21 ก.ค. 2021 เวลา 07:45 • สุขภาพ
[Opinion] Vaccine Diplomacy ของสหรัฐฯ กับความสับสนของPublic Opinion ในไทยกับ COVAX
ห้วงเวลานี้เราได้เห็นการขยับตัวอย่างเด่นชัดของสหรัฐอเมริกาในเรื่องของการทำ Vaccine Diplomacy หรือการใช้วัคซีนในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศ จากการบริจาควัคซีนให้กับชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น 16 ล้านโดสของไฟเซอร์ให้กับเอเชีย (ไทยได้มา 1.5 ล้านโดส จะได้รับในวันที่ 29 ก.ค.)แอฟริกา25 ล้านโดส โมเดิร์นนาให้กับเวียดนาม จอห์นสันแอนจอนห์สันให้กับลาว หลักแสนโดส หรือก่อนหน้าที่ ฟิลิปปินส์เป็นไฟเซอร์ 2 ล้านโดส ซึ่งล่าสุด สหรัฐฯมีการจอง 500 ล้านโดส เพื่อทำVaccine Diplomacy อย่างเดียวกับไฟเซอร์ โดยแผนจะส่งให้กับกลุ่มประเทศยากจน 92 ประเทศ ในโครงการ Covax ทั้งหมดทั้งมวล จะเห็นว่าเป็นการขยับตัวขนานใหญ่ ในเรื่องนี้หลังจากที่ปล่อยให้จีน ออกนำเรื่องนี้ไปก่อนเป็นเวลานาน
ท่ามกลางกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ในไทย ถึงการไม่สั่งจองวัคซีน mRNA และการไม่เข้าร่วมโครงการ COVAX ทำให้เมื่อมีภาพการส่งมอบวัคซีนของสหรัฐอเมริกาให้กับประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นวัคซีนที่เรามองว่ามีประสิทธิภาพดีกว่าที่มีใช้ในไทยปัจจุบัน และมีความต้องการของคนในประเทศให้นำเข้ามานั้นถูกส่งมอบและแปะป้าย COVAX ทำให้ทั้งสองประเด็นถูกนำมามัดรวมกัน พุ่งไปยังการตั้งคำถามถึงการไม่เข้าร่วมโครงการCOVAXของไทย ว่าทำให้ไม่ได้รับวัคซีนประสิทธิภาพดีหรือไม่อย่างไร
ด้วยเหตุนี้ BFSS เห็นว่า มันมีความเข้าใจผิดบางอย่างในประเด็นเหล่านี้ที่ส่งผลต่อ Public Opinion ในไทย เมื่อเห็นภาพการส่งสารในการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯออกมาเป็นแบบ นี้จึงจะหยิบยกเรื่องนี้มาพูดคุย เพื่อที่เราจะวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างถูกต้องต่อไป
1. โครงการCOVAX เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง GAVI และ WHO ในการที่จะให้ประเทศรายได้ปานกลางต่ำ มีโอกาสในการเข้าถึงวัคซีนได้เท่าเทียมกับประเทศอื่น อธิบายการทำโครงการนี้อย่างง่ายๆ คือการรับบริจาคเงิน จากประเทศผู้บริจาคทั้งหลาย แล้วGAVI ก็จะไปสั่งจองวัคซีนเป็นการส่วนรวม แล้วนำมาแจกจ่ายให้กับประเทศต่างๆ ตามความยากจน ตามการระบาด โดยเป้าหมายคืออย่างน้อยทุกประเทศได้ 20% เท่าๆกัน แผนในปีนี้ประมาณ 620 ล้านโดส ปีหน้า 2022 อีกพันกว่าล้านโดส โดยใช้วัคซีน Astrazeneca มากสุด แล้วก็จะเป็น pfizer Moderna J&J และล่าสุดคือ Sinopharm และ Sinovac หลายร้อยล้านโดส โดยทาง COVAX Facilities จะดำเนินการในการบริหารจัดการการแจกจ่ายการขนส่งให้กับประเทศต่างๆ
2. วัคซีนที่เราเห็นส่งมอบกันไม่ว่าจะ Pfizer Moderna J&J แปะป้าย COVAX แต่ไม่ใช่ของ COVAX อย่างเราอธิบายในข้อ 1 มันคือการPool วัคซีนโดย GAVIและ WHO และส่งผ่าน COVAX Facilities ครับ แต่ที่เราเห็นภาพการส่ง Moderna J&J Pfizer ของสหรัฐฯให้กับประเทศต่างๆ นั้นเป็นการดำเนินนโยบายการต่างประเทศแบบทวิภาคี ระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศนั้นๆ ที่จะบริจาควัคซีนให้ เพียงแต่ว่า สหรัฐฯ “ส่ง” หรือ”แจกจ่าย” วัคซีนนั้นผ่าน COVAX Facilities ครับ ทำให้แปะป้าย COVAX มาด้วย
เมื่อเป็นแบบนี้ นั่นจึงไม่ได้หมายความว่าการที่ไทยไม่ได้เข้าร่วมCOVAX จึงทำให้ไม่ได้รับวัคซีนชื่อดัง เหล่านั้นผ่าน COVAX ซึ่งก็ไม่แน่ว่า วันที่วัคซีนบริจาค 1.5 ล้านโดส จากสหรัฐฯมาถึงไทยก็อาจจะแปะป้าย COVAXมาเช่นกัน
3. การเข้าร่วม COVAX ไม่ทำให้เราได้รับการแจกจ่ายวัคซีนบริจาค
โครงการ COVAX มีเป้าหมายในการให้ประเทศรายได้ต่ำปานกลาง ได้รับวัคซีนไม่น้อยหน้าประเทศร่ำรวยครับ ซึ่งการจัดกลุ่มประเทศ GAVI ประเทศกลุ่มรายได้ปานกลาง-ต่ำ มีทั้งหมด 92ประเทศ ที่จะได้เข้าใน COVAX Advance Market Commitment คือจะได้รับการจัดสรรวัคซีนผ่าน COVAX ครับ ซึ่งไทย ไม่อยู่ ในกลุ่ม 92 ประเทศนี้ครับ เพราะฉะนั้น การเข้าร่วม COVAX ของไทย ก็จะไม่ทำให้เราอยู่ในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนจากการบริจาคหรือจัดสรรโดย COVAX อนึ่งไทยได้แสดง Expression of Interests เอาไว้ในการที่จะเข้าร่วมโครงการครับ
ทั้งนี้ทั้งนั้น COVAX ยังเป็นโอกาสในการจัดหาวัคซีนได้อยู่ เพราะโครงการเปิดให้ประเทศที่ไม่อยู่ในกลุ่มรายได้ต่ำสามารถสั่งจองวัคซีนผ่านCOVAX ได้ แต่เลือกยี่ห้อไม่ได้ หรือถ้าจะเลือกยี่ห้อ จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ทำให้การจัดหาผ่านโครงการจะใช้งบประมาณสูงกว่าการจัดหาโดยตรงจาก บริษัทผู้ผลิต ( อันนี้ตามที่ สธ.เคยชี้แจงเอาไว้)
4. ปัญหา Vaccine Hoarding, Vaccine Nationalism เกิดขึ้นจริง
ประเด็นปัญหาสำคัญในตอนนี้ที่ BFSS มองว่า Public Opinion ในไทย ยังคงแตกต่างออกไป คือ การกักตุนวัคซีนและนโยบายชาตินิยมวัคซีนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและส่งผลกระทบต่อ Global Supply Chain ของวัคซีนทั่วโลก ซึ่งด้วยปกติก็มีปัญหาอยู่แล้วจากกำลังการผลิตที่มีอยู่น้อยเมื่อเทียบกับความต้องการ
ตัวอย่างของปัญหานี้ ที่เห็นชัดก็คือ การที่ประเทศร่ำรวยหรือประเทศเจ้าของเทคโนโลยี และหรือประเทศผู้ผลิต ผลิตวัคซีนและกักตุนไว้ใช้ในประเทศเป็นจำนวนมาก เช่น สหรัฐอเมริกา จนสามารถเปิดให้รับวัคซีนได้อย่างไม่จำกัด ขนาดที่ส่งผลให้แคนาดา ที่เคยมียอดสั่งจองวัคซีนเกินกว่าประชากรในประเทศถึง 5 เท่า ยังได้แต่มองใบจองอย่างๆงง โดยที่โดนเลื่อนการส่งของมาแล้วหลายครั้ง
หรือการที่ EU จำกัดการส่งออกวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า ไม่ให้ออกนอกEU แม้แต่จะไปอังกฤษ หรือที่ร้ายแรงและเห็นได้ชัด คือการที่สหรัฐอเมริกาจำกัดการส่งออกวัตถุดิบในการผลิตวัคซีน ทำให้-SII ของอินเดียไม่สามารถผลิตวัคซีนได้ จนส่งผลกระทบต่อการระบาดภายในประเทศ และก็ส่งผลกระทบต่อโครงการ COVAX เอง
ปัญหาทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็สะท้อนเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ในโครงการ COVAX เองนั่นแหละ ว่าจากเป้าที่เคยตั้งเอาไว้ว่าภายในสิ้นปี 2021 จะต้องกระจายวัคซีนให้ได้ประมาณ 600 ล้านโดส ณ ปัจจุบัน เดือน กรกฎาคม ส่งได้เพียง 50 กว่าล้านโดส หรือเกือบๆสิบเปอร์เซ็นต์ของเป้าที่ตั้งไว้เท่านั้น นั่นหมายความว่า ถ้าไทยเข้าร่วมก็อาจจะไม่ได้วัคซีนจากโครงการดังกล่าวเลยก็ได้ เพราะโครงการCOVAX ได้ชะงักการส่งวัคซีนเพราะอินเดียไม่สามารถจะส่งวัคซีนออกไปไหนได้ต้องเก็บไว้ใช้ภายในประเทศหลังการระบาดหนัก
สรุป
ทั้งหมดทั้งมวล เราพยามแยกภาพให้ทุกท่านเข้าใจภาพพื้นฐานการดำเนินนโยบายสหรัฐฯ ที่ทำให้เราเข้าใจผิดว่า การดำเนินนโยบาย ของไทยในการไม่เข้าร่วมCOVAX เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน และบรรยายสภาพพื้นฐานโครงการและปัญหาที่เกิดขึ้นว่า จริงแล้วๆตัวโครงการ COVAX เป็นเช่นไร เพื่อที่จะสามารถนำไปพูดคุยวิเคราะห์วิจารณ์ กันต่อได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น BFSS ก็มองว่า การไม่เข้าร่วมโครงการ COVAX ของไทย ก็เป็นเรื่องเสียโอกาสอยู่ด้วยกัน 2 ประเด็น
ประเด็นแรก คือบทบาทในเวทีโลก มันเป็นเรื่องของการรวมกลุ่มหรือแสดงบทบาทในที่ส่วนรวมแสดงน้ำใจ ไทยอาจจะอยู่ในสถานะผู้บริจาค แม้เพียงเล็กน้อยก็ย่อมได้ ถือเป็นการมีส่วนร่วมในเวทีโลก ร่วมไปถึงเราเป็นประเทศที่OEM วัคซีนแอสตร้าเซเนก้า ที่COVAX สั่งเป็นหลักอยู่ก็อาจจะมีบทบาทในส่วนนี้เพิ่มไปด้วยได้
ประเด็นต่อมา แม้การสั่งจองจาก COVAX อาจจะเลือกชนิดยี่ห้อไม่ได้ หรือถ้าจะเลือกต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการจัดหาวัคซีน เป็นออพชั่นเสริม ที่ถ้าดูผลในปัจจุบันเราอาจจะยังไม่ได้รับของเลยก็ได้ เพราะปัญหาอย่างที่เรากล่าวไว้ในข้อ4 แต่ก็เป็นทางเลือกเสริมอีกทางเลือกหนึ่งได้เช่นกัน
เอวังด้วยประการละ ฉะนี้
.
โฆษณา