20 ก.ค. 2021 เวลา 12:00 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี
กรณีศึกษา ทำไมนักเขียนบทซีรีส์เกาหลี ถึงมีแต่ผู้หญิง
รู้หรือไม่คะว่า ซีรีส์เกาหลีที่ได้รับความนิยม และมีเรตติงสูงปรี๊ด
ไม่ว่าจะเป็น ซีรีส์รักโรแมนติก อย่าง Crash Landing on You, Goblin, Master’s Sun
หนังระทึกขวัญอย่าง Kingdom และซีรีส์เสียดสีสังคมไฮโซ The Penthouse
ซีรีส์ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ล้วนเขียนบทโดย “ผู้หญิง” ทั้งสิ้น โดยในปี 2019 นิตยสาร Forbes เคยให้ข้อมูลเอาไว้ว่า เกือบ 90% ของนักเขียนบทในเกาหลีใต้ล้วนเป็นผู้หญิงเช่นกัน
แล้วทำไมนักเขียนบทในเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ถึงเป็นผู้หญิง ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ปัจจุบันนี้ไม่ว่าเราจะดูซีรีส์เรื่องไหน ก็มักจะเจอกับพระเอกที่แสนอบอุ่น และพระรองที่รักนางเอกสุดหัวใจ จนเราเลือกไม่ถูก ว่าควรจะเชียร์ให้นางเอกคู่กับใครดี
แต่รู้หรือไม่คะว่า สมัยก่อนผู้ชายในซีรีส์เกาหลีไม่ได้มีนิสัยน่ารักอย่างทุกวันนี้ ในทางกลับกันผู้ชายในซีรีส์มักจะมีนิสัยแข็งกระด้าง ไม่อ่อนโยน เนื่องจากแต่เดิมเกาหลี มีรูปแบบสังคมที่เพศชายเป็นใหญ่
2
หลายคนอาจจะไม่เชื่อ แต่ช่วงปี 2013 เกาหลีใต้ยังมีบทละครที่พระเอกโกรธนางเอก
จนถึงขั้นตบตีฝ่ายหญิงได้ง่าย ๆ หรือมีการบีบบังคับคล้าย ๆ ละครเรื่องสวรรค์เบี่ยงของไทย
แต่บทเหล่านั้นก็เริ่มหายไปแล้ว เนื่องจากรัฐบาลต้องการใช้ซีรีส์เป็น “สื่อกลาง”
ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชายเป็นใหญ่ในสังคมของเกาหลีใต้
2
โดยการสร้างตัวละครชาย ที่แสนอบอุ่นจนใคร ๆ ต่างหลงรักมาแทนที่
ซึ่งคนที่จะมาช่วยเปลี่ยนภาพลักษณ์เหล่านั้นได้เป็นอย่างดี ก็คือ “ผู้เขียนบทผู้หญิง” นี่เอง
2
อย่างไรก็ตาม การที่อุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้มีนักเขียนบทผู้หญิงเยอะขนาดนี้
มองผิวเผินอาจจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะสื่อถึงสังคมที่เปิดกว้าง และความเท่าเทียมทางเพศ
แต่ภายใต้ความเท่าเทียมนั้น กลับเป็นความเท่าเทียมอันจอมปลอม
เพราะจริง ๆ เกาหลีใต้มีระบบลำดับชั้นทางสังคมที่เข้มข้น โดยจะให้ความสำคัญกับผู้อาวุโส รุ่นพี่ ตำแหน่งงาน และสังคมชายเป็นใหญ่ก็ยังหลงเหลืออยู่
2
และรูปแบบทางสังคมนี้ ก็มีอยู่ในทุก ๆ แวดวงอาชีพ ซึ่งในอุตสาหกรรมบันเทิง ก็มีการแบ่งลำดับชั้นด้วยเช่นกัน ถึงแม้ว่าจะไม่ได้แสดงออกมาเป็นรูปธรรมก็ตาม
อย่างในกรณีของวงการบันเทิง ลึก ๆ แล้วผู้คนก็ยังให้การยอมรับเป็นลำดับขั้น
โดยชั้นที่มากสุดก็คือ นักแสดงภาพยนตร์ รองลงมาเป็นนักแสดงซีรีส์, นักร้อง, ไอดอล ไล่เรียงมาจนถึงนักแสดงตลก
2
ทำให้ในอดีตที่ผ่านมา หากไอดอลได้มารับบทการแสดงในซีรีส์
ก็มักจะได้รับกระแสแง่ลบหรืออคติก่อนเสมอ ว่าฝีมืออาจจะไม่ได้คุณภาพ
ทำให้หลาย ๆ ครั้ง เหล่าไอดอลก็ต้องพิสูจน์ตัวเอง มากกว่าคนที่เป็นนักแสดงอยู่เดิม
1
แม้ปัจจุบันบรรทัดฐานเหล่านี้จะเริ่มลดน้อยลงแล้ว และไอดอลเริ่มมีบทนำในซีรีส์มากขึ้น
แต่ข้อกังขาในความสามารถของพวกเขาก็ยังไม่ได้จางหายไปเสียหมด
และเรื่องนี้สำหรับวงการของคนที่ทำงานเบื้องหลังก็ไม่ต่างกัน
โดยหน้าที่ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด ก็คือ ผู้กำกับ ผู้ช่วยผู้กำกับ
ส่วนอาชีพคนเขียนบท กลับติดอยู่ในอันดับท้าย ๆ
ซึ่งถ้าหากจิ้มผู้กำกับและผู้ช่วยผู้กำกับขึ้นมา 40 คน จะมีสัดส่วนเป็นผู้ชายไปแล้วกว่า 98% เลยทีเดียว
โดยเหตุผลส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ผู้หญิงมีสิทธิน้อยมากที่จะได้รับการยอมรับและขึ้นมานั่งแท่นเป็นผู้กำกับนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ในอีกแง่หนึ่ง เหล่านักเขียนบทผู้หญิงเอง
ก็มีการพิสูจน์ตัวเอง ว่าพวกเธอก็มีความสามารถไม่ด้อยไปกว่าผู้ชาย
1
โดยเฉพาะ สำหรับซีรีส์บนจอแก้ว หน้าที่ของนักเขียนบท จะถือว่ามีอิทธิพลมากกว่าผู้กำกับด้วยซ้ำ
เนื่องจากเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ซีรีส์ ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ นั่นแปลว่า หากมีการขายลิขสิทธิ์ไปต่างประเทศ ฝั่งนักเขียนบท ก็จะได้รับเงินค่าลิขสิทธิ์ก้อนโตอีกด้วย
และที่ผ่านมา ซีรีส์หลาย ๆ เรื่อง ที่ผ่านการแต่งเติมความคิดสร้างสรรค์โดยนักเขียนบทผู้หญิง
ก็ประสบความสำเร็จ และได้รับความนิยมไปทั่วโลก
เราลองมาดู 5 อันดับ ซีรีส์เกาหลีใต้ในช่องเคเบิลที่ทำเรตติงสูงสุดตลอดกาลกันค่ะ
1. The World of the Married ซึ่งได้ถูกนำมาเขียนบทในเวอร์ชันเกาหลีโดยคุณจูฮยอน เรตติง 28.4%
2. Sky Castle เขียนบทโดยคุณยูฮยอนมี เรตติง 23.8%
3. Crash Landing on You เขียนบทโดยคุณพัคจีอึน เรตติง 21.7%
4. Goblin เขียนบทโดยคุณคิมอึนซุก เรตติง 17.8%
5. Reply 1988 เขียนโดยคุณอีอูจอง เรตติง 18.8%
 
โดยซีรีส์ทั้ง 5 เรื่องมีเพียงคุณจูฮยอนเท่านั้นที่เป็นนักเขียนบทผู้ชาย และที่เหลืออีก 4 ท่าน คือ นักเขียนบทผู้หญิง
1
นอกเหนือจากกระแสความนิยมของซีรีส์แล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจก็คือ บทบาทการพัฒนาซีรีส์เกาหลี ของนักเขียนบทผู้หญิง
ประเด็นแรก นักเขียนบทผู้หญิงสร้างบทละครที่เข้าใจผู้หญิงมากขึ้น
รู้หรือไม่ว่า ภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องของสหรัฐฯ มักจะสอบตกแบบทดสอบ Bechdel Test หรือ “แบบทดสอบเกี่ยวกับอคติทางเพศ” ซึ่งตอกย้ำภาพลักษณ์เหมารวมที่มีต่อผู้หญิง
เนื่องจากคนเบื้องหลังในอุตสาหกรรมบันเทิงของสหรัฐฯ ทั้งหมด มีผู้หญิงเพียงแค่ 27% เท่านั้น
ทำให้ตัวละครผู้หญิง มักจะถูกเล่าผ่านสายตาของผู้ชาย
แต่สำหรับเกาหลีใต้แล้ว ด้วยจำนวนผู้เขียนบทผู้หญิงที่มากกว่า
จึงตีความตัวละครผู้หญิงออกมาได้ละเอียดอ่อน และเข้าใจผู้หญิงมากกว่า
เช่น มิตรภาพระหว่างเพื่อนผู้หญิง และการนำเสนอความสามารถของผู้หญิงในด้านที่หลากหลาย
1
ซึ่งประเด็นนี้ก็สะท้อนออกมาเป็นซีรีส์แนวเฟมินิสต์ หรือเพื่อนหญิงพลังหญิงมากขึ้น
อย่างเรื่อง “Strong Woman Do Bong-Soon” และ “Mine” ที่เขียนโดยคุณแพกมีคยอง
รวมทั้งนักเขียนบทผู้หญิงยังสามารถถ่ายทอดตัวละครผู้ชาย ที่มีลักษณะนิสัยที่ชวนให้ผู้หญิงส่วนใหญ่ประทับใจ จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมพระเอกในซีรีส์เกาหลีหลายคน ถึงอยู่ในใจสาว ๆ ไปเกือบค่อนประเทศ
1
สำหรับประเด็นที่สอง ก็คือ สร้างบทละครที่มีความแปลกใหม่ ฉีกกรอบเดิม ๆ
1
บางคนอาจจะคิดว่านักเขียนบทผู้หญิง ก็คงจะเขียนบทรักโรแมนติกอย่างเดียวเท่านั้น
และบทละครก็คงจะต้องเป็นเรื่องราวรัก ๆ ใคร่ ๆ ที่ดูวนเวียนอยู่แค่ไม่กี่ประเด็น
แต่ถ้าหากเราลองสังเกตซีรีส์เกาหลีดูดี ๆ จะพบว่า
เนื้อหามักจะถ่ายทอดจากมุมมองของสายอาชีพต่าง ๆ มากขึ้น
แถมซีรีส์เกาหลียังมีการสอดแทรกเกร็ดความรู้ต่าง ๆ ลงไปในซีรีส์อีกด้วย
ซึ่งบทซีรีส์ในลักษณะนี้ ส่วนใหญ่ก็มาจาก นักเขียนบทผู้หญิง นั่นเอง
1
ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ที่เกี่ยวกับการแพทย์อย่างเรื่อง Doctors หรือ Hospital Playlist,
เรื่อง Start-Up ที่เกี่ยวกับการสร้างธุรกิจสตาร์ตอัป, เรื่อง Mouse ที่เป็นตำรวจสืบสวนสอบสวนหาฆาตกรโรคจิต
หรือแม้แต่อาชีพที่คนไม่ค่อยพูดถึง อย่างพนักงานเก็บกวาดที่เกิดเหตุหลังความตาย
จากเรื่อง Move to Heaven และเรื่อง It’s Okay to Not Be Okay ที่เล่าถึงการดูแลผู้ป่วยทางจิต
2
ที่น่าสนใจคือ ซีรีส์ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะไม่ใช่แค่การหยิบเรื่องอาชีพมาเล่าแบบผิวเผินเท่านั้น
แต่ยังเจาะลึกและอัดแน่นความรู้ของอาชีพนั้น ๆ
1
และแม้ว่าจะมีการแต่งเติมเรื่องราว จนบางทีก็ดูเกินจริงไปบ้าง
แต่ถ้าหากเราได้ดูซีรีส์จบแล้ว อย่างน้อย ๆ ก็ช่วยให้เราเข้าใจภาพรวมของการทำงานของแต่ละอาชีพ หรือกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับบางคนที่อยากจะทำอาชีพแบบนี้บ้าง
อ่านมาถึงตรงนี้ เราคงคิดว่าแรงขับเคลื่อนของผู้หญิงในวงการบันเทิง จะทำให้พวกเธอได้รับความเท่าเทียมต่าง ๆ เท่ากับผู้ชาย
แต่ความจริงอันน่าเศร้าของอิทธิพลชายเป็นใหญ่ยังคงหลงเหลืออยู่
และพ่วงมาด้วยกระแส “แอนตีเฟมินิสต์” ที่ยังขยายวงกว้าง จนกลายเป็นอุปสรรค ที่ไม่ว่าพวกเธอจะสร้างผลงานได้ดีมากแค่ไหน แต่สุดท้ายก็อาจจะยังคงไม่ได้รับการยอมรับเท่ากับผู้ชาย ในสังคมเกาหลีใต้อยู่ดี..
2
แต่เหรียญย่อมมีสองด้าน เพราะคนรุ่นใหม่ในเกาหลีใต้ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาดังกล่าว
และเริ่มออกมาเป็นกระบอกเสียงให้กับความเท่าเทียมของตัวเอง
ไม่แน่ว่า ในอนาคตเราอาจจะเห็นผู้หญิงมีบทบาทในอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้มากกว่านี้ก็เป็นได้..
 
References:
-Howson, Richard & Yecies, Brian. (2015). Korean Cinema’s Female Writers–Directors and the “Hegemony of Men. Gender, Equal Opportunities, Research. 16. 14. 10.13060/12130028.2015.16.1.167.
1
โฆษณา