25 ก.ค. 2021 เวลา 02:00 • ธุรกิจ
10 เรื่องจริงที่คุณไม่รู้ Foodpanda
จากกระแสดรามาบนโลกออนไลน์ หลังมีผู้ใช้แอคเคาท์หนึ่งในทวิตเตอร์ได้รายงานว่ามีพนักงาน หรือไรเดอร์ ท้ายรถมีกล่องใส่อาหารของ foodpanda มาร่วมชุมนุม เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 พบได้ถอดป้ายทะเบียนรถออก และชายคนนี้มีส่วนกับเหตุการณ์เผาพระบรมฉายาลักษณ์ กระทั่งทางบริษัทฯ เร่งดำเนินการตามกฎระเบียบให้พ้นสภาพการเป็นพนักงาน
 
ต่อมากลายเป็นกระแสที่ตีกลับอย่างรุนแรง เพราะมองว่าทางแบรนด์มีวิสัยทัศน์ในการสนับสนุนเผด็จการ หรือเป็นการสนับสนุนในการใช้ความรุนแรงแก่ประชาชน รวมถึงการตัดสินพนักงานโดยที่ยังไม่ได้มีการสอบถาม หรือไต่สวนอย่างชัดเจนด้วย ทำให้ทัวร์ลงทั้งในเฟซบุ๊ก และแฮชแท็ก #แบนfoodpanda ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ด้วย
 
ใครอยากรู้เรื่องราว “Foodpanda” มีที่มาที่ไปอย่างไร วันนี้ www.ThaiFranchiseCenter.com มีข้อมูลมานำเสนอให้ทราบ
 
1.อยู่ภายใต้การบริหารของ Delivery Hero
ภาพจาก facebook.com/deliveryhero/
หลายคนอาจไม่รู้มาก่อนว่า Foodpanda ในภายใต้การบริหารของ Delivery Hero บริษัทที่สร้างสินทรัพย์มากกว่า 9 หมื่นล้านบาท ในระยะเวลา 9 ปี โดยเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี
 
โดย Delivery Hero ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2554 ทำธุรกิจมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ทั้งในยุโรป เอเชีย ลาตินอเมริกา รวมถึงตะวันออกกลาง ที่ป่านมา Delivery Hero มีแพลตฟอร์มให้บริการส่งอาหารในเครือไม่ต่ำกว่า 25 แบรนด์ มีพาร์ทเนอร์ร้านอาหารเข้าร่วมมากกว่า 500,000 รายทั่วโลก
 
2.เคยเป็นคู่แข่งขัน Delivery Hero มาก่อน
ภาพจาก facebook.com/deliveryhero/
Delivery Hero เริ่มต้นในกรุงเบอร์ลิน สู่การเป็นแพลตฟอร์มส่งอาหารเจ้าใหญ่ในโลก ก่อน Delivery Hero จะเข้าซื้อกิจการต่อจาก Foodpanda แต่รู้หรือไม่ว่า ทั้งคู่เคยเป็นคู่แข่งกันมาก่อน ความน่าสนใจคือ Foodpanda ก่อตั้งหลัง Delivery Hero ก่อตั้งขึ้น 1 ปี ให้บริการในลักษณะที่เหมือนกัน ขณะที่ผู้ลงทุนหลักเหมือนกันคือ Rocket Internet
3.Delivery Hero มีคำสั่งซื้อ 369 ล้านออเดอร์
ภาพจาก facebook.com/deliveryhero/
จากข้อมูลเมื่อ 3 ปีก่อน พบว่ามีคำสั่งซื้อจาก Delivery Hero มากถึง 369 ล้านออเดอร์ จึงไม่แปลกที่บริษัทแห่งนี้จะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยหากดูผลประกอบการช่วงที่ผ่านมาของ Delivery Hero ในปี 2561 มีรายได้ 665.1 ล้านยูโร กำไรสุทธิ -38.3 ล้านยูโร และปี 2562 มีรายได้ 1237.6 ล้านยูโร กำไรสุทธิ 231.4 ล้านยูโร
 
4.เปลี่ยนโลโก้สีส้มเป็นแพนด้าสีชมพูในปี 2016
ภาพจาก bit.ly/3iuAvF9
แอปพลิเคชั่นส่งอาหาร Foodpanda ได้ประกาศรีแบรนด์ครั้งใหญ่ โดยเปลี่ยนโลโก้จากสีส้มเป็นสีชมพู หลังจากได้ขายกิจการให้ Delivery Hero ไปเมื่อปลายปี 2016 โดย Laura Kantor หัวหน้าฝ่ายการตลาดของ Foodpanda บอกว่าการเลือกใช้สีชมพูจะทำให้ Foodpanda แตกต่างและโดดเด่นมากขึ้นในตลาด โดยสีส้มมีผู้ใช้อยู่ค่อนข้างมาก ซึ่งในตอนนั้น Foodpanda ให้บริการอยู่ใน 190 เมือง 12 ประเทศ รวมทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง และไทย
 
5.เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยปี 2012
ภาพจาก bit.ly/3iuhwdY
Foodpanda เริ่มเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ. 2012 โดยเริ่มให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ก่อนขยายพื้นที่ให้บริการครอบคลุม 67 จังหวัดทั่วไทยในระยะเวลาไม่กี่ปี ชูจุดแข็งการให้บริการแบบฟรีค่าส่ง
 
6.แอปฯ รายแรกส่งอาหารคลุมพื้นที่ทั่วไทย
ภาพจาก facebook.com/FoodpandaThailand/
Foodpanda คือแอปพลิเคชั่นการให้บริการจัดส่งอาหารรายแรกในประเทศไทย ที่มีความมุ่งมั่นในการให้บริการจัดส่งอาหารให้แก่ลูกค้า ด้วยฐานการบริการที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ โดยได้ขยายฐานเพิ่มขึ้นเป็น 67 จังหวัดในเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา และเหลืออีกเพียงไม่กี่จังหวัดก็จะให้บริการครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย
 
7.รายแรกบริการจัดส่งอาหารเริ่มต้น 40 บาท
ภาพจาก facebook.com/FoodpandaThailand/
หลังจาก Foodpanda เข้ามาเปิดให้บริการในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2555 รวมเป็นเวลา 9 ปีเต็ม ถือเป็นแบรนด์แรกๆ ที่เข้ามาบุกธุรกิจรับส่งอาหารออนไลน์ ด้วยการเป็นพาร์ตเนอร์กับร้านอาหาร โดยรับจัดส่งออนไลน์ให้ค่าจัดส่งเริ่มต้น 40 บาท
 
8.ยึด 3 หลักเกณฑ์คัดเลือกร้านค้าเป็นพาร์ทเนอร์
ภาพจาก bit.ly/3hNSG9V
ปัจจุบัน Foodpanda ได้มี 3 หลักเกณฑ์ในการใช้พิจารณาคัดเลือกร้านค้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ คือ 1.ดูข้อมูลแต่ละย่านว่าผู้บริโภคมีความต้องการอาหารประเภทใดสูง และยังขาดมากน้อยแค่ไหน 2.พิจารณาเรื่องการดำเนินงานต่างๆ ทำอาหารรวดเร็วหรือไม่ และ 3.ร้านเหล่านั้นมีชื่อเสียงในเรื่องรสชาติมากน้อยแค่ไหน
 
โดยจากการระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา Foodpanda ได้จัดตั้งงบประมาณฉุกเฉินจำนวน 35 ล้านบาท ช่วยพาร์ทเนอร์ร้านอาหาร รวมถึงร้านอาหาร SME และไรด์เดอร์ให้ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ในประเทศไทยไปด้วยกัน
 
9.วิธีการสมัครไรด์เดอร์ Foodpanda
ภาพจาก https://rider.foodpanda.co.th/
คุณสมบัติของผู้ที่อยากมีรายได้ ด้วยการขับไรด์เดอร์ให้กับ Foodpanda คือ
- อายุ 18 ปีขึ้นไป
- มีใบอนุญาตขับขี่
- มีมอเตอร์ไซค์
- มีมือถือ สเปค iPhone 4s ขึ้นไป หรือแอนดรอยด์ 4.2 ขึ้นไป
ขั้นตอนการสมัครไรด์เดอร์ Foodpanda
- สมัครออนไลน์ที่ https://rider.foodpanda.co.th/
- ระบบจะแจ้งรายการเอกสาร เพื่อให้นำไปยื่นสมัครที่สำนักงานของจังหวัดที่คุณสมัคร
- เตรียมเอกสาร บัตรประชาชน ใบขับขี่ สมุดบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ของตัวเอง และเงินค่าสมัคร 500 บาท ค่าตรวจประวัติอาชญากรรม 100 บาท รวม 600 บาท (โดยวิธีการโอนเท่านั้น) ไปที่สำนักงาน
10.รายได้ 4.3 พันล้านบาท
ภาพจาก bit.ly/3kEp3to
จากการตรวจสอบผลการดำเนินของ Foodpanda ในประเทศไทย จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารบริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ (ประเทศไทย) จำกัด พบว่า
- ปี 2562 มีรายได้ 818,156,828 บาท ขาดทุน 1,264,503,583 บาท
- ปี 2563 มีรายได้ 4,375,128,919 บาท ขาดทุน 3,595,901,657 บาท
จะเห็นได้ว่ารายได้ Foodpanda ในปี 2563 เติบโตก้าวกระโดด ก็เพราะเป็นช่วงการระบาดโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้บริการเดลิเวอรี่มากขึ้นนั่นเอง ส่วนตัวเลขขาดทุนอาจมาจากค่าใช้จ่าย และการลงทุนที่เพิ่มขึ้น
 
นั่นคือ 10 เรื่องจริงของ Foodpanda ที่หลายๆ คนอาจไม่รู้มาก่อน
 
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
 
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ www.thaifranchisecenter.com/document
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
อ้างอิงข้อมูล
 
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/3zifeoZ
โฆษณา