28 ก.ค. 2021 เวลา 02:00 • ธุรกิจ
10 เรื่องจริงที่คุณไม่รู้! ประกัน COVID
ประกัน COVID 19 แบบ เจอ จ่าย จบ หรือ ติดปั๊บรับเงินก้อน เป็นประกันอีกรูปแบบที่ได้รับความนิยมอย่างมากเนื่องจากสามารถทำได้โดยมีเงื่อนไขไม่มาก ค่าเบี้ยประกันต่อปีไม่สูง และได้รับเงินเคลมประกันเป็นก้อนตามที่กรมธรรม์กำหนด
เช่น 50,000 บาท 100,000 บาท ฯลฯ เมื่อติด COVID แต่ทว่าสถานการณ์ในตอนนี้พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือการแพร่ระบาดมีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้หลายบริษัทที่เคยรับทำประกัน COVID ทยอยออกมายกเลิกหรือไม่รับคนทำกรมธรรม์เหล่านี้เพิ่ม
ซึ่ง www.ThaiSMEsCenter.com เห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงวิกฤติในการแพร่ระบาดได้อย่างแท้จริง และเราเชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่ยังไม่มีข้อมูลในเรื่องของประกัน COVID มากพอ
ภาพจาก bit.ly/3wKPOPo
📌 1.จุดเริ่มต้นของประกัน COVID
จากสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID ที่เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2562 และเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น จนมีการแพร่ระบาดในระลอกที่ 1 ระลอกที่ 2 จนมาถึงปัจจุบันซึ่งเป็นระลอกที่ 3 ช่วงปี 2563 หลายบริษัทเริ่มหันมาออกแบบกรมธรรม์ COVID มากขึ้น ในขณะนั้นพบว่า มีแผนกรมธรรม์มากมาย เช่นรับเงินก้อน 100,000 บาท เมื่อตรวจพบว่าติดเชื้อ หรือการให้เงินชดเชยกรณีนอนโรงพยาบาลวันละ 300 บาท สูงสุด 14 วันเป็นต้น และยังมีอีกหลายแผนประกันชีวิตที่น่าสนใจ ซึ่งได้รับความสนใจจากลูกค้าจำนวนมาก
📌 2.แบบประกันเจอปุ๊บจ่ายเงินทันที คนสนใจมากที่สุด
ด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดที่รุนแรงมากขึ้น ประชาชนส่วนใหญ่วางแผนป้องกันความเสี่ยงให้กับตัวเองด้วยการซื้อประกันภัยแบบเจอปุ๊บจ่ายเงินทันที เพราะเชื่อว่าเป็นอีกรูปแบบของวิธีบริหารการเงินที่เหมาะสม เพื่อให้มีเงินก้อนหากติดเชื้อ COVID ซึ่งกรมธรรม์แบบเจอปุ๊บจ่ายเงินทันทีได้รับความสนใจมากที่สุดซึ่งประกันรูปแบบนี้ หากเราตรวจพบว่าติดเชื้อ ประกันจะจ่ายเป็นเงินก้อนให้เรา ซึ่งมีตั้งแต่ 50,000-100,000 บาท ขึ้นอยู่ที่ว่าเราซื้อประกันในมูลค่าเท่าไร
ภาพจาก bit.ly/3xObn2W
📌 3.เงื่อนไขข้อยกเว้นที่ควรรู้
แน่นอนว่ากรมธรรม์จากบริษัทประกันเหล่านี้ศึกษามารอบคอบและมีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม เช่น คนที่มีโรคประจำตัวไม่สามารถทำได้ หรือกลุ่มคนบางอาชีพที่เป็นกลุ่มเสี่ยง นอกจากนี้ยังมีบางบริษัทไม่อนุญาตให้คนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทยทำประกันได้อีก หรือหากเป็นชาวไทยแต่อาศัยในประเทศที่เป็นกลุ่มเสี่ยงก็ไม่ได้เช่นกัน และสำหรับใครที่เพิ่งเดินทางมาจากต่างประเทศมีความจำเป็นต้องกักตัวก่อน 14 วันเป็นอย่างน้อย ถึงจะทำประกันได้ เป็นต้น
📌 4.ยอดทำประกัน COVID มูลค่ารวมกว่า 10,000 ล้านบาท
ข้อมูลจากสมาคมประกันวินาศภัยระบุว่า 6 เดือนแรก ของปี 2564 คนไทยซื้อประกันภัย COVID แล้วกว่า 10 ล้านกรมธรรม์ ซึ่งถือว่าสูงมาก สูงกว่าปี 2563 ตลอดทั้งปีอยู่ที่ 9.3 ล้านกรมธรรม์ มียอดเบี้ยประกันรวม 3,500 ล้านบาท ส่วนในปี 2564 มียอดทะลุ 10,000 ล้านบาทซึ่งถือว่าสูงมาก
ภาพจาก bit.ly/3xWVA1u
📌 5.มูลค่าการเคลมประกันอาจสูงถึง 1,000 ล้านบาท
ตัวเลขจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ณ สิ้น มี.ค.2563 มีมูลค่าการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนแตะ 170 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 77.3 ล้าน ณ สิ้น ธ.ค.2563 แต่คาดว่า มูลค่าการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนหรือการเคลมประกันจะสูงมากขึ้นเรื่อยนับจากนี้เพราะมีคนซื้อกรมธรรม์เฉลี่ยกว่าวันละ 100,000 รายโดยคาดว่าสินไหมทดแทนจะสูงกว่าปกติถึง 5 เท่าหรือไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาทจากการแพร่ระบาดในระลอกที่ 3 นี้และอาจสูงได้ถึง 1,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
📌 6.คนมืดแปดด้าน ยอมติด COVID เพื่อเคลมประกัน
จากปัญหารายได้ที่ลดลง และสถานการณ์แพร่ระบาดที่ยังไม่คลี่คลายเกิดเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเกิดอย่างการยอมติด COVID เพื่อเคลมประกัน ซึ่งหากได้ตามข้อมูลข่าวสารจะพบว่ามีข่าวลักษณะนี้ออกมาเป็นระยะๆ ซึ่งถือว่าเป็นพฤติกรรมเข้าข่ายฉ้อฉลหรือทุจริตไม่ได้เงินแถมมีโทษถึงอาญาจำคุกไม่เกิน 3 ปี
📌 7.บริษัทประกันเริ่มทยอยยกเลิกกรมธรรม์
ล่าสุดบริษัท สินมั่งคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ประกาศยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยการติดเชื้อ COVID แบบเจอจ่ายจบ หรือ COVID 2 in 1 หลังการแพร่ระบาด COVID ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยจะมีการคืนเบี้ยประกันภัยบางส่วนให้กับผู้เอาประกันถือเป็นกรณีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เนื่องจากโดยปกติกรมธรรม์ประกันภัย จะมีเงื่อนไข สามารถบอกยกเลิกกรมธรรม์ได้ เช่นกรณี ผู้เอาประกัน ที่อาจไม่พอใจบริษัทประกันภัย หรือบริษัทประกันภัย อาจตรวจสอบว่าลูกค้ามีความผิดปกติ ก็สามารถยกเลิกได้ เป็นต้น
📌 8.บางบริษัทใช้มาตรการยกเลิกการต่ออายุกรมธรรม์
บริษัทประกันบางแห่งไม่ถึงกับยกเลิกทั้งหมดแต่ก็ใช้มาตรการยกเลิกการต่ออายุกรมธรรม์และยกเลิกการขายโดยยังคงให้ความคุ้มครองลูกค้าที่ได้ทำประกันภัยไว้ก่อนมีประกาศนี้ โดยมีเหตุผลในการตัดสินใจเพราะมียอดเคลมพุ่งทะลุ 100% มาโดยตลอดและบริษัททำประเมินความเสี่ยงภัย ตามโมเดลที่วางไว้ จึงต้องบริหารความเสี่ยงภัยเพื่อไม่ให้กระทบกับการรับประกันภัยต่อไป
ภาพจาก bit.ly/3eswkbM
📌 9.คปภ.สั่ง ห้ามยกเลิกประกัน COVID
กลายเป็นกระแสดราม่าในทันทีเมื่อมีการยกเลิกกรมธรรม์ COVID ร้อนถึง คปภ.ที่ออกอาการไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ พร้อมสั่งการห้ามบอกเลิกประกัน หากไม่เชื่อจะใช้กฎหมายเข้าไปบังคับ โดยย้ำว่าพร้อมดูแลประชาชนเต็มที่ ไม่ต้องกังวลและจะเร่งหารือกับบริษัทประกันภัยรายอื่นๆ ให้เข้าใจตรงกันด้วย
📌 10.สัญญายกเลิกจะมีผล 30 วันหลังประกาศ
การประกาศยกเลิกกรมธรรม์ของบริษัทประกันทำให้ประชาชนจำนวนมากเกิดความกังวลซึ่งเรื่องนี้ คปภ.ได้ให้ความเห็นว่าการทำประกันภัยโควิดออกมา มีเป้าหมายเพื่อต้องการช่วยให้ประชาชนนำระบบประกันภัยมาช่วยรับมือความเสี่ยง และที่ผ่านมา คปภ.ก็ได้ย้ำมาตลอดให้บริษัทประกันทุกแห่งประเมินความสามารถในการรับทำประกันภัยของตัวเอง ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมก่อนที่จะรับ
ดังนั้นเมื่อหากรับประกันมาแล้ว ก็ต้องดูแลผู้เอาประกันภัยให้ได้ตามเงื่อนไข ไม่ควรบอกเลิกแบบนี้ ดังนั้นขอให้ประชาชนยังเพิ่งกังวลหรือตื่นกลัว เพราะตอนนี้การบอกเลิกก็ยังไม่มีผลทันทีจะมีผลหลัง 30 วันนับจากประกาศ แต่ระหว่างนี้ คปภ.ก็พร้อมเข้าไปดูแลคุ้มครองผู้เอาประกัน และห้ามไม่ให้มีการยกเลิกเกิดขึ้น
สิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นจากเหตุการณ์นี้ไม่ว่าสุดท้ายกรมธรรม์ COVID จะสามารถยกเลิกได้หรือไม่ก็ตาม นั่นคือความหวาดกลัวและความบอบบางในระบบเศรษฐกิจ เพราะหากมองในอีกมุมหนึ่งบริษัทประกันเหล่านี้ได้ประเมินความเสี่ยงไว้ทุกทิศทางถึงได้ออกแบบกรมธรรม์ให้ประชาชนเลือกซื้อ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่บริษัทเองประเมินว่าคงไปต่อไม่ไหว หรือมองว่าสถานการณ์แพร่ระบาดนี้จะยังไม่มีทีท่าคลี่คลายจึงทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น
อ้างอิงจาก https://bit.ly/3BkIEEM
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน ติดตามได้ที่ Add LINE id: @tfcacademy
อัพเดทและติดตามข่าวสารได้ที่
Line : @thaifranchise
Twitter : @thaifranchise
Facebook (Marketing More) : https://bit.ly/3hEFNiT
โฆษณา