21 ก.ค. 2021 เวลา 02:00 • สุขภาพ
จูงใจ หรือ บังคับ ยัดเยียด? : กระตุ้นประชาชนอย่างไรให้ไป "ฉีดวัคซีน" ได้มากที่สุด
แม้จะมีวัคซีนที่ดีขนาดไหน ต่อให้จะมี Moderna หรือ Pfizer หลายประเทศก็ยังเจอกับอุปสรรคสำคัญจากความลังเลของผู้คนที่คิดว่าตัวเองจะเข้ารับการฉีดวัคซีนดีไหม? จึงนำมาซึ่งเหตุการณ์ที่เราเห็นหลายต่อหลายประเทศต้องงัดกลเม็ดไม้เด็ดต่างๆ เพื่อนำมาสร้างแรงจูงใจให้กับผู้คนให้เข้ามา "ฉีดวัคซีน" กันเถอะ
1
คุณจะเลือกอยู่ทีมไหน?
ในบทความนี้ทาง Bnomics จะพาทุกคนไปตามดูกันว่าวิธีในการสร้างแรงจูงใจในการฉีดวัคซีนตอนนี้ มีวิธีอะไรที่น่าสนใจบ้าง และมีแนวคิดอะไรที่อยู่เบื้องหลังวิธีเหล่านี้
เราเริ่มกันที่วิธีที่มีต้นทุนไม่มากนักอย่างหนึ่งกันก่อน นั่นก็คือ การส่งข้อความทางโทรศัพท์เพื่อกระตุ้นให้คนมาฉีดวัคซีน โดยข้อความนั้นต้องเขียนเป็นข้อความที่บอกว่า “วัคซีนถูกจองไว้ให้คุณแล้ว” หรือ “วัคซีนกำลังรอคุณอยู่” ด้วยถึงได้ผลลัพธ์ดีที่สุด (ส่วนข้อความแบบที่ได้ผลน้อยที่สุดคือ ข้อความที่สื่อสารแบบตลก)
มีสองแนวคิดหลักๆ ที่อธิบายว่าทำไมข้อความ “วัคซีนถูกจองไว้ให้คุณแล้ว” หรือ “วัคซีนกำลังรอคุณอยู่” ถึงได้ผล คือ
1) แนวคิดเรื่อง “ทางเลือกแรก” หรือ “ทางเลือกตั้งต้น” (Default option) ที่เราปกติมักจะพบว่า คนจะไม่เปลี่ยนตัวเลือกที่มีคนตั้งมาให้แล้ว เช่น เวลาลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์คนส่วนใหญ่ก็จะไม่ปรับเปลี่ยนอะไรจากตัวเลือกที่ตั้งมาให้ตอนแรก หรือการสั่งอาหารเป็นเซตที่คนมักจะเลือกตามที่ร้านอาหารจัดมาให้ตอนแรก การส่งข้อความไปว่า “วัคซีนถูกจองไว้ให้คุณแล้ว” ก็ให้ความรู้สึกคล้ายกัน
1
2) แนวคิดเรื่องผลจาก “ความเป็นเจ้าของ” (Endowment effect) ที่พบว่า คนจะให้คุณค่ากับของที่ตัวเองมีอยู่มากกว่าของที่ยังไม่มี การที่ข้อความบอกว่ามี “วัคซีนจองไว้ให้คุณ” ทำให้สร้างความรู้สึกพิเศษที่ได้เป็นเจ้าของวัคซีนนั้นแล้ว หากไม่ไปฉีดวัคซีน ก็เหมือนสูญเสียสิ่งของของตัวเอง ซึ่งแย่กว่าการพลาดที่จะไม่ได้ของใหม่ (ของเล่นชิ้นเก่าหายไปมักจะเสียใจกว่าการที่ยังไม่ได้ของเล่นชิ้นใหม่)
แม้ว่าหลายคนจะแย้งว่าวิธีนี้จะเพิ่มจำนวนคนฉีดวัคซีนได้จำนวน 4.6% เท่านั้น แต่ถ้ามองในแง่ที่ว่านี่เป็นการสะกิดผู้คนขนาดเล็กๆ ที่แทบไม่มีต้นทุนเลย 4.6% นี้ก็เป็นตัวเลขที่ใหญ่มากๆ ได้ในศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมนุษย์ได้เช่นกัน
วิธีต่อมาที่ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อให้คนมาฉีดวัคซีนก็คือ การให้สิ่งของหรือเงินเป็นสิ่งตอบแทน ที่มีแรงจูงใจไล่มาตั้งแต่การแจกไก่ตัวเป็นๆ การแจกเงิน ไปจนถึงการแจกคอนโด (ในกรณีของฮ่องกง ที่ปกติแล้วอยู่เกินเอื้อมของคนทั่วไปไป) ซึ่งจริงๆ แล้วการให้เงินเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางการแพทย์ในอดีตที่ผ่านมาก็มีอยู่ไม่น้อยแล้ว
ทั้งในเรื่องการบริจาคเลือด การลดน้ำหนัก หรือการเลิกบุหรี่ ซึ่งก็ได้ผลลัพธ์ที่ดีพอสมควร ก็เลยถูกนำกลับมาใช้ในการจูงใจคนให้มาฉีดวัคซีนในครั้งนี้ด้วย แต่ผลการศึกษาล่าสุดให้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจว่า “การให้ผลตอบแทนที่มากจนเกินไป อาจจะไม่สามารถทำให้คนที่ยังลังเลหันมาฉีดวัคซีนได้ โดยเฉพาะในบางประเทศ
1
งานศึกษานี้เป็นของมหาวิทยาลัยบอสตัน ที่ทำการทดลองว่าผลจากเงินจำนวน 1,000 1,500 และ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ จะทำให้คนมาฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้นแค่ไหน ปรากฏว่าคนมีแนวโน้มที่จะเลือกรับเงินจำนวน 1,500 ดอลลาร์สหรัฐเพื่อที่จะไปฉีดวัคซีนมากกว่าเงินจำนวน 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ เกิดเป็นคำถามว่าทำไมเงินที่มากถึงจูงใจได้น้อยกว่า
 
คำถามคล้ายๆ กัน เกิดขึ้นในรัฐอย่างมิชิแกนหรือโอไอโฮที่มีการทำ “ลอตเตอรี่” สำหรับผู้ฉีดวัคซีนแล้วด้วยเช่นกัน เพราะหลังจากปล่อยลอตเตอรี่เพื่อชิงรางวัลมูลค่าเป็นล้านเหรียญนี้ออกมา อัตราการคนที่เข้าฉีดวัคซีนกลับไม่ได้เพิ่มขึ้น
เหตุผลที่อธิบายเรื่องนี้ คือ ความสงสัยในทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับวัคซีน ที่คนที่ยังลังเลอยู่มองว่า “การจ่ายเงินจำนวนมากขนาดนี้ เหมือนเป็นการติดสินบน ยิ่งจ่ายเงินมากเท่าใด ก็ยิ่งน่าสงสัยเพิ่มมากขึ้นไปอีก” ทำให้ผลตอบแทนจำนวนมากเกินไปอาจจะทำให้คนฉีดวัคซีนน้อยลงแทน (เพราะชวนให้คิดว่าวัคซีนมีปัญหาหรือเปล่า) เพราะฉะนั้นการจะให้แรงจูงใจเป็นผลตอบแทนแบบนี้ก็อาจจะต้องคิดถึงเรื่องความน่าเชื่อถือของวัคซีนต่อประชาชนด้วย
 
วิธีสุดท้ายที่เราจะนำเสนอในบทความนี้ที่ถูกใช้ คือ การสร้างแรงจูงใจจากโอกาสในการกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติ โดยการอนุญาตให้คนที่ฉีดวัคซีนใช้ชีวิตโดยไม่ต้องใส่แมสก์ หรือสามารถเข้าไปใช้บริการร้านอาหาร บาร์ รถไฟ และ สถานที่อื่นๆ ได้ ซึ่งอิสราเอลก็ใช้แนวทางนี้ในการขับเคลื่อนการฉีดวัคซีนของเขาจนกลายเป็นประเทศที่มีความสำเร็จที่สุดในการฉีดวัคซีน
โดยวิธีนี้แม้จะมีคนออกมาตั้งประเด็นว่า เป็นการริดรอนสิทธิของคนที่ไม่ได้ฉีดหรือเปล่า แต่วิธีนี้ก็กำลังให้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจมาก แม้แต่กับหนึ่งในประเทศที่มีความสงสัยในความปลอดภัยด้านวัคซีนมากที่สุดในโลกอย่างฝรั่งเศส
 
ย้อนกลับไปเมื่อตอนเดือนธันวาคมปีก่อน โพลจาก Ifop รายงานว่ามีคนฝรั่งเศสกว่า 61% ที่จะไม่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เทียบกับสหรัฐฯ ที่มีจำนวนคนที่ว่าจะไม่ฉีดวัคซีนเพียงแค่ 30% เท่านั้น ประกอบกับการศึกษาในอดีตก็ชี้ให้เห็นว่าคนฝรั่งเศสลังเลที่จะฉีดวัคซีนเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และก็ส่งผลให้อัตราการฉีดวัคซีนของฝรั่งเศสค่อนข้างช้ามาก
 
แต่หลังจากวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา หลังจากประธานาธิบดีมาครอง ได้ประกาศว่าคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเต็มจำนวนจะไม่สามารถเข้าไปใช้บริการในร้านอาหารและบาร์ รถไฟทางไกล เครื่องบิน และห้างสรรพสินค้าได้ ก็ทำให้อัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยการนัดเข้ารับวัคซีนใน 2 วันหลังจากประกาศมีจำนวนมากกว่าจำนวนการนัดก่อนหน้านั้น 18 วันเสียอีก แสดงให้เห็นว่านี่อาจจะเป็นแรงจูงใจที่ดีที่สุดในการพาคนเข้ามาฉีดวัคซีนก็ได้
 
เรื่องราวพฤติกรรมของมนุษย์เป็นสิ่งที่ทั้งซับซ้อนและในขณะเดียวกันก็ยังน่าสนใจมากด้วย แม้จะเป็นเรื่องรอบตัวง่ายๆ หลายครั้งก็อาจจะแฝงไปด้วยคำอธิบายด้านพฤติกรรมที่น่าสนใจมากๆ ก็ได้
ในสัปดาห์ถัดๆ ไป ทาง Bnomics จะนำเรื่องราวอะไรให้ทุกคนได้อ่าน ก็ฝากติดตามกันด้วยครับ
#Bnomics #เศรษฐศาสตร์ #การสร้างแรงจูงใจ #เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม #ฉีดวัคซีน #การตัดสินใจ
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
 
════════════════
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Reference :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา