23 ก.ค. 2021 เวลา 06:23 • ประวัติศาสตร์
ลองตั้งคำถามดู!? เป็นไปได้หรือไม่ถ้ากองทัพญี่ปุ่นไม่โจมตีฐานทัพเรือที่เพิร์ล ฮาร์เบอร์ของสหรัฐอเมริกา?
อย่างที่ทราบกันดีว่ากองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นได้โจมตีฐานทัพเรือของสหรัฐอเมริกาที่เพิร์ล ฮาร์เบอร์ บนเกาะฮาวายเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ.1941 จนภายหลังประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ ในขณะนั้นอย่าง แฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ ได้ประกาศสงครามตอบโต้ต่อจักรวรรดิญี่ปุ่นในภายหลัง และเรียกร้องให้ชาวอเมริกันทุกคนร่วมแรงร่วมใจเพื่อเข้าสู่สงครามที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
จากการโจมตีในครั้งนั้น ได้ทำให้ทหารสหรัฐฯ เสียชีวิตไปกว่า 2,403 คน เรือรบกว่า 19 ลำ ถูกทำลายหรือได้รับความเสียหายจากการโจมตีอย่างรุนแรง จนนำมาสู่ความตกตะลึงของชาวอเมริกันทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม ยังมีนักวิจารณ์ได้ออกมาโจมตีการกระทำของญี่ปุ่นว่าเป็น ‘ความบกพร่องทางกลยุทธ์’ กล่าวคือ การโจมตีฐานทัพเรือที่เพิร์ล ฮาร์เบอร์ ของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นเกิดจากลัทธิความคลั่งไคล้ในอุดมคติสุดโต่งของเหล่าบรรดานายทหารระดับสูงในกองทัพ ที่ได้นำประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามแห่งการทำลายล้างที่ไม่มีวันชนะ และสุดท้าย ญี่ปุ่นก็พ่ายแพ่อย่างยับเยินในสงครามโลกครั้งที่ 2 จากระเบิดปรมาณู
พลเรือเอก อิโรโซคุ ยามาโมโตะ ผู้บัญชาการกองทัพเรือญี่ปุ่น คาดหวังว่าการโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์ จะสามารถลดทอนความสามารถในการรบของกองทัพเรือสหรัฐฯ ในภาคพื้นมหาสมุทรแปซิฟิค โดยเฉพาะกองเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ ที่เป็นเป้าหมายหลักในการโจมตีของกองทัพญี่ปุ่น ซึ่งนับว่าเป็นโชคดีของกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่กองเรือบรรทุกเครื่องบินไม่ได้ประจำการในฐานทัพเรือที่เพิร์ล ฮาร์เบอร์ ในวันที่เกิดเหตุ จนทำให้สหรัฐฯ สามารถฟื้นฟูกองทัพเรือของตนเองเพื่อกลับมาตอบโต้กองทัพญี่ปุ่นที่แผ่ขยายอิทธิพลในน่านน้ำมหาสมุทรแปซิฟิคได้สำเร็จ
โดยกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น คาดหวังว่าการโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์ ในครั้งนี้ จะเป็นการข่มขวัญชาวสหรัฐฯ ถึงความสูญเสียที่ไม่อาจฟื้นฟูได้ แต่ผลลัพธ์ที่ได้ กลับกลายเป็นว่า สหรัฐอเมริกากลับฮึกเหิมและพร้อมเข้าสู่สงครามอย่างเต็มตัว
ขณะเดียวกัน พลเรือเอกยามาโมโตะเองก็ตระหนักว่าถ้าหากสหรัฐอเมริกาฟื้นฟูตัวเองและตั้งตัวติดได้เมื่อไร ญี่ปุ่นจะไม่มีทางเอาชนะสหรัฐอเมริกาได้เลยในกรณีที่เกิดสงครามยืดเยื้อ เพราะทรัพยากรทางการทหารของญี่ปุ่นนั้นมีจำกัด
แน่นอนว่าบทสรุปของเรื่องราวทั้งหมดจบลงด้วยความพ่ายแพ้อย่างยับเยินของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น แต่ภายหลัง ได้มีการตั้งคำถามในมุมมองที่แตกต่างออกไป จากเหล่าบรรดานักประวัติศาสตร์มือสมัครเล่น นักเขียน และคนในวงการฮอลลีวูด ที่ตั้งคำถามในมุมกลับมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ‘จะเกิดอะไรขึ้นถ้าฝ่ายอักษะชนะฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่สอง’ เป็นต้น
1
เหล่าบรรดานักประวัติศาสตร์สมัครเล่นลงความเห็นพ้องต้องกันว่า ต่อให้กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นไม่ได้โจมตีฐานทัพเรือสหรัฐฯ ที่เพิร์ล ฮาร์เบอร์ สุดท้าย ทั้งสองประเทศก็ต้องรบกันอยู่ดีในท้ายที่สุด
มีคำถามที่น่าสนใจที่เป็นข้อถกเถียงกันในกลุ่มนักประวัติศาสตร์สมัครเล่น ที่ได้ตั้งคำถามไว้ว่า ‘พอจะมีทางหรือไม่? ที่กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นจะไม่ทำสงครามกับสหรัฐ?
1
ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ ได้บ่งชี้ สหรัฐอเมริกาเป็นอุปสรรค์สำคัญในการแผ่ขยายอำนาจของจักรวรรดิญี่ปุ่นในภาคพื้นมหาสมุทรแปซิฟิค ญี่ปุ่นต้องการทรัพยากรมหาศาลเพื่อผลักดันให้ตัวเองก้าวขึ้นมาเป็นชาติมหาอำนาจ เช่นเดียวกับชาติตะวันตกที่เคยออกล่าอาณานิคมเพื่อแสวงหาดินแดนใหม่ ๆ และทรัพยากรในภูมิภาคต่าง ๆ เมื่อหลายศตวรรษก่อน กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นทำการยึดดินแดนมากมายในเอเชียตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นเกาหลี ดินแดนแมนจูเรียทางตอนเหนือของประเทศจีน ไล่ลงมาจนถึงอินโดจีนที่เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส จนนำมาสู่มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกา ที่ว่าด้วยการห้ามส่งน้ำมัน สินค้าและวัตถุดิบที่จำเป็นสำหรับการผลิตเครื่องจักรสงครามของญี่ปุ่น พร้อมกับบีบบังคับให้ญี่ปุ่น ถอนกำลังออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ และถอนตัวจากฝ่ายอักษะ ที่มีเยอรมนีและอิตาลีเป็นแกนหลัก
โดยเรื่องนี้เอง ที่นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันนามว่า โรแลนด์ เวิร์ธ จูเนียร์ ได้ลงความเห็นว่า ‘อย่าใช้นโยบายที่อาจทำให้คุณต้องทำสงครามกับประเทศที่มีอำนาจทางการทหาร เว้นเสียแต่ว่าคุณมีความพร้อมเต็มที่ในการทำสงคราม’ นั่นหมายความว่า มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อญี่ปุ่น คือหนึ่งในชนวนความขัดแย้ง ที่ทำให้ญี่ปุ่นไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากทำสงคราม จนนำมาสู่การโจมตีฐานทัพเรือที่เพิร์ล ฮาร์เบอร์ เพื่อเป็นการตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกานั่นเอง
1
ข้อมูลจาก : WASHINGTONPOST.COM
โฆษณา