18 ก.ค. 2021 เวลา 12:45 • ธุรกิจ
LVD122: อนาคตที่ไม่แน่นอน และวิธีคิดเชิงกลยุทธ
สวัสดีครับทุกท่าน เราทุกคนคงปฎิเสธไม่ได้ว่า เราอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและคาดเดาเรื่องต่างๆได้ยาก ในขณะที่คำถามที่เราเฝ้าถามและสิ่งที่เราเฝ้าหาคือ อนาคตที่แน่นอนซึ่งมันช่างสวนทางกับธรรมชาติของความไม่แน่นอน ในฐานะที่เราท่านที่อยู่ในโลกธุรกิจ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องทำความเข้าใจถึงอนาคตที่ไม่แน่นอน และการจัดการความไม่แน่นอนดังกล่าว วันนี้ผมเลยอยากมาชวนคุยถึงแนวทางการอ่านอนาคตที่ไม่แน่นอนในสายตาของนักกลยุทธด้วยกันครับ
คือมันอย่างนี้ครับ…
กลยุทธถือเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับทุกธุรกิจไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก และจริงๆแล้วก็จำเป็นสำหรับทุกคนนะครับ กลยุทธไม่ใช่เรื่องของฝ่ายงานกลยุทธหรือผู้บริหารระดับสูง เราทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทอะไร ควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีความเข้าใจเชิงกลยุทธ อย่างน้อยก็เพื่อใช้กำหนดทิศทางของตนเองครับ สำหรับวันนี้ ขอบเขตเนื้อหาที่เราจะคุยกัน คือ การจัดการมุมองต่ออนาคตที่ไม่แน่นอนในสายตานักกลยุทธ​ หัวข้อแรกที่ผมอยากจะชวนคุยก็คือ อนาคตนี่มันคืออะไรกันแน่
อนาคตคืออะไร
นิยามที่แท้จริงของคำว่าอนาคตสำหรับแต่ละคนคงมีความแตกต่างกันครับ แต่ผมอยากจะชวนทุกท่านให้คิดถึงกรอบความหมายเรื่องอนาคตกันก่อนที่เราจะคุยถึงวิธีจัดการกับมัน อย่างแรกที่ต้องเข้าใจ คือ อนาคตไม่ใช่ความจริง ความจริงมีเพียงอดีตและปัจจุบัน ดังนั้น อนาคตจึงเป็นแค่สิ่งสมมติที่เราคิดขึ้นมาเท่านั้น เมื่อมันไม่ใช่ความจริง อนาคตจึงเป็นแค่ Opinion ไม่ใช่ Fact ต่อมา อนาคตคือความไม่แน่นอน เพราะมันยังมาไม่ถึง อนาคตจึงไม่ใช่สิ่งตายตัว ดังนั้น เราอาจจะสรุปได้ว่า อนาคตเป็นเพียงความเห็นที่ไม่แน่นอนเท่านั้น
เมื่อเราสรุปได้แบบนี้ ในสายตาของนักกลยุทธ เราคงเริ่มมองออกว่า อนาคตอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นได้เพียงแบบเดียว ไม่ได้หมายถึงหนัง sci-fi หรือเวลาคู่ขนานนะครับ แต่ในเมื่ออนาคตคือความเห็น มันจึงสามารถแตกแขนงได้หลายแบบ เหมือนที่เราเรียกกันว่า การทำ scenario analysis นั่นแหละครับ
และเมื่อเรามีฐานความคิดแบบนี้ สิ่งที่เป็นหน้าที่ของนักกลยุทธต่อไป คือ การแยกแยะสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนมาก ออกจากความไม่แน่นอนน้อยหรือค่อนข้างแน่นอน เพื่อให้เราสามารถมองภาพอนาคตได้ระดับหนึ่ง การเห็นภาพอนาคตนั้นสำคัญมากๆ เพราะต้องอย่าลืมว่าการปรับตัวตามสถานการณ์ปัจจุบันแม้จะดี แต่สุดท้ายองค์กรก็จะเป็นผู้ตามเท่านั้น การจับแนวโน้มได้ก่อนเพื่อก้าวไปข้างหน้าจึงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อให้องค์กรก้าวไปสู่การเป็นผู้นำได้
วิธีคิดอนาคตเชิงกลยุทธ
ตามหัวข้อวันนี้ว่าเราจะมองอนาคตอย่างมีกลยุทธอย่างไร ผมขอยกเนื้อหาที่ผมได้จากการฟังอาจารย์ธนัย ชรินทร์สาร แห่ง Steategy Essential มาเล่าเพื่อเป็นหลักคิดในการมองอนาคตด้วยกันครับ
ขั้นตอนที่ 1: รู้จักตัวเราในปัจจุบัน
ก่อนที่เราจะเข้าใจอนาคตที่ไม่แน่นอน เราก็ต้องเข้าใจสิ่งที่แน่นอนอย่างตัวเราในปัจจุบันก่อน แม้ว่าตัวเราเองก็ไม่ได้เป็นสิ่งแน่นอนคงที่ แต่การเข้าใจถึงจุดยืน ความเชื่อ จุดแข็งจุดอ่อน ในปัจจุบันก็เป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าเป็น Brand ก็ต้องเข้าใจว่า Brand เราเป็นอย่างไรในสายตาผู้บริโภค เพราะเมื่อเราเข้าใจแนวโน้มและเลือกเส้นทางเดินในอนาคต เราเองก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของอนาคตเช่นกัน
ขั้นตอนที่ 2: รู้จักแนวโน้มอนาคต
คำถามแรกของเรื่องแนวโน้มคือ อะไรคือแนวโน้มหรือที่เราเรียกว่า Trend ลองทำความเข้าใจจากตัวอย่างด้วยกัน สมมติว่า เราได้ยินข่าวใหญ่ๆซักข่าวว่าจะมีการประดิษฐ์สุดล้ำอะไรซักอย่าง อย่างในอดีตก็เช่น รถยนต์บรรทุกพลังงานไฟฟ้า 100% ยี่ห้อ Nicola เรื่องที่น่าตื่นเต้นเกิดขึ้นในข่าวแม้ว่าจะไม่น่าเป็นไปได้แต่ด้วยแรงส่งด้าน social เราก็มีแนวโน้มที่จะเชื่อ แท้จริงแล้ว รถยนต์ Nicola ได้เคยมีการผลิตหรือการขายหรือไม่ คำตอบคือไม่ แต่หัวสมองเราก็คาดหวังไปถึงสิ่งประดิษฐ์เปลี่ยนโลกและผลกำไรจากการลงทุน เรามักจะใช้คำว่า นี่คือการลงทุนกับแนวโน้มอนาคต แต่แท้จริงแล้วสิ่งนี้ไม่สามารถเรียกได้ว่าแนวโน้มด้วยซ้ำ
แนวโน้มประกอบด้วย 2 องค์ประกอบย่อย ข้อแรก คือ แนวโน้มเริ่มต้นจากความจริงอย่างน้อยหนึ่งเรื่อง เมื่อเราพบว่ามี fact แล้วหนึ่งสิ่ง องค์ประกอบข้อสองคือ ความจริงอีกหนึ่งเรื่อง นั่นคือ เมื่อเรื่องจริงสองเรื่องมาต่อกัน เราจึงเริ่มเชื่อมสองจุดนี้เข้าด้วยกันเป็นทิศทาง ดังนั้น ถ้าเราได้ยินข่าวอะไรมา ในฐานะนักกลยุทธ เราต้องพิจารณาก่อนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง หรือเคยเกิดขึ้นจริงแล้วหรือยัง และมันจะเกิดขึ้นซ้ำต่อกันเป็นทิศทางไหม เช่น ถ้าเราได้ข่าวการเปิดตัวรถยนต์ที่บินได้สุดล้ำ เราต้องพิจารณาว่ามันเป็นแค่ข่าวลือหรือข้อเท็จจริง และถ้านี่คือข้อเท็จจริงแล้วมันมีข้อเท็จจริงอื่นที่เกิดต่อเนื่องหรือไม่ ถ้าเรายังไม่พบกิจกรรมการขายหรือการผลิตใดๆเลย แบบนี้ถือว่าเป็นข่าวที่เราฟังได้ แต่ยังไม่ใช่แนวโน้ม
1
แน่นอนว่า ถ้าเราสามารถเชื่อมเรื่องจริงหลายเรื่องเข้าด้วยกันได้ เรายิ่งเห็นแนวโน้มที่ชัดเจนขึ้น แต่บางครั้งเราก็จะเจอปัญหาในขั้นตอนนี้ คือ ถ้าเรารอให้เรื่องเชื่อมกันมากเกินไปบางครั้งในฐานะนักกลยุทธ เรื่องนั้นก็อาจจะกลายเป็นแนวโน้มที่ไม่สดใหม่หรือไม่น่าสนใจแล้ว อีกปัญหาคือ เรื่องที่เชื่อมกันอาจมีทิศทางไม่เหมือนกันไปคนละทิศละทาง ลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นได้บ่อย และเราต้องกลับไปดูนิยามอนาคตอีกทีครับว่า มันคือข้อคิดเห็นที่ไม่แน่นอนและอาจจะมีหลายแบบ ดังนั้นแนวโน้มก็อาจมีได้หลายทิศทางเช่นกัน
ขั้นตอนที่ 3: เรียนรู้ Disruption
ต่อจากแนวโน้มแล้ว การจะเข้าใจอนาคตก็ต้องเข้าใจตัวหยุดแนวโน้ม ที่จะมีผลทำให้แนวโน้มนั้นๆหยุดหรือเปลี่ยนทิศทาง ต้องอย่าลืมว่าอนาคตคือสิ่งไม่แน่นอน ดังนั้น แนวโน้มก็ต้องมีวันหยุดหรือเปลี่ยนเป็นเรื่องแน่นอนเช่นกัน แนวโน้มไม่มีวันที่จะคงที่ตลอดครับ ไม่อย่างนั้บริษัทจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จในอดีต ย่อมไม่มีวันล้มหายตายจาก ซึ่งมันไม่เป็นความจริงเลย
การศึกษาการ disruption ก็ไม่ต่างกับการศึกษาแนวโน้ม แต่เป็นแนวโน้มที่จะมาหยุดหรือทำให้แนวโน้มหลักที่เราสนใจเปลี่ยนทิศทาง การติดตามแนวโน้มอื่นที่จะมา disrupt เป็นการระแวดระวังต่อสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นเพราะความไม่แน่นอน แต่อีกทางหนึ่งก็เป็นการลดระดับความไม่รู้ของเราเองและทำให้ภาพอนาคตของเราใกล้เคียงกับความแน่นอนมากขึ้น ทั้งเรื่องแนวโน้มและ disruption เราจะสามารถจัดระเบียบความคิดเป็นรูปแบบได้หลายอย่าง ที่เราเรียกว่า alternative futures หรือ scenario เพื่อให้เรามีภาพทัศน์ที่หลากหลายและสามารถไปสู่ขั้นตอนสุดท้ายได้
ขั้นตอนที่ 4: เลือก Vision สู่อนาคต
เมื่อเราเห็น Alternative Futures ที่หลากหลายแล้ว รู้จักตัวเองแล้ว คราวนี้ก็ถึงเวลาที่เราจะเลือกเส้นทางเพื่อให้ตัวเราเข้าไปอยู่ในอนาคตนั้นๆแล้ว หลังจากวิเคราะห์เรื่องตัวเองและภาพนอกแยกมาเป็นชิ้นๆ ตอนนี้ถึงเวลาที่เอาทุกอย่างกลับมาสังเคราะห์รวมกัน เพื่อกำหนดทิศทางของธุรกิจและทำแผนกลยุทธเพื่อสนับสนุนทิศทางนั้นๆ ดูจากตัวเราว่าเหมาะสมกับ Alternative Future แบบไหน แล้วก็ตัดสินใจได้เลยครับ
อย่างไรก็ดี การเลือกกลยุทธในการดำเนินธุรกิจแม้ทิศทางหรือ vision จะมีความสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า คือความยืดหยุ่น ดังนั้น การที่เราประมวลผลจาก Trend และ Disruption และเห็นว่ามี Alternative Futures หลายแบบ จึงเป็นประโยชน์ต่อการปรับมุมมองเชิงกลยุทธให้มีความยืดหยุ่นมากๆ
ทั้งหมดนี้เป็นวิธีคิดเพื่อให้เราสามารถตัดสินใจเบือกกลยุทธภายใต้ภาวะที่ไม่แน่นอนแบบนี้ได้ ทำให้เราแยกเรื่องที่สำคัญเป็นแนวโน้มออกจากเรื่องที่ข่าวดังแต่ไม่เป็นแนวโน้มได้ อย่าลืมนะครับว่า หน้าที่ของนักกลยุทธคือการหาเรื่องเล็กๆที่มีแนวโน้มจะเติบโต มากกว่าหาเรื่องใหญ่ๆที่กำลังจะกลายเป็นเรื่องเล็ก เพราะแบบนี้การอ่านแนวโน้มจึงสำคัญมากๆครับ
Happy Learning
ขอบคุณครับ
ชัชฤทธิ์
โฆษณา