22 ก.ค. 2021 เวลา 13:41 • สุขภาพ
การทำงานไม่ได้ฆ่าใคร แต่งานหนักเกินไปอาจจะฆ่าคุณ! คุณกำลังเป็น Karoshi Syndrome อยู่หรือเปล่า?
ในคืนหลังเลิกงานแบบนี้ ในที่สุดก็ได้พักผ่อนเสียที…
ซะที่ไหนล่ะ! วันเสาร์อาทิตย์ใครเขาหยุดกัน งานยังไม่ทันเสร็จ ขอตัวไปทำงานต่อก่อนนะ
.
.
งานหนักไม่เคยฆ่าใคร แต่ตอนนี้มันกำลังจะฆ่าคุณ
.
‘งานหนักแค่ไหนก็ไม่ถึงตาย’ อาจเป็นแค่ถ้อยคำเชิงเปรียบเทียบที่ถูกใช้ไว้ให้กำลังใจกับตัวเองเพื่อสู้กับงานต่อไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว การทำงานที่หักโหมจนเกินไปนั้นสามารถฆ่าคนตายได้จริงๆ
.
ถ้าอย่างนั้น ลองมาเช็กดูว่าตอนนี้คุณกำลังมีพฤติกรรมเหล่านี้อยู่หรือเปล่า?
.
1) เริ่มงานเร็ว เลิกงานช้า
2) ทำงานเกินเวลาติดต่อกัน
3) แทบไม่เคยใช้วันหยุด
4) นึกถึงเรื่องงานอยู่ตลอดเวลา
5) นอนไม่ค่อยหลับ
6) มีเวลาให้คนรอบข้างน้อยลง
7) จำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าได้พักจากงานจริงๆ ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่
.
ถ้ามีครบทุกข้อแบบนี้ ยินดีด้วย คุณได้รับรางวัล ‘คนบ้างาน 2021’
.
แถมอาการเหล่านี้ไม่ได้แสดงให้เห็นแค่ว่าคุณเป็นคนบ้างานเท่านั้น แต่นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนคุณด้วยว่า คุณอาจเสี่ยงต่อภาวะ ‘Karoshi Syndrome’ ด้วยเหมือนกัน
.
.
เมื่อพูดถึงประเทศต้นกำเนิดคำศัพท์นี้อย่างประเทศญี่ปุ่น ถ้าให้นึกถึงญี่ปุ่น นอกจากจะนึกถึงภาพแหล่งช็อปปิ้งที่มีผู้คนพลุกพล่าน สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม หรือบรรยากาศอันแสนอบอุ่นของซากุระที่ร่วงโปรยปรายในฤดูใบไม้ผลิ อีกภาพจำหนึ่งของญี่ปุ่นเลยก็คือ ภาพวิถีชีวิตของผู้คนที่แสนเร่งรีบในโตเกียว เหล่าพนักงานบริษัทที่ถูกอัดแน่นอยู่ในขบวนรถไฟกับสีหน้าที่เคร่งเครียด
.
ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการทำงานที่หนักยิ่งขึ้นตามลำดับ มาพร้อมกับความเครียดที่พุ่งสูงขึ้น นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนญี่ปุ่นมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และยังพบเห็นข่าวการเสียชีวิตจากการทำงานหนักอยู่บ่อยครั้ง จนมีบัญญัติศัพท์เรียกการเสียชีวิตจากการทำงานแบบนี้ว่า Karoshi (過労死)
.
Karoshi Syndrome จึงเป็นชื่อเรียกของภาวะร่างกายที่อ่อนแอจากการทำงานหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน อีกทั้งยังขาดการพักผ่อนที่เพียงพอ จนสุดท้ายทำให้เส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก มีอาการปวดหัว วิงเวียน คลื่นไส้ มือเท้าชา ถ้าฝืนต่อไปอาจทำให้เสียชีวิตอย่างฉับพลันได้ หรือในบางรายอาจมีอาการซึมเศร้าจากความเครียดในการทำงาน นำไปสู่การตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยเช่นกัน
.
.
ในปัจจุบัน หลังมีการปรับรูปแบบการทำงานมาเป็นการ Work From Home ก็ไม่เคยจะมีวันไหนงานลดลง เผลอๆ มากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ แถมการทำงานที่บ้านแบบนี้ ทำให้เวลาเริ่มงานเลิกงานไม่ตายตัว จนเวลาทำงานปนเวลาส่วนตัวกันไปหมด ความเครียดก็มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าคุณลองเช็กตัวเองไปแล้วว่าเริ่มมีอาการ 7 ข้อที่พูดไว้ข้างบน หลังจากนี้คุณคงต้องหันกลับมาใส่ใจสุขภาพกายสุขภาพใจของตัวเองมากขึ้นบ้างได้แล้ว ลองแบ่งเวลาการทำงานให้พอดี ไม่ฝืนหรือกดดันตัวเองจนเกินไป และหาเวลาให้ตัวเองได้พักผ่อนบ้างด้วย หนีโควิดแล้ว มาหนี Karoshi อีกอย่างไปด้วยกันนะ
.
.
สุดท้ายแล้วขอฝากถึงเหล่าคนบ้างาน หลังจากนี้ไม่ต้องรักงานกันมากขนาดนั้นแล้วก็ได้ กลับมารักตัวเองด้วยการรักษาสุขภาพกายสุขภาพใจให้ดีกันก่อนดีกว่า
.
.
อ้างอิง:
.
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#behavior
โฆษณา