19 ก.ค. 2021 เวลา 13:00
หยุดคิดมากและพักหัวบ้างดีไหม? รวมสารพัดวิธีสร้างปุ่ม ‘เปิด-ปิด’ ให้สมอง
2
เคยเป็นกันบ้างไหม เลิกงานแล้วแต่หัวก็ยังหยุดคิดเรื่องงานไม่ได้ คนที่บ้านคุยด้วยก็ไม่ได้ยิน เพราะสมองเราลอยไปคิดเรื่องต่างๆ นานา จนคนรอบตัวต้องเรียกสติเรากลับมาด้วยการถามว่า “ฟังอยู่ไหมเนี่ย”
.
เราล้วนมีช่วงเวลาที่จมอยู่กับความคิดทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นความกังวลเรื่องงาน ความคิดมากเรื่องปัญหาชีวิต หรือจะเป็นความตื่นเต้นกับโปรเจกต์ใหม่ จนสมองสร้างสรรค์ไอเดียออกมาไม่หยุด แต่ไม่ว่าจะคิดลบหรือคิดบวก ถ้าเราคิดไม่หยุดไม่หย่อน สมองเราก็เหนื่อยเอาได้นะ
.
หากเราปล่อยให้ตัวเองเป็นแบบนี้บ่อยๆ อาจเกิดผลเสียตามมาทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ เช่น ไม่มีสมาธิ นอนไม่หลับ และละเลยคนรอบตัว
.
หยุดคิดไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ Darius Foroux ผู้เขียนบทความเรื่อง How To Create An On-Off Button For Your Mind จากเว็บไซต์ Medium จึงได้แนะนำวิธีสับสวิตช์สมอง ที่ลองแล้วได้ผลมา 4 วิธีดังนี้
.
.
1) เขียนมันออกมา!
.
หลายๆ ครั้งที่เราโกรธหรือเสียใจ สมาธิในการทำงานของเราลดลงอย่างเห็นได้ชัด เราไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งตรงหน้าได้ เพราะในหัวมักจะจินตนาการถึงเหตุการณ์ต่างๆ ก้อนความคิดพันกันยุ่งเหยิงราวกับหูฟังที่ถูกทิ้งไว้ในกระเป๋า วิธีที่จะช่วยให้เราแกะปมความคิดให้ออกมาเป็นเรื่องเป็นราวได้ก็คือ ‘การเขียน’
.
ไม่ว่าจะโกรธ เสียใจ หรือกังวล ระบายออกมาบนหน้ากระดาษให้หมด
.
การเขียนช่วยคลายความคิดและความรู้สึกที่พันกันอยู่ในหัว ให้ออกมาเป็นตัวอักษร เราเห็นความกังวลของเราเป็นรูปธรรมมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือ เราอาจค้นพบวิธีแก้ปัญหา หรือไม่ก็ตกตะกอนได้ว่าเรากำลังคิดมากจนเกินเหตุ
.
มีงานวิจัยมากมายที่ศึกษาว่าการเขียนส่งผลดีต่อสุขภาพจิต การเขียนช่วยให้เราปลดปล่อยความรู้สึกที่ก่อตัวอยู่ภายในให้ออกมาได้อย่างเสรี ปลอดภัย และเป็นส่วนตัว นอกจากนี้ยังช่วยให้เรามี Self-awareness มากขึ้นด้วย
.
ยังมีการเขียนอีกอย่างที่เราอยากแนะนำ ซึ่งก็คือเทคนิคที่ชื่อว่า Morning Pages หรือ การเขียนระบายสิ่งที่อยู่ในใจออกมาทุกเช้า เทคนิคนี้ช่วยให้เรารู้สึกโล่งและมีแรงทำงานมากขึ้นด้วย ลองอ่านบทความเกี่ยวกับ Morning Pages และมาฝึกเขียนไม่หยุดมือกับเราดีกว่า >>> https://bit.ly/3yYvH1q
.
.
2) นั่งสมาธิ
.
คนรุ่นใหม่บางคนอาจมีภาพจำที่ไม่ค่อยดีกับการนั่งสมาธิเท่าไร เพราะตอนเด็กๆ ถูกบังคับให้ทำสิ่งนี้ในวิชาพระพุทธศาสนา ตอนนั้นเรารู้สึกว่าการนั่งสมาธิช่างเป็น ‘เรื่องทรมาน’ เสียเหลือเกิน และความรู้สึกนั้นยังตราตรึงจนถึงทุกวันนี้
.
อย่างไรก็ตาม เพราะมีงานวิจัยมากมายที่พบว่าการนั่งสมาธิช่วย ‘ลดความเครียด’ ได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันคนจึงเริ่มหันมาฝึกและให้ความสนใจเรื่อง Mindfulness มากขึ้น มีแอปพลิเคชันมากมายที่ช่วยสอนนั่งสมาธิ หลายคนยังบอกอีกว่าพอมีเสียงนุ่มๆ ทุ้มๆ คอยไกด์ให้เราหายใจเข้า-ออก พวกเขารู้สึกว่าการนั่งสมาธิไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
.
การนั่งสมาธิช่วยให้เราไม่วนเวียนอยู่ในห้วงความคิด เมื่อเราจดจ่อกับร่างกายขณะที่หายใจเข้า-ออก เราจะเริ่มสงบและมีสติมากขึ้น ความคิดวุ่นวายก่อนหน้านี้ไม่ได้หายไปเสียทีเดียว ทว่ายังวิ่งอยู่ราวกับรถที่อยู่บนถนน แต่สิ่งที่ต่างกันออกไปคือเราไม่ได้ยืนอยู่กลางถนนแล้ว เรานั่งมองไกลๆ จากข้างทางแทน
.
เราอาจจะลองเริ่มจากการนั่งสมาธิสัก 5-10 นาทีต่อวันก่อนก็ได้ ลองท้าทายตัวเองให้ทำเช่นนี้ไปสัก 2 สัปดาห์ดู แล้วเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์อย่างชัดเจน
.
.
3) ปิดแจ้งเตือนโทรศัพท์และเครื่องมือสื่อสารต่างๆ ให้เป็นเวลา
.
ที่เรารู้สึกว้าวุ่นอยู่บ่อยๆ เป็นเพราะเรารับข้อมูลข่าวสารอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเรื่องงานหรือชีวิตส่วนตัว เพียงแค่กดเข้าโซเชียลมีเดีย หน้าฟีดของเราก็เสนอทั้งข้อความ รูป และวิดีโอ (ที่พร้อมเล่น) มาให้เราอย่างไม่หยุดหย่อน การนั่งอยู่เฉยๆ กลายเป็นเรื่องยาก เพราะ Notifications เด้งมาทักทายทุกชั่วโมง
.
ไม่แปลกเลยที่เราจะหยุดคิดไม่ได้ เพราะสมองเราไม่ได้หยุดพักเลยยังไงล่ะ
.
มีงานวิจัยหนึ่งได้ศึกษาเรื่องผลของการใช้เครื่องมือสื่อสารก่อนนอน โดยได้แบ่งคนออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกให้อ่านหนังสือบน IPad ก่อนนอน ส่วนอีกกลุ่มอ่านหนังสือเป็นเล่ม ผลพบว่ากลุ่มที่ใช้ IPad นั้น...
นอนดึกกว่า
เมลาโทนิน (ฮอร์โมนที่ควบคุมการนอน) หลั่งน้อย
นอนหลับไม่สนิท
ไม่รู้สึกสดชื่นในช่วงเช้า
รู้สึกง่วงในช่วงหัวค่ำ
.
เข้าใจว่าหลายๆ คนอาจจะต้องทำงานจนดึก เลยห่างจากหน้าจอมาทำอย่างอื่นก่อนนอนไม่ได้ แต่ถ้าหากว่า สิ่งเหล่านี้กระทบสุขภาพและประสิทธิภาพในการทำงานของเราในวันถัดไป การพักผ่อนให้เต็มที่และเอาแรงไปทำงานในวันพรุ่งนี้อาจจะดีกว่าหรือเปล่า
.
.
4) ใช้การนั่งสมาธิ 1 นาทีเป็นสวิตช์
.
วิธีอื่นๆ ที่กล่าวมาข้างต้นช่วยให้เราสงบมากขึ้น แต่ถ้าเราอยากตามหาสวิตช์สมองที่มันเวิร์กจริงๆ สำหรับเราล่ะ?
.
ในหนังสือเรื่อง Eight Mindful Steps to Happiness ได้แนะนำการนั่งสมาธิ 1 นาที ทุกๆ 1 ชั่วโมง แต่ Darius Foroux ผู้เขียนบทความได้ปรับเปลี่ยนเทคนิคเล็กน้อย เพื่อให้เข้ากับการใช้ชีวิตของเขา
.
เขาเปลี่ยนเป็นการนั่งสมาธิ 1 นาที ทุกๆ ครั้งที่จะเปลี่ยน ‘โหมดการทำงาน’
.
ยกตัวอย่างเช่น เขามักจะอ่านหนังสือก่อนเริ่มทำงานทุกเช้า เมื่ออ่านหนังสือเสร็จ เขาจะนั่งสมาธิ 1 นาทีก่อนจะเริ่มทำงาน พอถึงเวลาพักเที่ยง เขาจะหยุดงานที่ทำและนั่งสมาธิอีก 1 ก่อนจะลุกไปรับประทานอาหารเที่ยง
.
วิธีนี้จะช่วยให้สมองที่กำลังจดจ่อออกมาจากโหมดนั้นๆ และเป็นการบอกสมองว่าเรากำลังจะปรับไปทำอย่างอื่นแล้วนะ ไม่ว่าจะเป็นงานอื่นหรือการพักผ่อนก็ตาม
.
.
คอยสังเกตตัวเองอยู่เสมอว่าใช้พลังสมองและจิตใจไปกับอะไรบ้าง เลิกพกความเครียดไปไหนมาไหน และปล่อยวางความคิดที่สูบพลังเสียบ้าง มาพักผ่อนให้เต็มที่กันดีกว่านะ
.
อ้างอิง
.
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#selfimprovement
26
โฆษณา