
ปัจจุบันมีเพียงกำแพงวังและซุ้มประตูปราสาทเท่านั้นที่เป็นของเดิม ความเก่าแก่นับได้ถึง 153 ปี มีเพียง 3 สิ่งที่รอดพ้นจากสงคราม คือ พระราชมณเฑียรทอง หรือ “ชเวนันดอว์” .. สีหาสนบัลลังก์ หรือบัลลังก์สิงห์ และพระพุทธรูปทองคำที่เคยประดิษฐานอยู่ที่พระราชมณเฑียรทอง
พระราชวังมัณฑะเลย์ .. ถูกแปรสภาพเป็นค่ายทหารนับตั้งแต่อังกฤษยึดครองพม่า ต่อมาเป็นค่ายทหารญี่ปุ่นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 จนโดนถล่มราบคาบ .. ปัจจุบันเป็นค่ายทหารพม่า การเข้าชมพระราชวังจึงมีระเบียบที่เข้มงวด
มาติดตามสีสันที่เกือบจะเป็นเรื่องเหลือเชื่อว่าเคยเกิดขึ้นจริงๆ ผ่านเรื่องราวที่ร้อยเรียงโดยผู้ทรงคุณวุฒิหลายคนต่อไปนี้ …
ดร. ธิดา สาระยา …\ได้ศึกษาวิจัยประวัติศาสตร์ของพม่าอย่างลึกซึ้ง และได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่มใหญ่ ชื่อ มัณฑะเลย์ : นครราชธานีศูนย์กลางแห่งจักรวาล ได้อรรถาธิบายถึงการสร้างเมืองมัณฑะเลย์ไว้อย่างละเอียด ดังจะขอเก็บข้อความสำคัญมาเล่าต่อ ดังนี้
พระเจ้ามินดง .. แห่งราชวงศ์คองบอง สร้างมัณฑะเลย์ให้เป็นราชธานีเมื่อ พ.ศ. 2400 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมืองนี้มิใช่เป็นเมืองท่าค้าขายติดต่อกับทะเลดังเช่นเมืองสำคัญอื่นๆของพม่า ความได้เปรียบของมัณฑะเลย์ อยู่ตรงที่เป็นศูนย์กลางการคมนาคมภายใน
สภาพเศรษฐกิจของเมืองนี้ มิใช่เพียงแค่เลี้ยงตัวได้เท่านั้น แต่นับว่าเป็นเมืองที่มั่งคั่งทีเดียว เพราะตั้งอยู่ตรงชุมทางการค้าและการคมนาคมติดต่อ คือ เป็นทางผ่านกองคาราวานของบรรดาคนเผ่าพันธุ์ต่างๆ ซึ่งอาศัยอยู่ในเส้นทางการติดต่อของแหล่งอารยธรรมโบราณกระแสจีนและอินเดีย
นับว่าก่อนที่มัณฑะเลย์จะเป็นราชธานีของพม่า (ซึ่งมีระยะเวลาสั้นเพียง 28 ปีเท่านั้น) บริเวณเมืองนี้เป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ การค้า วัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งในภูมิภาคส่วนใน (in land) ของพม่ามานานแล้ว
กษัตริย์มินดงผู้สร้างนครมัณฑะเลย์ .. ทรงมีพระปรีชาญาณกว้างไกลมาก ก่อนจะตกลงพระทัยสร้างเมืองหลวงใหม่ พระองค์ได้ศึกษาทำเลที่ตั้งและภูมิประเทศของเขตพื้นที่พม่าตอนบนเป็นอย่างดีแล้ว จึงสร้างเมืองใหม่ตรงจุดที่ได้เปรียบที่สุด โดยย้ายเมืองหลวงในขณะนั้น คือ เมืองอมรปุระ ซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก มาอยู่ที่เมืองใหม่แห่งนี้
อีกประการหนึ่ง .. ณ ขณะนั้นพระเจ้ามินดงทรงทราบดีว่าพม่าเสียเปรียบอังกฤษทุกประการ เพราะอังกฤษแผ่อำนาจเต็มที่อยู่ในอนุทวีปอินเดีย พร้อมทั้งเข้ามายึดครองพม่าตอนล่างถึง 2 ครั้งแล้ว ถึงขนาดสามารถตั้งศูนย์ปกครองที่เมืองย่างกุ้ง และมีบริษัทเดินเรืออังกฤษ คือ Irawaddy Floatilla เปิดกิจการขนถ่ายสินค้า และบรรทุกผู้คนขึ้นล่องระหว่างพม่าตอนบนและตอนล่าง
ดังนั้น ในขณะที่พระองค์ยังครองตำแหน่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินของพม่าอยู่ ก็จำเป็นที่ต้องหลีกเลี่ยงภาพลักษณ์ที่ตกอยู่ภายใต้การบงการของอังกฤษ
การเลือกที่ตั้งเมืองมัณฑะเลย์เช่นนี้ จึงมิใช่การอพยพหนีจากกองทัพอังกฤษโดยตรง แต่เป็นการตั้งหลักฟื้นฟูความมั่งคั่ง ศิลปวัฒนธรรม และเรียกขวัญกำลังใจของชาวพม่าให้กลับคืนมาดังเดิม
หม่องทินอ่อง นักประวัติศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงของพม่า ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกษัตริย์มินดงอีกบางประการ คือ กษัตริย์พม่าองค์นี้ เป็นกษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถองค์หนึ่งในบรรดากษัตริย์พม่าทั้งปวง
พระองค์ทรงมีลักษณะพิเศษ เช่นเดียวกับพระเจ้าแผ่นดินไทยร่วมสมัยกับพระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือเป็นผู้มีอุดมคติ และพยายามเลือกสิ่งที่ปฏิบัติได้จริง ทรงมีความเด็ดขาดแต่สุภาพ ทรงเป็นนักชาตินิยม แต่ก็ตระหนักถึงความอ่อนแอของประเทศชาติเป็นอย่างดี
ชีวิตในเยาว์วัยของกษัตริย์มินดงพระองค์นี้ แทนที่จะฝึกฝนบนหลังม้าเพื่อออกศึกเยี่ยงบรรพกษัตริย์ของพม่า พระองค์กลับฝึกฝนพระองค์ให้อยู่กับคัมภีร์ใบลาน และแผ่นหนังที่อยู่ตามวัดวาอารามเก่าแก่
หากอังกฤษไม่มีความตั้งใจที่จะรุกรานพม่าให้เป็นอาณานิคมแล้ว กษัตริย์มินดงจะต้องเป็นกษัตริย์ที่รักสันติ และคงทำความเจริญทางศิลปวัฒนธรรม และพุทธิปัญญาให้แก่พม่าอย่างมากมาย
ในระยะเวลา 21 ปีที่นครมัณฑะเลย์เป็นราชธานีภายใต้การปกครองของกษัตริย์มินดง พระองค์ได้ทำการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวาง แม้พระองค์จะไม่เคยทรงมีประสบการณ์ในเรื่องการวางแผนเศรษฐกิจมาก่อนก็ตาม
กษัตริย์พระองค์นี้มีความคิดก้าวหน้าล้ำสมัยอย่างยิ่ง .. คือ ทรงกำหนดแผนเศรษฐกิจให้รัฐเข้าควบคุมการค้าระหว่างประเทศ ทรงมุ่งหวังที่จะนำเงินจากการค้าระหว่างประเทศมาพัฒนาประเทศ และหวังว่าจะยกเว้นภาษีโดยตรงที่เคยเก็บจากประชาชนทั้งหมด
พระองค์ได้เริ่มใช้เงินแท่งและทองแท่งเป็นมาตรฐานกลางสำหรับการแลกเปลี่ยน (exchange rate) ทรงตั้งโรงกษาปณ์เพื่อผลิตเงินเหรียญของราชการ ได้กำหนดมาตราชั่งตวงวัด และตั้งผู้ตรวจราชการเดินทางไปตรวจยังตำบลต่างๆในชนบท
นอกจากนี้กษัตริย์มินดงได้ทรงปรับปรุงการคมนาคมทั้งทางบก และแม่น้ำลำคลองทั่วบริเวณเมืองใหม่ และจัดหาเรือกลไฟเพื่อขนส่งคมนาคมในแม่น้ำเอยาวดี ระหว่างราชธานีกับเมืองย่างกุ้งเป็นประจำ
พระองค์ทรงให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาหนุ่มชาวพม่าจำนวนหนึ่ง เพื่อไปศึกษาวิชาวิศวกรรมและการไปรษณีย์โทรเลขที่เมืองย่างกุ้ง และกัลกัตตาในประเทศอินเดีย เมื่อจบกลับมาก็ให้จัดตั้งระบบการคมนาคมโทรเลขระบบมอสขึ้นทั่วพระราชอาณาจักร เพื่อเชื่อมกับระบบของอังกฤษในบริเวณพม่าตอนล่าง
กษัตริย์มินดงขยายการอุตสาหกรรมของพม่า ซึ่งยังมีความล้าหลังมาก ด้วยการรับผู้เชียวชาญชาวยุโรป ให้มาสำรวจและทำการปรับปรุงการทำเหมืองแร่และป่าไม้ มีการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กขึ้นประมาณ 50 แห่ง เช่น โรงสีข้าว โรงทอผ้า โรงน้ำตาล และทรงตั้ง เจ้าชายเมกขระ พระราชบุตรผู้มีความสามารถและสนพระทัยวิทยาการแบบใหม่ให้เป็นเสนาบดีกระทรวงอุตสาหกรรม
สิ่งต่างๆที่กล่าวมานี้ นักท่องเที่ยวที่ไปเมืองมัณพะเลย์ยุคปัจจุบันน้อยคนที่จะสนใจ เพราะจุดสนใจในเมืองมัณฑะเลย์ในแง่ของการท่องเที่ยว คือ พระราชวังมัณฑะเลย์ ซึ่งอาจจะเป็นสถานที่แห่งเดียวที่นักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชม หากมีเวลาจำกัดมาก
ดร. ธิดา สาระยา ได้ศึกษาค้นคว้าจนทราบว่า ชาวพม่าเชื่อในคติของการที่มัณฑะเลย์เป็นนครราชธานีที่เป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล ซึ่งประกอบด้วยความศักดิ์สิทธิ์อันลี้ลับ และเป็นที่ตั้งแห่งอำนาจรัฐ เป็นศูนย์รวมแห่งชีวิตและวัฒนธรรมของชาวพม่าในช่วงที่ลัทธิอาณานิคมของยุโรปแผ่ทั่วทวีปเอเชีย
ขณะเมื่อสร้างราชธานีใหม่ กษัตริย์มินดงไม่สามารถหยั่งรู้ได้ว่าราชธานีแห่งนี้จะมีอายุเพียงแค่ 28 ปีเท่านั้น จึงได้ทุ่มทั้งพระราชหฤทัยและงบประมาณมหาศาลลงไปในการสร้างเมืองและพระราชวัง เพื่อให้ราชธานีแห่งนี้มีความศักดิ์สิทธิ์สวยงาม ไม่ต่างจากราชธานีในยุคโบราณ
มัณฑะเลย์ ... ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำเอยาวดี ในบริเวณที่เรียกว่า ทุ่งมัณฑะเลย์ ถัดไปทางด้านตะวันออกเป็นดอยสูงติดต่อกับที่ราบสูงฉาน
กลางเทืองมัณฑะเลย์ เป็นที่ตั้งของพระราชวัง ซึ่งจงใจให้เป็นศูนย์กลางของราชธานีแห่งนี้ พระราชวังมีลักษณะมั่นคงแข็งแรง เป็นทั้งที่อยู่อาศัยและเป็นเมืองป้อมด้วย โดยมีค่าย คู และประตูหอรบสมบูรณ์ในตัว คูเมืองมีความกว้างและลึกเพื่อความปลอดภัย
แบบแผนของการสร้างพระราชวังมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ในฐานะเป็นราชธานี และเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ... ภายในพระราชวังนอกจากจะเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และข้าราชบริพารแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางการบริหารกิจการของรัฐ คือ มีทั้งท้องพระโรงใหญ่ที่ออกขุนนางอย่างเป็นทางการ และเป็นที่ประชุมเสนาบดี ด้วย
ความประทับใจแรกของนักท่องเที่ยวเมื่อเดินทางมาถึงพระราชวังมัณฑะเลย์ ก็คือ รถจะเข้ามาจอดที่ใต้ร่มไม้ริมคู ซึ่งล้อมรอบกำแพงวังทั้ง 4 ด้าน ... คูนั้นเป็นยุทธศาสตร์ ดังที่ยุโรปสมัยกลางเรียกว่า moat คือมีหน้าที่ป้องกันพระราชวังมิให้ศัตรูเข้าโจมตีได้ถึงตัว
คูดังกล่าวมีความกว้างและลึก น้ำในคูใสสะอาด ถูกนำเข้ามาจากแม่น้ำเอยาวดีด้วยระบบชลประทาน กำแพงวังทั้ง 4 ด้านเป็นอิฐหนาสูงราว 8 เมตร จึงมีความแข็งแรงทะมึนแม้ว่ามองดูจากที่ไกล
อาคารทุกหลังภายในขอบกำแพงนั้นเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาใหม่ให้เหมือนของเดิมราว 20 ปีมานี่เอง เพราะของดั้งเดิมที่กษัตริย์มินดงทรงบัญชาให้สร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2400 นั้น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พระราชวังมัณฑะเลย์ถูกใช้เป็นกองบัญชาการของกองทัพญี่ปุ่น และกองกำลังอังกฤษได้รุกกลับ ผู้บัญชาการทหารอังกฤษในเวลานั้นได้สั่งให้โจมตีพระราชวังแห่งนี้จนไฟไหม้เสียหายยับเยิน
นักประวัติศาสตร์บางคน ให้ข้อสังเกตไว้ว่า “ญี่ปุ่นใช้พระราชวังเป็นที่ตั้งกองบัญชาการ อังกฤษเลยตีแล้วเผาเสียราบ น่าเสียดายที่อังกฤษไม่เคารพพม่า ว่าไปแล้วอเมริกายังดีกว่า อเมริกาไม่ทิ้งระเบิดเมืองนารา เมืองเกียวโต เพราะนักวิชาการอเมริกันบอกว่า สองเมืองนี้ต้องละเว้นการโจมตีเนื่องจากเป็นเมืองโบราณมีคุณค่า เกียวโตกับนาราจึงไม่ถูกทิ้งระเบิด น่าเสียดายพระราชวังมัณฑะเลย์จริงๆ เราต่างคิดว่าอังกฤษเป็นชาติเจริญมีอารยะธรรม แต่จริงๆแล้วอังกฤษป่าเถื่อนมาก” (คัดลอกจากนิตยสารสารคดี ฉบับที่ 107 ปีที่ 9 เดือนมกราคม 2537 หน้า 91)
สิ่งปลูกสร้างที่เราเห็นในทุกวันนี้ เป็นของจำลองที่ทำขึ้นใหม่ด้วยสถาปัตยกรรมที่พยายามให้เหมือนพระราชวังเดิมมากที่สุด โชคดีที่ระหว่างอังกฤษยึดครองนั้น ได้มีการบันทึกภาพพระราชวังแห่งนี้ไว้ทุกแง่มุม การสร้างขึ้นมาใหม่จึงมีรูปแบบที่สามารถอ้างอิงได้ชัดเจน
ดร. ธิดา สาระยา ได้เล่าถึงสถาปัตยกรรมภูมิทัศฯของพระราชวังมัณฑะเลย์ ไว้อย่างน่าฟัง ดังนี้
พระราชวังมัณฑะเลย์มีพระมหาปราสาทเป็นศูนย์กลาง เรียกว่า “มะเยนานดอว์” ตั้งอยู่ตรงแนวประตูใหญ่ด้านตะวันออก จากประตูนี้มีถนนเข้าสู่ภายใน ถนนนี้ตัดผ่าน หอพระธาตุ และหอนาฬิกาสูง
“มะเยนานดอว์” ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้าง 3 ชนิด คือ
1. ท้องพระโรงใหญ่ อยู่ทางทิศตะวันออก
2. ห้องประดิษฐานสีหาสนะบัลลังก์ อยู่ทางด้านหลังติดๆกัน
3. พระมหาปราสาทยอดแหลมเสียดฟ้า
ในท้องพระโรงใหญ่ พระมหากษัตริย์และพระมเหสีจะเสด็จเป็นประธานในงานพระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พิธีถวายความจงรักภักดี (พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา) และวันเข้าพรรษา เป็นต้น
พระมหาปราสาทและสีหาสนะบัลลังก์ เป็นตัวแทนความรุ่งเรืองสง่างามแห่งสถาปัตยกรรมแบบพม่า
ราชบัลลังก์อันประดิษฐานอยู่ ณ ที่นี้ เป็นสัญลักษณ์ความเป็นศูนย์กลางจักรวาล ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างบนแผ่นดินโลก จะต้องอยู่ภายใต้พระบารมีของพระมหากษัตริย์พม่า นี่คือคติความเชื่อแบบพม่า
เมื่อครั้งพระเจ้ามินดงทรงสร้างพระราชวังแห่งนี้ ได้โปรดให้ตกแต่งสถานที่ต่างๆทั่วพระราชวัง ซึ่งแสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ มั่งคั่ง และสมบูรณ์พูนสุข เช่น มีการประดับประดาท้องพระโรงและห้องหับต่างๆด้วยทอง เงิน อัญมณี และกระจก จนกระทั่งพระราชวังนี้มีความงดงาม วูบวาบ แพรวพราว โดยเฉพาะเมื่อมีการตามไฟเป็นทิวยาวในยามค่ำคืน อีกทั้งยังมีเครื่องดนตรีโบราณของชาวพม่าดังแผ่วแทรกอยู่ในสายลมอยู่ตลอดทั้งวัน
ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้บรรยายยามสนธยาของกรุงมัณฑะเลย์ไว้ในงานเขียน เรื่อง “พม่าเสียเมือง” อย่างชัดเจนจนแทบหลับตามองเห็นภาพได้ละเอียด ซึ่งน่าจะเป็นอนุสติแก่ชนชาติทั้งปวง ให้ตระหนักถึงความเจริญ ที่กลับกลายเป็นความเสื่อมตามหลักอนิจจังอย่างไม่มีมนุษย์ใดจะหลีกเลี่ยงได้พ้น
พระเจ้ามินดงทรงมีพระอัครมเหสีชื่อ พระนางนันมะดอ มีศักดิ์เป็นเชษฐภคินีต่างพระราชชนนีกัน มีพระชนมายุแก่กว่าพระเจ้ามินดงหลายปี พระเจ้ามินดงมีพระมเหสีอื่นๆอีก 45 พระองค์ ไม่นับเจ้าจอมอีกมาก เนื่องจากเมืองไทใหญ่และเมืองอื่นๆซึ่งเป็นประเทศราช ถือเป็นธรรมเนียมที่จะส่งธิดาหรือสตรีมีสกุลเข้ามาถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาของกษัตริย์
ดังนั้นการตั้งพระมเหสีและอัครชายาของพระเจ้ามินดง จึงเป็นการป้องกันแบบตัดไฟแต่ต้นลม มิให้มีการก่อการร้ายขึ้นในพระราชอาณาจักร … พระนางนันมะดอ ซึ่งเป็นอัครมเหสีของพระเจ้ามินดง ทรงมีพระอัธยาศัยมักน้อย โปรดทรงธรรม และบำเพ็ญพระราชกุศลอยู่เป็นนิจ
แต่พระมเหสีรอง คือ พระนางอเลนันดอ ซึ่งเป็นพระขนิษฐภคินีต่างพระมารดากับพระเจ้ามินดงนั้น มีพระอัธยาศัยตรงกันข้าม คือ ไว้ยศศักดิ์ ใฝ่อำนาจ และโหดร้าย ชอบอิจฉาริษยา
พระเจ้ามินดงนั้น แม้จะทรงมีพระปรีชาสามารถ และรู้จักวิธีปกครองและพัฒนาบ้านเมือง แต่ทรงเกรงอำนาจพระนางอเลนันดอ ยิ่งกว่าพระมเหสีองค์อื่นๆ
พระเจ้ามินดงมีพระราชโอรสมากมายหลายพระองค์ แต่ได้ทรงสถาปนาพระอนุชาองค์หนึ่งขึ้นไว้ในตำแหน่งพระอุปราช ซึ่งไม่เป็นที่พอพระทัยแก่บรรดาพระโอรส จึงได้มีการแบ่งกลุ่มระหว่างบรรดาพระราชโอรสเพื่อเตรีมชิงพระราชบัลลังก์ ได้มีความพยายามเช่นนั้นตั้งแต่พระเจ้ามินดงยังคงมีพระชนม์อยู่ แต่ไม่สำเร็จ
อยู่มาวันหนึ่งพระเจ้ามินดงทรงประชวรหนัก อาการทรุดลงตามลำดับ พระนางอเลนันดอ จึงมีรับสั่งไปยังเจ้านายลูกเธอทั้งปวง ให้มาเฝ้าที่พระราชมณเฑียร แต่แล้วให้ทหารดักจับกุมใส่เครื่องพันธนาการไว้ทั้งหมด …
ในที่สุด เมื่อพระเจ้ามินดงมอทรงแต่งตั้งพระราชโอรสใดให้เป็นรัชทายาท บรรดาขุนนางจึงร่วมกันตกลงเป็นเอกฉันท์ให้ “เจ้าฟ้าสีป่อ” พระราชโอรสองค์หนึ่งซึ่งกำลังผนวชเป็นพระภิกษุอยู่ ให้เป็นรัชทายาทเตรียมครองบัลลังก์ต่อไป ... แล้วพระเจ้ามินดง ก็สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2421 ณ พระราชวังมัณฑะเลย์แห่งนี้
“พระเจ้าสีป่อ” .. เมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว ทรงมีพระมเหสี 2 พระองค์ คือ พระนางศุภยัคยี และ พระนางศุภยลัต ซึ่งเป็นราชธิดาของพระเจ้ามินดงกับพระนางอเลนันดอ ผู้เหี้ยมโหด พระนางศุภยลัตนั้น ทั้งขี้อิจฉา ขี้หึง และโหดเหี้ยมยิ่งกว่าพระมารดา ในที่สุดก็สามารถครองความเป็นอัครมเหสีแต่เพียงพระองค์เดียว
ขณะนั้นแผ่นดินของพระเจ้าสีป่อไม่มีความสงบสุข และความเจริญเท่าสมัยของพระเจ้ามินดง เนื่องจากถูกรุกคืบจากอังกฤษมากยิ่งขึ้น และยังมีความแตกสามัคคีในหมู่เจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งไม่พอใจการปกครองของพระเจ้าสีป่อ กับ พระนางศุภยลัต
อีกทั้งพระเจ้าสีป่อเป็นกษัตริย์ที่ไร้สติปัญญา ไม่มีความกล้าหาญ ขาดวิสัยทัศน์ และเกรงกลัวพระมเหสีอย่างยิ่ง อวสานของอาณาจักรพม่าจึงมองเห็นได้ชัดๆว่าอยู่ไม่ไกลนัก
พระนางศุภยลัต .. คลางแคลงใจในความภักดีของบรรดาเจ้านายมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว เจ้านายเหล่านั้นมิใช่ใครอื่น คือเจ้าพี่ เจ้าน้องต่างพระมารดากับพระองค์ ซึ่งก็คือบรรดาพระญาติสนิทนั่นเอง
ในที่สุดพระนางก็สามารถบงการให้พระเจ้าสีป่อออกพระบรมราชโองการสั่งให้สำเร็จโทษบรรดาเจ้านายเหล่านั้นเสียสิ้น … พระเจ้าสีป่อ ต้องยอมรับกระทำตามด้วยความเกรงกลัวพระอัครชายาโดยไม่เต็มใจ จึงทรงมีอาการเศร้าหมองจนปรากฏชัด ..
.. พระนางศุภยลัตจึงสั่งให้จัดงานมหรสพครั้งใหญ่ และถวายน้ำจัณฑ์แก่พระเจ้าสีป่อ เพื่อให้เกิดความครึกครื้นพระทัย ขณะเดียวกันก็บัญชาให้ขุดหลุมใหญ่ท้ายวัง เพื่อเตรียมใส่พระศพเจ้านายที่กำลังจะถูกสำเร็จโทษหมู่ด้วยท่อนจันทน์
ละครนอกที่พระนางศุภยลัตสั่งให้เข้ามาเล่นในวังนั้น ถูกกะกำหนดให้มีเสียงดนตรีดัง และมีปมโปกฮาเรียกเสียงหัวเราะเป็นพิเศษ เพื่อกลบเสียงหวีดร้องของเจ้านายที่ดังออกมาจากถุงแดงขณะที่ถูกทุบด้วยท่อนจันทน์อยู่ท้ายวัง
เจ้านายฝ่ายหน้าถูกทุบด้วยท่อนจันทน์ที่พระศอด้านหลังตรงคอต่อ … พระมเหสี และ เจ้านายฝ่ายในถูกทุบที่พระศอด้านหน้าที่ลูกกระเดือก … เจ้าจอมมารดาและบุคคลอื่นๆที่มิใช่เชื้อเจ้า ถูกประหารด้วยดาบหรือไม้พลองสั้น ตามแต่เพชฌฆาตจะเห็นสนุก ละลงมือฆ่าอย่างเมามันท่ามกลางเสียงครวญครางของชีวิตของผู้ใกล้จะตาย
ต่อจากนั้นศพทุกศพก็ถูกโยนลงในหลุมใหญ่ที่ขุดเตรียมไว้แล้ว แล้วเจ้าพนักงานก็โกยดินกลบหลุมจนแน่น แต่เพียง 4-5 วันเท่านั้น ดินที่กลบปากหลุมไว้แน่นก็ปูดขึ้นเป็นเนินสูง แล้วแตกแยกเป็นร่องเมื่อศพนับร้อยเริ่มขึ้นอืด … พระนางศุภยลัต บัญชาให้นางข้าหลวงมาหยิบดินกลบแน่นอีกที แต่ไม่สำเร็จ
ในที่สุดต้องนำเกวียนหลายสิบเล่มมาขนศพที่ขุดขึ้นมา เพื่อบรรทุกไปทิ้งที่แม่น้ำเอยาวดี ตลอดทางที่เกวียนแล่นไป มีแต่กลิ่นเหม็นเน่าโชยไปทั่ว มีเสียงสุนัขหอนเกรียวทั่วเมือง โดยไม่มีชาวเมืองมัณฑะเลย์ปรากฏอยู่ตามทางเลยสักคน เพราะต่างหลบอยู่แต่ในบ้านเรือนของตนด้วยความกลัว
สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นลางร้าย บ่งชี้ชัดว่ามหาราชธานีมัณฑะเลย์ได้สิ้นความศักดิ์สิทธิ์ ในฐานะเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล และใกล้เวลาล่มสลายในเวลาไม่นานจากนี้
ในที่สุดบัลลังก์ของพระเจ้าสีป่อกับพระนางศุภยลัต ก็ล่มสลายด้วยชัยชนะครั้งที่ 3 ของอังกฤษที่พม่าได้เป็นเมืองขึ้นทั้งประเทศในปี พ.ศ. 2428
ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2428 ... มีข่าวว่ากองทัพอังกฤษยกมาตามลำน้ำเอยาวดีและเข้าล้อมเมือง พระนางศุภยลัตมิทรงเชื่อ หาว่าทุกคนมดเท็จ พระนางได้เสด็จออกจากพระราชมณเฑียรขึ้นไปบนหอคอยสูง แล้วทอดพระเนตรออกไปในแม่น้ำเอยาวดี …
.. ภาพที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าคือ เรือรบและแพขนานของอังกฤษกำลังแล่นเข้ามาเทียบท่าหน้ากรุงมัณฑะเลย์ พระนางหันพระพักตร์กลับและเสด็จลงจากหอคอยทันที เมื่อพระบาทเหยียบแตะพื้นดิน พระนางก็ทิ้งพระองค์ลงกับผืนดิน แล้วร้องด้วยพระสุรเสียงอันดัง ทรงกรรแสงและทุบพระอุระอยู่ ณ ที่นั้น พร้อมทั้งทรงบริภาษว่า พระองค์คือต้นเหตุที่นำความพินาศมาสู่พระสวามีและนครมัณฑะเลย์
กองทัพอังกฤษล้อมเมืองมัณฑะเลย์อยู่ 11 วัน ก็สามารถตีแตกได้เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2428 … วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2428 เวลาบ่ายแก่ๆ พระเจ้าสีป่อ พระนางศุภยลัต พระนางอเลนันดอ พร้อมด้วยข้าหลวงและมหาดเล็กไม่กี่คน ก็ได้ออกจากพระราชวัง ทุกองค์และทุกคนแต่งกายด้วยแพรพรรณหลากสีสวยสดเหมือนเมื่อครั้งบ้านเมืองยังดีอยู่ ประดับกายด้วยแก้วแหวนเพชรพลอย สตรีติดดอกไม้บนผมทุกคน
พระเจ้าสีป่อและพระนางศุภยลัต ทรงหยุดยืนทอดพระเนตรท้องพระโรง และพระที่นั่งสีหาสนะบัลลังก์เพียงอึดใจเดียว แล้วก็เสด็จพระราชดำเนินต่อไปจนถึงหน้าพระมหาปราสาท … ที่หน้าประตูวัง ทหารอังกฤษจัดเตรียมระแทะ (รถกูบ .. ผู้เขียน) เทียมโคไว้ให้อดีตกษัตริย์พม่า อัครมเหสี และพระนางอเลนันดอ ทั้งสามพระองค์เสด็จขึ้นประทับในระแทะคันเดียวกัน
ขณะเสด็จออกจากกำแพงวัง เจ้าพนักงาน 9 คนเข้ามากางเศวตฉัตร 9 ชั้น เก้าองค์รายรอบระแทะนั้น แล้วขบวนเสด็จของพระเจ้าสีป่อก็เคลื่อนออกไปช้าๆ
ระหว่างทาง พระนางศุภยลัตทรงเปิดหน้าต่างเก๋งที่กั้นระแทะอยู่ แล้วโผล่พระพักตร์ออกมา ในพระหัตถ์มีพระโอสถมวนยาว ทรงตรัสถามผู้คนที่ยืนส่งเสด็จอยู่ 2 ฟากฝั่งถนนว่าผู้ใดมีไฟจะจุดพระโอสถมวนหรือไม่ … ทหารอังกฤษยืนตกตลึงอยู่ชั่วครู่ ครั้นได้สติก็วิ่งกรูกันเข้าไปจุดไม้ขีดถวาย พระนางศุภยลัตทรงจุดพระโอสถจากไม้ขีดของทหารอังกฤษคนหนึ่ง แล้วแย้มสรวลตรัสขอบใจ แล้วขบวนก็เคลื่อนต่อไปจนถึงฝั่งแม่น้ำที่อังกฤษจอดเรือรอรับอยู่
เรือลำนั้นมีชื่อเป็นมอญว่า ทอเรียะ ได้ล่องอกไปตามแม่น้ำเอยาวดี และข้ามมหาสมุทรไปยังริมฝั่งบอมเบย์ที่อินเดีย แล้วกษัตริย์สีป่อก็เสด็จสวรรคต ณ ประเทศอินเดีย เมื่อปี พ.ศ. 2459
กรุงมัณฑะเลย์ คือฉากหลังของเหตุการณ์ดีและร้ายทั้งปวงที่เกิดระหว่างรัชสมัยของพระเจ้ามินดงและพระเจ้าสีป่อ สองกษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์คองบอง
ขอบคุณภาพจนก EJeab Academy
ปัจจุบันนี้ พระราชวังมัณฑะเลย์กลางกรุงมัณฑะเลย์ เป็นเพียงสิ่งจำลองที่สร้างขึ้นมาใหม่ เพื่อรำลึกถึงวันวารอันเกรียงไกรในอดีต และรำลึกถึงประวัติศาสตร์ศตวรรษที่แล้ว
สำหรับฉัน .. พระราชวังที่สร้างขึ้นใหม่เหมือนโรงละคร สีสันที่ถึงแม้จะสดใส แต่ได้รับการดูแลเรื่องความสะอาดไม่เพียงพอ ฝุ่นละอองจับบนตั่ง บัลลังก์หนาเตอะ ดูไม่สมฐานะที่เป็นสถานที่ที่พระมหากษัตริย์เคยประทับในอดีต และดูวังเวง ไร้จิตวิญญาณยังไงก็ไม่รู้
หากจะรำลึกถึงโบราณสถานทรงคุณค่าของโลกที่สูญเสียไปจากความขลาดเขลาของคนบางกลุ่ม โลกได้สูญเสียสิ่งที่เป็นศิลปวัฒนธรรมรากเหง้าของชนหลายเผ่า หลายเชื้อชาติไปแล้ว
… ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปศิลปะคันธาระ แห่งหุบเขาบามิยัน โดยการยิงถล่มด้วยปืนใหญ่ของนักรบตาลีบัน … โบราณสถานของชาวจาม ที่หุบเขามิเซิน ในตอนกลางของเวียดนาม โดยระเบิดนาปาล์มของสหรัฐฯ … หอคำอันงามสง่าของเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุง ที่รัฐฉาน โดยการรื้อทำลายจากกองกำลังพม่า เพื่อขุดรากถอนโคนระบอบเจ้าฟ้า (เหมือนที่อังกฤษทำกับพม่าในกรณีพระราชวังมัณฑะเลย์) …
… การทำลายเหล่านี้ ไม่คำนึงถึงความเสียหายและสูญเสียให้กับมรดกทางอารยะธรรมของมนุษยชาติแค่ไหนเพียงใด … ความเกลียดชัง การยึดเอาอำนาจเพื่ออ้างความชอบธรรม และความเห็นแก่ตัว จะทำลายล้างมนุษย์และอารยะธรรมไปอีกจนกว่าดวงตาจะบรรลุธรรม
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา