22 ก.ค. 2021 เวลา 15:21 • ความคิดเห็น
สิ่งที่เราได้เรียนรู้ว่า ‘สำคัญ’ ในวันที่ต้องกักตัว
.
(เขียนเมื่อวันที่ 9/4/63, ช่วงระลอกแรกที่ทำให้ต้องกักตัว พึ่งได้กลับมาอ่านทบทวนตัวเองหลังจากผ่านมา 1 ปี เลยอยากจะเอามาแชร์กันครับ)
.
ในกระแสการเคลื่อนตัวไปเรื่อย ๆ ของปัจจุบันกาลที่เราใช้ชีวิตอยู่ทุกวันให้เราได้ทำภารกิจของตน บ้างมีเป้าหมายที่อยากทำให้สำเร็จ บ้างค้นหาเป้าหมายที่สำคัญของชีวิต แต่แล้วก็ได้เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ที่ได้คลืบคลานสร้างผลกระทบต่อมนุษย์มากมายโดยเฉพาะด้านการใช้ชีวิตประจำวันที่ต้องผันตัวมากักตัวทำงานที่บ้านเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้เป็นสิ่งที่ทำให้เราทุกคนได้กลับมาอยู่กับตัวเองและตระหนักมากขึ้นเกี่ยวกับการใช้ชีวิต
.
การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตนี้ทำให้คนส่วนใหญ่มีเวลามากขึ้นจากการที่ไม่ต้องเดินทางไปทำงานอีกต่อไป ส่งผลต่อการเข้าสังคมโดยการพบปะตัวเป็น ๆ สู่การเจอกันผ่านหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ย่อมทำให้เกิดความไม่คุ้นชินในจิตใจและการโหยหาความ “ปกติ” ที่เคยมี
.
จากผลกระทบเหล่านี้ทำให้ผมได้กลับมามองย้อนและสังเกตตนเองเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจ และได้ตกตะกอนความคิดออกมาเป็นบทเรียนที่สำคัญ 7 ข้อ ในวันที่ต้องกักตัวทำงานอยู่บ้าน
.
(1) การสร้างการเป็น
.
เหตุการณ์เช่นนี้ทำให้รู้สึกว่ามีความจำเป็นจะต้องติดตามสถานการณ์ในแต่ละวันว่าเป็นอย่างไร ดีขึ้นหรือแย่ลง คนติดเท่าไหร่ และคนตายเท่าไหร่แล้ว เมื่อเสพข่าวสารมากเกินจำเป็นก็เกิดความกังวลไปได้ว่านี่ฉันติดหรือยัง แล้วได้เผลอแพร่ให้คนอื่นไปแล้วหรือไม่ ซึ่งเป็นการคิดมากไปเกินกว่าความเป็นจริง ก่อให้ทุกข์ใจได้
.
ทำให้คิดได้ว่าจริง ๆ แล้วข่าวสารทุกอย่างที่เรารับมาล้วนส่งผลต่อการคิดของเราทั้งสิ้น (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกรอบความคิดในการรับสารของแต่ละคนด้วย) อาจจะเป็นทางออนไลน์อย่าง Facebook IG Twitter หรืออย่างอื่นอีกมากมาย ยิ่งถ้าเป็นเรื่องที่ทำให้เราถูกใจทางลบอันก่อให้เกิดการตัดสินผู้อื่นโดยไม่ทันตั้งตัวจะทำให้สร้างตัวตนที่จะทำให้เราเป็นผู้ให้อภัยต่อผู้อื่นและตนเองได้ยากหากวันใดเผลอกระทำในแบบที่เราตัดสินไป
.
และการคิดของเรานั้นย่อมสร้างแนวโน้มให้เกิดการกระทำอันจะส่งผลต่อสภาพแวดล้อมภายนอกได้เช่นกัน มากไปกว่านั้นสภาพแวดล้อมโดยรอบก็ย่อมย้อนกลับมาหล่อหลอมเราต่ออีกด้วยกลายเป็นวงจรได้
.
จริง ๆ แล้วหากมองในภาพกว้างการที่เราเป็นเราได้ในวันนี้ย่อมเกิดจากสภาพแวดล้อมที่หล่อเลี้ยงเรามาให้เรามีกรอบความคิดอย่างทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นจากที่ทำงาน โรงเรียน โดยเฉพาะครอบครัวที่มีผลเป็นอย่างมาก ดังนั้น ในเมื่อสิ่งที่เราทำได้นั้นย่อมอยู่ที่ตัวเราเอง เราจึงควรตระหนักถึงการสร้างพลังบวก พลังแห่งการพัฒนาตนเองจากตัวเราให้ไปสู่สภาพแวดล้อมโดยรอบให้เกิดวงจรบวกขึ้นมาได้ รวมถึงเลี่ยงการรับรู้ข่าวสารที่เกินจำเป็นและไม่เป็นประโยชน์ต่อเรา โดยการหมั่นกรองข่าวสารก่อนบริโภค
.
นอกจากนี้การฝึกเท่าทันตนเองและการวิเคราะห์ในการไม่ให้เผลอยินดีในทางลบก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการสร้างพลังบวกของเราด้วย และฝึกที่จะเปลี่ยนจากการมองผู้อื่นด้วยการตัดสินเป็นการมองด้วยความเมตตา เอาใจเขามาใส่ใจเราให้มาก เพราะมนุษย์เรานั้นไม่ได้สมบูรณ์แบบ ยังคงต้องฝึกฝนและพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ
.
(2) จากความขัดเเย้งในใจสู่การเข้าใจตน
.
เมื่อใช้เวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้นได้เห็นถึงการทำงานเป็นทีมของตนในช่วงปกติว่าเป็นคนที่ไม่ค่อยเชื่อใจคนอื่น เวลาหัวหน้าหรือเพื่อนแนะนำอะไรจะใช้เวลาในการครุ่นคิดนานพร้อมทั้งชอบหาทางโต้แย้งในหลาย ๆ เหตุผลว่าถ้าเป็นอย่างนั้นหละมันจะใช่อย่างที่ว่าหรือ อันที่จริงสิ่งนี้เป็นจุดแข็งที่ดีในการที่จะสามารถหาจุดบกพร่องในงานเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น แต่ก็ควรที่จะทำด้วยความรู้สึกเชื่อใจกัน นั่นคือถึงแม้เราจะมีความเห็นที่ไม่ตรงกันก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเอามาเป็นเหตุให้ไม่เชื่อใจกัน ทุกคนล้วนมีเหตุผลของตัวเองในการเลือกกระทำ เราเพียงแค่เคารพกันและฝึกที่จะเป็นผู้ยอมอันพร้อมที่จะเดินหน้าไปกับทีมสุดกำลังว่าถึงแม้ฉันจะไม่เห็นด้วยแต่ฉันเชื่อใจและพร้อมที่จะลุยไปด้วยกันอย่างเต็มที่ ถ้าเกิดอะไรขึ้นเราก็จะเผชิญและแก้ปัญหาไปเรื่อย ๆ ด้วยกัน
.
การที่เป็นคนไม่ค่อยเชื่อใจคนอื่นของตนเองทำให้นึกย้อนไปว่าเกิดจากในตอนเด็กที่ไม่ค่อยมีเพื่อนและมักจะโดนแกล้งอยู่เสมอ ตอนออกจากโรงเรียนประถม คุณครูประจำชั้นได้ให้ข้อคิดอันล้ำค่าว่าให้ฝึกที่จะเปิดใจ ตอนนั้นไม่เข้าใจเลยว่าการเปิดใจคืออะไรแล้วเราไม่ได้เปิดใจหรือ? กาลเวลาที่ผ่านไปจนถึงตอนนี้ทำให้เข้าใจมากขึ้นว่ามันคือการฝึกที่จะเชื่อในหัวใจผู้อื่นอย่างไร้เงื่อนไขนั่นเอง
.
(3) ความหมายของชีวิต
.
การใช้ชีวิตอย่างมีความหมายสำหรับผมแล้วนั้นหนีไม่ได้เลยจากคำว่า “ได้รู้สึกถึงการมีชีวิตของตน” เพราะหากเราได้เกิดมามีชีวิตแล้วไม่ได้รู้สึกว่ามีชีวิตอาจจะเรียกได้ว่ามีชีวิตจริง ๆ หรือไม่กันนะ?
.
วิธีการง่าย ๆ ที่เวลาใดเริ่มรู้สึกตัดขาดจากการมีชีวิตให้กลับมาอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกอันทำให้เรามีชีวิตอยู่ ณ ตอนนี้ เพราะชีวิตที่มีชีวิตจริง ๆ นั้นย่อมอยู่ ณ ตอนนี้ ที่เบิกบานในขณะนี้ อันเป็นที่สถิตของลมหายใจ
.
และหมั่นตรวจสอบโดยการถามตนเองว่าสิ่งที่เราทำอยู่นี้ทำให้เรารู้สึกถึงการมีชีวิตหรือไม่ เช่น การที่ยังคงโทษคนอื่นหรือตัวเองแต่ไม่ได้พยายามหาทางเปิดใจเพื่อเข้าใจอันนำปสู่การแก้ไขต่อไปยังทำให้เรารู้สึกถึงชีวิตที่มีหรือไม่? การที่ทุก ๆ วันยังคงจมอยู่ในอดีตที่ผิดพลาดและโหยหาสิ่งที่คาดหวังให้เกิดขึ้นในอนาคตนั้นทำให้เรารู้สึกถึงชีวิตของเราที่มีชีวิตในปัจจุบันจริง ๆ หรือ? เป็นต้น
.
(4) คุณค่าของเวลา
.
เวลาของมนุษย์ทุกคนล้วนมีจำกัด ดังนั้นการใช้เวลาอย่างมีความหมายให้รู้สึกถึงการมีชีวิตอยู่จึงสำคัญ การหมั่นตั้งคำถามกับตัวเองบ่อย ๆ ว่าหลังจากลงมือทำอะไรไปแล้วเรารู้สึกมีชีวิตในสิ่งที่ทำนั้นหรือไม่? จะทำให้เวลาที่มีเหลืออยู่ได้ถูกนำมาใช้อย่างมีความหมายตามต้องการจริง ๆ
.
สิ่งที่ทำแล้วมีความหมายโดยเปลือกนอกของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน เช่น ชอบถ่านรูป อ่านหนังสือ เล่นดนตรี เป็นต้น แต่ทุกคนมีสิ่งหนึ่งที่ต้องการเหมือนกันคือ “ความสุข” เนื่องจากความสุขนี้ย่อมสามารถมองเห็นได้ในปัจจุบันที่เป็นที่อยู่ของชีวิต
.
(5) ความตาย
.
สิ่งที่มนุษย์กลัวโดยแท้จริงแล้วไม่ได้เป็นโรคจากเชื้อไวรัสโคโรนาแต่เป็นการกลัวความตาย นั่นคือความไม่แน่นอนหรือไม่มั่นคงในอนาคตว่าจะตายจากไวรัสนี้เมื่อไหร่ ถ้าตายแล้วก็กลัวจะเสียดายในสิ่งที่ยังไม่ได้ทำ
.
ถึงอย่างไรเราทุกคนล้วนต้องตายอยู่แล้วไม่ว่าจะจากสาเหตุใด การกลับมาทำความเข้าใจความรู้สึกที่มีต่อความตายจึงสำคัญ โดยการคิดใคร่ครวญว่าถ้าใกล้ถึงวันที่เราจะตายแล้วเราจะรู้สึกอย่างไร คิดอะไร และหากยังพอมีเวลาจะทำอะไร อย่างการถามตัวเองว่าหากอีก 3 วันจะตายจะทำอะไรบ้าง? จากนั้นจึงย้อนกลับมาถามว่าแล้วในตอนนี้ที่ยังไม่ตายจะทำอะไร?
.
ส่วนของตัวผมแล้วจะเป็นเรื่องการแสดงความรักไม่เก่งกับครอบครัว ดังนั้นจึงได้ตระหนักว่าในวันที่ได้กลับมาอยู่กับครอบครัวเช่นนี้จะเอาใจใส่ในความสัมพันธ์ให้มากขึ้น อาจถามให้ท่านเล่าเรื่องของท่านในวัยเด็กอันจะทำให้เราเข้าใจความเป็นท่านมากขึ้นและการบอกรักหรือการกอดในโอกาสต่าง ๆ ก็ได้
.
(6) การสิ้นสุดเเละการเริ่มต้น
.
จะว่าไปแล้วการเกิดวิกฤตการนี้ก็เป็นเพียงการสิ้นสุดของความปกติที่เคยมีและเป็นการเริ่มต้นในสถานการณ์ใหม่ก็เท่านั้นเอง ซึ่งการสิ้นสุดและการเริ่มต้นแบบนี้แท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกวัน แต่โดยธรรมชาติมนุษย์นั้นมักจะไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงอันสื่อถึงความไม่มั่นคงจึงมักจะยึดติดกับสิ่งที่เหมือนจะเกิดขึ้นเหมือนเดิมในทุก ๆ วัน
.
ในเมื่อทุกสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว ช่วงนี้จึงเป็นเวลาอันเหมาะในการได้เริ่มต้นทำในสิ่งที่อยากทำมานานแต่ก็ไม่ได้ทำซักที วันเวลาที่ผ่านมาเราอาจหาเหตุผลว่าไม่มีเวลาในการลงมือทำ แต่ในตอนนี้ที่มีเวลาเพิ่มหากยังไม่ลงมือทำคำว่าไม่มีเวลาบางทีอาจเป็นข้ออ้างของเราเองที่ไม่ยอมเผชิญหน้า เพียงแค่จัดสรรเวลาและลงมือทำในสิ่งที่ควรอย่างไร้เหตุผล (ไร้ข้ออ้างในการไม่ยอมลงมือทำ) เท่านี้ก็จะเป็นการเริ่มต้นที่จะได้ทำและเป็นการสิ้นสุดของการไม่ได้ทำ
.
ถ้าถามว่าทำไมทุกสิ่งถึงเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา นั่นอาจเป็นเพราะการมีอยู่ของปัจจุบันที่เคลื่อนที่ไปเรื่อย ๆ ตลอดเวลาก็เป็นได้
.
(7) เพราะทุกอย่างอยู่ที่ปัจจุบัน
.
ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าทุกอย่างล้วนอยู่ที่ปัจจุบัน เพราะเป็นจุดที่เรามีชีวิต ที่ตั้งมั่นของสติและความสุข เราไม่สามารถหาความสุขที่อยู่ในอดีตหรือในอนาคตได้เนื่องจากมันอยู่ตรงนี้เสมอเพียงแต่เราจะมองมันจริง ๆ หรือไม่นั่นเอง
.
หรือเรียกได้ว่าปัจจุบันเป็นที่ที่เราสามารถรับผิดชอบได้ในการที่จะคิดและทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเองเพื่อตัวเองและผู้อื่น รับผิดชอบที่จะจัดการกับความทุกข์ของตนเอง รับผิดชอบที่จะใช้สิ่งที่ได้จากอดีตมาเตือนตน และรับผิดชอบที่จะเตรียมพร้อมรับมือกับอนาคต
.
.
.
สุดท้ายแล้วขอให้สิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้นี้เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านในการที่จะนำไปเป็นเครื่องเตือนใจและปรับใช้ในชีวิต และขอขอบคุณทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้เราเป็นเราในวันนี้ได้ ขอให้ทุกคนมีความสุขสมดังปรารถนาครับ
โฆษณา