19 ก.ค. 2021 เวลา 11:50 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ปรากฏการณ์ กับดักสภาพคล่อง ที่ประเทศไทยกำลังเจอ
2
รู้ไหมว่าวันนี้ สภาพคล่องในประเทศไทย ซึ่งสะท้อนมาจากปริมาณเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์นั้น สูงสุดเป็นประวัติการณ์
3
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยก็ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน แต่ปัจจัยเหล่านี้ กลับไม่ได้เอื้อให้คนอยากนำเงินไปใช้จ่าย ไปลงทุน ไปขยายกิจการ หรือจ้างงานเพิ่ม ตามที่ฝ่ายนโยบายการเงินอยากจะให้เป็น
 
เรื่องนี้สามารถอธิบายได้ด้วย ปรากฏการณ์ทางเศรษฐศาสตร์ ที่เรียกกันว่า “กับดักสภาพคล่อง (Liquidity Trap)”
 
กับดักสภาพคล่อง คืออะไร และมันเกิดขึ้นเพราะอะไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
2
โดยทั่วไป เวลาจะบอกว่าสภาพคล่องในระบบการเงินสูงหรือไม่ เราก็จะดูได้จาก ปริมาณเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ และอัตราดอกเบี้ยหน้าธนาคาร
ถ้าปริมาณเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์มีมาก พร้อม ๆ กับ อัตราดอกเบี้ยหน้าธนาคารที่ต่ำ ก็หมายความว่า สภาพคล่องในระบบกำลังมีสูง
เพราะถ้าตามปกติแล้ว สถานการณ์ที่มีสภาพคล่องในระบบแบบนี้ มันจะเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้คนเอาเงินไปใช้จ่ายกันมากขึ้น เพราะฝากไปก็ได้ดอกเบี้ยต่ำ
1
เมื่อคนใช้จ่ายมากขึ้น บริษัทต่าง ๆ สามารถค้าขายได้ดี ก็จะไปกู้เงินมาขยายกำลังการผลิตและจ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งสุดท้ายก็ทำให้เศรษฐกิจนั้นเติบโตต่อไป
1
พูดง่าย ๆ ว่า ถ้าดอกเบี้ยนโยบายและดอกเบี้ยเงินฝากยิ่งลดลง ก็จะยิ่งกระตุ้นให้การใช้จ่ายและการลงทุนในประเทศสูงขึ้นได้นั่นเอง
 
แต่.. เมื่อดอกเบี้ยลดต่ำลงจนถึงจุดจุดหนึ่ง จะเริ่มเกิดเรื่องตรงกันข้าม คือการใช้จ่ายของครัวเรือนและการลงทุนในระบบเศรษฐกิจนั้น จะลดต่ำลงแทน
ในทางเศรษฐศาสตร์ ปรากฏการณ์นี้ถูกเรียกว่า “กับดักสภาพคล่อง”
6
คำนี้ถูกอธิบายโดย จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังชาวอังกฤษ
1
เคนส์บอกไว้ว่า ในช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนั้น เขาสนับสนุนให้รัฐบาลเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐ และลดภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านนโยบายทางการคลัง
1
ส่วนธนาคารกลางก็ควรลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อให้ประชาชนเอาเงินออกมาใช้ เพราะปกติแล้วความต้องการถือเงินจะแปรผกผันกับอัตราดอกเบี้ย
 
ในด้านนโยบายการเงิน ตามทฤษฎีแล้วถ้าอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น คนจะลดการใช้จ่ายและเอาเงินไปฝากธนาคารเพื่อรับผลตอบแทนจากดอกเบี้ย
1
ในทางกลับกัน ถ้าอัตราดอกเบี้ยลดลงคนจะไม่มีแรงจูงใจที่จะฝากเงิน และจะถอนเงินออกเพื่อไปใช้จ่ายมากขึ้น จนทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้นฟื้นตัวได้
 
อย่างไรก็ตาม เคนส์ก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่า นโยบายการเงินที่ลดดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่องนั้น เมื่อถึงจุดหนึ่งจะไม่สร้างแรงจูงใจให้คนทั่วไปถอนเงินออกมาใช้จ่ายมากไปกว่านี้
4
โดยสาเหตุหลัก ๆ ก็เพราะ คนจำนวนมากเริ่ม “ขาดความเชื่อมั่น” ต่อภาวะเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินอยู่ เพราะเหตุการณ์ที่ดอกเบี้ยลดต่ำลงมาก ๆ มักเกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังตกต่ำอย่างรุนแรง
6
Cr.matichon
เมื่อคนส่วนใหญ่เริ่มขาดความเชื่อมั่นในนโยบายลดอัตราดอกเบี้ย พวกเขาก็เลือกที่จะถือเงินสดไว้ก่อน แทนการที่จะนำเงินไปใช้จ่าย โดยเฉพาะคนที่กำลังขาดความมั่นคงในรายได้ปัจจุบันและรายได้ในอนาคต
การใช้จ่ายและการบริโภคที่ลดลงของคนส่วนใหญ่ จึงทำให้ไม่เกิดการลงทุนเพิ่ม และส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจยังคงไม่ฟื้นตัว แม้ผู้ควบคุมนโยบายการเงิน จะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกแค่ไหนก็ตาม..
1
คำถามสำคัญต่อมาก็คือ แล้วตอนนี้ประเทศไทย กำลังตกอยู่ในภาวะกับดักสภาพคล่องหรือไม่ ?
เราลองมาดูข้อมูลเหล่านี้กัน
2
- อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 0.5% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
- ปริมาณเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 14.4 ล้านล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ (ข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม 2564)
1
- ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ลดลงเหลือเพียง 118.8 จุด จาก 134.3 จุด ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19
- ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนคาดการณ์ของเดือนพฤษภาคม 2564 อยู่ที่ 143.4 จุด ซึ่งอยู่ในระดับเท่าเดิมเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทั้ง ๆ ที่ดอกเบี้ยนโยบายนั้นปรับลดลงมาตั้งแต่ 1.25% เหลือเพียง 0.5% ณ ตอนนี้
- ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2564) ลดลงเหลือเพียง 43.1 จุด ต่ำสุดในรอบ 22 ปี สะท้อนมุมมองของผู้บริโภคว่า ขาดความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจอย่างมาก
1
จะเห็นว่า แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะอยู่ในระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่สภาพคล่องในระบบก็อยู่ในระดับสูง แต่การลงทุนของภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้กระเตื้องขึ้น แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำก็ตาม
3
ซึ่งนั่นก็ทำให้เรา พอจะสรุปได้ว่า ณ ตอนนี้ ประเทศไทยกำลังตกอยู่ในภาวะกับดักสภาพคล่องแล้ว
และลำพังนโยบายการเงิน อย่างการลดอัตราดอกเบี้ยนั้น ไม่มีประสิทธิภาพพอจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในตอนนี้
2
กรณีศึกษาของการเกิด กับดักสภาพคล่อง ที่น่าสนใจเหตุการณ์หนึ่ง
ก็อย่างเช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ที่ญี่ปุ่นประสบกับวิกฤติฟองสบู่ราคาสินทรัพย์แตก จนทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย
Cr.scbam
ธนาคารกลางของญี่ปุ่นจึงปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงหลายครั้งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จากเดิมที่ระดับ 6% เมื่อปี 1990 ลงมาอยู่ที่ 0.5% ในปี 1995
4
แต่การลดลงของอัตราดอกเบี้ย กลับไม่ได้สร้างแรงจูงใจให้คนญี่ปุ่นนำเงินออกมาใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างที่รัฐบาลหวังไว้ จนต้องหาวิธีอื่น ๆ อย่างเช่น การอัดฉีดเงินเข้าระบบ และการใช้จ่ายภาครัฐ มาช่วยเสริมแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ
สรุปแล้วก็คือ ปรากฏการณ์กับดักสภาพคล่อง หรือก็คือ การที่อัตราดอกเบี้ยลดลงจนถึงจุดที่ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้แล้ว ปัจจัยสำคัญนั้นเกิดมาจาก การขาดความเชื่อมั่นในสภาพเศรษฐกิจของคนในประเทศ
2
ดังนั้นวิธีแก้คือ ภาคนโยบายต้องหาวิธีทำให้คนในประเทศ มีความเชื่อมั่นและมั่นใจขึ้นให้ได้ ว่าเศรษฐกิจในอนาคตจะกลับมาดี เพราะเมื่อคนเริ่มมั่นใจก็จะเริ่มทยอยกลับมาใช้จ่ายมากขึ้นเหมือนเดิม
2
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ ที่จะทำให้คนในประเทศเกิดความมั่นใจ ก็คือ “รัฐบาล”
ซึ่งไม่เพียงแค่การใช้นโยบายการคลัง ผ่านการใช้จ่ายของรัฐบาล เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ การลงทุนในโครงการสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่
 
แต่ยังต้องรวมไปถึงการสร้างบรรยากาศทางด้านสังคม การเมือง ที่เอื้อต่อการบริโภคและการลงทุนให้แก่นักลงทุนในประเทศและนักลงทุนต่างประเทศให้มากที่สุดเช่นกัน
4
ไม่อย่างนั้นต่อให้อัตราดอกเบี้ยจะต่ำแค่ไหน
สภาพคล่องจะมากเท่าไร ก็คงไม่มีใครกล้าออกมาจับจ่ายใช้สอยอยู่ดี..
2
โฆษณา