19 ก.ค. 2021 เวลา 01:50 • ข่าว
อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้แจงทุกรายละเอียดกรณีจดหมาย บ.แอสตร้าฯ ส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมเปิดไทม์ไลน์การจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในไทย
1
วันที่ 18 ก.ค.2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวชี้แจงกรณีมีการเปิดเผยจดหมายบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ส่งถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขว่า จดหมายของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าที่ส่งถึงนายอนุทิน เพื่อขอบคุณที่สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงประเทศอื่นนอกอาเซียน คือ มัลดีฟส์ และไต้หวัน รวม 8 ประเทศ
ซึ่งจดหมายมีการระบุถึงข้อตกลงเจรจาจะส่งมอบวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยเริ่มในเดือน มิ.ย. 2564 แต่มีการส่งล่วงหน้ามาตั้งแต่เดือน ก.พ. 2564 และพูดถึงเรื่องจำนวนวัคซีนที่สั่งจอง ประเทศไทยมีการจองมากที่สุด 61 ล้านโดส คิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนวัคซีนที่มีการจองในอาเซียน บริษัทยืนยันการจัดส่งวัคซีนให้ประเทศไทย 1 ใน 3 ของวัคซีนที่ผลิตได้ และจะพยายามส่งให้ครบถ้วนตามสัญญา
โดยช่วงทำสัญญาจองและลงนามสัญญา 3 ฝ่าย ยังไม่ได้มีการผลิตวัคซีนจริง เป็นการทำสัญญาจองล่วงหน้าจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่า แต่ละเดือนจะผลิตได้เท่าไร ส่งให้เท่าไรและเมื่อไร จึงต้องมีการเจรจาแจ้งล่วงหน้าเป็นรายเดือน ซึ่งวันที่ 24 เม.ย. 2564 กรมควบคุมโรคทำหนังสือแจ้งแอสตร้าเซนเนก้าว่าต้องการวัคซีนจำนวน 6 ล้านโดส ในเดือน มิ.ย. 2564 , เดือน ก.ค. - พ.ย. 2564 เดือนละ 10 ล้านโดส และเดือน ธ.ค. 2564 จำนวน 5 ล้านโดส รวม 61 ล้านโดส
แต่การส่งมอบวัคซีนขึ้นกับกำลังการผลิตว่าได้มากน้อยเท่าไรและส่งให้เราได้เท่าไร ดังนั้นจำนวนที่แจ้งไปไม่ได้แปลว่าจะได้ 100% ต้องเป็นการเจรจาทั้งสองฝ่ายในแต่ละเดือน และตอนทำสัญญาไม่มีการระบุจำนวนวัคซีนที่จะส่งออกต่างประเทศ เพียงแต่ระบุว่า ขอให้ประเทศไทยสนับสนุนและไม่ขัดขวางการส่งออกไปต่างประเทศ
ส่วนกรณีที่จดหมายมีการระบุว่ากระทรวงสาธารณสุขต้องการวัคซีนเดือนละ 3 ล้านโดสนั้น นพ.โอภาส กล่าวว่า เป็นการอ้างอิงถึงการประชุมไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2563 ซึ่งเป็นเพียงการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน โดยมีการสอบถามความสามารถในการฉีดวัคซีนของประเทศไทย ซึ่งข้อมูลที่มีคือเคยฉีดเดือนละ 3 ล้านโดส กรมควบคุมโรคยังไม่เคยบอกอย่างเป็นทางการว่าจะฉีดได้แค่ 3 ล้านโดส ต่อมามีตัวเลขประมาณการและแจ้งแอสตร้าเซนเนก้าว่าขีดความสามารถฉีดได้ถึง 10 ล้านโดสถ้ามีวัคซีนเพียงพอ
2
เพราะฉะนั้น ข้อมูลที่บอกว่าแอสตร้าเซนเนก้าจะส่งให้ไทยเท่าไร มี 2 ส่วน คือ ความต้องการของประเทศไทย และกำลังการผลิต จะต้องเอา 2 ส่วนมาเชื่อมต่อกันจึงจะเป็นการส่งวัคซีนจริง ซึ่งขณะนี้ก็มีการส่งมาให้เราเรื่อยๆ บางสัปดาห์ก็ส่งให้ 2 ครั้ง
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ขณะนี้การผลิตของแอสตร้าเซนเนก้าในประเทศไทยพยายามจะผลิตให้ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งแอสตร้าเซนเนก้าไม่ได้แจ้งจำนวนการผลิตมา จากการคำนวณอยู่ที่ประมาณ 15 ล้านโดสต่อเดือน เพราะฉะนั้น ถ้าคิด 1 ใน 3 คือจำนวน 5 ล้านโดสต่อเดือนเป็นอย่างต่ำ และการผลิตวัคซีนขึ้นกับหลายปัจจัย รวมทั้งชีววัตถุตั้งต้น จึงยากที่บริษัทจะรับปากได้ 100% แต่จำนวนวัคซีนในสัญญากับความต้องการของไทยคือ 61 ล้านโดส ภายในเดือน ธ.ค. 2564 โดยจะต้องมีการเจรจาเป็นรายเดือน ส่วนที่มีข่าวว่า จะขยายไปถึง พ.ค. 2565 ก็ต้องเจรจาต่อไป แต่บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ไม่เคยระบุถึงกรณีนี้
1
นอกจากนี้ นพ.โอภาส ได้กล่าวถึงไทม์ไลน์โรคโควิด-19 และการจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า มาฉีดให้คนไทย โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค. 2563 ที่พบนักท่องเที่ยวชาวจีนจากอู่ฮั่นติดเชื้อในไทยคนแรก จากนั้นคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเห็นชอบแผน blueprint การเข้าถึงวัคซีน ,กระทรวงสาธารณสุขลงนามสนับสนุนถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ให้ผู้ผลิตในประเทศไทย กระทั่งมีการลงนามในสัญญา 3 ฝ่าย บ.แอสตร้าเซนเนก้าประเทศไทย สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมควบคุมโรค ไล่มาจนถึง ครม. เห็นชอบการจองวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าและ เห็นชอบกรอบการดำเนินงาน 61 ล้านโดส ตั้งแต่เดือน มิ.ย. - ธ.ค. 2564
#workpointTODAY
#สาระความรู้เพื่อวันนี้
ไม่พลาดข่าวธุรกิจ การตลาดที่สำคัญ ติดตาม TODAY Bizview https://bit.ly/3picIeS
ติดตามรายการของ workpointTODAY ทาง YouTube https://bit.ly/2YDfyiK
โฆษณา