23 ก.ค. 2021 เวลา 08:15 • กีฬา
วันพรุ่งนี้ (เสาร์ที่ 24 กรกฎาคม) จะเป็นวันที่ทีมชาติไทย มีโอกาสได้เหรียญทองมากที่สุดในโอลิมปิกครั้งนี้ กับกีฬาเทควันโด้ ก่อนการแข่งจะเริ่ม ที่คือทุกอย่างที่เราควรจะรู้ก่อนเชียร์
--------------------------
[ 1 - เทควันโด้ มีการชิงชัยแค่ 8 เหรียญ ]
1
ก่อนอื่นเลย ต้องอธิบายว่าเทควันโด้ ในโอลิมปิกแต่ละครั้งจะมีชิงชัยแค่ 8 เหรียญเท่านั้น แบ่งเป็นชาย 4 เหรียญ และ หญิง 4 เหรียญ
ประเภทชาย จะแบ่งเป็นรุ่น
- ฟลายเวท (น้ำหนักไม่เกิน 58 กก.)
- เฟทเธอร์เวท (น้ำหนักไม่เกิน 68 กก.)
- เวลเตอร์เวท (น้ำหนักไม่เกิน 80 กก.)
- เฮฟวี่เวท (80 กก.ขึ้นไป)
ประเภทหญิง จะแบ่งเป็นรุ่น
- ฟลายเวท (น้ำหนักไม่เกิน 49 กก.)
- เฟทเธอร์เวท (น้ำหนักไม่เกิน 57 กก.)
- เวลเตอร์เวท (น้ำหนักไม่เกิน 67 กก.)
- เฮฟวี่เวท (67 กก.ขึ้นไป)
1
--------------------------
[ 2- โควต้าได้ยาก ]
เทควันโด้ เป็นกีฬาต่อสู้ที่ชิงชัยเหรียญทอง น้อยที่สุดในโอลิมปิกที่จำนวน 8 เหรียญทอง น้อยกว่ายูโด (ชิงชัย 15 ทอง) และ มวยสากล (ชิงชัย 13 ทอง)
และแต่ละรุ่น ก็มีคนผ่านรอบคัดเลือกมาเล่นได้แค่ รุ่นละ 16 คนเท่านั้น ต่างจากมวยสากลที่มีรุ่นละ 32 คน
ดังนั้นจึงไม่ใช่งานง่ายของนักกีฬาไทยที่จะได้โควต้ามาแข่งขันเยอะๆ ในแต่ละปี
1
--------------------------
[ 3- โค้ชเช ผู้นำพาเหรียญมาให้ไทย ]
ตั้งแต่โค้ชเช ย็อง-ซ็อก รับหน้าที่เฮดโค้ชทีมชาติไทยในปี 2002 เขาทำหน้าที่เทรนนิ่ง และแก้กลยุทธ์ในสนามแข่งขัน โดยโค้ชเชนำนักกีฬาไทยลงแข่งขันในโอลิมปิกทั้งหมด 4 ครั้ง สถิติคือได้เหรียญ "ทุกครั้ง"
1
เอเธนส์ 2004 : วิว-เยาวภา บุรพลชัย ได้เหรียญทองแดง (รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 49 กก. หญิง)
ปักกิ่ง 2008 : สอง-บุตรี เผือดผ่อง ได้เหรียญเงิน (รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 49 กก. หญิง)
ลอนดอน 2012 : เล็ก-ชนาธิป ซ้อนขำ ได้เหรียญทองแดง (รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 49 กก. หญิง)
ริโอ 2016 : เทนนิส-พานิภัค วงศ์พัฒนกิจ ได้เหรียญทองแดง (รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 49 กก. หญิง)
ริโอ 2016 : เทม-เทวินทร์ หาญปราบ ได้เหรียญเงิน (รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 58 กก. ชาย)
[ 4- จุดแข็งของไทยคือรุ่นเล็ก ]
จะเห็นได้ว่าจุดแข็งของนักกีฬาไทยเรา คือรุ่นเล็กที่สุด นั่นคือ 49 กก.หญิง และ 58 กก.ชาย ไม่ว่าส่งใครไปก็ได้ลุ้น เพราะความโดดเด่นของผู้เล่นไทย ไม่ใช่พลังเตะที่หนักหน่วง แต่เป็นเรื่อง "ความเร็ว" ที่สามารถโจมตีในช่องว่าง จุดที่คู่แข่งคาดไม่ถึงได้เสมอ
2
[ 5- เทควันโด้ จะใช้พื้นฐานจากมวยไทยไม่ได้ ]
1
ในอดีตการ Recruit คนมาติดทีมชาติเทควันโด้ จะคัดจากนักมวยไทย ที่มีพื้นฐานการต่อสู้ เอาคนที่เตะเป็น เตะหนัก หมัดหนัก แต่พอโค้ชเชเข้ามาคุม เขารื้อระบบใหม่หมด และเลือกปั้นเด็กผู้ชาย-ผู้หญิงธรรมดา ที่ไม่ได้มีพื้นฐานเป็นนักมวยไทยมาก่อน ค่อยๆมาเรียนรู้ ศาสตร์ของเทควันโด้ตั้งแต่แรก เพราะสกิลมวยไทย กับสกิลเทควันโด้ มันคนละเรื่องกันเลย
2
สำหรับในโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ มีนักกีฬาไทย 2 คน ได้โควต้าไปแข่งที่โตเกียว ได้แก่ เทนนิส-พานิภัค (49 กก. หญิง) และ จูเนียร์-รามณรงค์ เสวกวิหารี (58 กก.) ทั้งสองคนก็ไม่ได้เล่นมวยไทยมาก่อน แต่ก็เริ่มต้นที่เทควันโด้เลย
[ 6- พานิภัค วงศ์พัฒนกิจ ]
เทนนิส-พานิภัค คือความหวังเหรียญทองอันดับ 1 ของไทยในโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ ว่ากันแฟร์ๆ ก็มีโอกาสดีที่จะไปถึงเหรียญทอง มากกว่าทั้งโปรเม- เอรียา จุฑานุกาล และ เมย์-รัชนก อินทนนท์เสียอีก
2
สาเหตุเพราะเธออยู่ในฟอร์มที่มั่นใจมาก ขณะที่เรื่องฝีมือ ไม่มีใครสงสัยอีกแล้ว พานิภัคคือปรากฏการณ์มหัศจรรย์ สาวสุราษฎร์ธานีคนนี้ มีตัวสูงยาว ความเร็วยอดเยี่ยม จังหวะดี อ่านเกมเด็ดขาด ในประวัติศาสตร์ของวงการเทควันโด้ไทย ไม่มีใครเก่งไปกว่าพานิภัคอีกแล้ว
2
ในปี 2018 เธอลงแข่งขัน 8 รายการ คว้าแชมป์ไป 7 รายการ ส่วนรายการเดียวที่แพ้ เกิดขึ้นเพราะเธอขี่มอเตอร์ไซค์ล้มจนเจ็บขา แต่ถึงอย่างนั้นเธอก็ยังอุตส่าห์ได้เหรียญเงิน
5
ถ้าใครยังจำกันได้ ในเอเชียนเกมส์ปี 2018 พานิภัคได้เหรียญทองแบบที่คนไทยสบายใจที่สุด คือขยี้คู่แข่งเละทุกรอบ
รอบ 16 คนสุดท้าย ชนะ ไต้หวัน 26-1
รอบ 8 คนสุดท้าย ชนะ เกาหลีใต้ 27-8
รอบรองชนะเลิศ ชนะ อิหร่าน 11-6
รอบชิงชนะเลิศ ชนะ อุซเบกิสถาน 21-3
4
คำถามคือถ้าพานิภัคเก่งขนาดนี้ แล้วทำไมในริโอ 2016 เธอทำได้แค่ทองแดงล่ะ? คำตอบคือเรื่องประสบการณ์ล้วนๆ ณ เวลานั้น เธอเพิ่งอายุ 19 ปี เป็นรุกกี้หน้าใหม่ ยังไม่มีประสบการณ์มากพอ ทั้งๆที่เป็นต่อเยอะ แต่ก็ไปเสียท่าแพ้คิม โซ-ฮุย จากเกาหลีใต้ ในรอบ 8 คนสุดท้าย
1
ถ้าจำกันได้ ตอนนั้นเทนนิสทำแต้มนำอยู่ 4-2 และเหลืออีกแค่ 5 วินาทีสุดท้ายจะชนะแล้ว แต่เธอไม่ดึงเวลา ถ้าเป็นนักกีฬาคนอื่น คงดึงเช็ง ปล่อยให้เวลาหมดแล้ว นั่นทำให้เธอเสียท่าโดน คิม โซ-ฮุย เตะหัว สุดท้ายเสีย 3 แต้ม พลิกมาแพ้เฉยเลย
1
มันไม่ใช่เรื่องฝีมือที่ด้อยกว่า แต่เป็นเรื่องประสบการณ์ที่ไม่รู้ว่า ควรทำอย่างไรในสภาวะกดดันแบบนั้น สุดท้ายนักกีฬาเกาหลีที่ชนะเทนนิส ก็ไปคว้าเหรียญทองได้สำเร็จด้วย
2
นั่นคือฝันร้ายของพานิภัค เหรียญทองอยู่ตรงหน้าแท้ๆ แต่เธอทำมันหลุดมือไป และต้องใช้เวลาเยียวยาจิตใจสักพักเลยทีเดียว กว่าหัวใจจะแข็งแรงอีกครั้ง
1
จากริโอ 2016 ผ่านมา 5 ปี พานิภัคเติบโตขึ้น เก่งขึ้น แกร่งขึ้น เก๋าขึ้น ในวัย 23 ย่าง 24 ปี นี่คือจุดพีกที่สุดในอาชีพของเธอแล้ว พานิภัคได้โควต้ามาแข่งโอลิมปิกในฐานะนักเทควันโด้ Ranking อันดับ 1
4
ไม่แปลก ที่ทุกๆคน พร้อมใจยกเธอให้เป็นเต็งแชมป์ในรุ่นน้ำหนักไม่เกิน 49 กิโลกรัม และเป็นความหวังสูงสุดที่จะไปถึงเหรียญทองของนักกีฬาไทยด้วย
[ 7- รามณรงค์ เสวกวิหารี ]
อีกหนึ่งนักกีฬาไทยที่จะลงแข่งในวันเสาร์นี้ คือ จูเนียร์-รามณรงค์ ถ้าพูดตามตรง จูเนียร์ไม่ได้เป็นตัวเต็งเหมือนเทนนิส ยังมีคู่แข่งที่คุณภาพเหนือกว่าเขาอยู่ แต่ในการแข่งขันแบบนัดเดียวรู้เรื่อง มันก็อาจมีเซอร์ไพรส์ได้เช่นกัน ถ้าวางแผนได้ถูก
จูเนียร์เกิดที่กรุงเทพฯ ปัจจุบัน อายุ 24 ย่าง 25 ผลงานที่โดดเด่นที่สุดของเขาคือเหรียญทองแดง เอเชียนเกมส์ ที่อินชอน (2014) ส่วนในโอลิมปิกครั้งนี้ ได้โควต้าในฐานะตัวแทนเอเชีย (ไม่ได้เข้าร่วมอัตโนมัติตาม Ranking แบบเทนนิส) คือต้องสู้สุดใจ แต่ในที่สุดก็ได้โควต้ามาครอง
3
ใน 16 คนที่ผ่านมาแข่งโอลิมปิก ในรุ่นน้ำหนัก 58 กก. ชาย รามณรงค์ถูกจัดเป็นมือวางอันดับ 10 และนัดแรกจะเจอกับ คาลิล ซาฟวาน จากออสเตรเลียซึ่งเป็นมือ 7 ซึ่งแน่นอนว่าเราเสียเปรียบ โดยเฉพาะเรื่องรูปร่าง
อย่างไรก็ตาม อันดับเป็นรองไม่ได้แปลว่าจะแพ้เสมอไป ถ้าย้อนกลับไปเมื่อโอลิมปิกครั้งที่แล้วทีริโอ เทวินทร์ หาญปราบ เป็นมือวาง 15 ของรายการ แต่ในรอบแรกเอาชนะนักกีฬาเกาหลีใต้มือ 2 ของรายการได้อย่างหักปากกาเซียน ก่อนจะก้าวไปคว้าเหรียญเงินได้สำเร็จ ดังนั้นเซอร์ไพรส์เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
2
[ 8 - สองนักกีฬาไทย แข่งวันเดียวจบ ]
1
สำหรับการแข่งขันเทควันโด้ จะไม่เหมือนมวยสากล ที่แข่งหลายๆวัน กว่าจะถึงรอบชิง แต่ว่าจะชิงชัยแบบ วันเดียวจบ เช้าจดเย็น ดังนั้นวันเสาร์นี้ เราจะรู้หมู่หรือจ่ากันเลย ว่าทัพเทควันโด้ไทย จะมีเหรียญหรือไม่
บังเอิญที่โปรแกรมของพานิภัค และ รามณรงค์ จะแข่งวันเดียวกัน คือเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม ดังนั้นใช้เวลาวันเดียวในการเชียร์ ม้วนเดียวจบไปเลย
2
[ 9 - กฎการนับแต้มเทควันโด้ ]
การนับแต้มนั้น อธิบายโดยเข้าใจง่ายคือ เทควันโด้สามารถทำแต้มได้ทั้งเตะและต่อย
การใช้หมัดทำได้ แต่ "ห้ามต่อยหน้า" คุณสามารถใช้หมัดได้ แต่ต้องต่อยแค่ลำตัวเท่านั้น ขณะที่การคิดคะแนนนั้น เซนเซอร์บนเกราะ (Hogu) จะระบุเองว่าได้แต้มหรือไม่
3
โดยการคิดคะแนนในโอลิมปิกครั้งนี้ รายละเอียดมีดังนี้
1 แต้ม - ใช้กำปั้นต่อยไปที่หน้าอก
2 แต้ม - ใช้เท้าเตะไปที่หน้าอก
3 แต้ม - เฮดคิก เตะเข้าไปที่ศีรษะ
4 แต้ม - หมุนตัวเตะเข้าไปที่หน้าอก
5 แต้ม - หมุนตัวเตะเข้าไปที่ศีรษะ
เมื่อก่อนหมุนตัวเตะหัวจะได้ 4 แต้ม แต่ในปี 2018 ได้มีการปรับแก้กฎ เพิ่มเป็น 5 แต้ม คือสามารถพลิกแพ้ชนะกันได้ด้วยการหมุนตัวเตะ โป้งเดียว 5 แต้ม เพราะฉะนั้นนี่เป็นอาวุธที่ต้องระวังมากที่สุด
การแข่งขันจะมี 3 ยก ใครได้แต้มมากกว่าชนะ แต่ถ้าแต้มเท่ากัน จะมียกที่ 4 เป็นโกลเด้นพอยต์ ใครได้แต้มเดียวชนะเลย
[ 10 - กฎพิเศษ รอบแก้ตัว ]
รูปแบบการแข่งขันของเทควันโด้นั้น จะไม่เหมือนมวยสากล ที่แพ้ปั๊บตกรอบทันที แต่จะมีกฎพิเศษคือ "รอบแก้ตัว" (Repechage) โดยบางคนที่ตกรอบ 16 คนสุดท้าย หรือ 8 คนสุดท้าย อาจจะได้เหรียญทองแดงก็ได้ ถ้ามีดวง
ลองนึกภาพตามนะครับ การแข่งขันแต่ละรุ่น จะมีนักกีฬา 16 คน แบ่งสาย Knockout พอแข่งกันไปเรื่อยๆ จนได้คู่ชิง แน่นอนว่าคนที่ชนะรอบชิง ก็จะได้เหรียญทอง คนที่แพ้รอบชิงก็จะได้เหรียญเงิน
คำถามคือคนที่ได้เหรียญทองแดงล่ะ จะเป็นคนที่แพ้รอบรองชนะเลิศหรือเปล่า? คำตอบคือ อาจจะไม่ใช่
กฎของเทควันโด้ในโอลิมปิกคือ นักกีฬาคนไหนที่แพ้ "คนที่เข้าชิง" จะได้โอกาสเล่นรอบแก้ตัวเพื่อลุ้นเหรียญทองแดง
ยกตัวอย่างในโอลิมปิก 2016 จะเห็นภาพชัดเจน เอารุ่น 49 กิโลกรัมหญิงนะครับ
สายบน ทิยาน่า บ็อกดาโนวิช (เซอร์เบีย) ได้เช้าชิง เส้นทางของเธอมีดังนี้
- รอบ 16 คนสุดท้าย ชนะ ปาติมัท อบาคาโรว่า (อาเซอร์ไบจัน)
- รอบ 8 คนสุดท้าย ชนะ วู จิงยู (จีน)
- รอบรองชนะเลิศ ชนะ อิตเซล มันยาร์เรซ (เม็กซิโก)
สายล่าง คิม โซ-ฮุย (เกาหลีใต้) ได้เข้าชิง โดยเส้นทางของเธอมีดังนี้
- รอบ 16 คนสุดท้าย ชนะ จูลิสซ่า ดิเอซ (เปรู)
- รอบ 8 คนสุดท้าย ชนะ พานิภัค วงศ์พัฒนกิจ (ไทย)
- รอบรองชนะเลิศ ชนะ ยาสมิน่า เอเซียซ (ฝรั่งเศส)
1
ถ้าเป็นในกีฬามวยสากล พานิภัคที่อยู่สายล่าง เมื่อตกรอบ 8 คนสุดท้ายไปแล้ว ก็คือเก็บกระเป๋ากลับบ้านเลย หมดลุ้นเหรียญทอง แต่ในเทควันโด้ไม่ใช่อย่างนั้น โดยผู้จัดจะเอา คนที่แพ้คนที่ได้เข้าชิง จากรอบ 16 คน กับ 8 คน มาสู้กันเอง (จูลิสซ่า ดิเอซ ปะทะ พานิภัค วงศ์พัฒนกิจ)
จากนั้นใครชนะ ก็จะเอาไปเจอกับคนที่แพ้ในรอบรองชนะเลิศของอีกสาย ซึ่งในกรณีของพานิภัค เมื่อเอาชนะจูลิสซ่า ดิเอซ มาได้แล้ว ก็ไขว้ไปเจอกับคนตกรอบรองในสายบน คืออิตเซล มันยาร์เรซ จากเม็กซิโก
1
สุดท้ายพานิภัค เอาชนะในรอบ Repechage ได้สำเร็จ และพลิกสถานการณ์คว้าเหรียญทองแดงมาครองอย่างน่าเซอร์ไพรส์
3
ดังนั้นต่อให้เราแพ้มา 1 นัด ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะตกรอบเสียทีเดียว เราต้องเชียร์คนที่ชนะเรา ให้เขาเข้าชิงให้ได้ เพื่อที่เราจะได้มีโอกาสแก้ตัว
แปลว่า ถ้านักกีฬาไทยของเราไปแพ้ใครล่ะก็ แม้จะเจ็บใจ แต่เราก็ต้องเชียร์คนที่ชนะเราให้เขาเข้าชิง เพราะมันอาจทำให้เราได้เหรียญทองแดงเหมือนอย่างกรณีของพานิภัคในริโอเมื่อปี 2016
[ 11- รู้ทุกอย่างแล้ว ที่เหลือก็แค่เกาะขอบจอ ]
เอาล่ะ เมื่อรู้กฎกันแล้ว สำหรับตารางเวลาว่าเราต้องเชียร์กันกี่โมง มีดังนี้นะครับ
เทนนิส พานิภัค (49 กก. หญิง)
3
รอบ 16 คนสุดท้าย - 09.38
รอบ 8 คนสุดท้าย - 12.30
รอบรองชนะเลิศ - 14.00
รอบชิงชนะเลิศ - 19.30
จูเนียร์ รามณรงค์ (58 กก. ชาย)
1
รอบ 16 คนสุดท้าย - 10.48
รอบ 8 คนสุดท้าย - 13.15
รอบรองชนะเลิศ - 14.45
รอบชิงชนะเลิศ - 19.45
พรุ่งนี้ อยู่ติดหน้าจอกันยาวๆ ส่งใจเชียร์นักกีฬาไทยทั้ง 2 คน โดยมีถ่ายทอดสดทาง GMM 25 และออนไลน์ที่ AIS PLAY นะครับ
มาลุ้นกันให้ทั้งคู่ประสบความสำเร็จให้ได้นะครับผม แอดมินก็จะเชียร์แบบสุดใจเช่นกัน ถ้าโอลิมปิกเปิดวันแรก พร้อมด้วยเหรียญทอง คงเป็นอะไรที่สร้างขวัญกำลังใจได้ดีมากจริงๆ
1
[ ความฝันจะเป็นจริงหรือไม่ เดี๋ยวรู้เลย ]
ปิดท้ายที่โค้ชเช ย็อง-ซ็อก ตั้งแต่มาคุมทีมชาติไทยเป็นครั้งแรกในปี 2002 ปัจจุบันก็ผ่านมาแล้ว 19 ปีเต็ม ความฝันของเขาที่บอกมาตลอด คืออยากพานักกีฬาไทยไปถึงเหรียญทองโอลิมปิกในเทควันโด้ให้ได้สักครั้ง
2
และว่าด้วยความสัตย์จริง โตเกียว 2020 ครั้งนี้ เป็นโอกาสดีที่สุดที่โค้ชเช และคนไทยทั้งประเทศ จะได้เหรียญทองในมือจริงๆ
1
ได้แต่หวังว่าการรอคอยเหรียญทองอันยาวนาน จะสิ้นสุดลงในวันพรุ่งนี้
#FIGHTFORGOLD
1
โฆษณา