20 ก.ค. 2021 เวลา 02:50 • คริปโทเคอร์เรนซี
กรณีศึกษา ห้องน้ำมหาวิทยาลัยเกาหลีใต้ เปลี่ยนอุจจาระเป็นคริปโท
4
ช่วงที่ผ่านมา คริปโทเคอร์เรนซีเป็นที่ถกเถียงกันอยู่เสมอว่าจะสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้หรือไม่
แต่รู้หรือไม่ว่าที่ประเทศเกาหลีใต้ ได้มีการประยุกต์ใช้คริปโทเคอร์เรนซีเพื่อสร้าง Ecosystem สำหรับการรักษาสิ่งแวดล้อม
โดยโปรเจกต์ที่เริ่มไปแล้ว ก็คือ “BeeVi” ห้องน้ำรักษ์โลก
ห้องน้ำที่เมื่อเราอุจจาระเสร็จ เราจะได้รับคริปโทเคอร์เรนซีเป็นสิ่งตอบแทน
แล้วโปรเจกต์เปลี่ยนอุจจาระเป็นคริปโทเคอร์เรนซี น่าสนใจขนาดไหน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
1
โปรเจกต์นี้เกิดขึ้นจาก Cho Jae-weon ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมเมืองและสิ่งแวดล้อม ที่สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติอุลซาน
ศาสตราจารย์ท่านนี้ได้ออกแบบห้องน้ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ชื่อโปรเจกต์ว่า BeeVi ซึ่งมาจากคำว่า Bee ผสมกับ Vision โดยห้องน้ำจะเชื่อมกับอุปกรณ์ที่สามารถแปลงอุจจาระให้เป็นก๊าซชีวภาพและปุ๋ย
4
สำหรับวิธีการทำงานของห้องน้ำคือ หลังจากเราทำธุระเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ระบบจะใช้ปั๊มสุญญากาศในการส่งอุจจาระลงไปในถังบรรจุที่อยู่ใต้ดิน
ซึ่งเหตุผลที่ต้องใช้ปั๊มสุญญากาศเพื่อเป็นการประหยัดการใช้น้ำนั่นเอง
และถังบรรจุมีไว้เพื่อเก็บจุลินทรีย์สำหรับย่อยสลายของเสียให้อยู่ในรูปแบบของก๊าซมีเทน
หลังจากผ่านกระบวนการทั้งหมดที่กล่าวมา อุจจาระก็จะถูกเปลี่ยนเป็นแหล่งพลังงานสำหรับใช้ในอาคาร และถูกนำไปใช้ในเตาแก๊ส หม้อต้มน้ำร้อน และอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่น ๆ อีกมากมาย
3
ในขณะเดียวกัน อุจจาระที่เหลือจากการย่อย ก็จะถูกนำไปทำเป็นปุ๋ยสำหรับเพาะปลูกพืชพันธุ์
อย่างเช่น ข้าวบาร์เลย์ในการดูแลของมหาวิทยาลัย ก็ใช้ปุ๋ยนี้เช่นกัน
3
จากงานวิจัย โดยเฉลี่ยแล้วคนจะถ่ายอุจจาระประมาณ 500 กรัมต่อวัน
ซึ่งสามารถแปลงเป็นก๊าซมีเทนได้ 50 ลิตร
2
ด้วยปริมาณก๊าซเท่านี้เองสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 0.5 กิโลวัตต์-ชั่วโมง
หรือใช้เป็นพลังงานสำหรับขับรถยนต์ได้ประมาณ 1.2 กิโลเมตร
3
หลายคนฟังแล้วก็คงเห็นด้วยว่าโปรเจกต์นี้ดูน่าสนใจและมีประโยชน์
แต่ในความเป็นจริงนั้น จำนวนผู้ใช้งานจริงกลับมีตัวเลขที่น้อยมาก
1
Cho Jae-weon คิดว่าโปรเจกต์นี้จะสามารถสร้างประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยได้ เขาจึงได้เริ่มนำไอเดียใส่คุณค่าให้กับโปรเจกต์ลงไป โดยจะเป็นการให้ผลตอบแทนแก่ผู้ที่ใช้งาน
ผลตอบแทนที่ว่านี้ไม่ใช่เงินสด สกุลเงินวอน แต่เป็นคริปโทเคอร์เรนซี ชื่อว่า “Ggool”
ซึ่งมีความหมายว่า น้ำผึ้ง แจกจ่ายให้แต่ละคนที่ใช้ห้องน้ำของโปรเจกต์ สูงสุด 10 Ggool ต่อวัน
โดยนักศึกษาจะสามารถใช้คริปโทเคอร์เรนซีนี้
เพื่อซื้อสินค้าภายในร้านค้าของมหาวิทยาลัย
ตั้งแต่กาแฟ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผลไม้ ไปจนถึงหนังสือ
โดยวิธีการใช้คือสแกน QR Code เพื่อชำระเงินด้วย Ggool
มีนักศึกษาหลายคนพึงพอใจกับโปรเจกต์นี้อย่างมากเพราะมันทำให้สิ่งที่พวกเขาเคยมองว่าเป็นของสกปรก กลับสร้างประโยชน์ให้ตัวเอง
บางคนยังกล้าพูดถึงเรื่องนี้ระหว่างที่รับประทานอาหารอีกด้วยว่าหลังจากทำธุระขับถ่ายเสร็จแล้วจะนำเงินไปซื้ออะไรดี
3
ปัจจุบันโปรเจกต์นี้ยังทดลองเพียงแค่มหาวิทยาลัยเดียวเท่านั้น แต่ถ้าหากได้ผลตอบรับที่ดีขึ้น ก็มีโอกาสที่จะขยายไปสู่พื้นที่อื่น ๆ อีกมากมายตามมา
แม้ว่าเรื่องนี้จะดูเป็นเรื่องที่หลายคนอาจมองว่าตลก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโปรเจกต์ดังกล่าวถือเป็นการประยุกต์ใช้คริปโทเคอร์เรนซีเข้ากับชีวิตประจำวันได้อย่างดี
3
ก็น่าติดตามต่อไปว่า โปรเจกต์นี้จะเติบโตจากโปรเจกต์ในมหาวิทยาลัย
กลายเป็นโปรเจกต์ระดับชุมชนหรือใหญ่กว่านั้น คือระดับประเทศได้หรือไม่
หากทำสำเร็จ ก็คงเป็นเรื่องที่น่าศึกษาว่า การเปลี่ยนอุจจาระเป็นคริปโทเคอร์เรนซี ก็ช่วยสิ่งแวดล้อมได้เหมือนกัน..
1
โฆษณา