20 ก.ค. 2021 เวลา 15:26 • หุ้น & เศรษฐกิจ
KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ชี้โลกเริ่มไม่สนใจไทย แห่ย้ายบริษัทหนี ถอนเงินลงทุน เหตุโครงสร้างล้าหลัง ไม่ตอบโจทย์เทรนด์โลก
บทวิเคราะห์ของ KKP Research เปิดเผยว่า “ประเทศไทยกำลังเจอกับการย้ายฐานการผลิตออก การเข้ามาลงทุนลด และความต้องการสินค้าไทยชะลอตัวลง” สะท้อนว่า “ไทยมีความน่าสนใจในตลาดโลกลดลง” และ “กำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน”
2
ทำให้ไทยกำลังสูญเสียความน่าสนใจในการเป็นฐานการผลิตและสินค้าส่งออก โดยสาเหตุสำคัญมาจาก “ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ตามทิศทางเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวลง”
โดย KKP Research ประเมินว่า สัญญาณการหนีออกจากไทย (มิติตลาดหุ้น การลงทุนทางตรง และตลาดสินค้าส่งออก) มาจาก “ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทย” ที่ยัง “ไม่มีการปรับตัวและพัฒนา” ตอกย้ำถึงความน่ากังวลของปัญหาความสามารถในการแข่งขันที่ยากจะแก้ไขในเร็ววัน
“ปัญหาความสามารถในการแข่งขัน” ส่วนหนึ่งเกิดจาก “โครงสร้างเศรษฐกิจแบบเก่า”
เพราะไทยมีโครงสร้างการส่งออกที่ไม่สอดคล้องกับเทรนด์ของโลกยุคใหม่ การพัฒนาการส่งออกของไทยย้อนหลังไปกว่า 25 ปี กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มที่อ้างอิงจากทรัพยากรภายในประเทศ รวมถึงกลุ่มอาหารและอุตสาหกรรมเกษตร
แต่สินค้าประเภทเทคโนโลยีระดับสูง “มีสัดส่วนน้อยและไม่ปรับตัวดีขึ้น”
ขณะที่โลกต้องการสินค้าเทคโนโลยีเพิ่มสูงอย่างก้าวกระโดด
ไทยจึงตกขบวนอย่างไม่รู้ตัว
ยิ่งไปกว่านั้นคือ “เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ลำดับของความได้เปรียบในการส่งออกของสินค้าไทยกำลังสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับตลาดโลกมากถึง 37% ของมูลค่าการส่งออกสินค้า”
และสัดส่วนที่ไทยกำลัง “สูญเสียส่วนแบ่งตลาด” ไปมากที่สุด อยู่ในกลุ่มสินค้าที่ไทยมีความถนัดสูง คือ ภาคเกษตร ได้แก่ ข้าว ยาง และประมง
เป็นสัญญาณว่ากลุ่มสินค้าเดิมที่เคยส่งออกได้ดีของไทยก็เผชิญกับความท้าทายจากคู่แข่งที่มีความสามารถมากขึ้นเช่นกัน
เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง KKP Research ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับ “5 ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันอ่อนแอลง
[ 5 ปัญหากดความสามารถการแข่งขันด้านส่งออกไทย ]
1) ไทยเผชิญปัญหามิติสถาบันเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน และคุณภาพแรงงาน
แม้ว่าความสามารถในการแข่งขันของไทยในภาพรวมจะไม่ได้แย่มากนัก เพราะอยู่ในลำดับที่ 40 จาก 137 ประเทศทั่วโลก แต่ยังคงน่ากังวลในมิติสถาบันเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน และคุณภาพแรงงาน
จากรายงานของ World Economic Forum ระบุว่า ไทยยังมีปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้นต่อเนื่องและยังไม่มีนโยบายแก้ไขที่ชัดเจน เช่น การผูกขาดของตลาดสินค้าในประเทศ ภาษีการค้าระหว่างประเทศสูง บทบาทของสถาบัน โครงสร้างพื้นฐาน ทักษะแรงงาน
ยิ่งไปกว่านั้นในระยะหลังประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามมีการพัฒนาในหลายหัวข้อแต่ไทยยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน
2) ไทยไร้สินค้าไฮเทค
โครงสร้างการผลิตสินค้าของไทยยังมีสัดส่วนของ “สินค้าไฮเทค” ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง และมีการพัฒนาที่ล่าช้า
ในขณะที่สินค้ากลุ่มนี้เป็นสินค้าที่ทั่วโลกต้องการ เทียบกับเวียดนามแล้วมีการพัฒนาไปในกลุ่มเทคโนโลยีใหม่อย่างสมาร์ทโฟนที่เป็นที่ต้องการในตลาดโลก และ “ไทยยังแทบไม่มีการผลิตสินค้ากลุ่มนี้”
ยิ่งไปกว่านั้นการเติบโตของการส่งออกไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ยังเน้นการโตในสินค้ากลุ่ม medium technology ทำให้สินค้าส่วนใหญ่ยังพึ่งพาแรงงานทักษะต่ำ และการพัฒนาสินค้ากลุ่มไฮเทค ช้ากว่าประเทศคู่แข่ง
เมื่อเทียบกับประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางด้วยกันจะพบว่ามักเน้นไปที่กลุ่มสินค้าไฮเทคมากกว่าไทย ทำให้ไทยอาจโดนทิ้งห่างกว่าเดิม
3) ไทยมีค่าเงินบาทแข็งค่าจากอัตราเงินเฟ้อต่ำ
ในช่วงที่ผ่านมาไทยมีอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำมากจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ทำให้ไทยมีช่องว่างระหว่างการออมและการลงทุนที่สูง เป็นเหตุผลสำคัญที่อธิบายค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องติดต่อกันมากว่า 5 ปีหรือแข็งขึ้นกว่า 20% และส่งผลกระทบต่ออัตรากำไร (margin) ของธุรกิจส่งออก
รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงห้าปีที่ผ่านมานั้นก็ช่วยบดบังปัญหาความสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม และส่งผลทำให้เกิดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกดดันค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอีก
4) ไทยมีค่าแรงปรับตัวขึ้น แต่ผลิตภาพไม่พัฒนา
1
เมื่อก่อนไทยเคยได้ประโยชน์จาก “ค่าแรงราคาถูก” ที่ดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย แต่ตอนนี้ที่น่ากังวล คือ “ค่าแรงเริ่มปรับตัวสูงขึ้น แต่ผลิตภาพยังไม่ถูกพัฒนาไปมาก” ทำให้ไม่สามารถดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อนสูงได้
1
5) ไทยมีเศรษฐกิจโตต่ำ แต่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและไร้แผนพัฒนาเทคโนโลยีที่ชัดเจน
ขณะที่ไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” ที่จะส่งผลถึง “ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย” ทำให้อีกไม่กี่ปีข้างหน้า “ไทยจะมีแรงงานลดลง ขนาดของตลาดในประเทศเล็กลง ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจ (potential growth) ต่ำลง”
เมื่อตลาดขยายตัวได้ช้า ความน่าสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทยก็ลดน้อยลงไป แล้วไทยยังมีการลงทุนและการพัฒนาด้าน R&D ต่ำ ทำให้ไม่สามารถช่วยเพิ่มผลิตภาพได้
ที่สำคัญคือ “เศรษฐกิจไทยถึงจุดเปลี่ยน ถ้านโยบายไม่เปลี่ยนแปลง”
KKP Research ชี้ว่า “เศรษฐกิจไทยในวันนี้อาจกำลังถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดจากปัญหาความสามารถในการแข่งขันที่จะทำให้การส่งออกของไทยชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ เศรษฐกิจชะลอตัวลง ดุลการค้าจะเกินดุลลดลง และมีความเสี่ยงที่จะเปลี่ยนทิศเป็นขาดดุลหากปัญหารุนแรงกว่าที่คาด"
โดย KKP Research แนะนำทางแก้ว่า รัฐควรเข้ามามีบทบาทในการกำหนดทิศทางและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่
1) การพัฒนาคุณภาพปัจจัยการผลิต (Endowment) - ต้องพยายามดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติผ่านนโยบายสนับสนุนการลงทุน ลดกฎระเบียบที่ยุ่งยาก เพิ่มโอกาสเข้าถึงทุนให้บริษัทขนาดกลางและเล็ก พัฒนาแรงงานให้มีทักษะที่ตลาดต้องการ
2) การเข้าถึงตลาดและเพิ่มขนาดของตลาด (Market Size) - ลดภาษีการค้าระหว่างประเทศและการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี เข้าถึงตลาดผ่านข้อตกลงการค้าเสรี (Trade agreement) พร้อมพัฒนาเศรษฐกิจและสินค้าในประเทศที่ตรงกับความต้องการของตลาดโลกเป็นทางออกของปัญหาในระยะยาว
3) โครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่ทันสมัย (Infrastructure) - ต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่หลากหลาย ทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ เช่น การขนส่ง และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เช่น กฎระเบียบและสิทธิทางภาษี
4) สถาบันเศรษฐกิจที่มีคุณภาพ (Institutions) - สถาบันการเมืองที่มีเสถียรภาพ ส่งเสริมการแข่งขันที่เสรี ปราศจากการคอร์รัปชัน มีทิศทางนโยบายที่ชัดเจนสำหรับนักลงทุน รวมถึงมีกลไกการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา
KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร มองว่า ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทำให้รัฐไทยต้องมองหาโอกาสใหม่ๆ โดยเฉพาะการออกนโยบายเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ
ดังนั้น นอกเหนือจากการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทั้ง 4 ข้อแล้ว รัฐจำเป็นต้องดำเนินโยบายเชิงรุกมากขึ้นเพื่อพูดคุยและทำความเข้าใจความต้องการของนักลงทุน
“การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอาจใช้เวลายาวนานกว่าจะเห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตามมา”
โดยในบทวิเคราะห์ทิ้งท้ายไว้ว่า “ตอนนี้ไทยกำลังวิกฤตในหลายเรื่อง จากทั้งผลกระทบของโควิด-19 และโลกหลังโควิดที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป หลายประเทศทั่วโลกปรับนโยบายเพื่อโลกที่หน้าตาไม่เหมือนเดิม เมื่อประกอบกับปัญหาความสามารถในการแข่งขันของไทยที่กำลังจะลดลงไปเรื่อยๆ ในอนาคต”
“การไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจ” และ “หวังพึ่งพาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจเดิมๆ” อาจไม่ใช่คำตอบสำหรับวันนี้ และถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจก่อนที่จะสายเกินแก้
#TODAYBizview
#workpointTODAY
#สาระความรู้เพื่อวันนี้
ไม่พลาดข่าวธุรกิจ การตลาดที่สำคัญ ติดตาม TODAY Bizview https://bit.ly/3picIeS
ติดตามรายการของ workpointTODAY ทาง YouTube https://bit.ly/2YDfyiK
ติดต่อโฆษณา E-mail: advertorial@workpointnews.com
โฆษณา