22 ก.ค. 2021 เวลา 14:50 • ธุรกิจ
Plant-based Food อาหารของคนรักสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบัน ผู้บริโภคมีความต้องการอาหารทางเลือกที่เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากเนื้อสัตว์ทั่ว ๆ ไป เนื่องจากผู้คนเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น Plant-based Food อาหารจากพืช ที่มีรสชาติ กลิ่น และรสสัมผัสคล้ายเนื้อสัตว์ จึงเริ่มเป็นกระแสที่หลาย ๆ คนกล่าวถึง
1
สงสัยไหม? เบอร์เกอร์ชิ้นไหน ทำจาก Plant Based?
✅ Plant-based Food คืออะไร?
Plant-based Food เป็นหนึ่งในอาหารโปรตีนทางเลือก หรือ Alternative Proteins ซึ่งมีวัตถุดิบหลักมาจากพืช ผัก ผลไม้ ถั่ว ธัญพืช และเห็ดชนิดต่าง ๆ โดยจะต้องผ่านกระบวนการแปรรูปเพื่อให้มีความใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ทั้งในด้านมิติของเนื้อสัมผัส กลิ่น สี และรสชาติ
✅ ประเภท
ผลิตภัณฑ์ที่เรามักจะพบเห็นในตลาด Plant-based Food สามารถแบ่งออกมาได้เป็น 4 ประเภทหลัก ดังนี้
1.Plant-based meat (เนื้อสัตว์จากพืช)
2.Plant-based meal (อาหารจากพืชพร้อมทาน)
3.Plant-based milk (น้ำนมจากพืช)
4.Plant-based egg (ไข่จากพืช)
✅ ราคา
เมื่อพูดถึงด้านมิติของราคา ในขณะนี้อาหาร Plant-based โดยรวมยังมีราคาที่สูงอยู่เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์ [ตัวอย่างเช่น Beyond Meat 210 กรัม ราคา 280 บาท แต่เนื้อบดราคาเพียง 230 บาทต่อกิโลกรัม] จึงดูเหมือนว่าจะเป็นสินค้าสำหรับคนที่มีกำลังซื้อเท่านั้น แต่ในอนาคตหากอาหารชนิดนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น และจำนวนแบรนด์ท้องถิ่น (Local Brand) มีเพิ่มมากขึ้น ก็อาจจะทำให้ราคามีการปรับลดลงมาและเข้าถึงคนหมู่มากได้ง่ายยิ่งขึ้น
2
✅ รูปแบบการจัดจำหน่าย
รูปแบบการจัดจำหน่ายของสินค้า Plant-based Food มีทั้ง B2B และ B2C แต่ที่เรามักจะพบเห็นกันจะเป็นในรูปแบบของ B2B เนื่องจากสามารถทำตลาดได้ง่ายกว่า ดังจะเห็นได้จากการที่เชนร้านอาหารหลายราย ได้พัฒนาเมนูใหม่ที่ทำจาก Plant-based Food เป็นหลักออกมาให้ได้เห็นกัน อย่าง Burger King, Starbuck, McDonald’s และ KFC
McDonald เปิดตัวผลิตภัณฑ์ไร้เนื้อสัตว์ โดยใช้เนื้อสังเคราะห์จากพืช
KFC สหรัฐฯ เปิดตัวเมนูไก่ทอดมังสวิรัติ ที่ทำจากพืชโปรตีนหวังเจาะตลาดกลุ่ม Vegan
✅ Plant-based Food ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
1
Plant-based Food ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยข้อมูลจาก Good Food Institute ระบุว่าในประเทศสหรัฐอเมริกา อาหารที่ทำจากพืชนี้มีอัตราการเติบโตของยอดขายสูงกว่ายอดขายของอาหารโดยรวมเกือบสองเท่า นอกจากนั้นมูลค่าโดยรวมของตลาด Plant-based Food ยังเติบโตได้มากถึงร้อยละ 27 ในปีที่ผ่านมาและมีมูลค่ามากกว่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือเกือบ 2.3 แสนล้านบาทเลยทีเดียว
โดยเราได้ตั้งข้อสังเกตว่าอัตราการเติบโตที่ก้าวกระโดดของตลาด Plant-based Food นี้ มาจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่
1. ด้านสุขภาพ
ผู้บริโภคในรูปแบบ Flexitarian มีจำนวนเพิ่มขึ้น Flexitarian คือ การบริโภครูปแบบหนึ่งที่คล้ายคลึงกับ Vegan/Vegetarian แต่มีความยืดหยุ่นกว่า โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้มักมีเป้าหมายที่จะลดการบริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยลง เช่น ภายใน 1 อาทิตย์จะเลือกวันรับประทานอาหารมังสวิรัติ 1 – 2 วัน หรือจะเลือกบริโภคเฉพาะวันพระ ก็ถือว่าเป็น Flexitarian เช่นกัน โดยข้อมูลจาก Euromonitor’s Health and Nutrition Survey ในปี 2563 ที่ผ่านมาได้ระบุไว้ว่า ในตอนนี้ผู้บริโภคที่เลือกบริโภคแบบ Flexitarian มีอัตราส่วนมากถึงร้อยละ 42 ของจำนวนผู้บริโภคทั่วโลก ซึ่งตัวเลขนี้ถือว่าสูงมากหากเทียบกับ Strict Vegan/Strict Vegetarian ที่มีอัตราส่วนเพียงร้อยละ 4 และ 6 ตามลำดับ
2
องค์การอนามัยโลกได้ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการว่า เนื้อแดงและเนื้อสัตว์แปรรูป เป็นอาหารที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ นอกจากนั้น หากบริโภคผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อเพิ่มขึ้น 50 กรัมต่อวัน จะเพิ่มโอกาสเป็นโรคมะเร็งลำไส้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 18 และการบริโภคเนื้อแดงเพิ่มขึ้น 100 กรัมต่อวัน จะเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ขึ้นอีกร้อยละ 17 ดังนั้นการเลือกทานอาหารจากพืช ที่มีรสชาติคล้ายคลึงกับเนื้อสัตว์แท้ ๆ อย่าง Plant-based Food จึงเป็นทางออกของปัญหานี้สำหรับใครหลาย ๆ คน แต่อย่างไรก็ดีก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับปริมาณโซเดียมที่มีอยู่ในอาหารประเภท Plant-based ในปริมาณมาก [Beyond meat และ Impossible มีโซเดียม 370 และ 390 มิลลิกรัมตามลำดับ ขณะที่เนื้อวัวมีอยู่เพียง 65 – 75 มิลลิกรัม]
2. ด้านสิ่งแวดล้อม
ทุกวันนี้กระแสความตื่นตัวเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และปัญหาภาวะโลกร้อน (Global Warming) เริ่มมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากที่สาวน้อยเกรต้า ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมวัย 16 ปี ได้ออกมารณรงค์เรียกร้องให้ผู้นำประเทศทั่วโลกหันมาลงมือแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง
1
Greta Thunberg นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน
สิ่งที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนมักถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ ส่วนแรกคือ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ ไปสู่ชั้นบรรยากาศ และอีกส่วนหนึ่ง คือ การลดลงของจำนวนต้นไม้ที่จะช่วยดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ให้ขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศ
จากผลการศึกษาพบว่าการเลี้ยงสัตว์เพื่อนำมาเป็นอาหาร เช่น การเลี้ยงวัว เป็นการสร้างมีเทนทางหนึ่ง และมีเทนเป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ โดยในระยะเวลา 1 ปีวัวสามารถสร้างก๊าซเรือนกระจกออกมามากถึง 5.5 พันล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ หรือมากกว่าจำนวนก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาจากประเทศออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สเปน และสหราชอาณาจักรรวมกัน
สัดส่วนปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของวัวจากทั่วทุกมุมโลก
ดังนั้นเรื่องรูปแบบการกินจึงมีผลกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกันดังจะเห็นได้จากผลการศึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่ระบุไว้ว่า ถ้าหากเราบริโภคเนื้อสัตว์น้อยลง เราจะสามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้เป็นจำนวนมาก เช่น ถ้าหากเทียบผู้ที่ชื่นชอบทานเนื้อสัตว์ (Meat Lover) กับผู้ที่ทานมังสวิรัติประเภทวีแกน (Vegan) ผู้ที่ทานวีแกนจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าผู้ที่ชอบทานเนื้อสัตว์ได้ถึง 1.8 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ต่อคน ต่อปี เลยทีเดียว
ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จำแนกตามรูปแบบการบริโภค
✅ บริษัทชั้นนำในธุรกิจนี้
ในตลาดโลกตอนนี้ มีผู้นำตลาดอยู่ 2 เจ้าใหญ่ ได้แก่ Beyond Meat และ Impossible Foods
Beyond meat ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2552 ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยอีธาน บราวน์ (Ethan Brown) อดีตวิศวกรพลังงาน ผู้ที่มองเห็นถึงปัญหาที่เกิดจากอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ และมีความคิดที่อยากสนับสนุนให้ผู้คนหันมาบริโภคโปรตีนจากพืชเพื่อลดการทำลายสิ่งแวดล้อม ส่วน Impossible Foods ถูกก่อตั้งขึ้นมาในภายหลัง เมื่อปี 2554 โดยแพททริค บราวน์ (Patrick Brown) อดีตศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย Stanford University ผู้ที่มีแนวคิดจะแทนที่อุตสาหกรรมปศุสัตว์ ด้วยการสร้างสารสกัดโปรตีนจากพืช
โดยหลักการที่ Beyond meat ใช้ในการผลิตนั้นคือการนำเอาเทคโนโลยีมาปรับแต่งพืชให้มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายคลึงกับเนื้อสัตว์จริง ๆ มากที่สุด ซึ่งผลการวิจัย Life Cycle Analysis (LCA) ที่จัดทำโดย the University of Michigan ได้รายงานออกมาว่า เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ปกติ การผลิต Beyond meat ใช้น้ำ ปล่อยก๊าซเรือนกระจก และใช้ที่ดินน้อยกว่าถึงร้อยละ 90 และมีการใช้พลังงานน้อยกว่าถึงร้อยละ 46
ทางด้าน Impossible Foods เลือกใช้ ฮีม (Heme) หรือ soy leghemoglobin มาเป็นส่วนประกอบหลักในการผลิต ซึ่งจะส่งผลให้เนื้อนั้นมีรสชาติและเนื้อสัมผัสที่เหมือนเนื้อสัตว์จริง ๆ มาก นอกจากนี้ Impossible Foods ก็ได้มีการออกผลการศึกษา LCA เช่นกันโดยระบุไว้ว่า การผลิต Impossible Burger ใช้น้ำน้อยกว่าร้อยละ 87 ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าร้อยละ 89 และยังใช้พื้นที่น้อยกว่าการเลี้ยงสัตว์เพื่อผลิตเนื้อถึงร้อยละ 96
ปัจจุบันทั้งสองบริษัทถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก Beyond meat (BYND) ได้เข้าจดทะเบียนในตลาด Nasdaq ตั้งแต่ช่วงปี 2562 โดยมีราคา IPO (Initial Public Offering) อยู่ที่ 25 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้นและปิดตลาดวันแรกที่ 65.75 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น คิดเป็นผลตอบแทนสูงถึงร้อยละ 163 และจนถึงในตอนนี้ราคาก็ยังคงอยู่ในระดับที่สูงที่ 131 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น โดยถ้าหากเราถือหุ้น BYND ตั้งแต่วันแรกที่มีการ IPO เราจะสามารถสร้างผลกำไรได้สูงถึงร้อยละ 424 เลยทีเดียว [แม้แต่ Leonardo DiCaprio นักแสดงเจ้าของรางวัลออสการ์ก็ถือหุ้นตัวนี้เช่นกัน]
1
ตัวอย่างบริษัทที่ผลิตภัณฑ์เนื้อโปรตีนพืชชื่อดัง Beyond Meat vs Impossible Foods
ความสำเร็จของ Beyond meat ก็ได้ช่วยปูทางให้กับบริษัทคู่แข่งคนสำคัญอย่าง Impossible Foods ถึงแม้ว่าในตอนนี้บริษัท Impossible Foods จะยังไม่ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ก็มีข้อมูลเผยแพร่จาก Reuters ว่าบริษัทกำลังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาอยู่ และมีนักวิเคราะห์ประเมินไว้ว่ามูลค่าบริษัทอาจจะอยู่ที่ราว 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (3 แสนล้านบาท) หรือมากกว่านั้น
ทั้งนี้ยังมีบริษัท Plant-based Food ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่สนใจของตลาดอีกหลายรายแต่เราไม่ได้นำมาพูดถึงในบทความนี้ เช่น Oatly จากประเทศสวีเดน THIS, Quorn และ VBites จากสหราชอาณาจักร และ Gardien จากประเทศแคนาดา เป็นต้น
✅ Plant-based Food ในประเทศไทย
สำหรับประเทศไทย ธุรกิจ Plant-based Food ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกันโดยมีแบรนด์หลากหลายแบรนด์เข้ามาทำตลาด มีทั้งที่ผลิตในไทยเองและนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีบริษัทที่เราอาจจะเห็นผ่านตากันมาบ้าง เช่น Meat Avatar, More Meat, Let’s Plant Meat หรือเจ้าใหญ่ ๆ อย่าง ซีพีแรม เนสท์เล่ ไทยยูเนี่ยน และ ปตท. ก็ลงมาเล่นในตลาดนี้เช่นกัน
นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าร้านอาหารในไทยหลายร้านก็เริ่มมีการทำการตลาดและออกเมนูใหม่ที่เจาะกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการลดการกินเนื้อสัตว์กันมากขึ้น เช่น Sizzler ที่เคยได้ร่วมกับ Green Monday ออก 4 เมนูใหม่ที่ใช้ Beyond Beef Patty และ Omni Pork ที่ทำจากพืช 100% เช่นเดียวกันกับ Starbuck ที่ได้เพิ่มเมนูเครื่องดื่มและแซนวิชที่ทำจากพืช อาทิ Oat milk Cocoa Macchiato และ Beyond Meat Sandwich เป็นต้น
จากข้อมูลล่าสุดของ Statista ปี 2562 ที่ผ่านมา ตลาด Plant-based Food ในประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มคาดว่าจะสูงขึ้นถึง 4.5 หมื่นล้านบาทในปี 2567 โดยอัตราเติบโตเฉลี่ยจะอยู่ที่ร้อยละ 10 ทั้งนี้ทางเราก็มองว่าตลาด Plant-based Food จะเติบโตได้อย่างรวดเร็วในไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม จึงมีผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรหลากหลายชนิดให้นำมาดัดแปลงเป็นอาหารรูปแบบใหม่เพิ่มมูลค่าและทางเลือกให้กับผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น และถ้าหากประเทศไทยมีการศึกษาวิจัยและพัฒนาที่เพียงพอ สามารถตอบโจทย์เรื่องรสชาติ และเนื้อสัมผัสได้ ก็มีโอกาสที่ไทยจะกลายเป็นผู้ส่งออกหลักในตลาดนี้ได้ไม่ยาก
มูลค่าตลาด Plant-based Food ในประเทศไทยปี 2562 และตัวเลขคาดการณ์ปี 2567
#Bnomics #เศรษฐศาสตร์ #Plant-Based #food #beyond_meat #อาหารทางเลือก #คนรักสุขภาพ
ผู้เขียน : ธีระภูมิ วุฒิปราโมทย์ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
════════════════
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา