24 ก.ค. 2021 เวลา 12:15 • กีฬา
[วันนี้อยากเล่าเรื่อง...] 'พิกโตแกรม' ตัวช่วยลดความต่างสู่ความเป็นสากลในกีฬาโอลิมปิก
ผ่านไปแล้วกับพิธีเปิดการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2020 ครั้งนี้จัดขึ้นที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น กับการแสดงที่เรียบง่ายแต่ยิ่งใหญ่สมเป็นญี่ปุ่นมากๆ
หนึ่งในการแสดงที่เป็นที่พูดถึงอย่างมาก เรียกได้ว่าได้ซีนไปเต็มๆคือการแสดงชุด 'พิกโตแกรม'(Pictogram) ที่ดูแล้วทำให้นึกถึงเกมโชว์ในตำนานของญี่ปุ่นอย่าง 'เกมซ่าท้ากึ๋น'ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกนำมาฉายในไทยด้วย แต่ทำไมญี่ปุ่นจึงเลือกการแสดงชุดนี้เป็นหนึ่งในการแสดงสำหรับพิธีเปิด พิกโตแกรม(Pictogram)มีความสำคัญอย่างไร? วันนี้ผู้เขียนได้สรุปมาให้อ่านกันแล้วค่ะ ไปอ่านกันๆ😊👉
(ขอบคุณภาพจาก timeout.com)
📍พิกโตแกรม(Pictogram) คืออะไร?📍
พิกโตแกรม คือ ภาพที่ใช้สื่อความหมายแทนตัวอักษร หรือสัญลักษณ์ที่คนทั่วไปมองแล้วดูแล้วสามารถเข้าใจได้ทันทีโดยไม่ต้องใช้ข้อความอธิบาย หลักการนี้มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ตัวอย่างเช่น ภาพเขียนในถ้ำ ใช้หลักการนี้เพื่อสื่อความหมายเช่นเดียวกันค่ะ
📍พิกโตแกรม(Pictogram) ตัวช่วยลดปัญหา📍
เหตุผลที่ญี่ปุ่นหยิบยก พิกโตแกรม(Pictogram) ขึ้นมีบทบาทในมหกรรมกีฬาครั้งนี้เพราะนี่คือหนึ่งในความภาคภูมิใจค่ะ เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่ใช้ พิกโตแกรม(Pictogram) กับวงการกีฬา
ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1964 กับมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่ญี่ปุ่นได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพครั้งแรกและเป็นครั้งแรกที่มหกรรมกีฬานี้จัดขึ้นในทวีปเอเชีย
ปัญหาหลักคือความต่าง เมื่อมีมหกรรมกีฬาคนจากทั่วทุกมุมโลกมารวมตัวกัน หลากหลายเชื้อชาติและภาษา และญี่ปุ่นก็เป็นประเทศที่มีภาษาเป็นของตัวเองเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆในแถบเอเชีย ในยุคสมัยนั้นคนรู้ภาษาสากลก็น้อยนิด การสื่อสารเพราะภาษาที่ต่างกันจึงเป็นปัญหา ญี่ปุ่นจึงคิดใช้ภาพเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการสื่อสารให้คนได้เข้าใจตรงกันโดยไม่ต้องมีข้อความภาษาอธิบาย จึงเป็นที่มาของการใช้พิกโตแกรม(Pictogram)ในการแข่งขันโอลิมปิกมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นเหมือนธรรมเนียมที่เจ้าภาพในแต่ละครั้งต้องออกแบบพิกโตแกรม(Pictogram)เพื่อใช้ในการสื่อสารด้วยค่ะ
(ขอบคุณภาพจาก architectureofthegames.net)
นอกจากพิกโตแกรม(Pictogram)ที่แทนประเภทกีฬาแล้ว ในปีนั้นเจ้าภาพญี่ปุ่นยังได้ออกแบบภาพสัญลักษณ์เพื่อใช้สื่อสารข้อมูลทั่วไปอีก 39 ภาพ เช่น ห้องน้ำชาย-หญิง ห้องพยาบาล สถานที่จำหน่ายตั๋ว ที่พัก ห้องเก็บสัมภาระ เป็นต้น ในขณะที่ภาพประเภทกีฬามีแค่ 20 ภาพเท่านั้น (ชัดเลยนะคะว่าออกแบบมาเพื่อใช้สื่อสารล้วนๆ 😂)
📍การแสดงชุดพิกโตแกรม(Pictogram)📍
การแสดงชุดพิกโตแกรม(Pictogram) เป็นการแสดงที่เป็นที่พูดถึงอย่างมากเพราะเจ้าภาพญี่ปุ่นหยิบยกสิ่งที่ตนภาคภูมิใจมาแสดงให้คนทั่วโลกได้ดูด้วยความสนุกและสะท้อนความเป็นญี่ปุ่นสมัยใหม่ได้อย่างดี
(ขอบคุณภาพจาก olympics.com)
การแสดงชุดนี้เป็นการแสดงเปิดตัวสัญลักษณ์กีฬาทั้ง 33 ประเภท จำนวน 50 ภาพ (กีฬาบางประเภทมีมากกว่า 1 ภาพ เช่นขี่ม้าและจักรยาน) โดยให้ผู้แสดงแต่งชุดเหมือนกับในภาพสัญลักษณ์และเลียนแบบท่าทางให้ตรงตามภาพสัญลักษณ์ต่อหน้ากล้อง จำนวน 50 ภาพภายในเวลาประมาณ 4 นาทีโดยไม่หยุดพัก และต้องต่อเนื่องโดยไม่ผิดพลาด เพราะนี่เป็นการแสดงสดที่ไม่มีการตัดต่อไม่มีพักเบรค ทำให้ผู้ชมทั้งลุ้นและสนุกไปพร้อมๆกัน ดูแล้วทำให้นึกถึงรายการเกมโชว์ชื่อดังของญี่ปุ่นมากๆค่ะ
1
สำหรับใครที่ยังไม่ได้ดูการแสดงนี้ สามารถแวะไปดูได้ที่คลิปนี้เลยค่ะ 😊👇
1
📍การออกแบบพิกโตแกรม(Pictogram)โอลิมปิก 2020📍
พิกโตแกรม(Pictogram)ประเภทกีฬาเวอร์ชั่น 2020 นี้ถูกออกแบบขึ้นโดยมีแรงบันดาลใจมาจากพิกโตแกรม(Pictogram)เวอร์ชั่น 1964 เพื่อเป็นการยกย่องทีมกราฟิกดีไซน์เนอร์ในยุคนั้นที่ออกแบบพิกโตแกรม และผู้คนนำไปใช้ประโยชน์กันอย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน เวอร์ชั่น 2020 นี้ยังคงเส้นสายที่เรียบง่ายแต่เพื่มความมีชีวิตชีวาโดยเน้นการเคลื่อนไหวให้กับรูปคนในสัญลักษณ์มากยิ่งขึ้นค่ะ
Pictogram 1964 vs. 2020
โดยการออกแบบแบ่งเป็น 2 แบบ คือ แบบฟรี หรือสัญลักษณ์ที่ไม่มีพื้นหลัง ใช้กับโปสเตอร์ ตั๋ว และผลิตภัณฑ์ที่ได้รับใบอนุญาต และ แบบเฟรม หรือสัญลักษณ์ที่มีพื้นหลังจะใช้กับงานเพิ่มเติมบนแผนที่ ป้ายที่สถานที่แข่งขัน หนังสือคู่มือ และบนเว็บไซต์ โดยใช้สีน้ำเงินซึ่งเป็นสีประจำสัญลักษณ์โตเกียว 2020 เป็นหลัก และใช้สีดั่งเดิมของญี่ปุ่นอีก 5 สี ได้แก่ คุเรไน ไอ ซากุระ ฟูจิ และมัตสึบะ เป็นสีย่อยเพื่อสร้างจุดแตกต่างค่ะ
1
ทุกคนมีความคิดเห็นอย่างไรกันบ้างคะ? ชอบการแสดงชุดนี้กันบ้างไหมคะ?
ผู้เขียนค่อนข้างชอบเลยค่ะเพราะทำให้นึกถึงรายการโปรดที่ชอบดู
ญี่ปุ่นเลือกวิธีสื่อสารได้ดีมากค่ะ ทำให้คนดูสนใจ ลุ้นและยิ้มได้
ตอนนี้ตั้งตารอดูพิธีปิดแล้วค่ะว่าจะมีอะไรน่าสนใจให้ดูอีกบ้าง
ขอบคุณทุกคนนะคะ ขอให้วันนี้และทุกๆวันเป็นวันที่ดี สุขขีตลอดวันนะคะ 😊🙏🏼
อ้างอิงข้อมูลและรูปภาพ : www.altv.tv , becommon.co
โฆษณา