21 ก.ค. 2021 เวลา 15:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
‘จีน’ มหาอำนาจรายใหม่ เตรียมชิงชัยเป็นเบอร์ 1 ของโลก
Centre for Economics and Business Research (CEBR) คาดการณ์ไว้ ว่า…จีนจะเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกปี 2571 เร็วขึ้น 5 ปีจากมุมมองที่เคยคาดการณ์ไว้
CEBR จากสหราชอาณาจักร บอกอีกว่า GDP ของจีนจะเติบโตปีละ 5.7% จนถึงปี 2568 และเหลือ 4.5% ต่อปี ช่วง 2569-2573
ประเทศที่จีนกำลังจะล้มแชมป์ คือ สหรัฐฯ โดย CEBR รายงานว่า GDP สหรัฐฯ จะโตเพียง 1.9% ช่วงปี 2565-2567 และเหลือ 1.6% หลังจากนั้น
หากยกตัวเลขเศรษฐกิจ ปี 2563 แบบเปรียบเทียบหมัดต่อหมัด ระหว่างสหรัฐฯ และจีน พบว่า มูลค่า GDP ของสหรัฐฯ อยู่ที่ 20.93 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เศรษฐกิจจีนอยู่ที่ 14.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
จีนตามหลังสหรัฐฯแบบหายใจรดต้นคอเพียงแค่ 6.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น…
แต่ถ้าวัดกันที่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ แน่นอนว่าจีนนำมาและมีโอกาสจะแซงสหรัฐฯได้ไม่ยากเหนือสิ่งอื่นใด…จีนยังมีปัจจัยพื้นฐานหลายด้าน ที่เอื้อให้มูลค่าเศรษฐกิจขยายตัวไปได้อีกไกล
บทความนี้จะพาคุณมาทำความรู้จัก ‘จีน’ ใน 2 แง่มุม คือ เศรษฐกิจและตลาดหุ้น เพื่อให้คุณเห็นศักยภาพของจีน ที่กำลังจะเป็นเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก และนี่อาจจะเป็นโอกาสการลงทุนครั้งสำคัญในอนาคต
‘จีน’ เติบใหญ่แค่ไหน
ความจริงที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก คือ จีนมีความใหญ่ด้วยขนาดและจำนวนประชากรและความยิ่งใหญ่นี้เอง จีนจะปั้นตัวเองพัฒนาประเทศให้เติบโตไปทิศทางไหนก็ได้
ด้วยการเมืองแบบคอมมิวนิสต์พรรคเดียวของจีน เพิ่งเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CCP) เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา จีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นชาติมหาอำนาจ กลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ
นี่คือ 3 เหตุผลที่ส่งให้จีนกลายเป็นประเทศเกิดใหม่ และกำลังเป็นคู่แข่งอันน่ากลัวของบรรดากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
ประชากรกว่า 1,400 ล้านคนตลาดบริโภคขนาดใหญ่
จีนมีประชากรมากที่สุดในโลก แม้ปัจจุบันอัตราการเกิดจะลดลง เนื่องจากโครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงไป แต่ด้วยจำนวนประชากรขนาดนี้ยังสร้างแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อีกมาก
ตัวเลขเศรษฐกิจปี 2563 ระบุว่า สัดส่วนการบริโภคภาคประชาชนคิดเป็น 54.3% ต่อ GDP จีน ลดลงจากสัดส่วน 57.8% ในปี 2562 ชะลอตัวเนื่องจากการแพร่ระบาดของ Covid-19
เมื่อดูสัดส่วนการบริโภคย้อนหลัง 10 ปีพบว่า อยู่เฉลี่ย 50-55% มาโดยตลอด เนื่องจากความแตกต่างด้านรายได้ระหว่างประชากรที่อยู่ในเมืองใหญ่กับชนบท
รายงานจาก China-Britain Business Focus พบว่า รายได้เฉลี่ยประชาชนในชนบทยังต่ำกว่าคนที่อยู่ในเมืองมากถึง 61% ในปี 2563 และ 40% ของประชากรจีนยังอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท คิดเป็นสัดส่วน 22% ของการบริโภคภาคประชาชน
ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนว่า การบริโภคภาคประชาชนยังต่ำ ขณะที่ช่องว่างรายได้ระหว่างคนเมืองกับชนบทยังแตกต่างกันมาก
ภาพใหญ่เหล่านี้สะท้อนอะไรบ้าง…
เป้าหมายของพรรคคอมมิวนิสต์จีน คือ ต้องการนำพาประชาชนหลุดพ้นความยากจน โดย Li Keqiang นายกรัฐมนตรี บอกว่า จีนยังคงมีประชาชน 600 ล้านคนที่มีรายได้ต่อเดือนไม่ถึง 1,000 หยวนซึ่งรายได้ระดับนั้นไม่เพียงพอที่จะจ่ายค่าเช่าห้องในเมืองได้
กลุ่ม 600 ล้านคนนี้เอง คือ ความท้าทายของรัฐบาลจีนและการใช้นโยบายต่างๆ เพื่อผลักดันให้พวกเขาหลุดพ้นความยากจนในอนาคตได้
ถ้าจีนสามารถลดช่องว่างรายได้ระหว่างคนเมืองกับชนบท ตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ว่า จะหลุดพ้นความยากจนและเป็นประเทศรายได้สูง เมื่อถึงเวลานั้นสัดส่วนภาคการบริโภคต่อ GDP จะสูงขึ้นมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศขยายตัวมากขึ้น
พรรคการเมืองเดียวผลักดันนโยบายต่อเนื่อง
ปัจจุบันจีนเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 14 (2564-2568) เป็นแผนที่ทำทุก ๆ 5 ปี จีนเริ่มใช้แผนฉบับที่ 1 เมื่อปี 2496 จากนั้นก็เดินหน้าจัดทำแผนอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับแผนฉบับที่ 14 มีจุดเด่นเรื่องยุทธศาสตร์วงจรคู่ (Dual Circulation) เป็นการเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศ ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนการจ้างงาน ปฏิรูปอุปทานในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาเศรษฐกิจจากนอกประเทศ เช่น การส่งออก
ที่มาของแผนปัจจุบัน คือ จีนกำลังถูกสหรัฐฯและผู้นำโลกคว่ำบาตรดังนั้นการพัฒนาประเทศเพื่อให้ยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง เป็นทางออกที่จีนจะรักษาจุดแข็งและความเป็นมหาอำนาจของตัวเองไว้ได้
นอกจากนี้ จีนจะเน้นการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้มีนวัตกรรมทัดเทียมและล้ำหน้ากว่าผู้นำโลก และพัฒนาภาคการเกษตรเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในพื้นที่ชนบท โดยจีนมีเป้าหมาย คือ การทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวเฉลี่ย 5% ต่อปี ในช่วงระยะเวลา 5 ปี
ด้วยนโยบายที่หนุนให้เกิดการเติบโตภายในประเทศ เน้นสร้างงาน สร้างรายได้ คงต้องมาดูกันว่า จบแผนฉบับที่ 14 ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นไปตามที่รัฐบาลคาดหวังไว้หรือไม่
จุดที่น่าสนใจ คือ พรรคคอมมิวนิสต์จีนเดินหน้าผลักดันประเทศมาต่อเนื่อง 100 ปีแล้ว และกำลังจะก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 2 ดังนั้นเสถียรภาพทางการเมืองจีนมีสูงมากเป็นเครื่องยืนยันว่าการผลักดันนโยบายใดๆไม่ขาดตอนแน่นอน
กลยุทธ์ Soft Power เน้นผูกมิตรมากกว่าสร้างศัตรู
จีนเดินหน้ากลยุทธ์ Soft Power มาโดยตลอด เช่น การเข้าไปให้ช่วยเหลือให้เงินกู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้ประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา
แน่นอนว่า การเข้าไปของจีนย่อมต้องได้รับผลประโยชน์ตอบแทนกลับมา อาจจะเป็นการเปิดบริษัทจีนเข้าไปลงทุน หรือนำเข้าสินค้าจากจีน
ตัวอย่างล่าสุด คือ การส่งออกวัคซีนป้องกัน Covid-19 ให้นานาประเทศมีทั้งบริจาคและเสียเงินเป็นการพลิกบทบาทเป็นผู้ให้ใช้แนวทางการทูตวัคซีน ส่งผลให้นานาประเทศมองจีนเป็นมิตรมากขึ้น เช่น ไทย ลาว และกัมพูชา
บางครั้งการใช้ท่าทีการทูตแบบแข็งกร้าว กรณีเสริมกำลังทหารและอำนาจเหนือทะเลจีนใต้ อาจจะทำให้นานาประเทศแสดงท่าทีไม่พอใจและไม่ต้อนรับจีนได้
ดังนั้นกลยุทธ์ Soft Power ด้วยวัคซีน และแนวทางอื่น ๆ ในอนาคต จะเป็นการส่งเสริมให้การขยายอิทธิพลของจีน อย่างยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative – BRI) ที่ครอบคลุมกว่า 80 ประเทศทั่วโลก ทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา เป็นไปได้ง่ายขึ้น
อ่านต่อได้ที่ https://www.thestorythailand.com/19/07/2021/35242/
ติดตามสตอรี่ดี ๆ จาก The Story Thailand ได้ตามช่องทางเหล่านี้
โฆษณา