25 ก.ค. 2021 เวลา 11:30 • สิ่งแวดล้อม
แท่นรับเหรียญรางวัลในโอลิมปิกเกมส์ และพาราลิมปิกเกมส์ 2020 ทำมาจากขยะพลาสติกที่ได้รับบริจาคจากประชาชนชาวญี่ปุ่น
แท่นรับเหรียญรางวัลในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2020
แท่นรับเหรียญรางวัลในการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ 2020
โอลิมปิกเกมส์ และพาราลิมปิกเกมส์ 2020 ถูกเลื่อนมาจัดในปีนี้ (2021) เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของโรคโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว
เจ้าภาพญี่ปุ่นพยายามจัดงานโดยคำนึงถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ด้วยการใช้วัสดุหมุนเวียนในการผลิตสิ่งของหลายอย่างที่จำเป็นต้องใช้ในมหกรรมการแข่งขันกีฬาระดับโลกครั้งนี้
ตัวอย่างเช่น
"เหรียญรางวัล" ที่ผลิตมาจากขยะอิเล็กทรอนิกส์และสมาร์ทโฟนเก่าที่ถูกนำมารีไซเคิล
"เตียงนอนสำหรับนักกีฬา" ที่ทำมาจากกระดาษแข็ง
"คบเพลิง" ที่ได้มาจากการรีไซเคิลวัสดุก่อสร้างบ้านพักชั่วคราวสำหรับประชาชนที่ประสบภัยจากเหตุการณ์สึนามิถล่มเมื่อปี 2011
"แท่นรับเหรียญรางวัล" ที่นำขยะพลาสติกมารีไซเคิลและขึ้นรูปด้วยการพิมพ์ 3 มิติ
เหรียญรางวัลจากขยะอิเล็กทรอนิกส์
เตียงนอนจากกระดาษแข็ง
คบเพลิงจากวัสดุก่อสร้างบ้านพักชั่วคราว
ขยะพลาสติก 24.5 ตันที่ได้รับบริจาคมาจากประชาชนและบริษัทห้างร้านต่างๆ นานกว่า 9 เดือน ถูกแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นแท่นรับเหรียญรางวัลดีไซน์สวย 98 แท่น โดยฝีมือการออกแบบของ Asao Tokolo ซึ่งเป็นผู้ที่ออกแบบตราสัญลักษณ์โตเกียวโอลิมปิก 2020 ด้วย
Asao Tokolo
แท่นรับเหรียญรางวัลนี้เกิดจากการนำขยะพลาสติกมารีไซเคิล แล้วขึ้นรูปด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้หลายรูปแบบ เนื่องจากมันมีลักษณะเป็นลูกบาศก์ขนาดเล็กหลายลูกที่ถูกนำมาวางเรียงติดกัน โดยลูกบาศก์แต่ละลูกจะรับน้ำหนักได้ 1.5 กิโลกรัม
ส่วนตราสัญลักษณ์โอลิมปิกที่ติดอยู่ด้านหน้าของแท่น เป็นอะลูมิเนียมที่ถูกรีไซเคิลมาจากวัสดุสร้างบ้านพักชั่วคราวสำหรับผู้ประสบภัยในเหตุการณ์มหาสึนามิเมื่อปี 2011
ตราสัญลักษณ์โอลิมปิกได้มาจากการรีไซเคิลอะลูมิเนียมเก่า
แม้ว่าแท่นรับเหรียญรางวัลเหล่านี้จะผลิตมาจากขยะ แต่มันจะไม่ได้กลายไปเป็นขยะทันทีหลังจากโอลิมปิกจบลง เพราะมีการวางแผนไว้แล้วว่ามันจะถูกนำไปรีไซเคิลเพื่อผลิตเป็นขวดแชมพูและขวดน้ำยาซักผ้าของบริษัท Procter & Gamble (P&G) ต่อไป
ซึ่งนี่ถือเป็นอีกเรื่องที่น่าชื่นชมของการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในครั้งนี้ของญี่ปุ่น ที่พยายามหมุนเวียนวัสดุต่างๆ เพื่อให้มันมีชีวิตอยู่ได้นานที่สุดก่อนที่จะต้องกลายไปเป็นขยะ
โฆษณา