22 ก.ค. 2021 เวลา 07:56 • ข่าว
วันนี้ (22 กรกฎาคม 2564) ที่ สน.นางเลิ้ง นางสาวดนุภา คณาธีรกุล หรือ มิลลิ (MILLI) ศิลปินแร็ปเปอร์ชื่อดังพร้อมด้วยทนายความ เดินทางเข้ารับทราบข้อหากล่าวหา หลังจากที่ นายอภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และทนายความของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ให้ดำเนินคดีกับมิลลิ จากกรณีแต่งเพลงเสียดสีนายกรัฐมนตรี ในข้อหา ‘ดูหมิ่นโดยการโฆษณา’
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นไม่กี่วันหลังจากที่ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ ออกมาแถลงเตือนศิลปิน นักแสดง และผู้มีชื่อเสี่ยงอื่นๆ ที่ใช้พื้นที่ในสื่อออนไลน์ออกมาเรียกร้องต่อรัฐบาล ซึ่งนายชัยวุฒิเห็นว่าอาจเป็นการเข้าข่ายเฟคนิวส์ สร้างข้อมูลเท็จใส่ร้ายรัฐบาล และประกาศว่าจะฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมาย
จากรายงานของวันนี้ระบุว่า มีศิลปิน นักแสดง ไม่ต่ำกว่า 10 ราย ที่อาจจะต้องเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในข้อหาเดียวกันกับมิลลิ ท่ามกลางกระแสวิพากษ์ของสังคมที่เห็นว่า การแสดงออกทางการเมืองถือเป็นการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อวิพากษ์วิจารณ์การบริหารที่ผิดพลาดของรัฐบาลต่อการบริหารจัดการโรคระบาดโควิด-19
ในด้านหนึ่งเราอาจจะพิจารณากรณีการดำเนินคดีกับมิลลิในฐานะที่เป็น ‘ของกลาง’ ยืนยันความขัดแย้งของสิ่งที่เรียกว่าความขัดแย้งระหว่างรุ่น (war of generation) ที่มีเงื่อนไขอย่างน้อย 4 ประการ มาบรรจบกัน ณ จุดตัดของกาลเวลา ได้แก่ 1) โลกเปลี่ยน แต่ระบอบการเมืองไทยยังล้าหลัง 2) การพัฒนาที่ไม่เท่าเทียม ทำให้ประเทศอยู่ในภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจขณะที่โลกกำลังพลิกผัน (disrupt) 3) เกิดกระแสการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ (คนรุ่นโบว์ขาว) และ 4) ความล้มเหลวในการจัดการโรคระบาดของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา
ในหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหา ระบุว่า การแจ้งความดำเนินคดีมิลลิครั้งนี้ เป็นไปตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ 36/2563 ลงวันที่ 21 กันยายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่คนรุ่นโบว์ขาวเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลอย่างหนักตลอดปี 2563 จนถึงปี 2564
ดนุภา คณาธีรกุล หรือ มิลลิ (MILLI) จึงนับเป็นกรณีแรกๆ ที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาจากการแสดงออกทางการเมืองกับศิลปิน ดารานักแสดง ในระดับ pop culture ซึ่งก่อนหน้านี้ตลอด 7 ปี ของการบริหารประเทศของรัฐบาลมีการดำเนินคดีกับประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยมุ่งเน้นไปยังประชาชนที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลอย่างเปิดเผยเป็นจำนวนนับพันคนในหลากหลายกรณี แม้ว่ากรณีของมิลลิในวันนี้ ตำรวจได้เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 2,000 บาท และผู้กล่าวหาแจ้งว่าไม่ติดใจเอาความ แต่ก็ควรนับว่านี่เป็นการใช้กฎหมายข่มขู่
หากเราวางภาพเล็กจากการดำเนินคดีกับมิลลิ กับภาพใหญ่ของคน Gen Z ลงไปในเค้าโครงร่างปัญหาทางสังคม จะพบว่า การแสดงออกทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ล้วนสอดคล้องกับปัญหาของโครงสร้างทางสังคมไทย ทั้งในมิติการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม คำถามคือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งของอะไร?
text: อิทธิพล โคตะมี
โฆษณา